วันพุธ, พฤษภาคม 12, 2564

"เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร" ปาฐกถาและบทความของท่านปรีดี พนมยงค์ แสดงไว้ต่อสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส อุทิศแด่ราษฎรไทยผู้รักชาติ รักประชาธิปไตยทุกท่าน


ลิงค์บทความ http://www.pridi-phoonsuk.org/wp-content/uploads/2010/01/82.pdf


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
5h ·

[เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร - ปรีดี พนมยงค์]
11 พฤษภาคม ครบรอบ 121 ปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ผมขอคัดบางส่วนของปาฐกถาเรื่อง “เราจะต่อต้านเผด็จการได้อย่างไร” ที่นายปรีดีแสดงไว้ต่อสมาคมนักเรียนไทยในฝรั่งเศส ณ เมือง Tours เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2517 มาให้อ่านกัน ดังนี้
“3. ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ
3.1 บางองค์การโฆษณาว่า ตนมีขุมกําลังมาก เพื่อชักชวนให้มีคนศรัทธาเข้าร่วมในองค์การนั้น หรือเพื่อทําให้ผู้อื่นเกิดความท้อแท้ไม่กล้าตั้งองค์การต่อต้านฝ่ายเผด็จการขึ้นมาอีก ผมจึงขอให้ท่านทั้งหลายรับฟังไว้แล้ววิเคราะห์ดูว่า คำโฆษณานั้นเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริง ภาระในการต่อต้านเผด็จการก็คงไม่มีเหลือมาถึงท่านที่จะต้องขบคิดตั้งเป็นปัญหาให้ผมอภิปรายว่า “เราจะต่อต้านได้อย่างไร”
ขุมพลังต่อต้านเผด็จการที่แท้จริงของประเทศไทย คือ ราษฎรไทยจํานวนส่วนข้างมากของสังคมที่ถูกกดขี่เบียดเบียนจากระบอบเผด็จการและซากเผด็จการ ขุมพลังนี้ คือ คนจน คนงาน ชาวนา ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ได้รับความอัตคัดฝืดเคืองอย่างแสนสาหัส คนมีทุนน้อยที่พอทํากิน และคนมีทุนขนาดกลางซึ่งถูกเบียดเบียนเดือดร้อนเพราะการปกครองและระบอบเผด็จการ รวมทั้งนายทุนเจ้าสมบัติจำนวนหนึ่งที่แม้ตนมีความกินดีอยู่ดีในทางเศรษฐกิจ แต่มีความรักชาติรักความเป็นประชาธิปไตยมองเห็นความทุกข์ยากของคนจนและคนส่วนมากที่ถูกเบียดเบียน จึงไม่ยอมเป็นสมุนรับใช้ของระบอบเผด็จการและไม่ทําการใดๆ ที่จะแผลงประชาธิปไตยให้เป็นเผด็จการของพวกนายทุนหรือเป็นเผด็จการของอภิสิทธิ์ชน (Dictatorship of the privileged class) นี่แหละ ขุมพลังมหาศาลจํานวนเกือบ 40 ล้านคน ซึ่งเป็นราษฎรไทยจํานวนส่วนข้างมากของสังคม ผมเห็นว่า ถ้าองค์การใดได้ขุมกําลังนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นพลังมากพอควรที่จะเป็นกองกําลังของราษฎรในการต่อต้านเผด็จการได้สําเร็จ ฉะนั้น ขุมพลังมหาศาลเกือบ 40 ล้านคน ยังมีเหลืออีกมากมายที่หลายๆ องค์การจัดตั้งได้ โดยไม่จําต้องมีการกีดกันหรือกันท่าระหว่างกัน
ท่านที่ประสงค์ต่อต้านเผด็จการจะได้ขุมพลังอันแท้จริงนี้มาร่วมในการต่อสู้เผด็จการได้อย่างไรนั้น ไม่ใช่ปัญหาแห่งความท้อใจ แต่อยู่ที่ผู้ประสงค์ต่อต้านเผด็จการต้องมีความตั้งใจจริงในการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ของชาติและราษฎรไทยส่วนมากที่จะพ้นจากการคุกคามของฝ่ายเผด็จการ
.
