FILE - Thai soldiers guard an area to prevent an anti-coup demonstration at Victory Monument in Bangkok, Thailand.
นักเคลื่อนไหว-นักวิชาการ แสดงความเห็น ครบ 7 ปีรัฐประหารในประเทศไทย
พฤษภาคม 22, 2021
VOA Thai
นับเป็นเวลาเจ็ดปีแล้วนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารในไทยเมื่อปีพ.ศ. 2557 ผู้สันทัดกรณีมองว่านานาชาติโดยเฉพาะชาติตะวันตกยังคงให้ความสำคัญกับสถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในไทยระดับหนึ่ง อาจมีการหยิบยกเป็นประเด็นหารือทั่วไป แต่อาจไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทย
ขณะเดียวกันนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในสหรัฐฯต้องการให้รัฐบาลอเมริกันภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กดดันรัฐบาลไทยมากขึ้นในเรื่องสิทธิมนุษยชน
และในโอกาสครบรอบ 7 ปีของการก่อรัฐประหาร นักกิจกรรมในหลายประเทศรวมถึงหลายเมืองในสหรัฐฯ ในเครือข่าย Thai Rights Now นัดชุมนุม “กินพิซซ่า ล่าเผด็จการ” ในวันที่ 22 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องในวันครบรอบการทำรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ.2557 โดยคาดหวังว่านานาชาติจะรับทราบถึงการขับเคลื่อน “ข้อเรียกร้องสามข้อ” ได้แก่ การให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพลาออก การเปิดทางให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2560 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มากขึ้น ในขณะที่การประท้วงในไทยติดขัดจากการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส และการดำเนินคดีแกนนำการชุมนุม
พงษธร จิรกิจธนา นักศึกษาวัย 29 ปีและนักกิจกรรมในนครซานฟรานซิสโก กล่าวว่า“การระลึกถึงการรัฐประหารเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นการเตือนสติคนไทยว่าไม่ควรมีรัฐประหารควรมีการตอกย้ำว่าไม่ควรเห็นด้วยกับการรัฐประหารในอนาคต”
Pro-democracy students raise a three-finger salute, a resistance symbol borrowed by Thailand's anti-coup movement from the movie "The Hunger Games," during a protest at Thammasat University near Bangkok, Thailand, Aug, 10, 2020.
ขณะเดียวกัน ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยในนครซานฟรานซิสโกรัฐแคลิฟอร์เนียและหนึ่งในแกนนำจัดการชุมนุม“กินพิซซ่าล่าเผด็จการ” กล่าวว่า
“ต่อให้รัฐบาลชุดปัจจุบันมาจากการเลือกตั้ง แต่การใช้อำนาจก็ยังคงมีความเป็นเผด็จการ เช่น การจับผู้ชุมนุมประท้วง การปราบปรามคู่แข่งทางการเมือง การใช้อำนาจของศาล ไม่ใช่การใช้อำนาจในลักษณะของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้แต่การเลือกตั้งก็เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างเพื่อรับรองตนเอง ทำให้ได้รัฐบาลที่มีลักษณะเดิม การเลือกตั้งจึงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ เลย”
ณัฏฐิกา ยังเผยถึงเหตุผลที่ทางกลุ่มต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรัฐประหารที่แม้จะผ่านมาแล้วเจ็ดปี และแม้ไทยจะผ่านการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วเมื่อปีพ.ศ. 2562 แต่ทางกลุ่มเห็นว่า การรัฐประหารเป็น “จุดเริ่มต้น” ของการสืบทอดอำนาจขององคาพยพของพลเอกประยุทธ์จนถึงปัจจุบัน
วรรณวรัตม์ อนันทปัญญสุทธิ์ แพทย์หญิงวัย 40 ปี และแกนนำจัดกิจกรรมในเมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ระบุว่า การจัดงานเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์รัฐประหาร เพื่อต้องการสื่อสารถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาธิปไตยหยุดเติบโต
“การรัฐประหารไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตัน เราต้องสร้างระบบรัฐสภาที่ตรวจสอบได้ โดยเฉพาะการจัดการการระบาดของโควิด มันพิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลนี้บริหารไม่ได้ ซึ่งถ้าเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดก่อน จะต้องมีกลุ่มคนออกมาแน่นอน”
ทางด้านการจัดงานในเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ก็จะมีการจัดงานที่จตุรัสภูมิพล ซึ่งภัทรภร กิตติศัพท์ขจร หนึ่งในแกนนำที่นครบอสตัน กล่าวว่า ตั้งใจใช้สถานที่ดังกล่าวเพื่อสื่อสารถึงความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันกษัตริย์และการปกครองในไทย พร้อมยอมรับว่า กังวลถึงการเผชิญหน้าบ้าง แต่ทางกลุ่มก็พยายามไม่ให้เกิดความวุ่นวายให้มากที่สุด
เหล่านักกิจกรรมไทยในสหรัฐฯยังคาดหวังด้วยว่า กิจกรรมของพวกเขาจะส่งสัญญาณถึงนานาชาติได้มากขึ้น โดยพวกเขายังได้เคลื่อนไหวกับ “พันธมิตรชานม” เช่น เมียนมา ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น “ผมว่าทุกประเทศสนใจเมียนมามากกว่า มันรุนแรงมาก มันไม่มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าการเรียกร้องสนับสนุนของเครือข่ายเราต่อเมียนมาประสบความสำเร็จ ผมว่ามันจะมีแรงกระเพื่อมถึงการเคลื่อนไหวในไทยแน่นอน” พงษธรกล่าว
Demonstrators participate in Milk Tea Alliance Rally and March for Freedom in Washington, D.C. to show support for democracy in Asia and anti-China sentiment
