วันจันทร์, พฤษภาคม 17, 2564

ปัญหาใหญ่ของรัฐที่ยังแก้ไม่ได้ คือ ความไม่เชื่อมั่นในวัคซีน เป็นเรื่องเดียวกับ ความไม่เชื่อมั่นใน “รัฐบาล”



Gossipสาสุข
May 11 at 11:04 PM ·

เมื่อความไม่เชื่อมั่นในวัคซีน
คือเรื่องเดียวกับ ความไม่เชื่อมั่นใน “รัฐบาล”
.
อันที่จริง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และไม่ใช่ความผิดใดของสื่อ ที่ ณ วันนี้ ประชาชน จะลงทะเบียนเพื่อรอรับวัคซีนไม่มากอย่างที่หลายคนคิด จนถึงวันนี้ มีคนลงทะเบียน “หมอพร้อม” เพียง 1.7 ล้านคน จากเป้า 17 ล้านคน และในหลายพื้นที่ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใหญ่ๆ บรรดาหน่วยงานสาธารณสุข ก็ต้องเร่ง “ทำยอด” หาคนมาฉีดวัคซีน เพราะด้วยตัวเลขขณะนี้ นับว่า “ไม่น่าพอใจ” อย่างแรง ทำให้วัคซีน “ซิโนแวค” ซึ่งเป็นวัคซีนหลักที่ใช้ขณะนี้ เหลือบานเบอะในหลายพื้นที่
.
ความไม่เชื่อมั่นดังกล่าว ทำให้รัฐบาลต้องเร่งเปลี่ยนวิธี “พีอาร์” ใหม่ จากเดิมที่บอกว่า วัคซีนไม่สำคัญ ไม่จำเป็น เท่า “หน้ากากผ้า” หรือ “ไทยชนะ - หมอชนะ” กลายเป็นเอาบรรดา “อาจารย์หมอ” มาโปรโมต เร่งให้ฉีดวัคซีน เพื่อหยุดเชื้อ เพื่อชาติ ให้นายกรัฐมนตรีออกมาโปรโมต เป็น “วาระแห่งชาติ” และเลยเถิดไปจนถึงพีอาร์แนว Victim Blaming ขอให้ฉีดวัคซีน เพื่อไม่ให้เป็น “ภาระ” ของสังคม..
.
เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นไปในแบบนี้ คือคนไม่กระตือรือร้นที่จะฉีดวัคซีน จำนวนตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนค่อยๆ ขยับขึ้นทีละน้อยๆ แบบนี้ การบรรลุ “ภูมิคุ้มกันหมู่” ทั่วประเทศ ที่จุดหมายปลายทางคือสิ้นปีนี้ อาจ “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด
.
อันที่จริง เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เหตุบังเอิญ การปฏิเสธวัคซีนในบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะ Key Message ที่ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ทั้งรัฐบาล ย้ำมาตั้งแต่ต้นปี ในช่วงเวลาที่ชาติตะวันตก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านแถวๆ นี้ เริ่มฉีดวัคซีนกันเป็นล่ำเป็นสันก็คือสถานการณ์ในไทยยังไม่มีการระบาดหนัก วัคซีนไม่ใช่สิ่งจำเป็นเท่ากับการ “ป้องกันตัวเอง” และในขณะนั้น ตลาดยังคงเป็นของ “ผู้ขาย” ไม่ใช่ของ “ผู้ซื้อ” เพราะฉะนั้น หากป้องกันตัวเองอย่างหนาแน่นไปสักระยะ อยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปอีกสักระยะ วัคซีน ก็ไม่ใช่สิ่งรีบร้อนแต่อย่างใด
.
ในที่สุด ผ่านมาไม่กี่เดือน สถานการณ์กลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังเท้า เริ่มตั้งแต่การระบาดที่มหาชัย และภาคตะวันออกเมื่อต้นปี ทำให้ต้องลนลาน สั่งวัคซีน “ซิโนแวค” เข้ามาให้เร็วที่สุด แม้จะเป็น “ม้ารอง” แต่ทีมงานด้านสาธารณสุขยังเชื่อในความเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิม การเป็นวัคซีนชนิด “เชื้อตาย” ว่าจะปลอดภัย แม้ผลการทดลองด้านประสิทธิภาพจะยังน้อย ยังไม่หนักแน่นเท่าวัคซีนตัวอื่น
.
