วันอาทิตย์, พฤษภาคม 28, 2566

“พระสยามเทวาธิราช” เทวรูป “การเมือง” “เทวดา” องค์นี้มาจากไหน? และทำไมคนไทยถึงมีความเชื่อว่าจะคอยปกปักรักษาบ้านเมือง?



“พระสยามเทวาธิราช” เทวรูป “การเมือง” การสร้าง “รัฐชาติ” และ “ความเชื่อ” ร.4

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม - 5 มิถุนายน 2557
เผยแพร่ 9 มีนาคม พ.ศ.2566

เมื่อใดที่มีสถานการณ์ยุ่งๆ ในบ้านเมือง

หลายคนพร่ำวอนถามถึง “พระสยามเทวาธิราช”

“ทำไมต้องเป็นพระสยามเทวาธิราช?”

“เทวดา” องค์นี้มาจากไหน? และทำไมคนไทยถึงมีความเชื่อว่าจะคอยปกปักรักษาบ้านเมือง?

สืบค้นมาจนได้คำตอบว่า พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูปที่สถาปนาขึ้นโดย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.4) เป็นเทวรูปทรงต้นยืน ทรงเครื่องกษัตราธิราช สวมมงกุฎ พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบ พระดัชนีเสมอพระอุระ กว้าง 2 นิ้ว สูง 8 นิ้ว หล่อด้วยทองคำแท่งทั้งองค์ ทรงสถิตอยู่ในเรือนแก้วที่ทำด้วยไม้จันทน์ แบบวิมานเก๋งจีน เบื้องหลังมีคำจารึกด้วยอักษรจีน แปลเป็นไทยว่า “ที่สิงสถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”

ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิมานไม้แกะสลักกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ

การสถาปนาพระสยามเทวธิราช นักวิชาการ และนักประวัติศาสตร์ศึกษาและวิเคราะห์ไว้ว่ามีหลายเหตุหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเรื่องของการเมือง ทั้ง “การเมืองภายใน” และ “การเมืองภายนอกประเทศ”

รวมถึงความเชื่อส่วนพระองค์ของ ร.4 ด้วย

เรื่องการเมืองในประเทศนั้น ย้อนกลับไปก่อนที่ ร.4 จะขึ้นครองราชย์ อำนาจในการบริหารบ้านเมือง อยู่ในการควบคุมของขุนนางตระกูลใหญ่อย่าง ตระกูล “บุนนาค”

ในหนังสือ “การเมืองเรื่องการสถาปนาพระจอมเกล้า” ของ เทอดพงศ์ คงจันทร์ ฉายภาพของขุนนางตระกูลบุนนาคตั้งแต่เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี โดยการสนับสนุนของขุนนางตระกูลดังกล่าว

ยิ่งในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.3) ซึ่งขุนนางตระกูลบุนนาคสนับสนุนให้ขึ้นครองราชย์ (ก่อนเจ้าฟ้ามงกุฏ ต่อมาคือ ร.4) ยุคนี้ มีการค้ากับจีน-ตะวันตกอย่างคึกคัก เศรษฐกิจขยายตัว ขุนนางตระกูลบุนนาคมีอำนาจสูงมาก ดำรงตำแหน่งสำคัญในการบริหารบ้านเมืองมากมาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ร.3 สวรรคต แม้คาดว่าพระองค์เจ้าอรรณพ อาจขึ้นครองราชย์ต่อ แต่ขุนนางตระกูลบุนนาคกลับเลือกสนับสนุนเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งขณะนั้นเป็นพระภิกษุ

ด้วยเหตุหนึ่งของบรรดาขุนนางตระกูลนี้ที่มองว่า เจ้าฟ้ามงกุฎทรงครองสมณเพศนาน ไม่มีทหารไพร่พลเป็นฐานอำนาจเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ โอกาสที่จะมาลดทอนอำนาจทางการเมืองของตระกูลคงเป็นไปได้ยาก

หากแต่ ร.4 ทรงรู้ทัน และเข้าใจ “การเมืองภายใน” นี้อย่างทะลุปรุโปร่ง จึงทรงวางกุศโลบายหลายอย่างในการลิดรอนอำนาจของขุนนางตระกูลดังกล่าว อาทิ การส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อให้มีความรู้ความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองได้

รวมถึงการ “สถาปนาพระสยามเทวาธิราช” เป็นสัญลักษณ์ของการสร้าง “อำนาจ” ขึ้นมาใหม่ให้รวมศูนย์อยู่เพียงที่เดียว ซึ่งก็คือพระองค์เอง

ด้าน “การเมืองภายนอก” ในห้วงเวลานั้นเป็นยุคล่าอาณานิคม ประเทศตะวันตกพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยได้เข้ามาในภูมิภาคนี้ เริ่มมีการทำสัญญาค้าขาย ที่หากลงลึงในรายละเอียด จะพบว่าเอาเปรียบเป็นอย่างมาก บางประเทศที่แข็งขืนยืนต้านก็ต้องทำสงครามต่อสู้

และด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่า แน่นอนว่ายากที่ประเทศเล็กๆ จะต่อกรได้

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงเล่าไว้ มักถูกยกเป็นเหตุผลหลักในการสถาปนา “เทวรูป” องค์นี้

