วันอังคาร, มีนาคม 21, 2566

ตัวตนความเป็นหญิง กับการล่วงละเมิดทาง‘แพทย์’



ตัวตนความเป็นหญิง กับการล่วงละเมิดทาง‘แพทย์’

2016-06-10
ประชาไท
ธนาคาร สาระคำ

หากถามว่ามีอาชีพอาชีพใดที่มีอำนาจเหนือร่างกายหรือเนื้อตัวมนุษย์มากที่สุด คงปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเป็นอาชีพ “แพทย์”... อาจมีสัปเหร่ออีกอาชีพหนึ่ง แต่นั่นเป็นช่วงที่ไร้ชีวิต... จะมีอาชีพไหนอีกเล่าที่สามารถจับเนื้อต้องตัวผู้ป่วยได้โดยอิสระ อยากจะล้วงจะควักจะบีบตรงไหนก็ทำได้ตามใจชอบ เพราะนั่นคือการตรวจร่างกาย (Physical examination) ให้แก้ผ้าก็ต้องแก้ แม้ต้องขออนุญาตหรือบอกกล่าวกันบ้าง อย่างไรเสียก็เป็นการขออนุญาตที่ไม่เปิดช่องให้ปฏิเสธได้... เมื่อคุณเข้าสู่ห้องตรวจของแพทย์ และอยู่บนเตียงผู้ป่วย สิทธิเหนือเนื้อตัวของคุณก็แทบจะโอนไปให้แพทย์เกือบหมด

แพทย์ได้รับ(อภิ)สิทธิ์ในการ “ละเมิด” ผ่านหลักการยินยอมในการตรวจรักษา สิ่งที่ควบคุมแพทย์ไม่ใช่กฎหมายโดยตรง แต่เป็น “จริยธรรม” “จรรยาบรรณ” และ “ความเป็นมืออาชีพ” แต่สิ่งหนึ่งที่คนในวงการแพทย์อาจไม่ตระหนัก คือ บางครั้งแพทย์ได้รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวหรือใช้สิทธิเหนือเนื้อตัวของผู้ป่วย “มากเกินไป” (ตามมุมมองของผู้ป่วย)

คำถามคือคำว่า “มากเกินไป” ใครเป็นคนนิยาม ใครเป็นคนขีดเส้น... คำตอบคือ ไม่มีนิยาม ไม่มีเส้นแบ่ง เพราะปัจเจกบุคคลย่อมมี “ขีดความรับได้” แตกต่างกัน สิ่งเดียวที่แพทย์อาจทำได้ คือการตระหนัก สังเกตและพูดคุย ขอดัดจริตใช้คำศัพท์ให้สวิงสวายว่า แพทย์ต้องใช้ “ตาที่มี awareness ต่อ humanity ของคนอื่น”

เรื่องที่พูดข้างต้น จะเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อพื้นที่และเนื้อตัวนั้นเป็นร่างกายของ “ผู้หญิง” และ “ความเป็นหญิง” ถึงผู้เขียนไม่จำนรรจาว่าทำไมเรา “คิดเล็กคิดน้อย” กับเรื่องของผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ทุกท่านก็คงทราบว่าเนื้อตัวผู้หญิงมีเรื่องให้ “อ่อนไหว” ได้มากกว่า ไม่ว่าจะด้วยมุมมองทางสังคมศาสตร์ หรือมุมมองทางการแพทย์

เชื่อว่าทุกคน ไม่ว่าจะเพศสภาพหรือเพศวิถีใด คงมีประสบการณ์ “อึดอัด” กับการที่ร่างกายที่เราสงวนมาหลายสิบปี ถูกสัมผัสหรือถูก “ตรวจรักษา” โดยแพทย์ แม้รู้ว่านั่นคือ “หน้าที่” และสิ่งที่ทำอยู่บนเจตนา “รักษา” แม้หน้าหมอไม่ได้หื่น แต่ก็อดไม่ได้ที่จะอึดอัด นั่นคือความรู้สึกของการมีตัวตน จึงอาจเรียกว่ามันเป็นการ “ละเมิดทางแพทย์” และ “ละเมิดโดยแพทย์” ซึ่งไม่ได้ร้ายแรงตามชื่อหรอก แต่เชื่อว่า “ความเข้มข้น” ของความรู้สึกแบบนี้ เกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายแน่นอน

