โจเซฟ สตาลิน : กลุ่มเด็กชายผู้ต่อสู้ความอยุติธรรมภายใต้อำนาจจอมเผด็จการโซเวียต
อันเดรีย ซาคารอฟ และ แคเทอรีนา คินคูโลวา
บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
4 มีนาคม 2023
ตอนที่ โจเซฟ สตาลิน ถึงแก่กรรมลงเมื่อ 5 มี.ค. 1953 ดูเหมือนว่าสหภาพโซเวียตตกอยู่ท่ามกลางความโศกเศร้า แต่เบื้องหลังความอาลัยนี้ยังมีทัศนคติที่ต่างออกไปต่อผู้นำที่ทำให้ประชาชนหลายล้านต้องสูญหายและล้มตายจากความอดอยาก ขณะที่คนอีกจำนวนมากต้องทนทุกข์กับความยากจนข้นแค้น
หนึ่งในกลุ่มผู้กล้ายืนหยัดท้าทายความอยุติธรรมในสังคมภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการผู้นี้ คือเด็กชายวัยรุ่น 3 คนที่มีอายุเพียง 13 ปี
ตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่อยู่ในอำนาจ สตาลินกุมอำนาจการปกครองแบบที่ไม่มีผู้ใดตั้งคำถามได้ และปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างโหดร้าย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีการประท้วงเกิดขึ้นในสหภาพโซเวียตอยู่เนือง ๆ แม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือมีขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เห็นด้วยกับการปกครองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ
หนึ่งในการต่อต้านที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนเกิดขึ้นในเมืองเชเลียบินสค์ เมืองอุตสาหกรรมในเทือกเขายูรัลที่แบ่งทวีปยุโรปออกจากเอเชีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตรถแทรกเตอร์
ตลอดเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่อยู่ในอำนาจ สตาลินกุมอำนาจการปกครองแบบที่ไม่มีผู้ใดตั้งคำถามได้
วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิปี 1946 เด็กชายกลุ่มหนึ่งนำใบปลิวไปติดที่ย่านใจกลางเมือง ชาวบ้านที่กำลังเข้าแถวรอรับการปันส่วนอาหารมองดูพวกเขาด้วยความอิดโรย
แผ่นป้ายเหล่านั้นเขียนด้วยลายมือหวัด ๆ ว่า "ผู้คนที่หิวโหย จงลุกขึ้นต่อสู้"
หญิงที่ต่อแถวรับอาหารคนหนึ่งได้อ่านใบปลิว แล้วพูดว่า "คนฉลาดเขียนข้อความนี้"
เด็กชายกลุ่มนี้คือ อเล็กซานเดอร์ "ชูรา" โปเลียคอฟ, มิคาอิล "มิชา" อูลมาน และเยฟเกนี "เกนยา" เกอร์โชวิช ในตอนนั้นทั้งหมดมีอายุ 13 ปี และชูรา โปเลียคอฟ คือหัวหน้ากลุ่ม
ครอบครัวของชูรามีพื้นเพจากเมืองคาร์คีฟในยูเครน ครอบครัวของเขาที่ประกอบไปด้วยแม่ ยาย ป้า และน้องสาว ย้ายมาอยู่ที่เมืองเชเลียบินสค์โดยต้องอาศัยอยู่ในห้องเดียวกัน เพราะเมืองไม่มีที่พักเพียงพอสำหรับรองรับผู้อพยพจากสงคราม
