วันพุธ, พฤษภาคม 10, 2566

ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ? เมื่อ ‘ความกลัว’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง



ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม? เหตุผลที่ ‘ความกลัว’ เป็นเครื่องมือที่ได้ผลในสนามการเมือง

9 May 2023 
Tassana Puttaprasart
The Matter

ชีวิตของเรามีบางอย่างที่มองไม่เห็นขับเคลื่อนอยู่

ทำไมกันเราถึงใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ใส่หน้ากากอนามัย หรือปฏิบัติตามกฎหมายอะไรก็ตามอย่างเคร่งครัด? การที่หัวใจของเราเต้นเร็วเมื่อเราต้องเดินทางในที่มืด การระวังตัวเมื่อเราต้องเดินกลับที่พักคนเดียวในที่ที่ไม่คุ้นเคย อะไรกันที่ขับเคลื่อนให้เราเลือกทำอะไรบางอย่างด้วยความเชื่อว่าเราต้องปกป้องตัวเองหรือสังคม? อะไรคือใจกลางของการกระทำจำนวนมากของเรา?

ความกลัว

ความกลัวเป็นหนึ่งในความรู้สึกพื้นฐานที่สุดของมนุษย์ ในหลายๆ กรณีอาจเรียกได้ว่าเป็นความรู้สึกซึ่งมีอิทธิพลต่อเรามากที่สุด เพราะแม้จะเป็นหนึ่งในความรู้สึกแง่ลบสุดๆ ที่เราจะรู้สึกได้ แต่ความกลัวเป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์สามารถเอาชีวิตรอดได้ หากไร้ความกลัวก็จะไร้การหลบหลีกอันตราย หากไร้ความกังวลก็จะไร้การเตรียมพร้อม และคอนเซ็ปต์ของการลงโทษใดๆ นั้นก็มักวางอยู่บนฐานของการสร้างความกลัวและความหลาบจำ

ความรู้สึกทรงพลังเช่นนี้ ย่อมเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังได้เช่นกัน โดยเฉพาะในห้วงเวลาปัจจุบันที่ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดและอาจเกิดขึ้นได้ ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงนั้นคือความรู้สึกไม่แน่นอน และสิ่งที่มาคู่กันเสมอก็คือความกลัว

ในบทความวิชาการที่รวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับความกลัวในมุมประสาทวิทยา Neurobiology of fear and specific phobias โดย เรเน การ์เซีย (Rene Garcia) จากสถาบัน Institut de Neurosciences de la Timone มหาวิทยาลัย Aix Marseille Université & Centre National de la Recherche Scientifique ให้นิยามความกลัวเอาไว้ว่า

“ความกลัว คือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเรารู้สึกว่าตัวเองหรือคนอื่นๆ กำลังเสี่ยงจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่นำมาซึ่งความไม่ปลอดภัย” เขากล่าว “เพื่อเตรียมตัวจะเผชิญหน้ากับภัยอันตราย สิ่งเร้าเหล่านี้จะทำให้เรามีปฏิกิริยา ‘แช่แข็ง สู้ หรือหนี’ (Freeze, Fight, or Flight) หรือ ‘ดูแลและหาเพื่อน’ (Tend-and-Befriend)” เขาพูดเกี่ยวกับปฏิกิริยาต่อความกลัว

กล่าวง่ายๆ คือความกลัวนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเราสูงมากๆ และลึกลงไปในระดับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งอาจเถียงได้ว่ามีอิทธิพลกับเรามากกว่าความรู้สึกไหนๆ เลยก็ได้ เพราะเมื่อเรารู้สึกโกรธหรือดีใจเราก็ยังอาจจะเก็บเอาไว้ในใจได้ หรือเมื่อเรารู้สึกรักเราก็ยังอาจจะไม่ต้องพูดออกไปได้ แต่ความรู้สึกกลัวนั้นบ่อยครั้งมีการตอบสนองอย่างอัตโนมัติและชัดเจน แล้วกี่ครั้งกันที่เรารู้สึกรักใครสักคนแต่ไม่ได้พูดออกไปเพราะกลัวผลลัพธ์ที่ตามมา?