บทความนี้ไม่ได้มีคุณค่าทางวิชาการอะไร เป็นเพียงการลองใช้แว่นตาที่มี awareness ต่อ “ตัวตนผู้หญิง” มาใช้ในการมอง “พื้นที่” และ “ตัวตน” ของผู้หญิงในบริบททางการแพทย์ดูบ้าง เป็นการ “เห่อแว่นใหม่” หลังจากได้เรียนรู้งูๆ ปลาๆ เกี่ยวกับสตรีศึกษา จากโครงการหลักสูตรภาคฤดูร้อนของวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับย้อนดูตัวเองว่า “แพทย์” ได้เข้ามายุ่มย่ามกับพื้นที่และตัวตนเหล่านี้มากแค่ไหนและอย่างไร เผื่อว่าสุดท้าย เมื่อเราคิดไตร่ตรอง และเข้าใจมากขึ้น ปัญหาการ “ล่วงละเมิดโดยแพทย์”(ที่แพทย์ไม่ตั้งใจ)จะน้อยลง และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย
ตรวจภายใน: พื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิง

เมื่อเราพูดถึงพื้นที่ส่วนตัวบนร่างกายของผู้หญิง ถ้าไม่คิดอะไรมาก เราคงนึกถึงอวัยวะใต้ร่มผ้า และที่สำคัญสุดมีอยู่สองส่วนคือ “เต้านม” (breast) กับ “ช่องคลอด” (vagina) นี่ไม่ใช่คำถามที่ตั้งใจจะหยาบคาย แต่หากถามว่าโดนจับนม กับโดนละเมิดทางช่องคลอด อะไรคือเรื่องใหญ่กว่า? แน่นอน แม้ไม่ใช่ร้อยทั้งร้อย ก็คงเกือบร้อยที่มองเรื่อง “ช่องคลอด” เป็นเรื่องสำคัญ

ในภาษาไทย มีคำว่า “ของลับ” “ของสงวน” เป็นการระบุที่ชัดเจนว่าพื้นที่นั้นคือพื้นที่ส่วนตัวเพียงไร แม้แต่ในราชาศัพท์ ก็เรียกอวัยวะเพศว่า “พระคุยหฐาน” ซึ่ง ‘คุยห’ หมายถึง ลับ จึงจะเห็นได้ว่าพื้นที่ตรงนี้สำคัญเพียงไร แต่เดิมในทางกฎหมายอาญาประเด็นการข่มขืน (ก่อนที่จะมาปรับปรุงภายหลัง) เราก็ตีความผ่าน “ความลึกของการล่วงล้ำผ่านทางช่องคลอด” ด้วย

ในทางการแพทย์ การตรวจที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับผู้หญิงคือ “การตรวจภายใน” (Internal pelvic examination) ซึ่งคือการตรวจบริเวณอุ้งเชิงกราน (Pelvic area) อวัยวะที่สำคัญคืออวัยวะเพศของผู้หญิงนั่นแล

เมื่อพูดถึงการตรวจภายใน ผู้หญิงหลายคนและคิดว่าเป็นส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ถ้าเลือกได้ ก็คงไม่ตรวจ แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ก็ไม่สบายใจที่จะตรวจอยู่ดี โดยเฉพาะเมื่อมันถูกคิดพ่วงรวมไปถึง “พรหมจรรย์”

มองในมุมแพทย์ การตรวจภายในเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการวินิจฉัยโรคสตรี หรือโรคทางนรีเวชวิทยา (Gynecology) ซึ่งคงไม่มาพูดถึงให้มากความในที่นี้ ปัญหาที่พบบ่อยของผู้หญิงและจำเป็นจะต้อง “ตรวจภายใน” คือ 1) อาการปวดท้องน้อยและปวดอุ้งเชิงกราน (Pelvic pain) ซึ่งอาจจะมาจากการปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) หรืออาจจะมาจากการอักเสบติดเชื้อภายใน หรือที่น่ากลัวกว่านั้นคือมาจากการมีก้อน 2) อาการตกขาว (Vaginal discharge, Leukorrhea) ที่ผิดปกติ เช่น มีกลิ่นแรง คันมาก 3) อาการที่สัมพันธ์กับการมีเลือดออกผิดปกติ และ 4) การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap smear)