ขณะเดียวกัน เมื่อ “แอสตร้าเซเนก้า” วัคซีนที่หวังเชิดหน้าชูตาประเทศไทย ก็ไม่ได้ผลิตเร็วเท่ากับช่วงเวลาที่ทั่วโลก เริ่มฉีดวัคซีนไปเป็นจำนวนมากแล้ว ซ้ำยังมีปัญหา หลายประเทศในยุโรป “ระงับฉีด” ด้วยปัญหาผลข้างเคียง ที่อาจจะทำให้เกิดลิ่มเลือดตามมาแม้เป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก
.
จะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็แล้วแต่ ในช่วงเวลานั้น บรรดาหมอๆ ทั้งหลาย รวมถึงสื่อ และ IO ที่รัฐควบคุม ต่างก็ใช้วิธีการสื่อสารว่า วัคซีนแต่ละตัว “ล้วนมีปัญหา” ด้วยกันทั้งสิ้น และไทย ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด เพราะสถานการณ์บ้านเราปลอดภัย ประเทศไทยดีที่สุดในโลก.. และเมื่อถึงเวลาหนึ่ง เราจะมีความมั่นคงด้านวัคซีนมากที่สุดในเอเชีย มากที่สุดในโลก จากการเป็นฐานการผลิตเอง
.
นั่นทำให้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ ไทยมีวัคซีนหลักเพียงตัวเดียวคือ “ซิโนแวค” ที่สั่งแบบหน้าสิ่วหน้าขวานช่วงการระบาดในสมุทรสาคร อย่างที่ Gossipสาสุข เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ วัคซีนซิโนแวคนั้น แทบไม่มี “ผลการศึกษา” หรือ “ผลการทดลอง” อื่นๆ ให้อ้างอิง ในแง่ประสิทธิผล จริงอยู่ การทดลองเฟส 3 แบบเร่งรีบนั้น ผลการทดลอง อาจมีไม่มากนัก เพราะเป็นแบบ “เร่งผลิต - เร่งใช้”
.
แต่เอาเข้าจริง เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่นๆ ที่ผลิตโดยชาติตะวันตก หรือเทียบกับวัคซีนจีนอีกตัวอย่าง “ซิโนฟาร์ม” ก็พบว่ามีเปเปอร์ให้อ้างอิงมากกว่า และที่สำคัญคือมี “ประสิทธิผล” ที่เห็นชัดเจนกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ ช่วงที่เราควรจะ “ปูพรม” ฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดเดือนมีนาคมทั้งเดือน จึงไม่สัมฤทธิ์ผล เพราะข้อเท็จจริงคือทั้งแพทย์ - พยาบาล - บุคลากรอื่นๆ ต่างก็ลังเลที่จะฉีด ซึ่งก็สมเหตุสมผล เพราะทุกคน ล้วนใช้ข้อมูลพื้นฐาน คือประสิทธิภาพ 50% ที่บราซิล.. รวมถึงการทดลองในห้วงเวลานั้น ที่ซิโนแวค ลดการติดเชื้อในชิลี ได้ไม่มากนัก..
.
ที่สำคัญก็คือในช่วงเวลาที่ควรจะ “สร้างความมั่นใจ” ให้กับวัคซีนซิโนแวคนั้น กระทรวงสาธารณสุข กลับตัดสินใจให้วัคซีนชนิดนี้ ฉีดเฉพาะประชากรที่มีอายุ 18-59 ปี เท่านั้น เพราะไม่มีข้อมูลพื้นฐานมากพอ สำหรับการใช้ในผู้สูงอายุ ได้ทำให้บรรดา “วีไอพี” และ “วีวีไอพี” จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หรือแม้แต่ “อาจารย์หมอ” หลายคน ต่างก็ไม่ได้ฉีดวัคซีนชนิดนี้ ต้องไปใช้วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งกลายเป็นวัคซีนอีกระดับแทน และ ณ วันนี้ ต่อให้นึกเร็วๆ ก็นึกไม่ออกว่า มี “คนดัง” คนไหนในไทยบ้างที่ฉีดซิโนแวคไปแล้วบ้าง นอกจาก อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เหตุและปัจจัยดังกล่าว ทำให้บรรดาคนที่เลือกได้ จึงเลือก “รอ” ให้ซิโนแวค หมดล็อต แล้วค่อยหันไปใช้อย่างอื่น
.