ขบวนการใหญ่เพื่อต่อต้านเผด็จการนั้น ต้องประกอบด้วย “กองกําลังกลาง” และ “กองกําลังพันธมิตร”
3.2 “กองกําลังกลาง” นั้น เป็นกองหน้าของขบวนการ ผมขอให้ท่านหลีกเลี่ยงโดยไม่เรียก “กองกลาง” ว่าเป็น “องค์การนํา” เพราะคนไทยส่วนมากยังคงระลึกถึงคําว่า “ผู้นํา” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้เผด็จการ จงควรถ่อมตนเรียกกองกําลังกลางตามชื่อนั้นและถือว่าเป็นเพียง “กองหน้า” (Vanguard) ของขบวนการจะเหมาะกว่า และไม่แสดงถึงว่า กองกําลังกลางเป็นเจ้าขุนมูลนายที่อาจหาญนําราษฎรหรือจะกลายเป็นผู้เผด็จการเสียเอง
.
กองกำลังกลางประกอบด้วยบุคคลที่ยอมอุทิศชีวิต ร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อย ยกประโยชน์ของชาติและของราษฎรเหนือประโยชน์ส่วนตัว พร้อมปฏิบัติตามข้อบังคับของกองกลางซึ่งจะต้องจัดทําขึ้น โดยกําหนดให้ยึดถือวิทยาศาสตร์สังคมชนิดที่ถูกต้องที่พิสูจน์ได้ทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัตินั้นเป็นหลักนำ มีวินัยที่เข้มแข็ง คือ วินัยโดยจิตสำนึก ไม่ใช่วินัยโดยการบังคับอย่างระบอบเผด็จการทาสศักดินา มีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นนิจ เพื่อแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง เพราะบุคคลไม่ว่าจะเป็นอัจฉริยะหรือวิเศษใดๆ เมื่อต้องทำสิ่งใดก็อาจมีผิดพลาดบกพร่อง กองหน้าของราษฎรต้องละทิ้งซากทรรศนะศักดินาที่รักษาหน้ารักษาตา โดยไม่ยอมวิพากษ์วิจารณ์ตนเองได้แล้ว กองหน้าก็จะเข้มแข็ง และเมื่อเข้มแข็งแล้วลงมือปฏิบัติการด้วยความเสียสละชีวิตและร่างกายรับใช้ราษฎรให้เกิดประโยชน์ที่ราษฎรเห็นประจักษ์เป็นตัวอย่างว่า การนําของกองหน้านั้นถูกต้องทั้งทางยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ราษฎรที่เป็นขุมพลังมหาศาลในการต่อต้านฝ่ายเผด็จการก็จะยอมรับนับถือกองหน้านั้นโดยความสันทัดจัดเจนที่เขาประสบเอง
.
ผู้จัดตั้งกองหน้าไม่ต้องวิตกว่า ตนเกิดมาในสังคมเก่า ซึ่งโดยสภาพแวดล้อมของสังคมเก่านั้นซากทรรศนะเก่าย่อมถ่ายทอดมาถึงตัวผู้จัดตั้ง ปัญหาก็อยู่ที่ผู้จัดตั้งจะต้องไม่หลอกตนเอง คือ สํานึกถึงความจริงในสภาพของตนได้แล้วพยายามสละซากทรรศนะเก่าให้หมดสิ้นไปมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ และเพื่อที่ซากเก่าจะไม่กลับฟื้นคืนมาสู่ตัวท่านอีก จึงจําเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองอยู่เป็นนิจ และขอให้เพื่อนร่วมงานทั้งราษฎรได้ช่วยวิจารณ์ชี้ความผิดพลาดบกพร่องด้วย เพื่อผู้จัดตั้งรับไปพิจารณาแล้วแก้ไขความผิดพลาดบกพร่อง
.