การตรวจภายในมีขั้นตอนที่สำคัญโดยสังเขป 3 ส่วนคือ 1) ใช้ตา (Inspection) คือ ดูความผิดตรงภายนอก ดูว่ามีแผลมีติ่งเนื้อมีก้อนที่บ่งบอกอะไรหรือไม่ บางครั้งเราอาจวินิจฉัยโรคบางโรคได้เลย เช่น ซิฟิลิส (Syphilis) จากการดูแผลบริเวณอวัยวะเพศ 2) ใช้นิ้ว คือการใช้นิ้วสอดเข้าไปทางช่องคลอดเพื่อตรวจความผิดปกติภายใน และใช้สองมือ คือมือหนึ่งคลำบริเวณหน้าท้องไปพร้อมกันด้วย หรืออีกแบบหนึ่งคือการสอดนิ้วเข้าไปทางทวารหนักพร้อมกันด้วย ทักษะการตรวจโดยใช้การใช้นิ้วนี้เป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญมากของแพทย์ทุกคน และ 3) ใช้เครื่องมือถ่างขยายปากมดลูกหรือ speculum ซึ่งช่วยให้มองเห็นภายในชัดเจนขึ้น และนำไปสู่การทำหัตถการอื่นๆ เช่น ป้ายเก็บเซลล์ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ขูดมดลูก ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ เป็นต้น

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมการตรวจทางสูติศาสตร์ (Obstetrics) คือในกรณีหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งกรณีนี้การตรวจภายในยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก และหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย โดยเฉพาะภาวะใกล้คลอด หรือการติดตามระหว่างและหลังคลอด

โดยสรุปแล้ว ถ้าให้แพทย์เขียนถึงการตรวจภายใน การตรวจภายในก็ต้องสำคัญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะพูดในมุมไหน ก็สำคัญ และแพทย์ก็ไม่ได้อยากตรวจพร่ำเพรื่ออยู่แล้ว (หลายท่านเข้าใจว่าแพทย์ผู้ชายช่างโชคดีที่ได้ตรวจภายในสตรี ต้องเรียนว่าไม่มีใครคิดเช่นนั้นดอก) หากแต่ในมุมของผู้ถูกตรวจแล้ว คงขอ say no และต้องพยายามหลีกเลี่ยงหรือแม้แต่ยืนกรานว่าจะไม่ตรวจ โดยเฉพาะในรายที่เป็นเด็กสาวหรือสาววัยรุ่น

เหตุผลสำคัญของความไม่สบายใจ เท่าที่มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนผู้หญิง หรือแม้แต่ผู้ป่วยบางท่าน คือ “กลัวเจ็บ” เพราะสภาพการตรวจที่ต้องขึ้นเตียงนอนกางขาบนขาหยั่งในท่าขบนิ่ว (Litiotomy) พร้อมกับมีอะไรต่อมิอะไรที่ล้วงเข้ามาในช่องคลอด ทั้งนิ้วทั้งเหล็ก มันเป็นเรื่องที่เกินจินตนาการและสุดจะทานทน

อีกเหตุผลน่าจะเป็นการให้คุณค่ากับ “เยื่อพรหมจารี” ที่เป็นตัวบ่งบอกความบริสุทธิ์ การตรวจภายในอาจทำให้เยื่อพรหมจารีขาด ทำให้เลือดออก เป็นการทำลายคุณค่าของผู้หญิง ซึ่งความรู้ที่พยายามบอกกล่าวกันก็คือ “เยื่อพรหมจารี” ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ เพราะแค่วิ่งเล่นกีฬาผิดท่าผิดทาง เยื่อก็อาจขาดได้ แต่ปัญหานี้ แท้จริงแล้วไม่น่าใช่ปัญหาของผู้หญิง แต่เป็น “กระแสชาย” (Malestream) ที่กดทับและวัดค่าผู้หญิงต่างหาก เพราะในสายตาผู้ชาย ความบริสุทธิ์คือสิ่งหอมหวานที่เขาเหล่านั้นต้องแสวงหามาพิชิต

เหตุผลที่ซับซ้อนและสูงกว่านั้น อาจเป็นเรื่อง “อำนาจในตัวตน” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ลองนึกภาพคนคนหนึ่งที่ถูกสั่งแก้ผ้า นอนถ่างขา ใช้เครื่องมือตรวจ ใช้นิ้วสอดเข้าไป เจ็บก็ต้องทน มันจะเหลือ “อำนาจต่อรอง” อะไรหรือไม่ (ดูตัวอย่างข่าว ‘3 สาวผู้ต้องหาคดีการเมือง เปิด 3 เรื่องเล่าละเมิดสิทธิฯ ระหว่างรอประกันในเรือนจำ’ )

การล่วงล้ำพื้นที่นี้อาจไม่ใช่แค่การตรวจภายใน ยังมีเรื่องของผ้าอนามัยแบบสอด ห่วงคุมกำเนิด และการเหน็บยาทางช่องคลอดอีก ผู้เขียนเชื่อว่าเหตุที่ผ้าอนามัยแบบสอด และการใช้ห่วงคุมกำเนิด ได้รับความนิยมน้อยมาก จนแทบไม่มีใครใช้แล้ว ก็เพราะความรู้สึก “แปลกๆ” ในการล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองนั่นแล เช่นเดียวกันกับกรณียาเหน็บที่แพทย์สั่งให้ใช้ น่าจะสร้างความตะขิดตะขวงใจพอกัน จึงพบบ่อยว่าผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ด้วยอาการเดิม เพราะไม่ได้เหน็บยาตามสั่ง

