วันพุธ, มีนาคม 08, 2566

คดี 112 ไปสถานทูตเยอรมัน ขอเอกสารตารางบินเข้าออกเยอรมัน ร.10 จากรัฐบาลเยอรมนี เป็นหลักฐาน ได้บ่ ?


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12h
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2566 ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดสืบพยานนัดแรก ในคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี หรือ #26ตุลาไปสถานทูตเยอรมัน เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ในคดีนี้จำเลย 13 ราย ถูกฟ้องในฐานความผิด “ร่วมกันหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ร่วมกันยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ
.
.
ศาล ‘ยก 3 คำร้อง’ ขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ - บัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 - ขอออกหมายเรียกพยาน ทนายจำเลยชี้สำคัญกับการสู้คดีและสืบพยานคดีนี้อย่างมาก
.
ในวันเดียวกันนี้ ทนายจำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อประโยชน์ในการต่อสู้คดีและสืบพยานคดีนี้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ คำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ (หมาย วจ.), คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 จำนวน 5 ลำดับ และคำร้องขอออกหมายเรียกพยานจำเลย จำนวน 5 ลำดับ ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้องทั้ง 3 คำร้อง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
.
คำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์: คาดเป็นวิดีโอปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในวันเกิดเหตุ ศาลยกคำร้องไม่ให้คัดถ่าย อ้างภาพเคลื่อนไหวมีถ้อยคำผิดตามฟ้องจำนวนมาก หากสำเนาเผยแพร่ออกไปจะเกิดความเสียหายในวงกว้างได้
.
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2565 ทนายจำเลยเคยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ (หมาย วจ.) ทุกลำดับต่อศาลแล้ว แต่ต่อมาศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างว่า ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ แต่สามารถตรวจสอบวัตถุพยานดังกล่าวได้ที่ศาล โดยให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ศาล
.
ครั้งนี้ทนายจำเลยจึงยื่นคำร้องขอคัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ทุกลำดับต่อศาลอีกครั้ง โดยระบุเหตุผลในคำร้องว่า วัตถุพยานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่โจทก์ใช้กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด การที่ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องไปตรวจดูวัตถุพยานโจทก์ที่ศาลด้วยตัวเองเป็นการสร้างภาระให้แก่จำเลยเกินความจำเป็น และอาจจะไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
.
เย็นวันเดียวกันศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องเป็นครั้งที่ 2 โดยมีรายละเอียดคำสั่งโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาว่าภาพเคลื่อนไหวดังกล่าว (วัตถุพยานโจทก์) อาจมีถ้อยคำที่เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องจำนวนมาก หากไม่มีการควบคุมดูแลโดยเจ้าพนักงานศาล และมีการทำสำเนาหรือตัดต่อจนเกิดการแพร่หลายออกไป จะเกิดความเสียหายในวงกว้าง แต่ทนายจำเลยสามารถตรวจสอบวัตถุพยานโจทก์ดังกล่าวได้ที่ศาล โดยให้อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ศาลตามคำสั่ง
.
ทั้งนี้ “#วัตถุพยานโจทก์” หรือ “หมาย วจ.” หมายถึง พยานหลักฐานเชิงวัตถุที่โจทก์ประสงค์นำเข้าประกอบการสืบพยาน เพื่อสนับสนุนการเบิกความของพยานโจทก์ ใช้เพื่อการถามค้านพยานจำเลย และสนับสนุนน้ำหนักในการกล่าวหาจำเลยว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง ซึ่งวัตถุพยานสามารถเป็นได้ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ ภาพจากกล้องวงจรปิด หรือวัตถุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคดี ซึ่งในคดีนี้ วัตถุพยานโจทก์มีอยู่ด้วยกัน 6 ลำดับ เป็นแผ่นซีดีบันทึกวิดีโอจำนวน 6 แผ่นด้วยกัน แต่ยังไม่ทราบว่าแต่ละแผ่นเป็นวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องใด คาดเป็นวิดีโอปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ในวันเกิดเหตุ
.
โดยปกติในคดีการเมืองอื่นๆ ศาลก็อนุญาตให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์เป็นปกติอยู่แล้ว แม้จะเป็นคดีที่ถูกกล่าวหาในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และ “ยุยงปลุกปั่น” อย่างเดียวกับในคดีนี้ก็ตาม
.
การที่ศาลไม่ยินยอมให้คัดถ่ายวัตถุพยานโจทก์ แต่ให้ฝ่ายจำเลยเดินทางไปตรวจสอบด้วยตัวเองที่ศาลในเวลาราชการและอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ศาลนั้นจะสร้างภาระให้จำเลยอย่างมาก ด้วยอุปสรรคที่จำเลยมีจำนวนมาก โดยในคดีนี้มีจำเลยถูกฟ้องรวมทั้งสิ้น 13 คน มีทนายความจำเลยประมาณ 11 คน เวลาในการดูและตรวจสอบวัตถุพยานโจทก์ที่มีจำกัดเฉพาะในเวลาราชการเท่านั้น ทั้งยังไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าวัตถุพยานโจทก์ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวนั้นผ่านการตัดต่อหรือดัดแปลงมาหรือไม่ รวมถึงไม่สามารถปรึกษาหารือถึงแนวทางการต่อสู้คดีได้อย่างเป็นส่วนตัวอีกด้วย เนื่องจากจะต้องอยู่ในพื้นที่ศาลที่มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลา
.
.
คำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2: ขอเพิ่ม ‘ประยุทธ์’ เป็นพยานบุคคล และขอเพิ่มพยานเอกสาร 4 ลำดับ เกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ของ ร.10 รวมถึงงบฯ ในพระองค์ แต่ศาลยกคำร้อง อ้างไม่เกี่ยวกับประเด็นในคดีนี้