ทว่านั่นก็ไม่ได้แปลว่าปฏิกิริยาต่อความกลัวนั้นจะเป็นผลดีต่อเราไปเสียทั้งหมด เพราะแม้ว่ามันจะช่วยให้เรารอดชีวิตได้ในสถานการณ์เฉพาะหน้า แต่การได้รับความกลัวมากๆ สามารถวิวัฒนาการไปเป็นอาการวิตกกังวลได้ และอาการวิตกกังวลก็สามารถนำไปสู่ปฏิกิริยาที่เรามองบางสิ่งบางอย่างน่ากลัวและเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่มันเป็น ซึ่งผลของมันทำให้เกิดการป้องกันที่หนักหนาขึ้น รุนแรงขึ้น หรือในระดับความตึงเครียดที่สูงขึ้นไปอีก

ฉะนั้นความกลัวจึงมีผลอย่างมากเมื่อถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเบี่ยงพฤติกรรมของมนุษย์



หากยังจำกันได้ ในการเลือกตั้งปี 2016 ของสหรัฐอเมริกา ปีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ที่นั่งตำแหน่งประธานาธิบดี เสียงจำนวนมากทั้งในและนอกสหรัฐฯ ตั้งคำถามว่า ทำไมจากแคนดิเดตหลากหลายคน ผู้ชนะถึงเป็นชายที่สวดบทพูดเสริมสร้างความเกลียดชัง การแบ่งแยก การกีดกันคนกลุ่มต่างๆ ออก บ่อยครั้งก็ผ่านคำโกหกเกี่ยวกับคนหลายๆ กลุ่ม บทพูดที่สร้างหรือเปิดหน้าความกลัวและความเกลียดชังของผู้คนออกมา อะไรทำให้การหาเสียงของเขาประสบความสำเร็จ?

Fearmongering คือเทคนิคการสร้างความกลัวเกี่ยวกับประเด็นบางอย่างให้คนจำนวนหนึ่งเพื่อนำไปสู่การกระทำสักรูปแบบ อย่างที่เรารู้กันว่าความกลัวนำไปสู่ปฏิกิริยาและการปฏิบัติที่อยู่เหนือทุกสิ่งได้ หากพูดถึงในกรณีของทรัมป์ หนึ่งในวาทกรรมที่อยู่ใจกลางการหาเสียงของเขาคือ ผู้อพยพ โดยเฉพาะจากเม็กซิโกที่เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ นั้นเป็นบุคคลอันตรายโดยเขาเรียกผู้อพยพเหล่านี้ว่า “อาชญากร ผู้ค้ายา นักข่มขืน” สัญญาของเขาคือหากเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาจะสร้างกำแพงขนาดใหญ่ระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโก พร้อมนำผู้อพยพผิดกฎหมายทั้งหมดออกไปจากพื้นที่

นั่นยังไม่รวมนโยบายต่อต้านศาสนาอิสลาม การสัญญาว่าจะเลือกผู้พิพากษาที่ต่อต้านการทำแท้ง และมุมมองต่อประเด็นทางสังคมอื่นๆ โดยรวม เช่น เพศและเชื้อชาติ ที่ตรงกันข้ามกับฝั่งก้าวหน้า ซึ่งในห้วงเวลาเดียวกัน เรามักได้ยินวาทกรรมอื่นๆ จากกองเชียร์ของเขา ไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพเข้ามาแย่งงานคนสหรัฐฯ การที่สหรัฐฯ มีคนจากหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกันจะทำให้คนผิวขาวหายไป การทำแท้งคือการฆาตกรรม ฯลฯ ล้วนวาทกรรมที่พูดเกี่ยวกับความกลัวของกลุ่มอนุรักษนิยมของสหรัฐฯ โดยตรง ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นนำไปสู่บทสรุปที่ว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน ปี 2016 โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง

คำตอบของคำถามว่าทำไมทรัมป์จึงได้ที่นั่งตำแหน่งประธานาธิบดีนั้น แม้จะฟังดูน่าหดหู่หน่อยๆ แต่กลับชัดเจน นั่นเพราะมนุษย์มองไปยังความกลัวมากกว่าความหวัง ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล และความกลัวก็เป็นความรู้สึกซึ่งแข็งแกร่งที่สุดที่สามารถชนะความรู้สึกอื่นๆ ไม่เลือกเราเขามาแน่ จึงเป็นวาทกรรมที่ได้ผลและจับต้องได้กว่าคำสัญญาว่าอนาคตสามารถดีขึ้นได้ ถ้าเราไม่แลนด์สไลด์จะเกิดอะไรขึ้น? ถ้าเราเลือกอีกพรรคเราจะทำผิดหรือไม่? ก็เป็นคำถามในหัวที่เสียงดังกว่าการถามว่า หากเลือกพรรคที่เราอยากเลือกจะเกิดอะไรขึ้น? อยู่เสมอ



ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง ปี 2023 นี้ วิดีโอชื่อ ถามคนไทย…เอาไหม? “คุณอยากให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม จริงหรือ” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นวิดีโอที่กระตุกต่อมความกลัวเดียวๆ กันกับแคมเปญของทรัมป์ แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าและออกไปทางความเศร้าเสียมากกว่า แต่เป็นการสื่อให้เห็นถึงความเศร้าของการสูญเสียอะไรบางอย่างไป เช่น ศาสนา ความใกล้ชิดของคนในครอบครัว ศีลธรรม ความมั่นคงปลอดภัย และการสูญเสียเหล่านั้นก็เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