ผู้เขียนขอเล่าถึงกรณีผู้ป่วยมุสลิมท่านหนึ่ง ซึ่งตรวจติดตามเรื่องมะเร็งปากมดลูกกับสูตินรีแพทย์ชายที่ รพ.แห่งหนึ่งมานานกว่า 10 ปี มีครั้งหนึ่งมาตรวจแล้วมีนักศึกษามาสังเกตการณ์อยู่ด้วยประมาณห้าคน แพทย์ท่านนั้นขอผู้ป่วยว่าระหว่างการตรวจภายใน จะขอให้นักศึกษาเรียนไปด้วย ผู้ป่วยไม่ยินดี โดยให้เหตุผลเรื่องศาสนา แพทย์จึงกล่าวค้านว่าทำไมถึงตรวจมาได้เป็นสิบปีไม่มีปัญหาอะไร ท้ายที่สุด ผู้ป่วยขอไม่รับการตรวจ แล้วจากไปด้วยความไม่พอใจ

ความรู้สึกแรกหลังทราบเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดว่า “เรื่องแค่นี้” ทำไมต้องทำให้มากความ เพราะเจตนาคือการเรียนและการตรวจ ไม่ได้มีใครคิดอกุศลอะไร แต่ตอนนี้มานึกอีกที การที่เขาละทิ้งตัวตนยอมให้แพทย์ที่เป็นผู้ชายตรวจมาสิบปี ต้องยอมผ่อนปรนข้อปฏิบัติทางศาสนาด้วยความ “ไว้วางใจ” นั่นถือว่าเป็น “เรื่องใหญ่” ของเขามากมายแล้ว แต่ในครั้งนี้ที่เผอิญมีนักศึกษามาอยู่ด้วย เขาอาจทำใจรับได้ยากว่าต้องมี “ผู้ชมของสงวน” ของเขามาเพิ่มอีกหลายคน แถมเป็นหน้าใหม่ที่ดูใฝ่เรียนรู้เสียเหลือเกิน

ท้ายที่สุด เรื่องนี้คงไม่มีทางออกอะไรนอกจากการทำความเข้าใจ... เพราะทางการแพทย์คงไม่อาจตัดความจำเป็นของการตรวจนี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม หากแพทย์ตระหนักและเข้าใจว่ามันมี “ตัวตน” บางอย่างที่เขายึดถืออยู่ และมันไม่ใช่แค่ “รู” แพทย์ก็อาจจะอยากเพิ่มเวลาอธิบายความ อธิบายขั้นตอน อธิบายความจำเป็น และปฏิบัติด้วยความสุภาพ... ซึ่งอะไรอะไรอาจจะดีขึ้นและง่ายขึ้นก็เป็นได้
มดลูก การมีลูก และประจำเดือน : การมีอยู่ของความเป็นหญิง

ในสายตาผู้เขียน คิดว่าสิ่งที่แตกต่างกันในเชิงหน้าที่ (Function) ระหว่างเพศสรีระแบบชายและแบบหญิง (Male sex VS Female sex) คือความสามารถในการตั้งครรภ์ (Pregnancy) เป็นการจำแนกเพศทางชีววิทยาที่ดูง่ายที่สุด และเมื่อมองที่การตั้งครรภ์ เราก็จะแยกด้วยอวัยวะที่ช่วยทำให้ตั้งครรภ์ได้ นั่นคืออวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานผู้หญิง คือ มดลูก (Uterus) ซึ่งเป็นที่ฝังตัวของเซลล์ผลผลิตจากการปฏิสนธิ (ผสมพันธุ์) ที่จะพัฒนาไปเป็นทารกต่อไป

การมีมดลูกจึงเป็นเรื่องสำคัญของความเป็นหญิง ผู้หญิงหลายคนอาจไม่ได้สังเกตความสำคัญนี้ จนกระทั่งมีเหตุให้ต้องตัดมดลูกทิ้ง ในทางการแพทย์ มีเหตุจำเป็นมากมายที่ต้องได้รับการรักษาด้วยการตัดมดลูก เช่น มดลูกฉีกขาดระหว่างการคลอดและควบคุมการเสียเลือดไม่ได้ มะเร็ง ก้อนเนื้องอก ภาวะหลังการตัดมดลูก ในทางการแพทย์จะเรียกว่า Surgical menopause คือภาวะวัยทองที่มาจากการผ่าตัด (ไม่ใช่วัยทองเพราะแก่) ผลที่ตามมาก็คือการไม่มีประจำเดือน มีลูกไม่ได้ ขาดฮอร์โมนเพศที่จำเป็น และมีอาการเหมือนคนวัยทองทุกประการ