ภายในกองกลางจําเป็นต้องมี “กองอํานวยการ” เพื่ออํานวยงานต่อต้านเผด็จการของสมาชิกแห่งกองกลางและอํานวยยุทธวิธีต่างๆ ในการต่อสู้ มอบภาระให้สมาชิกทําตามความถนัดและเหมาะสม ฯลฯ ถ้าสมาชิกมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นก็ต้องจัดให้มีสาขา และหน่วยต่า ๆ ตามความเหมาะสม
.
เป็นธรรมดาที่ขณะแรกตั้งสมาชิกอาจมีจํานวนน้อย แต่นั่นไม่ใช่เรื่องต้องท้อแท้ใจเพราะตามกฎธรรมชาติมีว่า ปริมาณมากนั้นย่อมมาจากปริมาณน้อย และปริมาณน้อยก็มาจากความไม่มีอะไรเลย หรือกล่าวอย่างง่ายๆ ว่า “จากไม่มีไปสู่มีน้อย จากมีน้อยไปสู่มีมาก”
.
3.3 เราต้องยอมรับความจริงว่า ฝ่ายเผด็จการซึ่งแม้เป็นบุคคลจํานวนส่วนข้างน้อยของสังคม แต่พวกเขาก็มีพลังทางเศรษฐกิจ การเมือง และอิทธิพลทางทรรศนะเผด็จการอยู่มาก ดังนั้น กองกําลังกลางของฝ่ายต่อต้านเผด็จการจําเป็นต้องจัด “กองกําลังพันธมิตร” ของฝ่ายตนขึ้นโดยรวบรวมบุคคลต่าง ๆ ที่ต้องการต่อสู้เผด็จการ แม้เขามีระดับความต้องการต่อสู้และระดับจิตสํานึกน้อยกว่าสมาชิกกองกำลังกลาง แต่ก็อาจร่วมต่อสู้ในระดับใดระดับหนึ่งและกาลใดกาลหนึ่ง ทั้งนี้ขอให้คํานึงคติ “กําหนดตัวศัตรูให้น้อย หาเพื่อนให้ได้มาก”
.
พันธมิตรนี้ นอกจากเอกชนเป็นรายบุคคลแล้ว ก็จะต้องจัดทําขึ้นกับกลุ่มบุคคล เช่น พรรคและองค์การอื่นๆ ที่มีความต้องการเผด็จการในระดับใดระดับหนึ่ง ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีพรรคการเมืองมากมาย ฉะนั้น ต้องตรวจสอบให้ดีว่า พรรคใดมีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการหรือสนับสนุนระบอบเผด็จการ แม้พวกที่มีวัตถุประสงค์ต่อต้านเผด็จการ แต่ต้องระวังว่าพรรคนั้นๆ ที่ต้องการเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิง “การนํา” เป็นของตนโดยเฉพาะเมื่อได้โอกาสหรือไม่ ครั้นแล้วจึงจัดอันดับขององค์การเหล่านี้ลดหลั่นตามความเหมาะสม เช่น ท่วงท่าขององค์การใดแสดงให้เห็นได้ว่า พวกเขาเข้ามาเป็นพันธมิตรเพื่อแย่งชิงการนํา ก็แสดงว่า เขาเข้ามาเป็นเพื่อนโดยไม่สุจริตใจ และเขาปฏิบัติต่อกองกําลังกลางเป็นพันธมิตรขั้นต่ำของเขา กองกําลังกลางก็ต้องสนองตอบโดยถือว่าองค์การนั้นเป็นพันธมิตรขั้นต่ำดุจเดียวกัน
.