ณัฏฐิกา ผู้เพิ่งได้รับทสถานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เธอ “คาดหวังมาก” จากท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่าจะให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและกดดันไทยมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม พอล เเชมเบอร์ส นักวิชาการประจำศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กลับมองว่า แม้การเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมไทยในต่างแดนจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และเรียกร้องการสนับสนุจากนานาชาติได้มากขึ้น แต่สถานการณ์ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กลับเป็นตัว “ดึงความสนใจ” จากสื่อต่างชาติและนานาชาติด้วยความรุนแรงและการบาดเจ็บสูญเสียที่มีมากกว่า
แม้เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตจะมีการออกแถลงการณ์เรียกร้องถึงกรณีที่แกนนำประท้วงในไทยถูกจับกุมด้วยข้อหาละเมิดกฎหมายประมวลอาญา มาตรา 112 แต่อาจารย์พอล แชมเบอรส์เห็นว่า นานาชาติไม่น่ามีท่าทีต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยไปมากกว่านั้น
“เราจะเห็นการตอบโต้จากนานาชาติที่ยกระดับมากกว่านี้หากรัฐไทยปฏิบัติต่อกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น เช่น การบังคับสูญหายหรือการสังหารผู้ประท้วงในระดับเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปีพ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่จุดให้นานาชาติกดดันรัฐบาลไทยในขณะนั้นให้หันเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” เขาระบุ
สำหรับภาพรวมของท่าทีนานาชาติต่อพัฒนาการประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่การรัฐประหารนั้น พอล แชมเบอรส์อธิบายว่า ในช่วงแรกที่มีการรัฐประหารเมื่อปีพ.ศ. 2557 นั้น นานาชาติมีท่าทีไม่พอใจอย่างมากต่อการยึดอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อมีการทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ. 2559 นานาประเทศส่วนใหญ่เหมือนจะมีความเห็นว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติเป็นเพราะคนไทยสนับสนุนรัฐบาลทหาร โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าอำนาจรัฐในขณะนั้นไม่ให้ประชาชนแสดงออกในเชิงวิพากษ์ตัวร่างรัฐธรรมนูญ
อาจารย์พอล แชมเบอร์สกล่าวว่า ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อปีพ.ศ. 2560 นานาชาติเห็นว่านี่เป็นสัญญาณที่ดี โดยไม่ได้คำนึงถึงว่ารัฐธรรมนุญฉบับนี้ให้วุฒิสมาชิกทั้งหมดมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปในปีพ.ศ. 2562 สื่อต่างชาติก็มีความเห็นต่างกันไป โดยบางส่วนเห็นว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อการเป็นประชาธิปไตยของไทย ในขณะที่บางส่วนก็ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ ล่าสุดที่มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในไทยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 นานาชาติสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้มากจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นานาชาติก็เบนความสนใจไปที่สถานการณ์ในเมียนมาแทน
นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรยังระบุด้วยว่าประเทศไทยยังมีความสำคัญต่อชาติตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้้
“สหรัฐฯ เดินเกมต่างประเทศด้วยการพยายามรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์กับคุณค่าเชิงบรรทัดฐาน โดยแม้สหรัฐฯ จะความกังวลถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยมากขึ้นนับตั้งแต่ไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศในทางเข้าาจีนมากขึ้นหลังการรัฐประหารปีพ.ศ. 2557"
"อย่างไรก็ตาม การที่จีนมีอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ทำให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญต่อการถ่วงดุลอำนาจกับจีนในภูมิภาคมากกว่า ซึ่งเป็นจุดร่วมของรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกชุดไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากพรรคเดโมแครตหรือริพับลิกันก็ตาม”
อาจารย์พอล แชมเบอรส์ เห็นว่า แม้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน รวมถึงสหภาพยุโรปจะให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนมากกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ชุดของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และต้องการเห็นพัฒนาการประชาธิปไตยในไทย แต่ชาติตะวันตกอาจไม่เพิ่มแรงกดดันต่อไทยมากกว่านี้
“ฝั่งจีน และฝั่งสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ต่างแข่งขันเพื่ออำนาจในทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น พวกเขาจึงให้ความสำคัญต่อประเด็นคุณค่าเชิงบรรทัดฐานน้อยลง แม้ว่าชาติตะวันตกต่างๆ จะยังคงแสดงความกังวลถึงการเป็นประชาธิปไตยและประเด็นสิทธิมนุษยชนก็ตาม”
“กล่าวได้อีกแบบคือ นโยบายของชาติตะวันตกต่อไทยจะให้ความสำคัญต่อภูมิรัฐศาสตร์ในขณะที่คุณค่าเชิงบรรทัดฐาน เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จะเป็นการหารือแบบทั่วไปเท่านั้น” เขากล่าวสรุป
ทางวีโอเอติดต่อขอความเห็นจากรัฐบาลไทยถึงประเด็นการครบรอบ 7 ปีการทำรัฐประหารที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังไม่ได้รับความเห็น ณ เวลาที่เผยแพร่รายงานฉบับนี้
รายงานโดยวรรษมน อุจจรินทร์ VOA Thai