วันอาทิตย์, พฤษภาคม 28, 2566

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย



ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์: การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย

29 Oct 2020
1O1 World

อติเทพ ไชยสิทธิ์ เรื่อง
กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

“… ในเบื้องแรกความหวังอาจจะมีหรือไม่มีอยู่ เปรียบได้ดั่งถนนที่อยู่บนพื้นดิน
เดิมทีบนพื้นดินนั้นก็ไม่มีถนน แต่พอคนเดินมากๆ เข้า จึงกลายเป็นถนนขึ้นมา… “[1]

เรื่องสั้น “บ้านเกิด (故鄉)” ของ หลู่ซวิ่น (魯迅)

(1)
การเดินทัพทางไกลผ่านสถาบันทางสังคม


“การเดินทัพทางไกล”[2] (The Long March) หมายถึง เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่กองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องสละฐานที่มั่นใหญ่ในทางตอนใต้ของประเทศจีนเพื่อฝ่าการปิดล้อมของกองทัพรัฐบาลกั๋วหมินต่าง ทหารกองทัพแดงต้องเคลื่อนทัพผ่านภูมิประเทศอันเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นภูเขาหิมะ ที่ราบสูง แม่น้ำเชี่ยวกราก และหนองน้ำที่ชุกชุมไปด้วยยุงและโรคระบาด เพื่อหลบหนีการไล่ล่าของกองทัพรัฐบาลที่มีความเหนือกว่าในหลายๆ ด้าน

การเดินทัพทางไกลกินระยะทางประมาณ 10,000 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด 2 ปี (ค.ศ.1934 – 1936) และมีคนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ร่วมเดินทัพทางไกลได้ตั้งแต่ต้นจนจบ (ส่วนใหญ่เสียชีวิต บางส่วนยอมแพ้ หรือตกค้างตามรายทาง) ยุทธการทางทหารนี้อาจไม่เป็นที่จดจำมากนัก หากไม่ใช่เพราะชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าหลังการเดินทัพทางไกลที่เปลี่ยนให้การถอยร่นทางยุทธศาสตร์นี้กลายเป็นเส้นทางให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีชัยชนะในสงครามกลางเมืองเหนือรัฐบาลกั๋วหมินต่างในอีก 13 ปีต่อมา

“การเดินทัพทางไกล” ที่ผู้เขียนกำลังจะพูดถึงในบทความนี้ไม่ใช่การเดินทัพทางไกลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนโดยตรง แต่เป็นแนวคิดเรื่อง “การเดินทัพทางไกลผ่านสถาบันทางสังคม” (The long march through the institutions) ของรูดี ดุตช์เกอ (Rudi Dutschke) แกนนำนักศึกษาฝ่ายซ้ายเยอรมันในสมัยทศวรรษ 60s ผู้หยิบยืมเอาคำอุปมาอุปไมยเรื่อง “การเดินทัพทางไกล” มาใช้โดยมีนัยยะถึงการต่อสู้ทางความคิดที่ยากลำบากและยืดเยื้อยาวนาน แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้การต่อสู้นั้นขยายและยึดกุมพื้นที่ทางความคิดใหม่ๆ ทั้งนอกและในสถาบันทางสังคมที่มีอยู่ เพื่อเอาชนะระบบความคิดและระบบคุณค่าของสถาบันทางสังคมเดิมที่หล่อเลี้ยงความชอบธรรมของระบอบที่มีอำนาจอยู่ในขณะนั้น

ดุตช์เกอเสนอว่า ด้วยการต่อสู้ทางความคิดเช่นนี้เองที่คนกลุ่มน้อยซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองสามารถขยายอุดมการณ์ไปยังคนกลุ่มน้อยที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และใหญ่ขึ้น จนในที่สุดสามารถทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมตื่นตัวและเห็นพ้องกับความคิดแบบใหม่ – จุดนี้เองคือสภาวะสุกงอมที่พร้อมนำไปสู่ ‘การปฏิวัติ’

“การปฏิวัติไม่ใช่การกระทำอันรวบรัด ที่เมื่อบางอย่างเกิดขึ้นแล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไปหมดสิ้น การปฏิวัติคือกระบวนการที่ซับซ้อนและยาวนาน ที่ตัวเราเองต้องแปรเปลี่ยนไปด้วย” (ดุตช์เกอกล่าวในงานเสวนาเรื่องบทบาทของขบวนการนักศึกษาในการปฏิวัติ, พฤศจิกายน ค.ศ.1976)[3]

