วันอาทิตย์, พฤษภาคม 16, 2564

หนุ่มวัย 21 ปี อัตวินิบาตกรรมก่อนไปเป็นทหารเกณฑ์ ความตายหลังได้ใบแดงบอกอะไรเรา ?



อัตวินิบาตกรรมก่อนไปเป็นทหารเกณฑ์ : ความตายหลังได้ใบแดงบอกอะไรเรา ?

พฤษภาคม 12, 2021
The Isaan Record

ซอยข้างรางรถไฟ ชุมชนหนองเหล็ก ไม่ไกลใจกลางเมืองอุดรธานีมากนัก คนในบ้านเช่าหลังหนึ่งกำลังเก็บของ ล้างหม้อ ล้างชาม หลังจัดงานอาลัยสีดำ ให้กับลูกชาย พอด (นามสมมุติ) วัย 21 ปี ที่ทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง ก่อนวันนัดเข้าค่ายทหารเกณฑ์ ทบ.2 ผลัด 1 เพียงหนึ่งคืน โดยเจ้าตัวจับได้ใบแดง เมื่อช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมา

รัตนา พรหมศิริเดช วัย 56 ปี แม่ของผู้เสียชีวิต ที่กำลังนั่งคุยกับญาติอยู่ เข้ามาแนะนำตัวหลังเปิดบ้านตอนรับ และเตรียมน้ำดื่มพร้อมกับที่นั่งพัก

“ช่วงนี้แย่นะ โควิดมารอบนี้ ปิดทุกอย่างอีกแล้ว แม้แต่งานศพก็จัดไม่ได้เลย ดอกไม้จันทน์ เครื่องสังฆทาน ที่เป็นรายได้หลักอย่างเดียวของครอบครัวก็ไม่มีคนสั่ง ลูกชายก็มาด่วนจากไปอีก” ผู้เป็นแม่กล่าวด้วยสีหน้าเปื้อนน้ำตา

เธอเล่าต่อถึงลูกชาย เมื่อถามเหตุการณ์คือที่เขาตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเอง ด้วยการแขวนคอ ก่อนวันไปเข้าไปนัดรายงานตัวเข้าค่ายทหารเกณฑ์เพียง 1 วัน ว่า “คืนนั้นก่อนไปรายงานตัว เขาบอกให้แม่ลงมานอนข้างล่างบ้านเป็นเพื่อนหน่อย พรุ่งนี้เขาต้องไปเข้าค่ายแล้ว เราก็ไม่ได้เอะใจอะไร”

“เขาเตรียมของเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะไปรายงานตัวเข้าค่าย แต่เขาก็ได้ฟังข่าวเรื่องของการเลื่อนรายงานตัวออกไป แต่ไม่แน่นอน เขาจึงบอกให้เราพาไปอำเภอ ถ้าได้ไปก็ขึ้นรถเข้าค่าย ถ้าไม่ได้ไปก็กลับมาบ้าน”


รัตนา พรหมศิริเดช แม่ของ “พอด” ผู้ตัดสินผูกคอตายก่อนเข้าค่ายทหารเกณฑ์

แม้ว่าจะมีคำสั่งเลื่อนให้รายงานตัวทหารกองเกินผลัดใหม่ จากรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ออกไป จากวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็น 1 กรกฎาคม 2564 แต่ พอด (ผู้ตาย) ไม่มีความแน่ใจว่า ต้องเลื่อนหรือให้ไปรายงานตัว ด้วยความที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารและไม่มีการแจ้งจากเจ้าหน้าที่

อัตวินิบาตกรรม ที่ยังไม่รู้แรงจูงใจ

จดหมายลาตาย วางอยู่ข้างศพ มีใจความสำคัญว่า “ขอโทษ ขออโหสิกรรม ให้ด้วย ขอให้ทุกคนดูแลแม่ อย่าร้องไห้ และบวชให้ด้วย “

การด่วนจากไปโดยที่ไม่ได้มีสัญญาณบอกเหตุอะไรเลยทำให้ แม่ของ “พอด” คิดหนักในเรื่องนี้เมื่อถูกถามถึงแรงจูงใจในการกระทำครั้งนี้ของลูกชาย

“เขาไม่เคยบอกอะไรเราเลย ไม่รู้เหมือนกันว่า อะไรเป็นแรงจูงใจ ด้วยความที่เขาเป็นคนเงียบ เก็บตัวเอง ไม่ค่อยพูดความรู้สึก” รัตนา ผู้เป็นแม่กล่าว

“เขาเคยบอกว่า อยากเป็นทหารนะ เหมือนที่พ่อของเขาเคยบอกไว้ก่อนตายเมื่อปี 2560 พ่อเขาก็เคยเป็นทหาร อยากให้ลูกได้รับใช้ชาติ เข้าไปเอาระเบียบวินัย จะได้เรียนต่อเข้าไปเป็นทหารอาชีพ” เธอกล่าวต่อ เมื่อถูกถามถึงว่า “พอด” อยากเป็นทหารหรือไม่