แต่หากมองการตัดมดลูกในมุมของ “ความเป็นหญิง” เท่าที่ได้ลองคุยกับผู้ป่วยจะเห็นความแตกต่างใน 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือในกลุ่มผู้ป่วยอายุมาก หรืออายุที่ใกล้หมดประจำเดือนตามธรรมชาติ และผู้หญิงที่มีลูกแล้ว การตัดมดลูกจะถูกมองในฐานะ “การรักษาที่จำเป็น” มากกว่า กล่าวคือความรู้สึกจะเป็น “ช่างมัน ตัดไปเถอะ” ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มผู้หญิงที่ไม่มีลูก อายุยังน้อย ประจำเดือนยังไม่หมดง่ายๆ หรือเรียกว่า “ยังสาว” การตัดมดลูกจะสร้างความกังวลมากมาย เพราะเป็นการตัดคุณสมบัติการตั้งครรภ์และการมีลูกออกไปจากชีวิตอย่างถาวร (ไม่นับการตั้งครรภ์หรือมีลูกด้วยเทคนิคอื่น)

นอกจากนี้ยังมีการตัดมดลูกเพื่อการบำบัดรักษาอีกลักษณะหนึ่ง คือการตัดมดลูกในผู้ป่วยหญิงที่มีภาวะปัญญาอ่อนหรือมีความบกพร่องด้านสติปัญญา (Mental retardation) ทั้งนี้ก็ด้วย “ตัดไฟแต่ต้นลม” ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในอนาคต

เมื่อพูดถึง “ประจำเดือน” ก็สำคัญไม่แพ้การมีลูก ผู้หญิงบางส่วนเห็นการมีประจำเดือนเป็นสิ่งยืนยันว่ายังเป็น “ผู้หญิงปกติ” การขาดประจำเดือน(ที่ไม่ใช่ท้อง) สร้างความเครียดให้ผู้หญิงหลายคน ผู้หญิงบางคนที่มีประจำเดือนไม่ได้หรือนานๆ ทีจะมี ก็จะเครียดว่านี่คือ “ความไม่สมบูรณ์”

สิ่งที่เห็นได้ชัดเวลาผู้หญิงเลือกวิธีคุมกำเนิด ในความคิดแบบผู้ชาย มักคิดว่าทำไมไม่เลือกยาคุมชนิดที่ประจำเดือนมันหายไปเลย จะได้ไม่ต้องมาคอยเปลี่ยนผ้าอนามัยหรือปวดประจำเดือน แต่ในมุมของผู้หญิงมักเลือกการคุมกำเนิดที่ทำให้ประจำเดือนมาปกติ คำตอบที่ได้รับคือ มันรู้สึกแปลกๆ เวลาไม่มีประจำเดือน

กลับมาที่ประเด็น “การมีลูก” เชื่อว่าผู้อ่านส่วนใหญ่คงเคยสัมผัสกับชีวิตผู้หญิงที่ทุกข์จาก “การไม่มีลูก” หรือ “มีลูกยาก” แม่ของผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังจากแต่งงานมาห้าปี ก็ไม่มีลูก พยายามแล้วพยายามอีก ปรึกษาแพทย์และใช้เทคโนโลยีช่วยจนเจ็บตัวหลายครั้งสุดท้ายก็ไม่มีลูก เป็นทุกข์และหมดหวังคิดว่าจะไปรับเด็กมาอุปถัมภ์ สุดท้ายผู้เขียนก็โผล่ชิงอะไรหลายอย่างมาเกิด

ความสามารถเรื่องการมีลูกเป็นความสามารถที่สำคัญมาก หน่วยดูแลผู้มีบุตรยากหรือ Infertility center จึงเป็นหน่วยที่ “ขายดี” แม้เทคโนโลยีการช่วยตั้งครรภ์จะแพงแสนแพง แต่การมีลูกก็เป็นอะไรหลายๆ อย่างของชีวิตคู่ เมื่อความสามารถในการมีลูกหายไป ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนทดแทน นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงวิธีนอกวิทยาศาสตร์ด้วย เช่น ขอลูกเจ้าพ่อ ถ้าคิดเลยไปอีกก็จะเห็นความพยายามที่หลากหลายมากในการชดเชยความสามารถนี้