พ่อของชูราเสียชีวิตในสงคราม แม่ของเขาจึงกลายเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำงานเป็นนักกฎหมาย
อเล็กซานเดอร์ "ชูรา" โปเลียคอฟ เมื่อเติบใหญ่
เกนยา เกอร์โชวิช ก็โตขึ้นมาโดยไม่มีพ่อ แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน เขาเกิดในเมืองเลนินกราด (ปัจจุบันคือ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) พ่อของเขาถูกจับกุมในปี 1934 เพราะถูกกล่าวหาว่าเป็นสมาชิกขบวนการใต้ดินที่วางแผนโค่นล้มรัฐบาล
พ่อของเกนยาหายไปอย่างไร้ร่องรอย
เพื่อให้ลูกทั้งสองปลอดภัย แม่ของเกนยาจึงหอบครอบครัวไปอยู่ที่เมืองเชเลียบินสค์ และแม้สามีของเธอจะถูกตราหน้าเป็น "ศัตรูของประชาชน" แต่เธอก็ได้งานทำเป็นครูโรงเรียนมัธยม
เยฟเกนี "เกนยา" เกอร์โชวิช ในวัยหนุ่ม
พ่อของเกนยาถูกประหารชีวิตก่อนเกิดสงคราม แต่ครอบครัวได้ทราบข่าวร้ายอีกนานหลังจากนั้น
มิชา อูลมาน มาจากเมืองเลนินกราดเหมือนเกนยา แต่เขายังมีครอบครัวอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า พ่อแม่ของเขาย้ายไปอยู่ที่เมืองเชเลียบินสค์ในช่วงต้นสงคราม เพื่อทำงานที่โรงงานผลิตรถแทรกเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นเปลี่ยนไปผลิตรถถัง
ชีวิตในเมืองนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก มิชาและครอบครัวต้องอยู่กันอย่างแออัดในห้องที่ต้องแบ่งกับคนแปลกหน้า โดยใช้ผ้าขึงกับเส้นลวดกำหนดพื้นที่
เด็กชายทั้งสามไปโรงเรียนเดียวกัน มิชาและเกนยานั่งโต๊ะเดียวกันในห้องเรียน
แม้พวกเขาอายุเพียง 13 ปี แต่ก็ได้อ่านงานเขียนของคาร์ล มากซ์,วลาดีมีร์ เลนิน และสตาลิน ตามหลักสูตรของโรงเรียน และพวกเขาได้เรียนรู้ว่าการยอมรับความอยุติธรรมเป็นสิ่งผิด
นอกจากนี้ ทั้งสามยังศึกษาเนื้อเพลง The International อันเป็นเพลงสรรเสริญของขบวนการสังคมนิยมและการเคลื่อนไหวของคนงาน เขียนขึ้นโดยนักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสช่วงทศวรรษที่ 1870 ซึ่งในเวลาต่อมาได้กลายเป็นบทเพลงของผู้ต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคม
บทเพลงนี้ยังเคยเป็นเพลงชาติของสหภาพโซเชียตระหว่างปี 1922-1944 เด็กทั้งสามจึงแทบไม่เชื่อว่าเนื้อหาในเพลง ซึ่งเรียกร้องให้มีการลุกฮือใหญ่ต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมจะไม่ถูกแบนในสหภาพโซเวียต
มิคาอิล "มิชา" อูลมาน
เด็กชายทั้งสามและครอบครัวของพวกเขาต้องเผชิญกับความยากจนข้นแค้น และความอดอยากจากการปันส่วนอาหารช่วงหลังสงคราม
