วันพฤหัสบดี, มีนาคม 09, 2566

เดือนแห่งวันสตรีสากล Mirror Thailand เปิดพื้นที่เฉลิมฉลองให้กับคนทำงานหญิงในหลากหลายอาชีพที่อาจถูกมองข้ามหรือยังไม่ถูกมองเห็น


Mirror Thailand
1d
เฉลิมฉลองให้กับผู้หญิงทุกประเทศ ทุกชาติพันธุ์ ทุกภาษา ทุกชนชั้น ทุกวัฒนธรรม ทุกหน้าตา ทุกความแตกต่าง ทุกอาชีพ และทุกวัย พวกเธอควรได้รับการยอมรับ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และมีที่หยัดยืนในสังคมอย่างเสมอภาค
.
‘วันสตรีสากล’ (International Women's Day) ที่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี มีมานานกว่า 100 ปีแล้ว จากพลังการขับเคลื่อนเกี่ยวกับสิทธิผู้หญิง โดยน้ำพักน้ำแรงของผู้หญิงในอดีต เรามาทำความรู้จักที่มาที่ไปของวันนี้กันคร่าวๆ สักหน่อยดีกว่า
.
แรกเริ่มเดิมที ก่อนเสียงของผู้หญิงทั่วโลกจะถูกได้ยินเป็นสากล ประกายความหวังที่เป็นจุดเริ่มต้นเริ่มในปี 1908 เมื่อผู้หญิง 15,000 ชีวิต ที่เป็นลูกจ้างโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ร่วมเดินขบวนทั่วมหานครนิวยอร์ก เรียกร้องชั่วโมงการทำงานที่สั้นลง ค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมซึ่งควรจ่ายให้พวกเธอมากขึ้น พร้อมทั้งสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ควรมีตามสิทธิพลเมือง การ strike ครั้งนั้น ทำให้ปี 1909 เกิดวันสตรีแห่งชาติ (National Woman's Day) ขึ้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ โดยพรรคสังคมนิยมแห่งอเมริกา (Socialist Party of America) เพื่อเป็นเกียรติต่อพลังของแรงงานหญิงที่ออกมาประท้วง
.
แต่ถ้าถามว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ผู้หญิงลุกฮือขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในสหรัฐอเมริกาไหม ก็ต้องตอบว่าจริงๆ มีอีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนนั้นที่ส่งผลต่อเนื่องกัน นั่นคือในปี 1848 เมื่อหญิงอเมริกันอย่างเอลิซาเบธ เคดี สแตนตัน (Elizabeth Cady Stanton) และลูเครเทีย มอตต์ (Lucretia Mott) เป็นหัวขบวนรวมตัวสาวๆ ไม่กี่ร้อยคนในการประชุมเรื่องสิทธิสตรีครั้งแรกในนิวยอร์ก พวกเธอเรียกร้องทางด้านสิทธิพลเมือง สิทธิทางสังคม การเมือง และศาสนา เพื่อผู้หญิง
.
แน่นอนว่า เรื่องของสิทธิสตรี ไม่ควรเป็นที่พูดถึงแค่ในสหรัฐอเมริกาอย่างเดียว ดังนั้นในปี 1910 คลารา เซทคิน (Clara Zetkin) ผู้นำ ‘Women's Office’ ประจำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ได้เข้าประชุมงาน International Conference of Working Women ครั้งที่สอง ณ กรุงโคเปนเฮเกน
.
และในครั้งนั้นเอง เธอได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับวันสตรีสากล (International Women's Day) ขึ้นมา และอยากให้ทุกปี ในทุกประเทศมีการเฉลิมฉลองแก่ผู้หญิงในวันเดียวกันที่เป็นสากล ซึ่งผู้เข้าประชุมหญิงกว่า 100 คนจาก 17 ประเทศ ซึ่งเป็นตัวแทนของสหภาพแรงงาน พรรคสังคมนิยม ชมรมสตรีวัยทำงาน รวมถึงสตรี 3 คนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่รัฐสภาฟินแลนด์ ต่างเห็นด้วยกับแนวคิดของเซทคิน วันสตรีสากลจึงถือกำเนิด
.