วันเกิดเหตุสำนักข่าวต่างๆ ระบุถึงแรงจูงใจในการฆ่าตัวตายในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะผู้ตายเป็นโรคซึมเศร้า

“หลังจากพ่อเขาเสียชีวิตแล้ว เขาก็จะเก็บตัวเงียบ อยู่แต่บ้าน อยู่แต่กับแม่ แม่เคยบอกให้ไปหาหมอตรวจดูว่า เป็นโรคซึมเศร้าไหม เขาบอกว่าไม่ได้เป็น ไม่ต้องตรวจ” รัตนา กล่าว

เธอไม่มั่นใจว่า อะไรคือสาเหตุของการตัดสินใจของลูกในครั้งนี้ เธอคิดไม่ออกเมื่อถูกถามอีกรอบ และตอบได้คำเดียวว่า “มืดแปดด้าน”


บ้านเช่าของครอบครัว “พอด” ผลิตดอกไม้จันทน์ เพื่อส่งร้านเครื่องสังฆภัณฑ์ แต่ในสภาวะการณ์แพร่ระบาดโควิด ทำให้ไม่มียอดสั่งสินค้า

ความเหลื่อมล้ำในการเกณฑ์ทหาร

หลังจากพ่อเสียชีวิตเมื่อปี 2560 ครอบครัวของ ‘พอด’ เหลือเพียงแม่ ลูกสาว 2 คน หลาน 3 คน และลูกชาย 1 คน (พอด) ทำให้การตายครั้งนี้ ลูกชายเพียงคนเดียวผู้เป็นกำลังหลักของครอบครัว ที่คอยช่วยงานแม่ยกของหนักส่งผลกระทบต่อครอบครัวเป็นอย่างมาก

“เขาจบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ มาช่วยงานเราที่บ้าน อยู่กับแม่ คอยยกของช่วย ทำอาหารให้กิน เราก็จะหวังว่าในอนาคตจะพึ่งเขานี่เหละ” แม่ของ “พอด” กล่าว

“ตอนเขาจับได้ใบแดง เราก็หนักใจอยู่ว่าจะต้องใช้ชีวิตลำบาก ลูกชายจะไม่อยู่ แต่คิดอีกด้าน เขาไปก็จะได้มีรายได้เข้าบ้านอีกทาง แล้วหวังต่อว่าเขาจะเรียนต่อแล้วได้เป็นทหารอาชีพ” ผู้เป็นแม่กล่าวถึงความคาดหวังต่อลูกในเรื่องของการมีอาชีพทหาร

“ใจหนึ่งก็อยากให้เขาได้เป็นทหาร แต่อีกใจก็ไม่อยากให้เป็น มันเหมือนกับว่าเขาจะไม่ได้อยู่กับเราแล้ว ก่อนหน้านี้ที่เขาเขาจะเรียน รด. ก็อยากให้เขาเรียนนะ แต่ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่มีเงินชื้อชุด มันแพง” รัตนา กล่าว

เมื่อดูกฎข้อบังคับของการเข้ารับราชการทหารเกณฑ์พบว่า การศึกษาทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและเอื้อให้สำหรับผู้มีการศึกษาระดับสูงและกลาง จบปริญญาตรี หากใช้วิธีจับสลากจะเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นทหารเพียง 6 เดือน หรือผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ม.6 หรือ ปวช. หากเลือกจับสลากจะต้องเป็นทหาร 2 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 1 ปีขณะที่ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับ ปวส. หรือวุฒิปริญญาตรี หากเลือกจับสลากจะเป็นทหาร 1 ปี แต่ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือนเท่านั้น

ส่วนกรณีนักศึกษาวิชาทหาร (รด) มีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าสำเร็จชั้นปีที่ 1 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี 6 เดือน ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 1 ปี สำเร็จชั้นปีที่ 2 จับสลากเป็นทหาร 1 ปี ถ้าสมัครจะเป็นเพียง 6 เดือน ส่วนผู้ที่สำเร็จชั้นปีที่ 3 ให้ขึ้นทะเบียนและนำปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 คือ ไม่ต้องเข้ารับการตรวจเลือก

กฎหมายเกณฑ์ทหารควรสังคายนา

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ให้ความเห็นในเรื่องนี้ในรายงาน TICJ ว่า ต้องยอมรับว่า กติกาเหล่านี้เป็นกติกาเก่า ออกมานาน ยุคนั้นกองทัพต้องการปัญญาชนไปทำหน้าที่อย่างอื่น เขาก็ลดหย่อนผ่อนให้ ผมคิดว่ากติกาในอดีตไม่ได้มีปัญหาทางชนชั้นมาก แต่ปัจจุบันกติกาพวกนี้ ปัญญาชนมีทางออกเยอะ อย่างการเรียน รด.กติกาพวกนี้เป็นช่องทางออกให้ปัญญาชนไม่ต้องเป็นทหาร ต้องยอมรับว่าคนที่เรียนมหาวิทยาลัย ก็เรียนรด.กันเกือบหมดแล้ว มันจึงไม่ตอบโจทย์ตรงนี้เท่าไหร่