แล้วเขาไปเอาความคิดแบบนี้มาจากไหน? มีพรรคการเมืองไหนหรือกลุ่มไหนที่ต้องการจะทำให้ความสูญเสียเหล่านั้นเกิดขึ้นหรือเปล่า? เราเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ได้ว่า Catastrophizing หนึ่งในรูปแบบของ Cognitive Distortion หรือการ ‘คิดเบี้ยว’ ซึ่งนำไปยังมุมมองที่บิดเบี้ยวต่อโลกจริง โดยในกรณีของ Catastrophizing คือการคิดไปว่าสิ่งที่แย่ที่สุดจะเกิดขึ้นนั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่นการที่มีนักการเมืองเสนอนโยบายสมรสเท่าเทียมขึ้นมา สิ่งแรกที่คนที่เริ่ม Catastrophize คืองั้นก็แปลว่าไม่มีเหตุผลให้คนต้องแต่งงานระหว่างชายกับหญิงอีกต่อไป ทุกคนก็จะแต่งงานระหว่างเพศกำเนิดเดียวกันหมด การแต่งงานรูปแบบนั้นจะนำไปสู่สังคมที่ไม่มีการสืบพันธุ์ และในที่สุดเราก็จะสิ้นชาติ ซึ่งเมื่อเราลองมองย้อนสายกลับจากคำว่าสิ้นชาติไปยังสมรสเท่าเทียม เหตุและผลนั้นฟังดูไม่ขึ้นเอาเสียเลย แต่นั่นคือการใช้ความกลัวพูดแทนเรา

ในขณะเดียวกัน มันก็เป็นความกลัวที่เข้าใจได้ว่าอาจเกิดมาจากช่องว่างระหว่างวัยกับการเข้าถึงแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นสังคมที่แตกต่างกันออกไป เมื่อความเข้าใจและการปลูกฝังแตกต่างกันไปในประเด็นต่างๆ ความกลัวจะเข้าครอบงำได้อย่างง่ายดาย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่จำเป็นต้องมีสื่อและผู้คนซึ่งทำหน้าที่สร้างความเข้าใจประเด็นเหล่านี้ในหลากหลายช่องทางอยู่เสมอ โดยเฉพาะในวันที่โลกหมุนอย่างรวดเร็วเช่นนี้

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ข้อเรียกร้องของคนจำนวนมากไม่ได้เรียกร้องให้เกิดการทำลายอะไรทั้งสิ้น เราเรียกร้องสมรสเท่าเทียม เพื่อต้องการสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศให้คนทุกคนในประเทศ เราเรียกร้องการยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพื่อต้องการเพิ่มคุณภาพของกองทัพ เราเรียกร้องประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อต้องการสร้างประเทศที่ดีกว่าเดิม โดยไม่มีใครต้องตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางกฎหมายเพียงเพราะมีความเห็นที่แตกต่าง ทุกการเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการต้องการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นทั้งสิ้น

การเปลี่ยนแปลงไปยังอนาคตจึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองปฏิกิริยานิยมไม่ต้องการให้เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขามักเชื่อว่าระบอบที่ดีที่สุดนั้นเขาผ่านมาแล้ว ทางเดียวที่จะไปถึงความเจริญได้ คือการเดินกลับไปหาอดีตเหล่านั้นอย่างการน้อมนำคำสอนที่ได้จากจักรวรรดิโรมันหรือกรุงศรีอยุธยา นั่นคือเหตุผลที่บ่อยครั้งเหลือเกิน พวกเขาจึงเลือกใช้ความกลัวเพื่อต่อสู้เพราะได้ผลเสมอ ความกลัวจึงเป็นภาพแทนของความเปลี่ยนแปลงสำหรับพวกเขา

อย่างไรก็ตาม นั่นคือธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง ความรู้สึกไม่แน่นอนมาคู่กับความกลัวอยู่เสมอ สิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูดคือนอกจากความกลัวแล้ว ความเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งอีกสิ่งเสมอ สิ่งเดียวที่จะชนะความกลัวและละลายความอัมพาตทางการตัดสินใจที่เกิดจากความกลัวได้ แม้ว่ามันยากจะมองขนาดไหน เพียงแค่เราเบือนหน้าหนีออกจากความกลัวได้ เราจะเห็นมัน

นั่นคือความหวัง

อ้างอิงข้อมูลจาก

apa.org

journals.sagepub.com

ncbi.nlm.nih.gov

theatlantic.com

Graphic Designer: Krittaporn Tochan
Proofreader: Taksaporn Koohakan