.
ในคดีนี้ฝ่ายจำเลยได้ยื่นบัญชีพยานจำเลยต่อศาลไว้แล้ว เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 โดยระบุพยานจำเลยทั้งสิ้น 80 ลำดับ แบ่งเป็นพยานบุคคลทั้งสิ้น 23 ปาก (ลำดับที่ 1 - 23) และเป็นพยานเอกสารและพยานวัตถุ 57 ลำดับ (ลำดับที่ 24 - 80) แต่ศาลมีคำสั่งไม่รับพยานเอกสารลำดับที่ 48 - 51
.
ต่อมา ในนัดตรวจพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เนื่องจากต้องการจะระบุพยานบุคคลเพิ่มเติม 1 ลำดับ รวมถึงต้องการให้ศาลรับพยานเอกสารลำดับที่ 48 - 51 ที่เดิมศาลมีคำสั่งไม่รับไว้ แต่ศาลยังคงมีคำสั่งไม่รับพยานเอกสารทั้งสี่ลำดับ รวมถึงพยานบุคคล 1 ลำดับที่ยื่นเพิ่มเติม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นในคดีนี้ ทั้งนี้ แต่ละลำดับที่ศาลไม่รับมีรายละเอียด ดังนี้
.
พยานเอกสารลำดับที่ 48 - 51 เป็นเอกสารสำหรับใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นการประทับอยู่ในประเทศเยอรมันของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ขณะครองราชย์และในวันเกิดเหตุคดีนี้ รวมถึงเพื่อพิสูจน์ว่าได้มีการเดินทางไปกลับประเทศเยอรมันโดยเครื่องบินพระที่นั่งจริง
.
ลำดับที่ 48 เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 ซึ่งเอกสารอยู่ในความรับผิดชอบของสถานกงสุลใหญ่ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
.
ลำดับที่ 49 เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 เอกสารอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรุงเทพฯ
.
ลำดับที่ 50 เป็นต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารทางราชการแสดงรายละเอียดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 2559 จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2563 อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่การบินไทย
.
ลำดับที่ 51 เป็นต้นฉบับหรือสำเนารายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ถึงปี พ.ศ. 2563 อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยราชการในพระองค์ เพื่อใช้พิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นของหน่วยราชการส่วนพระองค์ซึ่งขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการใช้งบประมาณแผ่นดินในการเดินทางและประทับในประเทศเยอรมันตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ
.
พยานบุคคลยื่นเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ลำดับที่ 1 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้เข้าเบิกความพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ ในประเด็นการขยายขอบเขตพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์
.
.
ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกนี้ ทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 ระบุพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับดังกล่าวไปอีกครั้ง โดยให้เหตุผลประกอบคำร้องว่า พยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับ เป็นพยานที่จะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย และเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่จำเลยต้องใช้นำสืบเพื่อสนับสนุนคำให้การของจำเลยและประกอบการพิจารณาคดีของศาล
.
แต่ศาลยังคงมีคำสั่ง #ยกคำร้อง ไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมทุกลำดับเช่นเดิม โดยให้เหตุผลว่า “ศาลได้มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานจำเลยเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยให้เหตุผลแห่งการไม่อนุญาตอันเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาแล้ว เมื่อพิจารณาคำร้องนี้ จึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาต ยกคำร้อง”
.
.
คำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกประยุทธ์และเอกสารอีก 4 ลำดับ แต่ศาลยกคำร้อง เนื่องจากได้สั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 จึงไม่จำเป็นต้องหมายเรียกพยานให้ได้
.
ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับ ที่ได้ระบุไว้ในคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานจำเลยเพิ่มเติม ครั้งที่ 2 โดยขอให้ศาลออกหมายเรียก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินทางมาเบิกความต่อศาลในการสืบพยานจำเลยคดีนี้ เนื่องจากเป็นพยานภายนอกที่มีความสำคัญเกี่ยวกับประเด็นต่อสู้คดีของจำเลย ซึ่งจำเลยไม่สามารถนำมาศาลเองได้
.
และขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเอกสารลำดับที่ 48 - 51 ซึ่งเป็นเอกสารเกี่ยวกับการเดินทางเข้าออกประเทศของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นเข้ามาเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยเอกสารทั้งหมดอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานราชการและบุคคลภายนอก เป็นพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีนี้ ซึ่งทนายจำเลยจำเป็นต้องใช้ในการสืบพยานและถามค้านพยานบุคคลของโจทก์ทุกปาก
.
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เนื่องจากศาลได้มีคำสั่งไม่รับบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ฉะนั้นจึงไม่สามารถออกหมายเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารทั้ง 5 ลำดับที่ยังไม่ได้อยู่ในบัญชีพยานจำเลยได้
.
.
อ่านบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/54073

Sita Karnkriangkrai
น่าขอเอกอัครราชทูตเยอรมันเป็นพยาน แล้วเรียกตารางบินเข้าออกเยอรมัน เป็นหลักฐาน