วันอาทิตย์, พฤษภาคม 28, 2566

เพราะว่า ‘ก้าวไกล’ เป็นคนใหม่ “ไม่เคยได้สร้างผลงาน จึงถูก ‘ดูแคลน’ ไว้ก่อนตามธรรมเนียมไทยๆ”

เพียงสองอาทิตย์ ยังอีกเดือนครึ่งก่อนที่ กกต.จะรับรองชัยชนะ พรรคก้าวไกลก็อ่วมอรทัยไปแล้วกับการโจมตี และโดนสกัดกั้นเกือบทุกด้านในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งจากฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายตรงข้าง (แคร่)

ไม่ว่าจะ สมชาย แสวงการ (สว.) สุชาติ ตันเจริญ (พท.) และนักธุรกิจระดับกรรมการผู้จัดการอย่าง ประกิต สิริวัฒนเกตุ ทั้งหลายทั้งปวงเนื่องจากบุคคลากรระดับผู้บริหารของก้าวไกล เป็นคนใหม่ ไม่เคยได้สร้างผลงาน จึงถูก ดูแคลนไว้ก่อนตามธรรมเนียมไทยๆ

สมชาย นั่นหนักกว่าใคร เพียงแค่ “ดูรายชื่อว่าที่ประธานสภาที่พรรคก้าวไกลเสนอ” เท่านั้นก็เห็นเลยว่า “ไร้ฝีมือ ด้อยคุณภาพ ไม่ขอเรียกท่านประธานสภาที่เคารพแน่นอน #กระดากปาก” ด้าน สุชาติ’ แม้จะเคยเป็นรองประธานสภาฯ ใช่ว่าจะเที่ยวสอนใครๆ ได้

ข้อที่อ้างว่าไม่จำเป็นประธานฯ ต้องมาจากพรรคซึ่งได้ ส.ส.มากอันดับหนึ่ง ก็ไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะในรอบ ๔๐ ปีเพียงสองครั้งที่ประธานสภามิได้มาจากพรรคอันดับ ๑ อีกทั้งอ้างว่าประธานฯ ต้องเป็นกลาง ฯลฯ ก็บลา บลา บลา เช่นกัน

อันนี้ต้องให้ @SaiSeeMaP จาระไน “สุชาติพูดจริงครึ่งเดียว #ประธานสภาไม่มีอำนาจเลือกบรรจุร่างกฎหมายได้ตามใจ จริง แต่ประธานสภาก็มีอำนาจที่จะไม่เลือก หรือปัดตกร่างกฎหมายด้วยดุลยพินิจได้” เขายกตัวอย่าง

“เหมือนที่ ปธ.สมศักดิ์ (เกียรติสุรนนท์) สมัย รบ.ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) หรือ ปธ.ชวน (หลีกภัย) สมัย รบ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) เคยใช้ดุลยพินิจปัดตกร่างแก้ ๑๑๒ มาทั้งคู่” พอมาถึงพวกนักธุรกิจ บ้างยอมรับในความรอบรู้และทักษะของ พิธา ลิ้มเจริญวงศ์

บ้างยอมรับในแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล แต่ไม่เชื่อมือบุคคลากร อย่างว่าที่ รมว.คลัง ศิริกัญญา ตันสกุล ดังที่ ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เขียนวิจารณ์ไว้ยาวเหยียด

เริ่มจากถอดถ้อยความคำให้สัมภาษณ์อย่างละเอียด สรุปได้ว่าแนวทางการคลังของ รมว.จากพรรคก้าวไกล เน้น “การกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม” เพิ่มศักยภาพแรงงาน สนับสนุนอุคสาหกรรมไฮเท็ค กับเน้นการเปิดข้อมูลบางส่วนของรัฐให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

เหล่านั้นเขาเห็นว่า คุณไหม “มีความรู้ในสิ่งที่ตัวเองจะทำเป็นอย่างดี แต่ภาพเศรษฐกิจของประเทศ มันมีการเชื่อมโยงกันหลายส่วน หลายคำตอบยังไม่เคลียร์ และมีคำถามต่ออีกมากมาย” โดยเฉพาะ “ความรู้ความเข้าใจในกลไกตลาดทุนต่อระบบเศรษฐกิจ”

เรื่องนั้นน่าจะมาจากตลาดหุ้นไทยตกหลังเสร็จเลือกตั้งเป็นต้นมา ซึ่งไม่ใช่จากความไม่เชื่อมือในทีมก้าวไกลในหมู่ ไอโอฝ่ายตรงข้ามและ ติ่ง พรรคข้างเคียง มากไปกว่าความกังวลของนักลงทุนต่างประเทศ ต่อปัจจัยอำนาจนอกระบบขัดขวาง

ข้อนี้ ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ บอกว่า “อย่าทำโอกาสให้เป็นวิกฤต...หากประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ด้วยการเคารพกติกาประชาธิปไตยและเจตนารมณ์ของประชาชน ก็จะเป็นโอกาสขับเคลื่อนเศรษฐกิจและตลาดหุ้น รับการลงทุนต่างประเทศที่กำลังไหลกลับมา” ได้ดี

(https://www.facebook.com/prakitsiriwattanaket/posts/pfbid02nRJgK, https://fb.watch/kItvtmSX0r/?mibextid=Nif5oz และhttps://www.thairath.co.th/news/politic/2697291)