นอกจากนี้ การประกาศว่ารัฐบาลจะหาวัคซีนอื่นๆ มาเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็น ไฟเซอร์ หรือ สปุตนิก วี กับการให้เอกชน สามารถจัดหา “วัคซีนทางเลือก” อย่าง “โมเดอร์นา” เข้ามาด้วย ในช่วงเวลาการระบาดระลอก 3 ก็ยิ่งทำให้หลายคนเกิดสภาวะ “ลังเล” เพราะสิ่งที่รัฐบาลพยายามสื่อสาร ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ก็คือ จะสามารถจัดหาได้ภายใน อีก 2-3 เดือน เพราะฉะนั้น หากรอได้ ก็พร้อม “จ่ายเงิน” เพื่อเลือกของที่ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องใช้ของที่รัฐบอกว่า “มีอะไร ก็ฉีดไปเถอะ”
.
อันที่จริง การปฏิเสธวัคซีน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศเรา ในต่างประเทศ หลายชาติ ก็เป็น เพราะเมื่อถึงจุดหนึ่ง ประชาชนจะเริ่มรู้สึกว่า “ไม่จำเป็น” จะต้องออกไปเสี่ยงรับวัคซีน ยิ่งมีข่าวผลข้างเคียง ยิ่งมีข่าวการทดลองว่ามีวัคซีนอื่นที่ดีกว่า พลเมืองย่อมมีสิทธิ “เลือก” ว่าจะรับหรือไม่รับ ซึ่งสิ่งที่รัฐต้องทำ ก็คือหาทาง อย่างไรก็ได้ ให้พลเมืองฉีดได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด การันตีความปลอดภัยให้ได้ และที่สำคัญคือต้องมี “ตัวเลือก” ให้ประชาชนที่หลากหลาย ไม่ใช่บอกแต่เพียงว่า “วัคซีนที่ดี คือวัคซีนที่มี”
.
การประกาศให้วัคซีน เป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นเรื่องสอดคล้องกับ “ต้นทุน” ความน่าเชื่อถือของกระทรวงสาธารณสุข ของรัฐบาล และปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเรื่อง “การเมือง” ของความเชื่อมั่น ทั้งเชื่อมั่นในตัววัคซีน ที่รัฐจัดหาให้ ว่าเป็นของดี มีประสิทธิผลเป็นที่ยอมรับ ไม่มีผลข้างเคียง ทั้งเชื่อมั่นว่า การฉีดวัคซีน จะลดการติดเชื้อ – ตายรายวันได้ ในเวลาที่ไม่นานนัก ทั้งเชื่อมั่นว่า ถ้าฉีดวัคซีนจนครบจำนวนหนึ่ง จะเปิดเศรษฐกิจให้ฟื้นเต็มรูปแบบ
.
ปัญหาก็คือ การจัดการโควิดระลอก 3 ที่ผ่านมา นั้น ได้ทำให้ต้นทุนดังกล่าวถดถอยลงไปเรื่อยๆ การกลับไป - กลับมา ทั้ง Key Message จากรัฐ ทั้งยุทธศาสตร์วัคซีน ต่างก็ทำให้ความเชื่อมั่นในสิ่งใดๆ ก็แล้วแต่ที่รัฐสื่อสารนั้นลดน้อยลง
.
เพราะฉะนั้น วาระแห่งชาติเรื่องวัคซีน จึงต้องเป็นการฟื้นต้นทุนเหล่านี้กลับมา ด้วยการจัดหาวัคซีนในมือให้เร็วที่สุด และมีตัวเลือกให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำให้เห็นว่าทั้งหมดที่มี เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้ ไม่ใช่ “มีอะไรก็ฉีดไป” ซึ่งยิ่งทำให้ต้นทุนนั้นต่ำลงไปอีก
.
