วันศุกร์, มีนาคม 17, 2566

ยืนหยุดขังประเทศไทย 10-16 มีนาคม 2566

ยืนหยุดขังประเทศไทย
12h

#ยืนหยุดขังประเทศไทย
10-16 มีนาคม 2566
.
ศาลแสดงความแข็งกร้าวอีกครั้ง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนชายขอบ คนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ศาลไม่เคยปราณี แตกต่างจากคนใหญ่คนโตคนร่ำรวยที่ศาลมัก “สดับตรับฟัง” และโอนอ่อนอะลุ้มอล่วย
.
สัปดาห์ที่ผ่านมา คทาธรยังคงไม่ได้ประกันตัว ทั้งๆ ที่ถูกตัดสินจำคุกเพียง 1 ปี 3 เดือน ไม่ใช่อัตราโทษที่สูงมาก แต่ศาลคงพอใจจะขังเขาไว้จนครบกำหนดโทษ ซึ่งเหลืออีก 4 เดือน ในช่วงเดียวกันนั้น ศาลเชียงใหม่ก็ตัดสินคดีพรชัยจากการโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คตามข้อหามาตรา 112 เป็นจำนวนโทษถึง 12 ปี และไม่ให้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์
.
13 มี.ค. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี "จิตรกร" วัย 22 ปี ในข้อหาครอบครองระเบิด โดยไม่รอลงอาญา แล้ววันรุ่งขึ้น ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ในคดี 112 และ พรบคอม ของ "ใจ" นักศึกษาวัย 23 ปี กรณีทวีตรูปและพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ทั้งสองได้รับการประกันตัว
.
คดี ของ “ใจ” นั้น ศาลระบุว่ากษัตริย์ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และแม้มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองอดีตกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่าจะต้องเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น จำเลยจึงยังมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะกระทบต่อ ร.10 ซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมเสีย นี่เป็นอีกครั้งที่ศาลตีความกฎหมายมาตรา 112 อย่างมีข้อกังขาว่าเป็นการตีความเกินเลยตัวบทหรือไม่
.
แต่อย่างน้อยศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว "มานี – ขุนแผน" ผู้ต้องขังคดีมาตรา112 โดยวางหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทั้งสองต้องอยู่ในเรือนจำเกินกว่า 1 สัปดาห์ก่อนจะได้ประกันตัวออกมา
.
ดีใจไม่ทันไร ในวันเดียวกัน ศาลอาญา พิพากษาจำคุก "ศักดิ์ดา - กรรภิรมย์" จำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีเข้าร่วม #ม็อบ11สิงหา64 บริเวณดินแดง ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ,พยายามวางเพลิงเผาทรัพย์, ป.อ.ม.215 มั่วสุม 10 คนขึ้นไป แต่จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ จำคุกคนละ 2 ปี และไม่ได้รับการประกันตัว
.
นอกจากนี้ อัยการสั่งฟ้องคดี "ชนะดล" ในข้อกล่าวหาหลักว่า มีครอบครองวัตถุระเบิด และเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ20สิงหา64 ก่อนศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุ คดีมีอัตราโทษสูงเกรงจะหลบหนี
.
ทะลุแก๊สยังคงเป็นกลุ่มที่ถูกลงโทษหนักหน่วงและได้รับการประกันตัวยากที่สุด วันที่ 16 มีนาคม พิชัยและนฤเบศถูกตัดสินจำคุก 3 ปี 4 เดือน
.
ถ้านับจนถึงขณะที่แอดมินเขียนรายงาน เรามีเพื่อนที่ถูกละเมิดสิทธิประกันตัวอยู่ในเรือนจำรวม 10 คน กล่าวคือ คทาธร ถิรนัย ชัยพร ทัตพงศ์ พรชัย ศักดิ์ดา กรรภิรมย์ ชนะดล พิชัย และนฤเบศ
.
นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์น่ารังเกียจเกิดขึ้น ในวันที่ 13 มีนาคม ประยุทธ์ลงหาเสียงที่บ้านโป่ง ราชบุรี นางวันทนา โอทองต้องการเข้าพบประยุทธ์เพื่อร้องเรียนเรื่องเดือดร้อน แต่กลับถูกตำรวจภูธรบ้านโป่งรุมทำร้าย เข้าชาร์จล็อกตัว เอามืออุดปากอุดจมูก จนนางวันทนาได้รับบาดเจ็บฟกช้ำดำเขียวหลายจุด สะท้อนให้เห็นว่า คนอย่างประยุทธ์แม้จะประกาศลงเลือกตั้ง แต่ไม่เคยเห็นประชาชนคนสามัญอยู่ในสายตา มองเห็นพวกเราเป็นเศษเดนไร้ค่าตลอดเวลา
.
แม้จะมีเรื่องแย่ๆ หลายเรื่อง แต่อย่างน้อยก็พอมีเรื่องน่ายินดีบ้าง เรื่องแรกคือแบมและตะวันประกาศเลิกอดอาหาร กลับมาฟื้นร่างกายเพื่อสู้กับเผด็จการต่อไป รวมทั้งกรณีสืบเนื่องจากที่โรม รังสิมันต์ปราศรัยเกี่ยวกับผู้พิพากษาอรรถการ ฟูเจริญ ที่แทรกแซงเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เปลี่ยนหมายจับ “สว.ทรงเอ” เป็นหมายเรียก จน พ.ต.ท. มานะพงษ์ วงศ์พิวัฒน์ สารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง (หรือพูดภาษาชาวบ้านคือ แฉ นั่นแหละ) จากนั้นสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสมาคมพนักงานสอบสวน ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประพฤติโดยชอบ
.
นี่นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สถาบันตำรวจออกมาชนกับสถาบันตุลาการเพื่อรักษาศักดิ์ศรีและการกระทำที่ถูกต้องของตน ไม่ใช่เรื่องหาดูง่ายนักในสังคมไทย เราหวังว่าสถาบันต่างๆ จะแสดงความกล้าหาญท้าชนกับความบิดเบี้ยวของระบบมากยิ่งขึ้น
.
ส่วนยืนหยุดขังยังคงยืนกันเช่นเดิม ทั้งที่ลานอากง หน้าศาลฎีกา ที่เชียงใหม่ และที่นครปฐม
.
#ยืนหยุดขังประเทศไทย
#ปล่อยเพื่อนเรา
#หยุดละเมิดสิทธิการประกันตัว
#ยกเลิก112