อย่างไรก็ตาม พวกเขาได้เห็นว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
หนุ่มน้อยทั้งสามมีเพื่อนร่วมชั้นคนหนึ่งเป็นลูกชายของผู้อำนวยการโรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่น เด็กคนนี้มีชีวิตแตกต่างจากพวกเขาอย่างสิ้นเชิง เพราะเขามีคนขับรถพาไปส่งโรงเรียน ได้กินอาหารเที่ยงชั้นเลิศที่ห่อมาจากบ้าน และในงานเลี้ยงวันเกิดของเขาก็เป็นโอกาสให้เด็กทั้งสามได้ลิ้มรสชาติของน้ำอัดลม และได้ดูภาพยนตร์ของนักแสดงตลก ชาร์ลี แชปลิน
และยิ่งไม่ต้องพูดถึงความเป็นอยู่ของเขาที่สุขสบายราวกับในเทพนิยาย เขามีบ้านหลังโต และเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน
แม้สงครามจะยุติลง แต่ชาวเมืองเชเลียบินสค์จำนวนมากยังมีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก
อันที่จริง ความเป็นอยู่ของเหล่าคนงานที่โรงงานรถแทรกเตอร์ในเมืองเชเลียบินสค์นั้นยากลำบากอยู่แล้วตั้งแต่ช่วงก่อนสงคราม หลายคนอาศัยอยู่ชั้นใต้ดิน หรือตามเพิงพัก และเมื่อสงครามปะทุขึ้น เมืองแห่งนี้ก็ต้องรองรับคลื่นผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาจากภูมิภาคทางตะวันตกของประเทศ ซึ่งทำให้ความเป็นอยู่ของชาวเมืองเลวร้ายลงอีก
ในเดือน ธ.ค. 1943 ฝ่ายบริหารโรงงานพบว่ามีคนงานกว่า 300 ชีวิตต้องนอนอยู่ตามพื้นโรงงาน เพราะพวกเขาไม่มีที่ไปในช่วงฤดูหนาวอันหฤโหด บางคนบอกว่าพวกเขาไม่มีเสื้อผ้าที่เหมาะสมสำหรับสภาพอากาศนี้ ทำให้ไม่สามารถออกไปนอกโรงงานได้
เด็กทั้งสามมักได้ยินผู้ใหญ่บ่นถึงชีวิตอันลำเค็ญ อีกทั้งการได้ประสบกับความยากจนสุดขั้วด้วยตัวเอง จึงเกิดความรู้สึกว่าพวกเขาไม่มีอะไรให้เสียอีกต่อไป
ความโกรธของพวกเขามีมากขึ้นทุกทีที่ได้เห็นความอยุติธรรมในสังคม และความย้อนแย้งระหว่างคำโฆษณาชวนเชื่อเรื่องชีวิตในรัฐสังคมนิยมโซเวียต กับชีวิตในโลกความเป็นจริงที่พวกเขาได้เห็นด้วยตาตัวเอง
การประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ระดับภูมิภาคที่เมืองเชเลียบินสค์ ช่วงปลายทศวรรษ 1940
วันหนึ่งในเดือน เม.ย. 1946 เด็กทั้งสามได้ตัดสินใจฉีกสมุดเรียนออกมาแผ่นหนึ่งแล้วเขียนข้อความว่า :
"สหายและคนงานทั้งหลาย จงมองไปรอบ ๆ ! รัฐบาลอธิบายว่าปัญหาต่าง ๆ เป็นผลมาจากสงคราม แต่สงครามได้ยุติไปแล้ว ชีวิตของพวกท่านดีขึ้นหรือไม่ ไม่เลย ! รัฐบาลให้อะไรกับพวกท่าน ไม่มีเลย ! ลูกของพวกท่านต่างหิวโหย แต่พวกท่านยังได้รับคำบอกกล่าวเรื่องวัยเด็กอันแสนสุข สหายทั้งหลาย จงมองไปรอบ ๆ แล้วทำความเข้าใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ !"