ไม่แน่ใจว่าช่วงเวลาของการ “ฟื้นต้นทุน” นั้น จะสายไปแล้วหรือไม่ แต่ถ้ายังใช้วิธีเดิม ในการสื่อสาร ในการจัดการ เราก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม
.
และในที่สุด เราจะจมกับ โควิด-19 ต่อไปอีก ในขณะที่คนอื่นทั่วโลก เริ่ม “ฟื้น” กันหลายประเทศแล้ว..
#COVID19 #โควิด19 #วัคซีนโควิด #Gossipสาสุข
.....


Gossipสาสุข
May 14 at 6:13 AM ·

เมื่อแผลใหญ่ที่สุดของระบบสาธารณสุขอย่าง “กทม.”
กำลังถูกถล่มอย่างราบคาบ
.
จนถึงตอนนี้ 1 เดือน กับอีก 1 สัปดาห์ การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ยังคงไม่เห็นตอนจบง่ายๆ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ ยังคงอยู่ที่วันละ 2,000 ราย ตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวัน ยังคงอยู่ที่วันละ 20 – 30 คน และที่น่ากังวลคือตัวเลขของผู้ป่วยหนัก ที่ทะลุเกิน 1,200 ราย และใช้เครื่องช่วยหายใจกว่า 406 ราย
.
หากวิเคราะห์ตัวเลขผู้ป่วยใหม่รายวัน จะพบว่าปัญหาใหญ่ ที่ยังไม่ถูกแก้ง่ายๆ ก็คือจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ ตัวเลขเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม กรุงเทพฯ พื้นที่เดียว มีผู้ติดเชื้อเพิ่มกว่า 1,069 คน สะสมรวมตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน อยู่ที่ 22,474 คน และหากวัดจากกราฟ ย้อนหลังกลับไป ตัวเลขของผู้ป่วยในเขตกรุงเทพฯ นั้น ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง แม้จะมีมาตรการเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ไม่ให้รับประทานอาหารที่ร้านอาหาร ขอความร่วมมืองดออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม หรือ ให้สวมหน้ากากอนามัย 100% และการที่ตัวเลขในกรุงเทพฯ ไม่ลด ก็ส่งผลกระทบไปยังจังหวัดบริวารรองเมืองหลวงอย่าง ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ที่ไม่สามารถกดตัวเลขผู้ป่วยใหม่ได้มากนักเช่นกัน
.
คำถามก็คือ ทำไมตัวเลขผู้ป่วยใหม่ในกรุงเทพฯ ยังไม่ลด หากย้อนไปในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา “แผล” สำคัญ ในกรุงเทพฯ ได้ถูกเปิดออก นั่นคือ โควิด-19 ได้ลุกลามเข้าไปยังพื้นที่ชุมชนแออัดสำคัญอย่าง ชุมชนคลองเตย ซึ่งกว่าจะรู้ว่ามีผู้ติดเชื้อ ก็พบทีเดียวพร้อมกันหลายร้อยคน และแน่นอน สภาพการอยู่อาศัยในชุมชนแออัด บ้านหนึ่งอยู่กันหลายครอบครัว ยิ่งเอื้อมากยิ่งขึ้นให้เกิดการแพร่กระจายต่อ ทำให้ประชากรกว่า 1 แสนคน ในชุมชนแออัดคลองเตย ล้วนมี “ความเสี่ยง” ด้วยกันทั้งสิ้น
.
ขณะเดียวกัน กทม. ก็ไม่สามารถปิดพื้นที่คลองเตย - บ่อนไก่ ระดมตรวจเชิงรุก เหมือนแรงงานพม่าในมหาชัย และ "ไม่พร้อม" กับการปิดพื้นที่เพื่อตรวจเชิงรุกขนานใหญ่ โดยรัฐทำหน้าที่ดูแล คอยส่งข้าว - ส่งน้ำให้ ไปจนถึงดูแลด้านสุขภาพจิต เหมือนอย่างที่เคยทำกับคลัสเตอร์ "บางลาง" ที่ จ.ภูเก็ต เมื่อปีก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือ ขณะที่คนในชุมชนยังจำเป็นต้องออกไปทำมาหากินนอกชุมชน ภายในชุมชนเองพวกเขาก็เริ่มต้นที่ตัวเอง พยายามจัดการกันเอง ดูแลผู้ป่วยกันเอง ไปจนถึงส่งข้าวส่งน้ำกันเอง ในขณะที่กลไกอย่างกรุงเทพมหานครที่ควรจะดูแลประชาชนกลับไม่ทำอะไร และปล่อยให้ประชาชนดูแลกันเอง
.
