วันศุกร์, พฤษภาคม 12, 2566

ส.ว. ส่งสัญญาณ พรรคฝ่ายค้านเดิมถ้าได้น้อยกว่า 376 ไม่โหวตให้ (แปลว่า ยังไงก็จะไม่โหวตให้) ดังนั้น ชัดเจน ส.ว.เตรียมเลือกพวกเดิม ต้องเลือกพรรคฝั่งประชาธิปไตยให้ถล่มทลาย

 



ส.ว.วางเงื่อนไขเลือกนายกฯ โยน ส.ส.ไปรวมเสียงให้ได้เกิน 375 คนก่อน

11 May 2023 
The MATTER

เวทีเสวนาในหัวข้อ ‘สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย’ ซึ่งจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 11 พ.ค.2566 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ส.ว.แต่งตั้ง 5 คน ร่วมเป็นวิทยากร ประกอบด้วยสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, คํานูณ สิทธิสมาน, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, เฉลิมชัย เฟื่องคอน และมณเฑียร บุญตัน มีหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการสอบถามถึงท่าทีของ ส.ว.แต่งตั้งต่อการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 (โดยการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯ น่าจะมีในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า)

เนื่องจากเป็นที่รู้กันดีว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งนี้ มีอดีตแกนนำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งร่วมแต่งตั้ง ส.ว.ชุดปัจจุบันเสนอตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย 2 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ส.ว.แต่งตั้งเกือบทั้งหมดบนเวทีเสวนาต่างพูดคล้ายๆ กัน คือ ‘โยน’ ให้เป็นภาระของพรรคเมืองต่างๆ ในการรวบรวมเสียง ส.ส. ให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียงขึ้นไป (ส.ว.เฉลิมชัยถึงกับระบุว่า “อย่าหวังว่า ส.ว.จะมีจิตสำนึกไปโหวตเติมเสียงให้ ถ้า ส.ส.รวบรวมได้ไม่ถึง 376 เสียงมากตั้งแต่แรก”) และมีเพียง ส.ว.มณเฑียรที่บอกว่า ในการร่วมเลือกนายกฯ ครั้งหน้า จะของดออกเสียง

สำหรับจุดยืนของ ส.ว.แต่งตั้ง 5 คนต่อการเลือกนายกฯ เท่าที่ The MATTER ฟังอยู่ด้วย มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้

สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า ระหว่างการที่ ส.ส.รวมกันเองให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป กับการหวังเสียงจาก ส.ว. อะไรจะเป็นไปได้มากกว่ากัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ความมุ่งมั่นด้วยว่า นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า การเลือกนายกฯ มันเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด คือจำเป็นต้องได้ 376 เสียงขึ้นไป ต่อให้ตนงดออกเสียง ก็ถือเป็นการลงคะแนนเสียงแล้ว และอาจทำให้ได้ไม่ถึง 376 เสียง ก็เลยคิดว่าต้องไปดูหน้างานอีกที โดยส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว.แต่ละคนจะใช้ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ คือ 1.จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคได้ 2.การจับกลุ่มของพรรคต่างๆ ..ตอนนี้ จึงยังตอบได้แค่หลัก เพราะยังไม่เห็นตัวเลขจริง ไม่เห็นการจับกลุ่ม และไม่รู้ว่าจะเสนอใครเป็นแคนดิเดตนายกฯ จริง

“ส.ส.จะปิดสวิตซ์ ส.ว.ได้ คือรวมเสียงให้ได้ 376 คน ถ้าได้ขนาดนั้นแล้ว ส.ว.จะโหวตยังไงก็ไม่มีความหมาย ” คำนูณกล่าว

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า ไม่ต้องห่วงว่า ส.ว.จะไปโหวตให้รัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะเสียงข้างน้อยมากๆ แต่มีตัวอย่างจากการเลือกตั้งรอบที่แล้วว่า พรรคที่ได้ ส.ส.อันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็เป็นโอกาสของพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับรองลงมา ส่วนตัวจะโหวตเลือกใครเป็นนายกฯ ขอดูหน้าตาแคนดิเดตก่อน จะไปบอกว่า ใครก็ได้ จะโหวตๆ ไป ไม่ต้องมี ส.ว.ก็ได้

“ส.ว.ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับ 2 ลุง เพราะถ้ารวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ถึงครึ่ง ก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้” กิตติศักดิ์กล่าว

เฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ให้ ส.ว.แต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯ ได้ จริงๆ ไม่เป็นประชาธิปไตยหรอก ที่ผ่านมาเคยมีการจะแก้ไขแต่ก็ไม่สำเร็จ ส่วนตัวจะโหวตเลือกนายกฯ จะดู 1.นโยบาย ถ้าได้นายกฯ ที่หาเงินไม่เป็น ก็ต้องกู้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาก็กู้ตลอด จนมีหนี้สาธารณะ 10 ล้านล้านบาท 2.แคนดิเดตนายกฯ กับทีมเศรษฐกิจว่าเข้าท่าไหม 3.นโยบายที่เสนอ เคยทำสำเร็จบ้างไหม 4.พรรคที่สามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา

“พรรคการเมืองต่างๆ อย่าไปคิดว่าเสียงไม่ถึง 376 เสียง แล้ว ส.ว.จะมีจิตสำนึก ไปโหวตเติมให้ เพราะ ส.ส.เองก็มีการซื้อตัวกัน ไม่มีจิตสำนึก” เฉลิมชัยกล่าว

มณเฑียร บุญตัน ส.ว.แต่งตั้ง กล่าวว่า วุฒิสภาถูกวางให้เป็น conservative ต้องรอบคอบ ถ่วงดุล แตะเบรก แต่พื้นเพตนเป็น liberal มาตลอด ตนให้สัมภาษณ์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า ในการเลือกนายกฯ จะงดออกเสียง เพราะไม่ใช่ธุระกงการอะไรของที่จะไปร่วมเลือกนายกฯ

“ปัญหา ไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. แต่อยู่ที่ว่า พรรคต่างๆ จะรวมเสียง ส.ส.ได้เกิน 376 เสียงหรือเปล่ามากกว่า” มณเฑียรกล่าว

เข้าไปฟังเนื้อหาจากเวทีเสวนาดังกล่าวทั้งหมดได้ที่: https://www.facebook.com/chula.cusri/videos/1305388506856050