กองกําลังกลางต้องปฏิบัติต่อพันธมิตรโดยไม่มีความอิจฉาริษยาว่าพรรคและองค์การที่เป็นพันธมิตรได้ขยายการหาสมาชิกเพิ่มขึ้นได้ในส่วนของเขา ขอให้ศึกษาตัวอย่างของการทําแนวร่วมอันกว้างใหญ่ได้สําเร็จของหลายประเทศที่แสดงภูมิธรรมอันปราศจากซากนายทุนน้อยศักดินา
.
3.4 เพื่อประกอบการพิจารณาถึงลักษณะบุคคลที่กองกําลังกลางจะควรจัดตั้งเป็นพันธมิตรได้เพียงใด และจะจัดเข้าอยู่ในระดับใดนั้น ผมขอเสนอถึงจําพวกต่างๆ ของบุคคลไว้บ้าง พอเป็นอุทาหรณ์ดั่งต่อไปนี้
.
ก. จําพวกที่ 1 คือ บุคคลที่มีจิตสํานึกคัดค้านเผด็จการ แต่ก็ยังไม่พร้อมที่จะเสียสละชีวิตและร่างกายเข้าร่วมต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ก็ควรยินดีรับบุคคลประเภทนี้ไว้เป็นแนวร่วมในระดับหนึ่งตามจิตสํานึกและตามความสามารถที่เขาจะช่วยได้ โดยฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องยับยั้งไม่ทะนงตนว่า ก้าวหน้าเป็นที่สุดกว่าคนอื่นแล้ว หรือเสียสละสูงสุดกว่าคนอื่น ซึ่งจะทําให้บุคคลจําพวกที่ 1 นี้เกิดหมั่นไส้ แล้วไม่ยอมร่วมในขบวนการที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการตั้งขึ้น
.
ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคํานึงถึงความสามารถของแต่ละบุคคลที่มีจิตสํานึกคัดค้านระบอบเผด็จการว่า ตามความสมัครใจของเขานั้น เขาสามารถคัดค้านได้เพียงใด ก็ควรเป็นไปตามความสมัครใจของเขา เช่น เขาสามารถเพียงทำการโฆษณาคัดค้านฝ่ายเผด็จการโดยทางใดๆ ก็ต้องถือว่าเป็นประโยชน์แก่การคัดค้านเผด็จการ มิใช่จะต้องเรียกร้องให้เขาทําสิ่งที่เขาไม่ถนัด หรือไม่สามารถที่จะทําได้ ถ้าฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้คํานึงถึงข้อนี้ ก็จะได้ขุมกําลังของฝ่ายตนเพิ่มขึ้นในการประกอบกําลังต่อต้านเผด็จการ
.
ข. จําพวกที่ 2 ราษฎรจํานวนมากที่แม้ปัจจุบันถือเอาการต่อสู้ระบอบเผด็จการเป็นอันดับรอง หากถือเอาการแก้ไขให้ฐานะความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจหรือการครองชีพของตนได้ดีขึ้นเป็นอันดับแรก ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะต้องคํานึงถึงความต้องการด่วนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้จงหนัก คือ ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของราษฎรส่วนมากให้สําเร็จไปได้ จึงจะสามารถได้ราษฎรส่วนข้างมากเข้ามาเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ขอให้ระลึกภาษิตของไทยโบราณว่า “จงระวังกว่าถั่วจะสุก งาก็จะไหม้เสียก่อน” หรือถ้าในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่สามารถที่จะช่วยได้ แต่ก็จะต้องวางนโยบายแสดงวิธีแก้ไขให้ราษฎรเห็นประจักษ์ว่า ถ้าเขาร่วมต่อต้านเผด็จการแล้ว เมื่อฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้ชัยชนะจะมีแผนการที่เขามองเห็นได้ง่ายๆ ว่า จะแก้ไขความเดือดร้อนของเขาได้อย่างไร ไม่ใช่วางนโยบายฟุ้งซ่านที่ราษฎรไม่อาจมองเห็นได้ว่า จะแก้ไขความเดือดร้อนให้เขาได้อย่างไร
.