เพราะฉะนั้น สิ่งที่รัฐทำได้ดีที่สุดรอบนี้ มีเพียงการเร่งตรวจเชิงรุก ระดมฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” ให้กับชุมชนคลองเตยเท่านั้น ซึ่งก็อย่างที่รู้กัน ฉีดซิโนแวคเข็มแรก เข็มเดียว แทบจะไม่ได้มีความหมายใดๆ
.
ที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ พื้นที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีชุมชนแออัดแห่งเดียว จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่าในกรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดมากกว่า 680 แห่ง และสิ่งที่พบตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็คือ นับสิบๆ แห่ง ที่ กทม. ส่งทีมตรวจเชิงรุกลงไปนั้น พบผู้ติดเชื้อ ขณะที่อีกหลายแห่ง แม้จะมีผู้ติดเชื้อ แต่ก็ไม่มีทีมตรวจ ไม่มีชุดตรวจเชิงรุกลงไป และไม่ได้รับ “วัคซีน” เนื่องจากถึงตอนนี้ วัคซีนที่กรุงเทพมหานครมี ก็เริ่ม “ตึงมือ” ตราบใดที่วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าล็อตใหญ่ยังไม่เข้า
.
ที่น่าวิตกไปกว่านั้นก็คือ ข้อมูลจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ที่ระบุว่า หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป กทม. จะมีเตียง ICU รองรับอีกเพียงแค่ 5 วัน เท่านั้น ขณะเดียวกัน แพทย์ - พยาบาล ที่ใช้ก็เริ่มไม่พอ ต้องดึงคนจากต่างจังหวัดมาช่วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาในกรุงเทพฯ วิกฤตตั้งแต่ต้นทางคือการตรวจคัดกรอง การนำคนส่งต่อเข้าสู่ระบบ เรื่อยไปจนถึงขั้นตอนการรักษา
.
Gossipสาสุข เคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า “แผลใหญ่” ของระบบสาธารณสุขไทย ที่ดีติดอันดับโลกนั้น คือ “เมืองหลวง” เมืองที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน ที่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ดูแล มีโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพียงไม่กี่แห่ง และถึงแม้จะมีโรงพยาบาลใหญ่ของมหาวิทยาลัย อย่างจุฬาลงกรณ์ รามาธิบดี ศิริราช แต่ละแห่ง ก็ไม่ได้เชื่อมโยงกัน ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข ชนิด “สั่งได้” หรือบริหารจัดการได้ ขณะเดียวกัน ลำพังโรงพยาบาลพวกนี้ ก็มีคนไข้แน่นขนัดอยู่แล้ว ไม่เพียงเท่านั้น คนไข้สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ก็มีตัวเลือกชนิดจำกัดจำเขี่ย ไม่ได้มี “โรงพยาบาลเขต” เหมือน “โรงพยาบาลอำเภอ” ในต่างจังหวัด ยิ่งระดับ “ปฐมภูมิ” ยิ่งตัดขาด คนกรุงเทพฯ แทบไม่รู้ว่าตัวเอง ถ้าเจ็บป่วยเล็กน้อย ต้องใช้บริการตามลำดับขั้นอย่างไร
.
จริงอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่าง กทม.นั้น มีสำนักการแพทย์ มีสำนักอนามัย และมีงบประมาณไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยถูกวางระบบ ให้รองรับกับการเจ็บป่วยสเกลใหญ่ๆ หรือ “โรคระบาด” เอาง่ายๆ ที่ผ่านมา ลำพังแค่ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ก็มีปัญหาแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อถึงเวลาการจัดการด้านสาธารณสุขจริง กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจสั่งการไปที่ กทม. ไม่มีมือไม้ ไม่มีโรงพยาบาลของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในกทม. จึง “ยับ” ไม่เป็นท่า ตั้งแต่ช่วงการระบาดแรกๆ ที่หารถพยาบาล หาเตียงไม่ได้
.