“ผมจึงเห็นด้วยว่า กฎหมายเกณฑ์ทหารเป็นกฎหมายเก่าที่ต้องการการสังคายนา” ศ.ดร.สุรชาติ


‘เราเป็นได้แค่ของเล่นเขา’ รายงานแอมเนสตี้ฯ ว่าด้วยความรุนแรง และการละเมิดทางเพศต่อทหารเกณฑ์ในไทย
ความกลัวของการเข้าไปเป็นทหารเกณฑ์

ปีนี้ภาครัฐมีการให้ลงทะเบียนสมัครใจเป็นทหารเกณฑ์ออนไลน์ โดยมีข้อเสนอพิเศษให้ต่อยอดเป็นทหารอาชีพ โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมทั้งประเทศแค่ 4,805 นาย จากยอดทหารกองประจำการที่ต้องการในปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 97,558 นาย เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 5,000 นาย

“พอด เคยอยากสมัครเป็นทหารเกณฑ์ ตามที่พ่อบอก แต่เขามาเปลี่ยนใจบอกกับแม่ว่าจะจับใบดำ-แดง ให้ชะตาตัวเองเป็นผู้กำหนดให้” รัตนา เล่าถึงเรื่องการจับฉลากเกณฑ์ทหารของลูก

เธอเล่าต่อว่า ก็ไม่แน่ใจว่าลูกอยากเป็นทหารหรือไม่ เขาไม่เคยบอก ไม่เคยแสดงออกอะไรเลย แต่ก็ไม่แน่ว่าเขาอาจจะกลัวการเข้าไปใช้ชีวิตทหารเกณฑ์ เพราะเขาไม่ค่อยออกไปไหน เป็นคนติดบ้าน
ค่ายทหารคือสถานที่ซ้อมทรมาน?

ในทุกปีจะมีข่าวคราวเสียชีวิตในค่ายทหาร อาทิ ปีที่ผ่านมา (2563) ญาติติดใจปมพลทหารตายในค่ายขอนแก่น รอผลแพทย์ 45วัน -พลทหารหนีค่าย ถูกตามกลับ ผูกคอตายปริศนาในค่าย

ย้อนไปเมื่อปี 2560 กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เกี่ยวกับการซ้อมทรมานในค่ายทหาร 2 กรณี ได้แก่ 1) การลงโทษทหารศูนย์การทหารม้าโดยการใช้หวายตีที่หลังและถีบเข้าที่ร่างกาย เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 และ 2) การซ้อมทรมานพลทหารยุทธกินันท์ บุญเนียม ซึ่งถูกรุมทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างการคุมขังในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ในขณะนั้น) เปิดเผยว่า กรณีแรกเป็นการลงทัณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และเป็นการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี

และกรณีที่สอง การซ้อมทรมานพลทหาร ยุทธกินันท์ บุญเนียม โดยกำลังพลซึ่งเป็นผู้ต้องขังพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำมณฑลทหารบกที่ 45 จนพลทหารยุทธกินันท์ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 มาตรา 290 และมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ตลอดจนข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (Mandela Rule) ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
ชีวิตหลังการเกณฑ์ทหารพรากลูกชาย อย่างไม่มีวันกลับ

“ไม่รู้ต้องทำอย่างไร พ่อเขาจากไปไม่กี่ปี นี้ก็ลูกชายคนเดียวก็จากไป บ้านหลังนี้ก็เช่าอยู่ สถานการณ์โควิดระบาดแบบนี้ งานก็ไม่มี” รัตนา กล่าวถึงชีวิตหลังความตายของลูก

ครอบครัวของเธอตอนนี้ต้องดูแลหลานอีก 3 คน พร้อมกับลูกสาวที่อยู่ด้วย โดยที่ไม่ได้คิดว่า ลูกชายเพียงคนเดียวของเธอ ที่เธอตั้งไว้ว่าจะเป็นแกนหลักของครอบครัวจะด่วนจากไป

เมื่อถามเธอถึงความเห็นเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร เธอตอบว่า “จะมีก็ได้ ยกเลิกก็ได้ เราไม่มีสิทธิเลือก ถ้ามี คนที่ไม่มีรายได้ เข้าไปเป็นทหารก็ได้เงินเดือน แต่ถ้าคนที่ทำงาน เรียนหนังสืออยู่มันก็ถือว่าเสียโอกาส”

ภาพปก : กรมประชาสัมพันธ์