ในตอนแรกเด็กชายทั้งสามจะเอาแผ่นป้ายไปแปะตามสถานที่ต่าง ๆ เฉพาะตอนกลางคืน แต่ภายในเวลาไม่กี่วันความกล้าของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นจนเลิกกลัวถึงผลลัพธ์ที่จะตามมา และยังมีเพื่อนนักเรียนบางคนมาเข้าร่วมขบวนการด้วย
ภายในเวลาไม่นาน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ล่วงรู้ไปถึงตำรวจลับโซเวียต หรือ NKVD ก่อนที่พวกเขาจะได้ข้อมูลว่าผู้ทำแผ่นป้ายต่อต้านรัฐบาลนั้นแท้จริงเป็นเพียงเด็กนักเรียนกลุ่มหนึ่ง
โรงเรียนต่าง ๆ ในเมืองเชเลียบินสค์ได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบลายมือของเด็กนักเรียนทุกคนเพื่อค้นหาผู้ก่อเหตุ โดยเด็กนักเรียนถูกสั่งให้เขียนคำว่า "สหาย" และ "วัยเด็กอันแสนสุข"
อาคารที่ทำการตำรวจลับเมืองเชเลียบินสค์ ช่วงทศวรรษ 1940
เกนยาเป็นคนแรกที่ถูกจับกุม ตามด้วยชูรา ขณะที่มิชาถูกจับได้ช่วงปลายเดือน พ.ค. 1946 ครอบครัวของพวกเขาต่างตกตะลึงและหวาดกลัว
เด็กชายทั้งสามถูกตำรวจลับสอบปากคำอย่างหนัก และพยายามเอาผิดพวกเขาในฐานะผู้ฝักใฝ่นาซี ซึ่งสร้างความเดือดดาลให้แก่เด็ก ๆ ที่ได้แต่คิดว่าผู้ศรัทธาในลัทธิมาร์กซ์จะกลายเป็นพวกนาซีได้อย่างไรกัน
ชูราและเกนยาถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในเดือน ส.ค. ปีเดียวกัน และถูกตัดสินให้มีความผิดฐานเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อต่อต้านโซเวียต พวกเขาถูกพิพากษาจำคุก 3 ปีในทัณฑสถานเด็ก ซึ่งที่นั่นทั้งสองมักตกเป็นเป้าการทำร้ายและคุกคามจากผู้ต้องขังคนอื่น
ส่วนมิชาโชคดีกว่าใคร เพราะตอนที่ถูกจับกุมเขายังอายุไม่ถึง 14 ปี จึงทำให้รอดพ้นจากการถูกลงโทษ พ่อแม่เขารีบย้ายครอบครัวกลับไปยังเมืองเลนินกราด เพื่อหนีเงื้อมมือตำรวจลับเมืองเชเลียบินสค์
ส่วนชูราและเกนยาก็หลุดพ้นจากบทลงโทษได้โดยง่าย หลังจากศาลมีคำสั่งให้รอลงอาญา ทำให้พวกเขาได้รับการปล่อยตัวช่วงปลายปี 1946
บางทีการได้ลดหย่อนโทษครั้งนี้อาจเป็นเพราะอายุของพวกเขา
แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่าตำรวจลับและผู้พิพากษารู้สึกประหลาดใจกับความมุ่งมั่นของกบฏน้อยเหล่านี้ ที่แม้จะอยู่ภายใต้การปกครองของหนึ่งในรัฐเผด็จการที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังมีความเชื่อว่าพวกเขาสามารถประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม และกดดันให้รัฐบาลยกระดับคุณภาพชีวิตของเหล่าคนงาน
เมื่อโตขึ้น ชูรา และมิชา ได้อพยพไปอยู่อิสราเอล ซึ่งชูรายังอาศัยอยู่ที่นั่นกับภรรยาจนถึงบัดนี้ และบีบีซีได้พูดคุยกับเขา
มิคาอิล "มิชา" อูลมาน ในช่วงบั้นปลายชีวิต
ส่วนมิชาได้ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียในเวลาต่อมา และเสียชีวิตลงในปี 2021
เยฟเกนี "เกนยา" เกอร์โชวิช ในช่วงบั้นปลายชีวิต
ขณะที่เกนยา ถูกจับกุมอีกครั้งช่วงปลายทศวรรษที่ 1940 หลังจากเขาถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะต้องสงสัยว่ามีความคิดฝักใฝ่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโซเวียต
เขาถูกจำคุก 10 ปี แต่ได้รับการปล่อยตัวหลังจากสตาลินเสียชีวิตเช่นเดียวกับเหยื่อการปกครองเผด็จการอีกหลายล้านคน เกนยาเสียชีวิตช่วงทศวรรษที่ 2010