ดุตช์เกอชี้ให้เราเห็นว่าการปฏิวัติไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวบรัด แต่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและตัวเราเอง การปฏิวัติไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยน (change) แต่เป็นการเปลี่ยนแปลง (transformation) เช่นเดียวกันกับที่ “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ไม่ได้เกิดขึ้นในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 แต่เป็น ‘กระบวนการ’ ที่เกิดขึ้นก่อนและดำเนินอยู่หลังการทลายคุกบาสตีย์ การปฏิวัติฝรั่งเศสทำลายคุณค่าแบบเก่าและสร้างคุณค่าแบบใหม่ขึ้นมา ทำลายคนฝรั่งเศสแบบเก่าและสร้างคนฝรั่งเศสแบบใหม่ขึ้นมา กระบวนการของการปฏิวัติจึงไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว

ข้อเสนอของดุตช์เกอยังเน้นให้เห็นอีกด้วยว่าการปฏิวัติในอดีตกับการปฏิวัติในสังคมสมัยใหม่มีความแตกต่างกัน ในสังคมที่ยังไม่มีความสลับซับซ้อน การปฏิวัติสามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการเผชิญหน้าทางตรงกับรัฐ เพราะรัฐในอดีตนั้นเปลือยเปล่าไร้โครงสร้างอื่นเกื้อหนุน การเข้ายึดอำนาจรัฐ หรือการโค่นล้มอำนาจรัฐ ไม่ว่าด้วยวิธีทางทหารหรือการลุกฮือของประชาชน ก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติได้

แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน มีความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม (civil society) ที่เกื้อหนุนกันอยู่ การปฏิวัติด้วยการเผชิญหน้ากับรัฐโดยตรงหรือการโค่นล้มอำนาจรัฐแทบจะเป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยาก และแม้เข้ายึดอำนาจรัฐได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงที่สืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจรัฐจะเป็นผล เพราะอุดมการณ์หรือระบบคุณค่าของ ‘ระบอบเก่า’ ยังแทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของสังคม ในความคิด ในความรู้ ในวัฒนธรรม นั่นทำให้ชิ้นส่วนของระบอบเก่านี้อาจขัดขวางการเปลี่ยนแปลงและโต้กลับการปฏิวัติได้อยู่เสมอ

อันที่จริงแนวคิดเรื่อง “การเดินทัพทางไกลผ่านสถาบันทางสังคม” ของดุตช์เกอไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการตีความ/ขยายความแนวคิดเรื่อง “สงครามช่วงชิงพื้นที่” (War of Position) ของอันโตนิโอ กรัมชี (Antonio Gramsci)[4] กรัมชีเสนอว่าในสังคมสมัยใหม่ที่มีความสลับซับซ้อน การปฏิวัติด้วยการโค่นล้มรัฐโดยตรง หรือที่เรียกว่า “สงครามขับเคลื่อน” (War of Maneuver) เป็นไปได้ยาก การจะเอาชนะฝ่ายที่มีอำนาจครอบงำสังคมอยู่ได้นั้น ต้องสร้างสภาวะที่คนในสังคมมีความเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างขวางเสียก่อน

การต่อสู้ทางความคิดในแบบสงครามช่วงชิงพื้นที่ ก็คือการค่อยๆ สร้างพื้นที่อิทธิพลทางความคิด สร้างวัฒนธรรมและคุณค่าแบบใหม่ขึ้นมาตอบโต้กับวัฒนธรรมและคุณค่าแบบเก่าที่กำลังครอบงำสังคมอยู่ พร้อมกับยกระดับเพดานการต่อสู้ และขยายแนวร่วมไปในเวลาเดียวกัน

หากมองกลับมายังประเทศไทย เราจะเห็นว่าการรัฐประหารของคณะราษฎรในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เพื่อสถาปนาระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญก็อาจถือได้ว่าเป็นการทำสงครามขับเคลื่อนอย่างหนึ่ง คณะราษฎรสามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้โดยง่ายเพราะสภาพสังคมไทยในขณะนั้นยังไม่มีความซับซ้อน แม้แต่สถาบันกษัตริย์ก็ยังไม่มีฐานมวลชนที่กว้างขวาง ไม่มีสถาบันทางสังคมอย่างระบบการศึกษาที่คอยผลิตความคิดอนุรักษนิยมดังเช่นในปัจจุบัน

