วันอาทิตย์, พฤษภาคม 16, 2564

มารู้จักนักแจ้งความ อีกกลไกหนึ่งของตัวแทนรัฐบาล "ประยุทธ์" ใช้ในการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง



ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11h ·

+++ตัวแทน "ประยุทธ์" อีกหนึ่งกลไกรัฐบาลในการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่าง+++
.
จากกรณีที่ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 64 ที่ผ่านมา สุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือ ฮาร์ท นักร้องและนักดนตรี ถูกอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง รับมอบอำนาจจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก. (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีในฐานความผิด “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 จากการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าคดีนี้นับเป็นคดีที่ 5 แล้วที่อภิวัฒน์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีนักกิจกรรม นักการเมือง รวมถึงประชาชนในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล และบทบาทของสถาบันกษัตริย์
.
อภิวัฒน์ เริ่มสร้างผลงานจากการยื่นหนังสือต่อสภาทนายความให้ลบชื่อ “อานนท์ นำภา” ออกจากทะเบียนทนายความ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 63 โดยอ้างเหตุจากการปราศรัยชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63
.
จากนั้นเป็นต้นมา อภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีหรือร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีคดีอาญาอย่างน้อย 23 คดีแล้ว ที่เขาเป็นคนแจ้ง และในจำนวนนี้แทบทุกคดีมีการแจ้งความที่ สน.นางเลิ้ง มี พ.ต.ท.อธิชย์ ดอนนันชัย รอง ผกก.(สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เป็นผู้รับแจ้ง
.
ในทางสาธารณะอภิวัฒน์ ขันทอง ยังมีอีกตำแหน่งคือ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบ และดำเนินคคีแก่ผู้เผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีและการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี 32/2563 ลง 21 ก.ย. 63 ซึ่งชัดเจนว่า บทบาทการดำเนินคดีประชาชนของเขาทำในนามของ “นายกรัฐมนตรี” ตัวแทนรัฐบาลที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนนั่นเอง
.
เท่ากับว่า รัฐบาลนอกจากจะใช้กลไกราชการต่างๆ ในการดำเนินคดีประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองในทางวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน จนทำให้หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกเพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 63 เป็นต้นมา มีประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 635 คน ในจำนวน 301 คดี (ข้อมูลเมื่อ 30 เม.ย. 64) ยังใช้กลไกของ “ตัวแทน” ที่ได้รับมอบอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกด้วย
.
.
++ขอให้ตรวจสอบและลบชื่อ “อานนท์ นำภา” ออกจากทะเบียนทนายความ++
.
วันที่ 7 ส.ค. 63 อภิวัฒน์ยื่นหนังสือถึงสภาทนายความฯ ขอให้ตรวจสอบและลบชื่อ อานนท์ นำภา ออกจากทะเบียนทนายความ เนื่องจากพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ เพราะทำการ “บิดเบือนข้อความจริง พูดปราศรัยหมิ่นประมาท เสียดสียุยงปลุกปั่น ก่อให้เกิดความเสียหาย และความชิงชังต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อหวังผลให้ประเทศเกิดความแตกแยกสามัคคี….” จากการปราศรัยชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 63
.
อย่างไรก็ตามองค์กรนักกฎหมายไทยและนานาชาติต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกรณีดังกล่าว โดยวันที่ 21 ส.ค. 63 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) รวบรวมรายชื่อทนายความ สำนักงานทนายความ องค์กรด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวม 266 รายชื่อ ออกจดหมายเปิดผนึกส่งถึงสภาทนายความฯ ระบุว่าเหตุผลตามที่อ้างนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นเหตุตามข้อบังคับของสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 แต่อย่างใด นอกจากนั้นคดีที่ถูกกล่าวหานั้นก็ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นความผิดหรือไม่
.
วันที่ 17 ก.พ. 64 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงสภาทนายความอีกเช่นกัน ระบุว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลเป็นการแทรกแซงการทำงานของอานนท์ นำภา ในฐานะทนายความ อย่างไม่เหมาะสม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการว่าความให้แก่ลูกความในคดี และส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกของเขาด้วย
.
ตามกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศแล้ว ทนายความก็เหมือนกับบุคคลทั่วไปที่ทรงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในความเชื่อ เสรีภาพในการรวมตัว และเสรีภาพในการชุมนุม ทนายความควรที่จะสามารถกล่าวกับสาธารณชนเกี่ยวกับกิจการสาธารณะต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะในฐานะทนายความเองก็ดี หรือในฐานะส่วนตัวก็ตาม การระงับหรือการเพิกถอนใบอนุญาตทนายความอันเนื่องมาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยชอบนั้น ไม่เพียงแต่จะกระทบต่อการใช้สิทธิของทนายความผู้นั้นเท่านั้น หากแต่ยังกระทบถึงสิทธิของลูกความในการมีทนายความที่ตนเลือกมาว่าความคดีให้
.
สำหรับความคืบหน้า กรณีนี้ยังคงอยู่ในระหว่างยื่นคำร้องโต้แย้งของอานนท์ นำภา ซึ่งได้ขอขยายระยะเวลาออกไป เนื่องจากอานนท์ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และยังต้องรักษาตัวจากโรคโควิด-19
.
++5 คดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112++
.
วันที่ 18 ก.พ. 64 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองเชียงใหม่ แจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มเติมแก่ อานนท์ นำภา อีกหนึ่งข้อหา จากเหตุชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทน ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 63
.
อานนท์ ถูกจับกุมตามหมายจับในคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 63 ขณะเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา และถูกนำตัวไปที่จังหวัดเชียงใหม่ แจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และข้อหาใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
.
คดีนี้มีผู้ต้องหารวม 9 คน อานนท์เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกแจ้งข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังอภิวัฒน์เข้าแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63
.
.
วันที่ 30 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากเหตุเผยแพร่ไลฟ์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 64 ในหัวข้อ “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย” ซึ่งวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง รวมถึงแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาแข่งขันกับบริษัทเอกชนอื่นๆ
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายฯ ยังมีคดีผู้ถูกดำเนินคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อีก 2 คดี ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีไม่ประสงค์ให้เผยแพร่ และกรณีของสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล นับเป็นกรณีที่ 5 ที่ถูกอภิวัฒน์ร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาดังกล่าว
.
.
++8 คดี จากกรณี #ตามหาลูกประยุทธ์++
.
มูลเหตุแห่งคดีสืบเนื่องจากช่วงเดือนสิงหาคม 2563 มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมกันแสดงความคิดเห็นผ่านแฮ็ชแท็ก #ตามหาลูกประยุทธ์ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบรัฐบาล โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ และตั้งข้อสังเกตว่าลูกสาวสองคนของพลเอกประยุทธ์ไม่เคยปรากฏตัวในทางสาธารณะจนทำให้ประชาชนเกิดคำถาม
.
วันที่ 2 ก.ย. 63 นางสาวธัญญา และ นางสาวนิฏฐา จันทร์โอชา บุตรสาวของพลเอกประยุทธ์ มอบอำนาจให้ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะทนายความประจำสำนักกฎหมาย อ.อัมพร ณ ตะกั่วทุ่ง และเพื่อน เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง ให้ดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นในอินเตอร์เน็ตดังกล่าว
.
ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง ผู้ถูกออกหมายเรียก 7 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 โดย 1 ราย ให้การรับสารภาพ ส่วนอีก 6 ราย ให้การปฏิเสธยืนยันจะต่อสู้คดี เนื่องจากเป็นใช้สิทธิเสรีภาพวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะโดยสุจริต
.
นอกจากนี้ศูนย์ทนายฯ ได้รับรายงานว่ามีประชาชนอีกอย่างน้อย 1 ราย เป็นชายอายุประมาณ 35 ปี ถูกดำเนินคดีจากกรณีเดียวกันนี้ด้วย
.
.
++แจ้งความผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล++
.
อภิวัฒน์ ขันทอง ยังมีบทบาทในการแจ้งความดำเนินคดีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกอย่างน้อย 9 ราย จนบุคคลเหล่านั้นถูกดำเนินคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำนวน 3 คดี และ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 รวม 4 คดี มีอีก 1 คดี เป็นกรณีที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกดำเนินคดีในทั้งสองข้อหา
.