“…เมื่อเสร็จศึกรัชกาลที่ 1 แล้ว ถึงรัชกาลที่ 2 ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาจากเมืองมาเก๊าเพื่อขอทำสัญญาค้าขายใน พ.ศ.2363 โปรดเกล้าฯ ให้รับสัญญาเพราะเรายังต้องการซื้อปืนไฟจากชาวตะวันตก อยู่ต่อมาอีก 2 ปี มิสเตอร์ จอห์น ครอเฟิร์ด (John Grawford) ทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียใน พ.ศ.2365

“ถึงรัชกาลที่ 3 อังกฤษเกิดรบกันขึ้นกับพม่าเป็นครั้งแรก ครั้นชนะแล้วจึงให้กัปตัน เฮนรี่ เบอร์เนย์ (Henry Burney) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ.2368 ทูตอเมริกัน มิสเตอร์เอ็ดมอนด์ โรเบิร์ต (Edmond Robert) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ.2375 มิสเตอร์ริดซัน (Ridson) ทูตอังกฤษเข้ามาทำสัญญาซื้อช้างเมื่อ พ.ศ.2381และ เซอร์เจมส์ บรูกส์ (Sir.Jame Brooks) ผู้เคยเป็นราชา (White Raja) ผู้ครองเกาะซาราวัก (Sarawak) เข้ามาขอทำสัญญาอีกเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2393 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต…”

การเมืองภายนอกที่เข้ามากดดันนี้ ร.4 ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุรับรู้อยู่โดยตลอด ดังนั้น เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ เข้าใจดีว่าไม่อาจต้านกระแสโลกได้ การยอมเปิดประตูรับนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง

แต่ที่สำคัญคือการ “ปรับตัว” ให้ทันสมัย สร้างความเป็น “รัฐชาติ” แบบตะวันตกขึ้นมา ผ่านการ 1.สร้างประวัติศาตร์แห่งชาติร่วมกัน และ 2.การสร้างสัญลักษณ์ร่วมกัน

พระสยามเทวาธิราชเป็นหนึ่งใน “วิธีการ” จากเดิมที่เคยมีเทวดาอยู่หลายองค์ ก็สร้างองค์ที่ใหญ่เหนือเทวดาทั้งมวลขึ้นมา ให้เป็น “สัญลักษณ์ร่วม” ของคนในชาติ ในฐานะเทวดาที่ปกปักรักษาบ้านเมือง

ต่อเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่า ร.4 เป็นจอมปราชญ์ที่รู้เท่าทันกระแสโลกเป็นอย่างยิ่ง

ตลอดการบวชเรียนเกือบ 27 ปี พระองค์ทรงศึกษาความรู้ต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องความเชื่อเก่าๆ ของผู้คนในภูมิภาค และความรู้ใหม่ๆ จากตะวันตก อย่างที่ทรงทำนายสุริยุปราคาได้อย่างแม่ยำ เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ (ศาสตร์สมัยใหม่) ล้วนๆ

อย่างไรก็ตาม แม้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์แตกฉาน แต่เรื่องอำนาจ “ผีสางเทวดา” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ร.4 ทรงเชื่อ

ในหนังสือ “พระเจ้ากรุงสยาม” ของ ส.พลายน้อย บอกเล่า กรณีที่พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขา เล่าถึงการเสด็จฯ ทอดพระเนตรนาที่ท้องสนามหลวง พร้อมกับพระราชโอรส และพระราชธิดา ซึ่งพอเสด็จกลับ รถเกิดพลิกทับ โชคดีที่ม้าลากไม่ตื่นตกใจวิ่งไปต่อ ทำให้ทุกพระองค์ปลอดภัย หรือได้รับบาดเจ็บก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ตอนหนึ่งระบุว่า “…จะว่ามีเหตุทั้งนี้เพราะบุญท่านผู้อื่นทับ ผีสางเทวดา ของท่านผู้อื่นมาตัดบังเหียนม้าเสีย บุญของข้าก็ยังได้อยู่ ผีสางเทวดาที่ยังรักข้าอยู่ก็ช่วยข้า ม้าจึงไม่วิ่งไป รถจึงไม่ได้ทับข้าแลลูกให้เป็นอันตรายฤๅเจ็บมาจนเสียราชการ…ข้าขอบใจเทวดาอารักษ์หนักหนาทีเดียว”

นี่เป็นเพียงเรื่องส่วนพระองค์ที่ทรงประสบพบมา

ไม่น่าแปลกใจ เมื่อเชื่อมโยงกับ “การเมืองภายใน” และ “การเมืองภายนอก” กรณีที่บ้านเมืองรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคม ย่อมทรงมีความเชื่อเรื่องเทวดาที่คอยปกปักษ์รักษา

นั่นคือ “พระสยามเทวาธิราช” ที่พระองค์ทรง “สมมติ” ขึ้น

และนี่คือความเป็นปราชญ์ ของ ร.4 ที่เรียกว่า “พระจอมเกล้า” ทรงรู้เท่าทันตน รู้เท่าทันโลกเป็นอย่างดี

ไม่แน่ใจว่าคนยุคสมัยนี้ จะเข้าใจ หรือเท่าทันหรือไม่

จะแก้ปัญหาบ้านเมืองที่ “วิกฤต” ในขณะนี้โดยยึดหลัก “กฎหมาย” ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ หรือสวดพร่ำวอนเทพยาดาฟ้าดินแบบไสยศาสตร์?