แต่ในทางกลับกัน ฝ่ายอนุรักษนิยมก็สามารถช่วงชิงอำนาจรัฐกลับได้โดยง่าย การรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ใน พ.ศ.2500 ถือเป็นการปิดฉากคณะราษฎรโดยสมบูรณ์ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมกลายเป็นกลุ่มที่รักษาอำนาจนำในสังคมไทยได้มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อสภาพสังคมไทยในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน ฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมที่มีอำนาจอยู่ไม่เพียงใช้กลไกปราบปราม (repressive state apparatus) ทั้งผ่านวิธีทางกฎหมายและวิธีนอกกฎหมาย แต่พวกเขายังใช้กลไกทางอุดมการณ์ (ideology state apparatus)[5] เช่น การศึกษาในระบบโรงเรียน ผลิตซ้ำวัฒนธรรมและคุณค่าแบบอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมอยู่ตลอดเวลา

การผลักดันความคิดที่ก้าวหน้าแม้แต่เพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะในระดับโรงเรียน หรือในระดับสังคมล้วนต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากกลไกกดขี่ของรัฐไทย การต่อสู้ทางความคิดในสังคมไทยปัจจุบันจึงเป็น “การเดินทัพทางไกล” อย่างหลีกเลี่ยงไปไม่ได้

(2)
การเดินทัพทางไกลทางความคิดของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล


“People will say hard things of you now,
but you shall be remembered by posterity
and blessed by unborn generations.”[6]

ข้อเสนอทางการเมืองที่ท้าทายฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยมมากที่สุดในเวลานี้ก็คือ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องหลักของกลุ่ม “คณะราษฎร 63” ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวระหว่างกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม (ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ ในการชุมนุมวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต) กลุ่มประชาชนปลดแอก (ที่เรียกร้องการยุบสภาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) และกลุ่มนักเคลื่อนไหวอื่นๆ

ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ มีเค้าโครงที่มาจากข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ผู้เคลื่อนไหวเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี โดยหากเรานับตั้งแต่ที่สมศักดิ์รวบรวมข้อเสนอของตนที่กระจัดกระจายอยู่ให้กลายเป็น “ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 8 ข้อ” แล้วโพสต์ลงในเว็บบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน” วันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2553 จนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลาเกือบ 11 ปีแล้ว

แม้ทุกวันนี้ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์จะได้รับการตอบรับในวงกว้างโดยประชาชนและคนรุ่นใหม่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในห้วงเวลาหลายปีก่อนหน้านี้ ข้อเสนอของสมศักดิ์ไม่ได้รับความนิยมมากนักในหมู่นักวิชาการ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ด้วยกัน พวกเขาเห็นต่างกับสมศักดิ์ว่า ‘สถาบันกษัตริย์’ ไม่ใช่ปัญหาใจกลางของสังคมไทย และการเรียกร้องให้ทุกคนมุ่งไปที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ‘ไม่ใช่ทางออกของปัญหา’ บางส่วนก็อ้างว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์ แต่วิจารณ์ว่าท่าทีของเขาไม่เป็นมิตร ทำให้การเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของสมศักดิ์จึงเป็นทั้งการทำสงครามทางความคิดกับ ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ด้วยกัน[7] และกับฝ่ายอนุรักษนิยม-กษัตริย์นิยม

ความ ‘ป็อปปูลาร์’ ของข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในวันนี้ ผู้เขียนคิดว่ามาจากการที่สมศักดิ์ไม่เพียงแต่ต่อสู้ผ่านงานวิชาการในฐานประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เขายังมีความเป็นนักเคลื่อนไหวที่ให้ความสนใจกับการขยาย ‘พื้นที่ทางความคิด’ ในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่เสมอ (เขามีการปรับเปลี่ยน ‘แพลตฟอร์ม’ จากเว็บบอร์ดสู่เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ตามยุคสมัย)

ผู้เขียนคิดว่าการเคลื่อนไหวของสมศักดิ์ 3 ช่วง ทำให้เขาเป็นที่รู้จักในประชาชนวงกว้าง นั่นคือ 1.) การรัฐประหาร พ.ศ.2549 2.) หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง พ.ศ.2553 และ 3.) หลังการสวรรคตของกษัตริย์ภูมิพล พ.ศ.2559