วิธีแก้ปัญหาของรัฐบาล และ ศบค. ก็คือการ “รวบอำนาจ” กลับมา ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ใน กทม. - ปริมณฑล อีกตำแหน่ง สามารถระดมสรรพกำลังทุกหน่วยงาน คน - เงิน - ของ ลงมาอย่างไรก็ได้ เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใน กทม.และเมืองบริวารให้ได้ โดยมีคำสั่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลงนาม แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไปแล้ว เมื่อ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา
.
ฟังดูเหมือนดี.. แต่ถามว่าหลังจากนั้น ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์เศษ เกิดอะไรขึ้นหรือไม่ สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่? คำตอบก็คือไม่.. ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น กทม. ยังคงเจอคลัสเตอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดคือที่แคมป์คนงานย่านแจ้งวัฒนะ ที่ตรวจ 300 คน เจอผู้ติดเชื้อ 196 คน มิหนำซ้ำ การ “ตรวจเชิงรุก” ก็ไม่ได้กระจายไปทั่วถึงทุกชุมชนแออัด ซึ่งหมายความว่า ยังมีผู้ที่อาจติดเชื้ออีกมาก ที่ไม่ได้เข้าถึงการตรวจ แม้แต่ความขัดแย้ง ระหว่าง ส.ส.พื้นที่ กับการตั้ง “โรงพยาบาลสนาม” ท่าน ผอ. ก็ยังใช้เวลาแก้นานนับสัปดาห์
.
นอกจากนี้ การประชุม ศบค. เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่จำนวนผู้ป่วยรวมคลัสเตอร์เรือนจำรายวัน รวมแล้วแตะ 5,000 รายนั้น Gossipสาสุข ยังได้ยินว่าเกิดมหกรรม “โยนกลอง” เมื่อ กทม. ขอให้แบ่งผู้ป่วยบางส่วนไปรักษาที่โรงพยาบาลสนามของสมุทรสาคร ซึ่งเคยจัดการได้ผลมาแล้วจากกรณีแรงงานพม่า แต่สิ่งที่สมุทรสาครตอบกลับก็คือ ก็แล้วทำไม กทม. ไม่ทำโรงพยาบาลสนามเอง? ซึ่งประธานที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ ก็นั่งฟังอย่างเดียว ไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้จัดการอะไร ไม่เคาะ และไม่ฟันธง
.
ผลงานตลอด 1 สัปดาห์เศษของการแก้ไขปัญหาผู้ติดเชื้อใน กทม. - ปริมณฑล ของ “ลุงตู่” ตลอดอาทิตย์กว่าๆ จึงมีเพียงการไปเดินเยี่ยมชมพื้นที่ฉีดวัคซีนของเอกชนเท่านั้น แทบไม่มีการแก้ไขเชิงระบบใดๆ ที่เป็นรูปธรรม
.
ฉะนั้น หากสถานการณ์ในกรุงเทพฯ - ปริมณฑล และระบบ “การจัดการ” ยังคงเป็นไปอย่างนี้ต่อไป ก็แปลได้ว่า สถานการณ์จะ “เรื้อรัง” ขึ้นเรื่อยๆ และก็หมายความว่าห้อง ICU นั้น จะเต็มจนล้น ต้องระดมแพทย์ - บุคลากรทางการแพทย์ จากต่างจังหวัด เพื่อเข้ามาช่วยเมืองหลวงอย่างแน่นอน
.
เพราะฉะนั้น ช่วงเวลานี้ คนกรุงเทพฯ – ปริมณฑล อาจต้อง “พึ่งตัวเอง” ให้มาก เพราะมีความเป็นไปได้สูง ที่ “ระบบ” อาจไม่สามารถดูแลท่านได้แล้ว และวิกฤตนี้ ในเมืองใหญ่เมืองนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูง ที่จะต้องทนทุกข์นานกว่าจังหวัดอื่นๆ
.
เพราะหันไปมองปัจจัยบวกรอบตัวแล้ว ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากรอการเร่งฉีดวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด..
#COVID19 #โควิด19 #กทม #กรุงเทพ #Gossipสาสุข
.....