++3 คดี หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา++
.
วันที่ 26 ต.ค. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง กรสพร (สงวนนามสกุล) ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” เนื่องจากโพสต์เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุว่า ข้อความที่กรสพรเผยแพร่นั้นถือเป็นการใส่ความนายกรัฐมนตรีว่า เป็นคนไม่ดี คนเลว ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับความเสียหาย กรสพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.
.
วันที่ 4 เม.ย. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง น.ส.โชติกา ชนิดาประดับ ถูกดำเนินคดี “ดูหมิ่นโดยการโฆษณา” จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 63 เปรียบเทียบพลเอกประยุทธ์กับสัตว์เลื้อยคลาน คดีนี้ผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 2,000 บาท คดีอาญาจึงสิ้นสุดลง นอกจากนั้นโชติกาได้กล่าวขอโทษพลเอกประยุทธ์ มีการบันทึกคลิปเพื่อเป็นหลักฐานในการสำนึกผิด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่ใช่โทษทางอาญา
.
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และผู้ดูแลเพจพรรคก้าวไกล ถูกอภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 64 จากการโพสต์รูปภาพและข้อความบนเพจพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 64 วิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวินิจฉัยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่ขาดคุณสมบัติในการเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี แม้เคยต้องคำพิพากษาจำคุกในคดียาเสพติดที่ประเทศออสเตรเลีย และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่ให้ ร.อ.ธรรมนัส ร่วมคณะรัฐบาล
.
.
++4 คดี ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่++
.
วันที่ 25 ธ.ค. 63 ที่ สน.นางเลิ้ง นายสมบัติ ทองย้อย ถูกแจ้งข้อกล่าวหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากการโพสต์เฟซบุ๊กบัญชีส่วนตัววิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์ จำนวน 2 โพสต์ ในวันที่ 19 ส.ค. 63 มีเนื้อความวิจารณ์ว่าพลเอกประยุทธ์ไม่ทราบว่าประเทศอังกฤษใช้สกุลเงินปอนด์ และในวันที่ 5 มิ.ย. 63 โพสต์ข้อความและภาพล้อเลียนพลเอกประยุทธ์ โดยสมบัติให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.
วันที่ 22 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง “ลูกเกด” ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎร” และธีระชัย (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาว่า “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” จากการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ทั้งสองคดีผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนจึงเปรียบเทียบปรับ โดยชลธิชาถูกปรับเป็นเงิน 2,000 บาท ด้านธีระชัยถูกปรับเป็นเงิน 1,000 บาท คดีจึงสิ้นสุดลง
.
มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากการถ่ายทอดสดเรื่องขบวนการลักลอบขนแรงงานต่างด้าว จ.กาญจนบุรี อีกหนึ่งคดีด้วย
.
++แจ้งความ ส.ส.เหตุอภิปรายไม่ไว้วางใจ++
.
วันที่ 27 มี.ค. 64 ที่ สน.นางเลิ้ง อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถูกแจ้ง 2 ข้อหา “หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา” และ “ดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” จาก 3 กรณี จากเหตุโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ 2 กรณี เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 63 และ 12 ก.ย. 63 อีกกรณีมาจากการวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 64
.
อมรัตน์กล่าววว่า การวิพากษ์วิจารณ์ขณะอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรจะได้การคุ้มครองไม่สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีกันได้ จึงเป็นเรื่องผิดปกติที่นายกรัฐมนตรีให้ตัวแทนมาแจ้งความดำเนินคดีคดีนี้อมรัตน์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
.
จากการติดตามศูนย์ทนายฯ ยังพบอีกว่าอภิวัฒน์แจ้งความดำเนินคดีกับ วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ หรือ จอห์น วิญญู และชายไม่ทราบชื่ออายุประมาณ 30 ปี จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล เป็นคดีอาญาอีก 2 คดี แต่ยังไม่ทราบว่าถูกแจ้งข้อหาใด
.
.
อ่านฉบับเว็บไซต์ที่ >> https://tlhr2014.com/archives/29697