เช่น ชาวนาที่เดือดร้อนในทุกวันนี้ ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรให้เป็นรูปธรรม และกรรมกรรวมทั้งข้าราชการผู้น้อยที่ได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนไม่พอใช้นั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการจะแก้ไขให้เขาได้ค่าจ้างและมีเงินเดือนสูงขึ้นนั้นโดยวิธีหารายได้ของแผ่นดินจากทางไหน และชี้ตัวเลขให้เขาเห็นชัดลงไป
.
ท่านที่ติดตามข่าวการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เมื่อเดือนพฤษภาคม 2517 ก็จะเห็นได้ว่า การที่แนวร่วมฝ่ายซ้ายได้รับคะแนนเสียงมากมายเป็นประวัติการณ์ คือ แพ้การเลือกตั้งฝ่ายขวาเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็เพราะฝ่ายซ้ายได้แสดงนโยบายและวิธีการง่ายๆ ที่กรรมกรและราษฎรทั่วไปกําลังเดือดร้อนอยู่ เห็นได้ชัดว่าวิธีการนั้นสามารถแก้ไขความเดือดร้อนเฉพาะหน้าได้ แล้วมีแผนการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว จึงพัฒนาในภายหลัง
.
ค. จําพวกที่ 3 ได้แก่ บุคคลจํานวนน้อยส่วนหนึ่งซึ่งแม้ตัวเองมีกําเนิดในสังคมระบบทาส ระบบศักดินา และระบอบเผด็จการ แต่เกิดจิตสํานึกมองเห็นกฎแห่งความเป็นอนิจจังของระบบกดขี่ขูดรีด จึงได้สละชนชั้นวรรณะเดิมของตนมายืนหยัดอยู่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ประวัติศาสตร์ในอดีตหลายประเทศก็แสดงให้เห็นประจักษ์ บางคนก็เป็นขุนนางแห่งระบบศักดินา เช่น มองเตสกิเออ (Montesquieu) ผู้เขียนหนังสือว่าด้วย เจตนารมณ์ของกฎหมาย (Espritdes lois) เรียกร้องให้มีดุลยภาพแห่งอํานาจรัฐสามส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มิราโบ (Mirabeau) ก็เป็นขุนนางคนหนึ่งที่เข้าร่วมขบวนอภิวัฒน์ฝรั่งเศสต่อสู้ระบบศักดินาในการลงมติประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง
.
เจ้าฟ้าฟิลิปป์แห่งราชวงศ์บูร์บองสายพระอนุชา (Branche Cadette) ได้สนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 ครั้นแล้วพระองค์ได้ทรงสละฐานันดร “สมเด็จเจ้าแห่งออร์เลองส์” (Duc d'Orleans) มาเป็นคนสามัญ และขอให้สภาสหการกรุงปารีสตั้งนามสกุลให้ท่านใหม่ สภานั้นจึงตั้งนามสกุลใหม่ให้ท่านว่า “เลกัลลิเต” (L’Egalite) ขนานนามว่า “มองสิเออร์ ฟิลิปป์ เลกัลลิเต” (Philips I’Egalite) แล้วสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ท่านเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมกับสมาชิกสภาฯ ส่วนข้างมากลงมติให้ประหารชีวิตหลุยส์ที่ 16 ฐานทรยศต่อชาติที่เรียกให้ออสเตรียบุกรุกฝรั่งเศส ต่อมาท่านถูกพรรคการเมืองตรงกันข้ามกล่าวหาว่า ท่านคิดจะฟื้นระบอบราชาธิปไตยขึ้นมาอีก ท่านหลบหนีแล้วถูกจับให้สภาฯ พิจารณาตัดสินลงโทษประหารชีวิต ส่วนบุตรชายของท่าน คือ เจ้าฟ้าหลุยส์ฟิลิปป์ได้ร่วมกับนายธนาคารใหญ่ทําการโค่นล้มพระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งสายเชษฐา ใน ค.ศ. 1830 แล้วได้เป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มีพระนามว่า “หลุยส์ฟิลิปป์ที่ 1”
.
