Kusra Mukdawijitra
5h
Finally...
ในที่สุดก็มีวันนี้ วันที่งานซึ่งกระดืบกันมาเป็นเวลา 2 ปี ได้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง
หนังสือเสร็จจะพิมพ์เร็วๆนี้ นิทรรศการเกิดขึ้น แม้จะเป็นนิทรรศการขนาดเล็กมาก แต่มัน powerful ด้วยเรื่องราวของผู้คนและข้าวของ แก้วน้ำใบนึง เสื้อตัวนึง โสร่งผืนนึง ข้าวเกรียบปลาถุงนึง ของสามัญเหล่านี้แหละที่เราเขื่อในพลังของมัน
มองย้อนกลับไป ในความพยายามทั้งมวล ทั้งของม๊ะ นักวิจัยในพื้นที่ ทั้งของคนที่ออกหน้ารับทุนและจัดการเอกสารทุกอย่าง ทั้งของผู้ให้ข้อมูล ทั้งของทีมงานที่ทำงานนี้กันอย่างเบียดเวลาตัวเองที่นอกเหนือเวลางานประจำ ทั้งของสำนักพิมพ์และดีไซเนอร์ที่ช่วยโค้งสุดท้ายจนออกมาได้ มันเป็นการรีดเค้นพลังงานชีวิตเพื่อบอกเล่า เพื่อตะโกน ให้สังคมนี้ได้ยินในเสียงที่คุณไม่เคยได้ยินมันเลย
ดีใจที่เห็นงานเป็นรูปเป็นร่าง ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ความทรงจำของผู้คนได้เดินทางออกนอกพื้นที่ ขอบคุณ Phrae Bae ที่ชวน และขอบคุณทีมงานที่ไว้ใจพี่
นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 จัดแสดงที่ตึกพรรณราย มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ มีถึงวันที่ 14 นี้เท่านั้นค่ะ วันที่ 12 หยุด 1 วัน กิจกรรมจะมีในช่วงบ่าย บ่ายวันที่ 11 เป็นการสนทนาวงปิดระหว่างผู้หญิงที่ครอบครัวเป็นเหยื่อความรุนแรง วันที่ 13 มีกิจกรรมปักผ้า วันที่ 14 เปิดตัวหนังสือ เชิญชวนนะคะ
Puangthong Pawakapan
7h
“สดับเสียงเงียบ: จดจำตากใบ 2547” เป็นนิทรรศการเล็กๆ ที่สามารถทำให้คุณน้ำตาคลอขณะอ่านเรื่องราวของวัตถุสิ่งของที่นำมาจัดแสดงได้
แม้ขนาดของงานจะเล็กมากเมื่อเทียบกับขนาดของปัญหาและโศกนาฏกรรมของผู้คนจำนวนมากมายมหาศาลที่ได้รับผลกระทบในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา แต่คำบรรยายสั้นๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งของแต่ละชิ้น ทำให้เราสะอึกได้ ทำให้เรารู้ว่านี่เป็นแค่ “ส่วนเสี้ยว” ของโศกนาฏกรรมที่ไม่เคยได้สัมผัสกับ “ความยุติธรรม” เป็นโลกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่คนส่วนใหญ่ในที่อื่นๆ ของอาณาจักรนี้ไม่สนใจ ไม่ยี่หระ ไม่อยากได้ยิน
อยากให้ได้ไปดูกัน ไปดูว่าภาพสายสร้อยทองของผู้หญิงคนหนึ่งมีความหมายอย่างไร
ชุดที่บาบอแม (ผู้นำศาสนา) ใส่ขณะทำพิธีในพิธีฝังศพผู้เสียชีวิตในกรณีตากใบตอกย้ำวันเวลาที่เขาต้องเข้าไปดูร่างของผู้เสียชีวิตกว่า 50 คนจากกรณีตากใบในค่ายอิงคายุทธอย่างไร
อยากให้ไปดูว่าทำไมเมียและลูกจึงยังเก็บ “โสร่ง” ของพ่อไว้
อยากให้ไปดูว่าทำไมกรงนกจึงว่างเปล่า นกหายไปไหน?
อยากให้ไปดูว่าทำไมพวกเขาจึงยังเก็บ "แก้วน้ำของพ่อ" ไว้
ฯลฯ
นิทรรศการนี้จัดทำโดยกลุ่มคนเล็กๆ ที่ตั้งใจจะจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้”
เราอยากเห็นโครงการนี้เป็นจริง แต่ก็รู้ว่ามันต้องการเจตน์จำนงอันแน่วแน่ ต้องการกำลังคน ต้องการกำลังเงินจำนวนมาก นิทรรศการนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของเรื่องราวมากมายมหาศาล ก็ขอขอบคุณกลุ่มคนที่ริเริ่มโครงการนี้ และขอเอาใจช่วยให้เดินต่อไปได้ค่ะ
นิทรรศการนี้แสดงถึงวันที่ 14 มีนาคม ที่ตึกพรรณราย ม.ศิลปากร วังท่าพระ
แต่ปิดวันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคมนะคะ
Deep South Museum Phrae Bae Jularat Damrongviteetham Pattaraphon Phoothong
Nattawut Singkul
20h
กิจกรรมดีๆที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ.. สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ2547..
….เราไม่ต้องใช้หูฟังเสียง แต่ใช้หัวใจฟังเสียง..
ขอขอบคุณ …โครงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุจังหวัดชายแดนใต้…ที่ได้ให้โอกาสภาควิชามานุษยวิทยาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ และเป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อน ที่ช่วยให้พวกเราย้อนคิด ทบทวนรำลึกความทรงจำ ในกิจกรรมสดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ2547..ที่เชื่อมโยงกับปรัชญาของภาควิชามานุษยวิทยา วังท่าพระ ที่มุ่งเน้นศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย การยอมรับในคุณค่าและการเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียม รวมทั้งการสนับสนุนให้ใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหา รวมถึงปฎิเสธความรุนแรงในทุกรูปแบบ..
ดังนั้นนิทรรศการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่ได้เพียงจัดแสดงวัตถุที่เป็นเหมือนพยานหลักฐาน ของบาดแผล ประสบการณ์ความรุนแรง ความตาย และความทรงจำ เท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ การเมืองและประวัติศาสตร์ ทำให้เราทบทวนกับสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตย สิทธิความเป็นมนุษย์ ความไม่เท่าเทียมและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย..ถือเป็นการสื่อสารสาธารณะ เพื่อเปิดพื่นที่ให้เสียงที่แตกต่างหลากหลาย เสียงที่ไม่ได้ยิน ให้ดังกังวาน และผู้คนในสังคมได้ยินเสียงเหล่านี้มากขึ้น
ในนามชองภาควิขามานุษยวิทยาและคณะโบราณคดี
มหาวิทยาศิลปากร ขอขอบคุณมูลนิธิซาซากาวา หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ทีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านทุกฝ่าย ที่ผลักดันโครงการและกิจกรรมที่มีคุณค่าและมีความหมายทางสังคมแบบนี้เกิดขึ้น…