ความสามารถในการมีลูก ในแง่หนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความรักและครอบครัวที่ “สมบูรณ์” คู่รักที่ไม่ใช่ชายหญิงทั่วไป จึงต้องพยายามหาทางมีลูกผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การอุ้มบุญ ดังกรณีน้องคาร์เมน หรือการรับอุปถัมภ์ นอกจากนี้ความสามารถในการมีลูกก็ยังเป็นสัญลักษณ์ “หญิงแท้” ผู้เขียนจึงได้ยินคำพูดติดตลก (แต่ไม่ตลก) ตั้งแต่ยังเด็กว่า “กะเทยยังไงก็ไม่เหมือนผู้หญิง เพราะไม่มีมดลูก มีลูกไม่ได้” ในบางวงสนทนายังมีการพูดเลยไปถึงการขอยืม “มดลูก” จากทอมมาให้กะเทยในกลุ่มที่อยากเป็นผู้หญิง

แล้วแพทย์มาละเมิดเรื่อง “การมีลูก” “มดลูก” และ “ประจำเดือน” ของผู้หญิงได้อย่างไรบ้าง ?

เท่าที่ผู้เขียนมองเห็น ในประเด็น “การมีลูก” แพทย์จะเข้ามายุ่มย่ามได้ในกรณีการทำแท้ง (Abortion) ที่อาจจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของแม่ ในกรณีการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา การที่เขามีลูกแล้ว แพทย์ต้องแจ้งว่าควรจะต้องทำแท้ง เป็นเรื่องที่ “ดรามา” ของแพทย์มากๆ และเป็นการทำร้ายจิตใจครั้งยิ่งใหญ่ต่อผู้หญิงคนนั้น นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับเรื่อง “ความสามารถในการมีลูก” ที่แพทย์จะยุ่งกับเรื่องนี้ได้ในกรณีการตัดมดลูกดังที่กล่าวข้างต้น

ส่วนเรื่องประจำเดือน สัมพันธ์กับเรื่องเทคนิคการคุมกำเนิดดังอธิบาย และแพทย์อาจต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งพอสมควรว่าประจำเดือน (ที่ในทางการแพทย์เป็นเพียงการลอกตัวของมดลูก) มีค่ามากกว่า “เลือด” ที่ไหลตามวาระของเดือนเท่านั้น
เต้านม น้ำนม : ความสำคัญที่มากกว่าเรื่องขนาด

เมื่อพูดถึง “นม” หรือ “หน้าอก” (Breast) ผู้หญิงและผู้ชายอาจสนใจในประเด็นเดียวกัน ว่าความสำคัญน่าจะเป็นเรื่องสัญลักษณ์ทางเพศ และอาจเลยไปถึงเรื่องขนาด หากเข้าใจผิดไปก็ขออภัย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้น และผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญคือเรื่องของ “การมีนม/ไม่มีนม” ซึ่งเรื่องการมี-ไม่มีนมนั้น จะว่าไปก็ตีความได้ 2 อย่าง หนึ่ง คือไม่มีเต้านม สองคือไม่มีน้ำนม

ปัญหาการไม่มีเต้านมที่เกิดจากการแพทย์ (ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับขนาดหน้าอกเล็ก) คือการผ่าตัดเต้านมอันเนื่องมาจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ซึ่งคือโรคมะเร็งเต้านม โดยการรักษามะเร็งเต้านมในบางระยะ จะมีการรักษาอยู่ลักษณะหนึ่งคือการตัดเต้านมทิ้ง อาจร่วมกับการตัดต่อมน้ำเหลืองด้วย การตัดเต้านมมีหลายเทคนิค เช่น ตัดทั้งหมด ตัดแบบเหลือไว้ ตัดหนึ่งข้าง ตัดสองข้าง ตัดแล้วเอาเนื้อตรงข้างรักแร้มาใส่ให้เต็ม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการตกลงกับผู้ป่วย

หากถามว่าผู้ป่วยจะเลือกแบบไหน ก็คงไม่มีใครอยากให้ตัดเต้านม คงอยากให้ตรวจให้แน่ใจ ให้เคมีบำบัด (Chemotherapy) ให้ยากิน หรือทำอย่างอื่นที่ดีกว่าตัดเต้านมก่อนได้หรือไม่ แต่เมื่อมาถึงจุดที่ต้องตัด หากตัดสินใจได้ก็จะตัดแค่บางส่วน ถ้าต้องตัดทั้งหมด ก็อยากจะขอให้มีการเติมเนื้อเต้านมด้วย ความต้องการจะเปลี่ยนไปตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อคงสภาพไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด

แนวคิดเกี่ยวกับการตัดเต้านม เท่าที่ได้ลองพูดคุย ก็จะมีความแตกต่างตามช่วงวัยเช่นเดียวกับการตัดมดลูก ถ้าเป็นวัยที่อาวุโสหน่อย ก็จะทำใจบอกให้ตัดเลย รักษาชีวิตมากกว่า ไม่ค่อยได้สนใจว่ามันจะสวยหรือไม่หรือต้องเติมเนื้อหรือไม่ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวก็คือยายของผู้เขียนเอง ที่ต้องตัดเต้านมตอนอายุ 84 ปี ยายบอกว่าตัดไปเถอะ ไม่ได้ทำอะไรแล้ว ในทางตรงกันข้าม เมื่อเป็นวัยที่เป็นวัยที่ยังต้องแต่งตัวออกสังคม ปัญหาที่ผู้หญิงกังวลก็มีทั้งนอกร่มผ้าและในร่มผ้า นอกร่มผ้าคือกลัวใส่เสื้อผ้าไม่สวย คนจะมองได้ว่าเต้านมสองข้างไม่เท่ากัน ส่วนในร่มผ้าคือสูญเสียความสมบูรณ์ในร่างกายไป ผู้ป่วยท่านหนึ่งใช้คำว่า “เหมือนพิการ” ผู้เขียนยังมีความสงสัยอีกเรื่องหนึ่งว่าผู้หญิงที่แต่งงานมีครอบครัวแล้วหรือยังไม่ได้แต่งงาน จะกังวลเรื่องเต้านมที่หายไปโดยอิงกับความรู้สึกของผู้ชายแตกต่างกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งคำถามนี้ขอยอมรับว่าไม่กล้าถาม

ช่วงที่ผู้เขียนเรียนในแผนกศัลยกรรม และได้ออกตรวจผู้ป่วยนอกร่วมกับอาจารย์ ในช่วงเตรียมการผ่าตัด จะคุ้นเคยกับการเจรจาเรื่อง “เต้านม” ดังที่กล่าวเมื่อครู่นี้ และเหมือนจะเห็นประเด็นที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่าแพทย์ที่เป็นผู้หญิงจะคุยเรื่องนี้ได้ดี และดูเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยมากกว่า แม้ปลายทางเป็นการ “ตัดนม” เหมือนกันก็ตาม

มาถึงเรื่องการ “มี-ไม่มีนม” ในแง่ของ “น้ำนม” กันบ้าง ผู้หญิงส่วนใหญ่มอง “น้ำนม” และ “การให้นม” คือภาวะของความเป็นแม่ แม้ไม่ใช่แม่จริง แต่ใครให้นมก็ถือว่า “มีความเป็นแม่” เช่น แม่นม และถือว่าน้ำนมมีคุณค่าในการหล่อเลี้ยงชีวิตคน เช่น เพลงค่าน้ำนม

หากจะพูดถึงการถกเถียงคลาสสิกของวงการการเลี้ยงลูก ต้องมีเรื่องของ “นมแม่” และ “นมกระป๋อง” มาแรงแซงทางโค้งเสมอ ในช่วงที่การรณรงค์ให้กินนมแม่ถึงจุด “พีค” ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ทั้งหมดที่ยืนยันว่านมแม่ดีที่สุดจริง ก็มีปัญหาบางมุมที่ผู้หญิงบางคนที่ไม่มีนมให้ลูกกิน (น้ำนมไม่มี/น้ำนมไม่พอ/ให้นมไม่ได้/ติดเชื้อHIV) ได้ถูกสังคมบีบให้รู้สึกว่า “เป็นแม่ที่ไม่สมบูรณ์” จนมีอาจารย์หมออีกท่านหนึ่งออกมารณรงค์ในแง่ “นมกระป๋องก็ได้” ขอแค่ว่าให้ลูกได้กินนม

ผู้เขียนนึกย้อนไปในช่วงที่ผู้เขียนดูแลผู้ป่วยหลังคลอด ความเครียดที่สำคัญอย่างหนึ่งของคุณแม่มือใหม่ คือการไม่มีนมให้ลูกกิน น้ำนมไม่ไหล กลัวลูกจะอด รู้สึกไม่สบายใจ ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าคุณแม่เหล่านั้นเครียดจริงๆ และผิดหวังมากขึ้นเมื่อผู้เขียนช่วยแก้ปัญหาให้ไม่ได้ เช่น แนะนำให้เอาลูกเข้าเต้าบ่อยๆ ให้ยากระตุ้นน้ำนม แล้วผลสุดท้ายคือวันรุ่งขึ้นน้ำนมยังไหลไม่ดี นี่คือศาสตร์และศิลป์ของแพทย์เลย ที่ต้องคิดว่าจะช่วยทำให้คุณแม่หลังคลอดผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร

ดังที่กล่าวมา เรื่องเต้านมจึงไม่ใช่แค่เรื่อง “นมเล็ก-นมใหญ่” การตัดเต้านมเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยปวดร้าวไม่น้อยไปกว่าการตัดมดลูก เรื่องการไม่มีน้ำนมก็ไม่ใช่เรื่องเล็กที่แพทย์บอกแค่ว่ารอไปแล้วจะดีเอง เต้านมมีความสำคัญต่อผู้หญิงทั้งในเชิงสัญลักษณ์ เชิงความสมบูรณ์ ตลอดจนการทำหน้าที่ของความเป็นผู้หญิง
บทส่งท้าย(แต่ไม่สรุป)

หากมองในมุมของแพทย์ และแพทย์เป็นผู้อ่านบทความนี้ คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจ หลังอ่านจบทั้งบทความ หรืออ่านจบในแต่ละช่วง ก็อาจจะเป็นคำถามที่ว่า “แล้วจะให้ทำยังไง(วะ)?” นั่นสิครับ ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เมื่อถามตัวเองว่ารู้สึกอะไรหรืออยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรหลังจากได้มองผู้หญิงให้ถี่ถ้วนขึ้น และได้เรียบเรียงความคิดผ่าน

บทความนี้ ผู้เขียนคิดว่าสายตาที่ผู้เขียนมองผู้ป่วยหญิงจะเปลี่ยนไป น่าจะเข้าอกเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น... ส่วนเรื่องการ “ละเมิด” พื้นที่ส่วนตัวหรือตัวตนของผู้หญิง ผู้เขียนคิดว่าคงเปลี่ยนอะไรไม่ได้ในเชิงกายภาพ วิธีตรวจ ขั้นตอนการตรวจ แนวทางการรักษา ที่มันอาจกระทบกับ “ช่องคลอด” “มดลูก” “เต้านม” เพราะมันต้องเป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์แบบเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงน่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการละเมิดทางจิตใจ มิเช่นนั้นแล้ว การตรวจทางการแพทย์จะต่างอะไรจากการ “ข่มขืน”


หมายเหตุผู้เขียน

ผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความนี้ลงหนังสือรวบรวมผลงานของ Summer School in Women, Gender & Sexuality Studies ของหลักสูตรสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลบางประการ บทความนี้ไม่ได้ลงเผยแพร่ในหนังสือตามที่ตั้งใจไว้ ทั้งนี้ เพื่อมิให้เป็นการเสียเปล่า (แก่ผู้เขียน) และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน จึงขอนำมาลงเผยแพร่ไว้ ณ ที่นี้

บทความนี้ใช้องค์ความรู้ใหม่ที่ได้เรียนจาก Summer School มา ‘turn the table’ ความรู้ที่ผู้เขียนคุ้นเคยและใช้ในการประกอบอาชีพ เสมือนเป็นการสนทนาปะทะสังสรรค์ระหว่างศาสตร์ที่ผู้เขียนเรียนมาแต่เดิมกับองค์ความรู้ที่ผู้เขียนได้เรียนรู้ใหม่ ผู้เขียนขอเรียนว่าบทความนี้เป็นเพียง “ปัจเจกทรรศนะ” และผู้เขียนขอน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์อันจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ด้วยใจคารวะ

(9 มิถุนายน 2559)

เกี่ยวกับผู้เขียน: ธนาคาร สาระคำ เป็นอดีตนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ ปัจจุบัน เป็นแพทย์ประจำ โรงพยาบาลเพชรบูรณ์


Punsak Srithep
16h
#ต่ำตมมาก
หัวหน้าพรรคที่นางแบกพากันอวยว่า Empower ผู้หญิงที่สุดในโลกปล่อยมุขตรวจภายในผู้หญิง แบบไม่แคร์โลก แคร์สื่อ
.
หมอประเสริฐ วศินานุกร อดีตอาจารย์แพทย์ มอ.ที่ปราศรัยโจมตียิ่งลักษณ์บนเวที กปปส เมื่อปี 2557 ชวนไปรีแพร์ ได้ยินเข้าคงหัวเราะก๊ากกกก นี่เรามันพวกเดียวกันนี่หว่า
.
https://twitter.com/oonginlave.../status/1636971953608343553