มาร์กซและเองเกลส์ซึ่งเกิดภายหลังการอภิวัฒน์ประชาธิปไตยฝรั่งเศสหลายปี ได้กล่าวไว้ในตอนแถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ฉบับแรกพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1848 ว่า ในสมัยก่อนนี้มีบุคคลในชนชั้นขุนนางส่วนหนึ่งได้เข้าข้างฝ่ายเจ้าสมบัติเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยขึ้น แล้วท่านก็ได้กล่าวต่อไปว่า ในสมัยที่ท่านเขียนแถลงการณ์ฉบับนั้นก็มีบุคคลในชนชั้นเจ้าสมบัติส่วนหนึ่งได้มาเข้าข้างชนชั้นผู้ไร้สมบัติ ท่านได้เน้นว่า โดยเฉพาะเจ้าสมบัติที่มีปัญญาเข้าใจในกฏวิวรรตการของสังคม ตัวมาร์กซเองนั้น ผมได้เคยกล่าวไว้ในปาฐกถาในงานชุมนุมประจําปีนักเรียนไทยในสหพันธรัฐเยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2516 ว่า ท่านเกิดในสังคมเก่าและท่านเป็นบุตรทนายความผู้มีอันจะกิน ท่านมีภรรยาซึ่งเป็นลูกของเจ้าศักดินาเยอรมันชื่อ “เจนนี ฟอน เวสฟาเลน” (Jenny Von Westbalen) ส่วนเองเกลส์นั้นก็เป็นลูกเศรษฐีเจ้าของโรงงานทอผ้าในเยอรมัน แล้วต่อมาท่านไปลี้ภัยอยู่ในอังกฤษก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่คนหนึ่งของโรงงานทอผ้าที่แมนเชสเตอร์
.
ฉะนั้น ฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรยึดมั่นในคัมภีร์จัด คือ ต้องพิจารณาบุคคลที่เกิดในสังคมเก่าให้ถ่องแท้โดยแยกให้ถูกต้องว่า ส่วนใดยืนกรานอยู่ข้างฝ่ายเผด็จการ และส่วนใดที่สามารถเป็นฝ่ายต่อต้านเผด็จการได้
.
ง. จําพวกที่ 4 คือ บุคคลที่ไม่ควรไว้วางใจเป็นพันธมิตร อันได้แก่ บุคคลที่แม้เป็นข้าไพร่หรือตกอยู่ภายใต้อํานาจของฝ่ายเผด็จการ แต่กลับมีจิตสํานึกว่า ระบอบเผด็จการเป็นสิ่งที่สมควรเชิดชูให้ดํารงคงไว้หรือกลับฟื้นขึ้นมาอีก ทั้งนี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ได้หรือหวังได้ประโยชน์จากระบอบเผด็จการ หรือเนื่องจากซากทรรศนะเผด็จการต่างๆ ที่รับมรดกตกทอดมาหลายชั่วคนจนฝังอยู่ในจิตใจแล้ว เกาะแน่นอยู่ในความเป็นทาสหรือข้าไพร่หรือเป็นสมุนของระบอบเผด็จการ บุคคลจําพวกนี้ส่วนมากทําการคัดค้านและต่อสู้ฝ่ายต่อต้านเผด็จการยิ่งกว่าเจ้าทาส เจ้าศักดินา และผู้เผด็จการเอง แม้กระนั้นก็ดี กองกําลังกลางควรพยายามให้บางส่วนเกิดจิตสํานึกขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เขาอยู่เฉยๆ ไม่เป็นตัวการต่อสู้ฝ่ายต้านเผด็จการก็จะเป็นคุณประโยชน์แก่ฝ่ายต่อต้านเผด็จการ แล้วถ้าสามารถพัฒนาจิตสํานึกให้สูงขึ้นอีก ก็รับไว้เป็นแนวร่วมในระดับต่ำได้
[...]
