วันอังคาร, มีนาคม 21, 2566
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จ.ปราจีนบุรี รายงานผลตรวจร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็กที่หลอมวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่พบรังสีในร่างกาย แต่ยังให้ติดตามตรวจเลือดต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว
สธ. เผย ไม่พบรังสี 'ซีเซียม-137' ในร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็ก เฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว
2023-03-20
ประชาไท
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน จ.ปราจีนบุรี รายงานผลตรวจร่างกายคนงานโรงถลุงเหล็กที่หลอมวัสดุกัมมันตรังสี ซีเซียม-137 ไม่พบรังสีในร่างกาย แต่ยังให้ติดตามตรวจเลือดต่อเนื่องเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบระยะยาว พร้อมจัดทำแนวทางให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศและคลินิกเอกชนทั่วประเทศร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสี
20 มี.ค. 2566 พบวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายไปตั้งตั้งแต่ 10 มีนาคม 2566 ที่โรงถลุงเหล็กแห่งหนึ่งในอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างใกล้ชิดและเฝ้าระวังและดูแลสุขภาพประชาชน ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ล่าสุด ได้รับรายงานความคืบหน้าว่า สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้ตรวจสอบบริเวณโรงงานที่พบวัสดุกัมมันตรังสีแล้วไม่พบการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม รวมถึงตรวจการปนเปื้อนรังสีในร่างกายของคนงานโรงงานทั้ง 70 คน ไม่พบปริมาณรังสีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรีจะติดตามอาการผิดปกติและตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังสุขภาพคนงาน รวมทั้งญาติผู้ใกล้ชิดในครอบครัวอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตรังสี
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ความรุนแรงจากการได้รับรังสีซีเซียม-137 ขึ้นกับความเข้มข้น ระยะเวลาที่สัมผัส และระยะห่างในการสัมผัส โดยหากสัมผัสโดยตรงจะเกิดบาดแผลไหม้จากรังสี เช่น ผิวหนังมีตุ่มน้ำพอง เป็นแผล หรือเนื้อตายได้ เกิดอาการทั่วไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ส่วนผลระยะกลางและระยะยาว จะส่งผลต่อเซลล์ที่มีการแบ่งตัว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาว หรือเส้นผม เป็นต้น ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน ประสานผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้ป่วยจากกัมมันตรังสี จัดทำแนวทางการเฝ้าระวังสุขภาพเชิงรุกและแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการ พร้อมทั้งประสานจัดสิ่งสนับสนุน เช่น เครื่องตรวจวัดรังสีเพิ่มเติม ชุดป้องกัน หน้ากากอนามัยชนิดกันอนุภาค รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสานคลินิกเอกชนทั่วประเทศ ร่วมเฝ้าระวังผู้ป่วยที่สงสัยอาจเกิดจากการได้รับรังสีด้วย
“แม้หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นปลายทาง คือ ให้การดูแลผู้ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ได้ให้แต่ละกรมในสังกัดใช้เหตุการณ์นี้ทบทวนกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อนำมาปรับระบบดูแลสุขภาพให้รัดกุมยิ่งขึ้น และรับมือกับเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนฯ ก้าวไกล ซัดมรดกบาป คสช. เปลี่ยนภาคตะวันออกเป็นเมืองรับสารเคมี จี้ เฝ้าระวังซีเซียม 137-ให้ข้อมูลประชาชน
ที่ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี สุนทร คมคาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 3 พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กรณีโรงงานต้องสงสัยพบฝุ่นแดงจากการหลอมละลายซีเซียม-137 ว่า เนื่องจากการจัดการขยะอุตสาหกรรม ขยะอันตราย หรือกากสารเคมีทุกรูปแบบของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก มีระบบการจัดการและระบบการติดตามไม่ดีพอ จึงทำให้เกิดปัญหาในวันนี้ โดยตนขอย้อนกลับไปยังการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 ที่ส่งผลให้มีการยกเว้นการบังคับผังเมือง เกิดโรงงานขยะ โรงงานฝังกลบ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเมื่อการควบคุมดูแลไม่ดีพอ ทำให้มีการลักลอบทิ้งขยะและเกิดความเสี่ยงให้วัตถุอันตรายเช่นนี้หลุดรอดออกไปยังโรงงาน ร้านรับซื้อของเก่า และยากต่อการติดตาม
"จากคำสั่งของหัวหน้า คสช. ทำให้โรงขยะเกิดขึ้นทั่วประเทศโดยเฉพาะในภาคตะวันออก และปัญหาที่เห็นได้ชัดคือโรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องตรวจกัมมันตภาพรังสี โรงงานที่ตรวจพบฝุ่นแดงนี้ก็ไม่มีเช่นกัน ทั้งที่ตามมาตรฐานสากล กำหนดให้ต้องมี ดังนั้น คำสั่งดังกล่าวต้องถูกยกเลิก" สุนทรกล่าว
สุนทรกล่าวต่อว่า ทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกมาให้ข้อมูลในลักษณะว่าตรวจไม่พบซีเซียม โดยอ้างว่าได้ใช้เครื่องมือตรวจจับที่ได้มาตรฐานแล้ว เมื่อไม่พบซีเซียม ก็ถือว่าปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรถูกตั้งคำถาม เนื่องจากที่ผ่านมา โรงงานดังกล่าวส่งกลิ่นหรือควันจากการกำจัดขยะและซากเหล็กรบกวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่มาตลอด สรุปแล้วเป็นโรงงานระบบปิดจริงหรือไม่ และเป็นไปได้หรือไม่ที่ซีเซียมได้กระจายออกไปในบริเวณกว้างแล้ว เพียงแต่ออกไปในปริมาณไม่มาก จึงตรวจจับได้ยาก
ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ปราจีนบุรี เขต 3 ยังระบุว่า หน่วยงานและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องทำงานร่วมกัน คัดกรองเฝ้าระวังผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากซีเซียม และต้องเน้นการตรวจหาซีเซียมให้มากขึ้น นอกเหนือจากในโรงงาน ก็ต้องตรวจหาบริเวณพื้นที่รอบนอกโรงงาน ควบคู่กับการให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ถึงความอันตรายและการหลีกเลี่ยงผลกระทบของซีเซียมด้วย
“หวังว่ากรณีซีเซียม-137 จะทำให้กระบวนการแก้ไขฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ถูกดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้น และหวังว่ารัฐบาลหน้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะของเสีย ไม่ให้จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเมืองที่ต้องรับขยะอุตสาหกรรม เป็นแหล่งมลพิษอีกต่อไป” สุนทรทิ้งท้าย