1.) การรัฐประหาร พ.ศ.2549

หลังรัฐประหาร ปีพ.ศ.2549 สมศักดิ์เริ่มเข้ามาเขียนกระทู้ในเว็บบอร์ดของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน[8] ซึ่งขณะนั้นยังมีสมาชิกเพียงไม่กี่คน (ก่อนหน้ารัฐประหาร สมศักดิ์เขียนกระทู้เป็นประจำในเว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน[9] ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงนักวิชาการและปัญญาชน)

กระทู้ในช่วงแรกของเขามีเนื้อหาตอบโต้ปฏิกิริยาของนักวิชาการจำนวนหนึ่งต่อเหตุการณ์รัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้น ก่อนที่หัวข้อกระทู้จะกลายมาเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ในภายหลัง ผู้อ่านเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงหลายแสนการเข้าชมต่อวันในช่วงที่มีความนิยมสูงที่สุด ถือได้ว่านี่เป็นจุดที่สมศักดิ์เริ่มเป็นที่รู้จักนอกแวดวงวิชาการและกิจกรรมเป็นครั้งแรก

2.) หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง พ.ศ.2553

หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เกิดสภาวะที่นักกิจกรรมและนักวิชาการพยายามขับเคลื่อนประเด็นทางการเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวาง ห้วงเวลานี้เองที่คณะนิติราษฎร์ได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

ในกรณีของสมศักดิ์ ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของเขาได้ขยายสู่ประชาชน (ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมืองเพราะเป็นส่วนหนึ่ง/ติดตามการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง) เป็นวงกว้างครั้งแรกหลังงานเสวนาเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย”[10] ที่จัดโดยคณะนิติราษฎร์ ในวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม 2553 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งถือเป็นการปาฐกถาในที่สาธารณะเรื่องสถาบันกษัตริย์ครั้งแรกของสมศักดิ์

เหตุการณ์วันนั้นผู้เข้าร่วมฟังงานเสวนามีมากเสียจนล้นออกมาจากห้องประชุม ต้องมีการตั้งลำโพงขยายเสียงให้คนที่อยู่ข้างนอกได้ยินทั่วถึงกัน ผู้เขียนไม่อาจประเมินได้ว่าบันทึกงานเสวนานั้นถูกกระจายออกไปกว้างขวางเพียงใด แต่นอกจากที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ผู้เขียนยังทราบว่ามีการทำสำเนาวิดีโอบันทึกงานเสวนาครั้งนี้แจกจ่ายกันเองอีกด้วย[11]

3.) หลังการสวรรคตของกษัตริย์ภูมิพล พ.ศ.2559

หลังการถูกข่มขู่เอาชีวิต และการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เกิดขึ้นไล่เลี่ยกันใน พ.ศ.2557 สมศักดิ์ต้องลี้ภัยและพำนักอยู่ในประเทศฝรั่งเศสจนถึงปัจจุบัน ในสถานการณ์หลังการรัฐประหารที่บรรยากาศในเมืองไทยเต็มไปด้วยการคุกคามสิทธิเสรีภาพของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคณะรัฐประหาร เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของสมศักดิ์กลายเป็นพื้นที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร ‘ทางเลือก’ ของคนในประเทศไทย เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับพระอาการประชวรของกษัตริย์ภูมิพล และพระราชกรณียกิจของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ในต่างประเทศ

ผู้เขียนคิดว่าในห้วงเวลานี้เองที่สมศักดิ์กลายเป็นที่รู้จักในประชาชนวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่ม “คณะราษฎร 63” ในปัจจุบัน

(3)
การเดินทัพทางไกลของสังคมไทย


“จงอยู่กับความเป็นจริง โดยเรียกร้องสิ่งที่เป็นไปไม่ได้!”[12]

คำขวัญของขบวนการนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภา ‘68

หากมองย้อนกลับไป เราจะเห็นว่าการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ผ่านมาแทบไม่ต่างอะไรกับข้อเสนอเรื่อง “การเดินทัพทางไกลผ่านสถาบันทางสังคม” ของรูดี ดุตช์เกอร์ นั่นคือการขยายความตื่นรู้ของ ‘คนกลุ่มน้อย’ ออกไปสู่ ‘คนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ’ จนในปัจจุบัน ‘คนกลุ่มน้อย’ ที่ว่านับได้เป็นเรือนแสน พวกเขาในวันนี้ได้ออกไปยังท้องถนนเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่คนเมื่อ 10 ปีก่อนเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขากำลังจะถึงจุดหมายแล้ว ในทางตรงกันข้าม พวกเขายังต้องทุ่มเทกับการทำสงครามอันยืดเยื้อยาวนานนี้ต่อไปอีกในอนาคต จนกว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมจะมีฉันทามติว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อนั้นเองที่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์จะสำเร็จลงได้

ภาพหนทางที่ยาวไกลข้างหน้าไม่ควรจะทำให้พวกเขาย่อท้อและยอมแพ้ลง เพราะเมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้ว ระหว่างภูมิประเทศอันยากลำบากและยาวไกลนี้ พวกเขาได้สะสมเพื่อนร่วมทางมากขึ้น และมากขึ้น

ที่สำคัญ พวกเขาควรพิจารณาว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่แค่การเคลื่อนไหวในท้องถนน หรือการมุ่งผลักดันให้รัฐสภาผ่านกฎหมายเท่านั้น แต่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตัดขาดไม่ได้จากการต่อสู้ในพื้นที่ทางความคิด-วัฒนธรรมที่เป็นทั้งรากเหง้าและเป็นโครงสร้างหล่อเลี้ยงสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน การต่อสู้เพื่อขัดขืนระบบคุณค่าและวัฒนธรรมแบบเก่าทั้งในครอบครัว ในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในโรงภาพยนตร์ การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อทำลายความคิดชายเป็นใหญ่ ล้วนเป็นการต่อสู้ที่ต้องดำเนินไปควบคู่กับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ทั้งสิ้น

พวกเขาควรทำให้การต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการประท้วงที่สัมบูรณ์ (absolute protest) เช่นเดียวกันกับที่ขบวนการนักศึกษาฝรั่งเศสในเหตุการณ์พฤษภา ’68 ต่อต้านทุนนิยมและรัฐอำนาจนิยมไปพร้อมๆ กับการตั้งคำถามต่อระบบคุณค่าและวัฒนธรรมซึ่งหล่อเลี้ยงระบอบที่สถาปนาอยู่

“…การประท้วงที่สัมบูรณ์​ ไม่ใช่แค่การประท้วงต่อความชั่วร้ายหรือความบกพร่องจำเพาะใดๆ​ แต่เป็นทั้งการประท้วงต่อระบบคุณค่า​ ระบบวัตถุวิสัย​ และระบบการดำเนินการทั้งหมดทั้งปวงอันเป็นที่ต้องการ​และใช้อยู่ในสังคมที่สถาปนาอยู่แล้วนั้น​ ในอีกทางหนึ่ง​ มันคือการปฏิเสธ​ที่จะยอมรับและเชื่อฟังต่อวัฒนธรรม​ของสังคมที่กำลังครอบงำอยู่​ พวกเขาได้ปฏิเสธ​ ไม่เพียงต่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ​ ไม่เพียงต่อสถาบันทางการเมือง​ แต่เป็นระบบคุณค่าทั้งหมดทั้งปวงที่พวกเขารู้สึกว่ามันกำลังเน่าเปื่อยจนถึงแก่นข้างใน… “[13]

ในเวลาเดียวกัน พวกเขาควรตระหนักว่า ขณะนี้สังคมไทยอยู่ระหว่างการแสวงหาฉันทามติใหม่หลังการสวรรคตของกษัตริย์ภูมิพล ประชาชนบางส่วนเชื่อว่าสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่สามารถเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมไทยที่กำลังเปราะบางด้วยความขัดแย้งได้อีกต่อไปแล้ว[14]

ขณะที่ประชาชนบางส่วนเชื่อตรงกันข้าม ผู้เขียนไม่สามารถทำนายได้ว่าความขัดแย้งและการแสวงหาฉันทามติใหม่ของสังคมไทยจะจบลงอย่างไร แต่ผู้เขียนอยากเตือนให้ผู้ที่ร่วมเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในขณะนี้พึงระลึกไว้ว่า นี่จะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อยาวนานหลายสิบ หรืออาจจะหลายร้อยปี แต่พวกเขาต้องไม่หยุดที่จะเรียกร้อง ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้’

เพราะประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่า ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้’ นั้น ‘เป็นไปได้’

เชิงอรรถ

[1]「希望本是無所謂有,無所謂無的。這正如地上的路;其實地上本沒有路,走的人多了,也便成了路。」

[2] อ่าน The Long March: The True History of Communist China’s Founding Myth โดย Sun Shuyun

[3] ชมบางส่วนของงานเสวนาได้ที่นี่

[4] อ่าน Selections from the Prison Notebooks ของ Antonio Gramsci บท State and Civil Society

[5] อ่าน Ideology and Ideological State Apparatuses ของ Louis Althusser ที่พูดเรื่องกลไกการกดขี่ของรัฐที่ใช้ทั้งกลไกปราบปราม (repressive state apparatus) เช่น ตำรวจ ทหาร และกลไกทางอุดมการณ์ (ideology state apparatus) เช่น การศึกษา และวัฒนธรรม

[6] ดัดแปลงจากข้อความในจดหมายที่ Padraig Pearse แกนนำการลุกฮือวันอีสเตอร์เพื่อสถาปนาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ค.ศ.1916 เขียนถึงแม่ของเขาก่อนถูกประหารชีวิตในอีก 2 วันต่อมา

[7] ทางหนึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เชื่อว่าสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหา และอีกทางหนึ่งเป็นกลุ่มที่เห็นด้วยว่าสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์เป็นปัญหาจริง แต่วิจารณ์ว่าข้อเสนอของสมศักดิ์สุดโต่ง ไม่รู้จัก “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” และ “ทำลายขบวน” และอาจมีบางส่วนที่วิจารณ์ว่าท่าทีของสมศักดิ์มีลักษณะขี้รังแก (bully) เช่นเกษียร เตชะพีระ ใน “ตาแป๊ะเมาเซทุนและสตาลิน ณ อินเตอร์เน็ต” มติชนรายวัน 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2550 (http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=4297)

[8] http://www.sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=185 ยังสามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์จดหมายเหตุอินเทอร์เน็ต https://web.archive.org/

[9] สมศักดิ์อ้างว่าสาเหตุหนึ่งที่ย้ายมาเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน เพราะเว็บบอร์ดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิด https://web.archive.org/web/20100826045620/http://weareallhuman2.info/index.php?showtopic=49138

[10] สมศักดิ์เขียนถึง ‘เบื้องหลัง’ ของงานเสวนานี้ไว้โดยละเอียด ความริเริ่มนี้เป็นของผู้ประสานงานเครือข่าย 24 มิถุนาประชาธิปไตย สุวิทย์ เลิศไกรเมธี และของสมยศ พฤกษาเกษมสุข ติดตามอ่านได้ที่นี่

[11] ในตอนที่ได้ยินครั้งแรก ผู้เขียนคิดว่าเรื่องนี้เป็น urban myth แต่หลังจากได้พูดคุยกับบุคคลที่ติดตามการชุมนุมของคนเสื้อแดงและอยู่นอกวงการวิชาการและกิจกรรมทางการเมืองหลายคน พวกเขาล้วนรู้จัก “อาจารย์ผมขาวๆ” จากการชมวิดีโองานเสวนาดังกล่าว

[12] « Soyez réalistes, demandez l’impossible » ดิน บัวแดงได้อธิบายความหมายไว้ว่า “ทุนนิยมเสรีที่หลอกล่อให้เราคิดว่ามันจะอยู่ตลอดไปและ “เป็นไปไม่ได้” ที่เราจะโค่นล้มมันนั้น เราต้องคิดใหม่และอยู่กับ “ความจริง” ซึ่งก็คือ เราโค่นล้มมันได้และเราต้องทำด้วยตัวเราเอง” (https://thaistudentsoverseas.wordpress.com/2018/06/04/nethiwitandmay68/)

[13] “…It is a total protest, not only against specific evils and against specific shortcomings, but at the same time, a protest against the entire system of values, against the entire system of objectives, against the entire system of performances required and practiced in the established society. In other words, it is a refusal to continue to accept and abide by the culture of the established society. They reject not only the economic conditions, not only the political institutions, but the entire system of values which they feel is rotten at the core…” โดย Herbert Marcuse ใน Reflections on the French Revolution

[14] อ่าน “ทำไมต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”