.
เท่าที่ผมได้กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้นนั้น ก็เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นเค้าของภาพทั่วไปในการต่อต้านเผด็จการตามที่ท่านทั้งหลายตั้งเป็นหัวข้อให้ผมปาฐกถา ซึ่งท่านก็พอเห็นแล้วว่า การต่อสู้เผด็จการนั้นต้องใช้เวลายืดเยื้อยาวนานซึ่งท่านจะต้องปลงให้ตกในการนี้
.
แต่มีปัญหาเฉพาะหน้าที่ผมยังไม่ได้ยินว่า มีผู้กล่าวถึงในสยาม คือ การลบล้างอิทธิพลและซากของเผด็จการนาซี ซึ่งภาษาอังกฤษได้เป็นศัพท์ขึ้นใหม่ว่า “Denazification” ฝรั่งเศส “Dénazification” เยอรมัน “Entnazifizierung” คือ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีได้กวาดล้างพวกนาซีออกจากตำแหน่งที่สำคัญ และอบรมนิสัยให้ชาวเยอรมันชำระซากทรรศนะนาซีให้หมดไปมากที่สุด เพื่อประเทศเยอรมนีจะได้ปกครองตามระบอบประชาธิปไตย
.
ในสยามก่อน 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งปกครองโดยระบอบเผด็จการ ก็เป็นธรรมดาที่หลายคนซึ่งมีทรรศนะนาซีปกครองได้ครองตำแหน่งสำคัญที่มีอิทธิพลในรัฐบาลสมัยนั้น แต่ภายหลังที่นิสิตนักศึกษา โดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้เสียสละชีวิต ร่างกาย ความเหน็ดเหนื่อย ต่อสู้ระบบเผด็จการนั้นสำเร็จและมีรัฐบาลซึ่งรับรองว่าจะดำเนินนโยบายประชาธิปไตยนั้น ก็มีสิ่งที่รอดหูรอดตาไป ในการที่บางคนซึ่งได้รับการฝึกฝนจนเกิดทรรศนะนาซีดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่อีก ซึ่งให้ความเกื้อกูลสนับสนุนผู้ที่มีทรรศนะนาซีอย่างเดียวกัน ผมจึงเห็นว่าฝ่ายต่อต้านเผด็จการไม่ควรมองข้ามปัญหา “ดีนาซิฟิเคชั่น” นี้ ซึ่งเป็นพลังสำคัญอย่างหนึ่งให้แก่การฟื้นตัวของระบอบเผด็จการนาซี ส่วนหลายคนไม่ได้มีทรรศนะนาซี แต่เคยมีทัศนคติเผด็จการนั้น ถ้าแก้ไขทัศนะเดิมของตนโดยยึดถือทรรศนะประชาธิปไตยนั้นก็ควรถือเป็นพันธมิตรของฝ่ายต่อต้านเผด็จการในระดับหนึ่งระดับใดตามสมควร
.
ผมขอให้ท่านทั้งหลายระลึกอีกอย่างหนึ่งว่า ในบรรดาบุคคลแห่งฝ่ายต่อต้านเผด็จการนั้นย่อมมีความแตกต่างกันในจุดหมายปลายทางแห่งระบอบสังคม ฉะนั้น จึงควรพิจารณาว่าความต้องการเบื้องต้นที่ตรงกันคืออะไร แล้วสถาปนาความสามัคคีตามพื้นฐานนั้นก่อน ผมสังเกตว่า เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 นิสิตนักศึกษานักเรียนโดยความสนับสนุนของมวลราษฎรได้สมานสามัคคีกันเพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้าสมานสามัคคีกันต่อไปเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบเบื้องต้นก็จะเป็นคุณูปการแก่การต่อต้านเผด็จการให้สำเร็จได้”