หลังจากที่เรามีวันสตรีสากลแล้ว ในปี 1911 เกิดมูฟเมนต์ครั้งแรกนอกสหรัฐอเมริกา ทั้งในออสเตรีย เดนมาร์ก เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 19 มีนาคม ที่ผู้หญิงและผู้ชายมากกว่าหนึ่งล้านคนเข้าร่วมการชุมนุมเนื่องในวันสตรีสากล รณรงค์ให้สิทธิสตรีเกิดขึ้นในการทำงาน การเลือกตั้ง การฝึกอบรม การดำรงตำแหน่งในที่สาธารณะ และยุติการเลือกปฏิบัติ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงสู้เพื่อผู้หญิงแล้ว แต่ผู้ชาย หรือเพศอื่นๆ หลายต่อหลายคนต่างออกมาเรียกร้องเพื่อผู้หญิง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องน่ายินดีมาก และสะท้อนถึงยุคนี้ที่เราก็อยากจะให้คนทุกเพศลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง และสิทธิของเพศอื่นๆ ที่กำลังถูกกดทับอยู่
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ในวันที่ 25 มีนาคม เกิดโศกนาฏกรรมเพลิงไหม้โรงงานผลิตเสื้อผ้าสตรี Triangle ในนิวยอร์กซิตี้ คร่าชีวิตหญิงทำงานไปมากกว่า 140 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพชาวอิตาลี และชาวยิว เหตุการณ์เลวร้ายนี้ทำให้แรงผลักของวันสตรีสากลนั้นเข้มข้นขึ้น และทุกคนก็เริ่มตระหนักของการมีวันนี้มากยิ่งขึ้นนับแต่นั้นมา
.
แล้วทำไมถึงมาเป็นวันที่ 8 มีนาคมได้? ขยายความต่อได้ว่า ในปี 1913 วันสตรีสากลได้กลายเป็นกลไกในการประท้วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ในพาร์ตของการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ โดยสตรีชาวรัสเซียได้เฉลิมฉลองวันสตรีสากลครั้งแรกในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตอนนั้นตรงกับวันที่ 23 กุมภาพันธ์ วันนี้ในปฏิทินเกรกอเรียนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือวันที่ 8 มีนาคม หลังจากหารือกัน วันสตรีสากลถึงกลายเป็นวันที่ 8 มีนาคม
.
และยิ่งเด่นชัดว่าต้องเป็นวันที่ 8 มีนาคม เมื่อในปี 1917 เมื่อสตรีชาวรัสเซียนัดหยุดงานเพื่อขบวน ‘Bread and Peace’ ตอบสนองต่อการเสียชีวิตของทหารรัสเซียกว่า 2 ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่ 1 จนพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งรัสเซียถูกบังคับให้ลงจากบัลลังก์ และรัฐบาลเฉพาะกาลได้ให้สิทธิกับผู้หญิงในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ในปฏิทินเกรกอเรียนนั่นเอง
.
วันสตรีสากล ได้ขึ้นทะเบียนโดยองค์การสหประชาชาติในปี 1975 และเกิดการผลักดันเรื่องสิทธิสตรีเป็นสากลทั่วโลกนับตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน และแม้ในตอนนี้เราจะเห็นผู้หญิงหลายคนได้ทำงานในตำแหน่งที่เคยสงวนไว้แค่ผู้ชาย บางประเทศเกิดรัฐสวัสดิการที่เข้าใจความเป็นหญิงมากขึ้นอย่างสิทธิลาคลอด ผ้าอนามัยฟรี การคุมกำเนิดฟรี การทำแท้งถูกกฎหมาย ฯลฯ รวมถึงการเลือกปฏิบัติที่มีน้อยลงจากยุคก่อน
.
แต่ใช่ว่าการเลือกปฏิบัติทางเพศจะหมดไป เรายังเห็นผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกาย กฎหมายบางประเทศไม่แข็งแรงพอจะคุ้มครองผู้หญิง ผู้หญิงบางประเทศไม่มีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เรียนหนังสือยังเรียนไม่ได้ เลือกจะทำแท้งไม่ได้ เลือกจะแต่งกายตามใจตัวเองไม่ได้ ต้องจ่ายภาษีสีชมพูจากร่างกายที่เลือกจะเป็นเมนส์ หรือไม่เป็นไม่ได้ บางประเทศพูดเรื่องเมนส์ไม่ได้ ลางานตอนปวดท้องเมนส์ไม่ได้ ผู้หญิงยังถูกดูถูกในสังคมที่ทำงาน หรือแม้แต่ในระดับครอบครัวก็ยังหลงเหลืออยู่ ฯลฯ นั่นเป็นเหตุที่ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศไหน ก็สามารถสนับสนุนสิทธิสตรี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมจริงๆ ได้ และเราควรพูดเรื่องนี้กันซ้ำๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง:
https://www.internationalwomensday.com/.../The-history-of...
https://www.un.org/en/observances/womens-day/background
#วันสตรีสากล #InternationalWomensDay #ผู้หญิง #EmpoweringWomen