วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 08, 2564

"ก็อย่างว่าแหละ ของสูงต้องราคาแพงหน่อย อย่าทำเป็นบ่นไป"


กระสุนจริงยิงขึ้นฟ้าแล้วนะ จุดนี้ของการต่อต้านทหารยึดอำนาจในพม่า เมื่อทั่วประเทศประชาชนลงถนนเดินขบวนแทบจะทุกหย่อมหญ้า จากดาวน์ทาวน์ย่างกุ้งข้างเจดีย์สุเล ไปมัณฑะเลย์ เมียงงัน ปาเตียน เนปียดอว์ บาโก โมกุก พุกาม

และที่ขาดไม่ได้ก็หมั่งก๊ก หรือแบงค็อค มีชุมนุมคู่ขนานกับเมียนมาร์แทบทุกวันเหมือนกัน เพราะชาวพม่าในไทยมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งภราดรภาพทางประชาธิปไตยของผู้ผลักดันเพื่อความก้าวหน้า ของสองนครากระชับแน่นในหลักการ




ท่ามกลางความเหลวเป๋วของรัฐบาลพันธ์ทางเผด็จการไทย ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชากรได้ว่า จะพาผ่านวิกฤตโควิดไปได้ดีแค่ไหน จากระลอกแรกมาสู่ระลอกสอง พวกตู่-ตือได้พิสูจน์ด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์แล้วว่า บ่มิไก๊ ไร้น้ำยา

ประชาชนทั่วไปที่ไม่สะเออะ (สลิ่ม) นั้นกระตือรือล้นกันมากกับการป้องกันรับเชื้อแพร่เชื้อ และอยากได้ฉีดวัคซีนกันเร็ววัน เพราะเห็นข่าวที่นั่นที่นี่ ไม่เพียงยุโรปอเมริกา แม้ประเทศรอบบ้านก็เริ่มฉีดกันแล้ว แต่คนไทยมีของสูงให้ลุ้นตอนมิถุนา ถ้าไม่ยืดไปถึงปลายปี

แม้กระทั่งวัคซีนจีน ซิโนแว็คที่กระทรวงกัญชาสาธารณสุขคุยว่าสั่งซื้อไว้แล้ว ๒๐ ล้านโด๊สเซสนั่นว่าจะมาต้นกุมภา นี่ก็เข้าไปอาทิตย์หนึ่งแล้วยังไม่มีวี่แวว ไม่ได้คอนเฟิร์ม เดชะบุญคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจเท่าไร คงเพราะไม่อยากได้ที่มีประสิทธิภาพแค่ ๕๐%

ก็เลยไปมองหาชนิดที่เพื่อนบ้านอาเซียนได้กันถ้วนหน้า โคแว็กที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) จัดแจงจัดหาให้ แต่ไทยยะโสไม่สน ต้องการเป็นพระเอกผลิตเอง ด้วยการเช่าซื้อสูตรผลิตผู้ดีอังกฤษมาให้บริษัทพระราชทาน เป็นคนทำ

บังเอิญ แอสตร้าเซเนก้า ซึ่งใช้ ‘knowhow’ ของอ็อกซ์ฟอร์ดในการผลิต กลายเป็นชนิดที่ค่อนข้างอืดอาดรั้งท้าย เพราะใช้วิธีกระจายการผลิตไปตามประเทศต่างๆ หลายแห่งทำเสร็จส่งออกใช้แล้ว เช่น อินเดีย แต่ในไทยสาธารณะยังไม่รู้ว่าไปถึงไหน

ทว่าปัญหาใหม่เกิดแล้ว ที่ต้นตอบริษัทแม่ เนื่องจากโควิด-๑๙นี้ มันแตกแขนง (Variants) ไปไวมากมายสายพันธุ์ เท่าที่ปรากฏว่าร้ายกาจตอนนี้สองแขนง คือ บี.๑.๑๑๗ สายอังกฤษ กับ บี.๑.๓๕๑ สายอาฟริกาใต้ ทั้งสองสายกระโดดข้ามไปอเมริกาแล้ว

ฟันธงได้ว่าไม่ช้าก็จะมาถึงไทย ซึ่งจะเป็นปัญหายิ่งกว่าที่อังกฤษ อเมริกา และอาฟริกาใต้กำลังปวดขมับกันอยู่ ที่จะต้องเร่งค้นคว้าปรับแก้วัคซีนให้สามารถสู้กับโควิดที่แตกแขนงเหล่านั้นได้ เวลานี้ยังไม่มีที่ไหนสำเร็จ มีแต่อ้างว่าคลำทางเจอ

ไฟ้เซอร์กับโมเดอร์น่า ที่ว่าเจ๋งกว่าใครก็ยอมรับว่าวัคซีนของตนจะสามารถสู้กับโควิดแขนงอังกฤษกับเซ้าท์อาฟริกาได้อย่างจำกัดในเบื้องต้นเท่านั้น โนวาแว็กกับะจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ซึ่งเพิ่งผลิตสำเร็จหมาดๆ บอกว่าสู้สายพันธุ์ใหม่ได้นิดหน่อย

เมื่อวันอาทิตย์ (๗ กุมภา) ประเทศเซ้าท์อาฟริกาสั่งระงับการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า เมื่อค้นพบว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ไม่สามารถป้องกัน มิให้ผู้ที่อาสาทดสอบเกิดอาการป่วยถึงขนาดปานกลางได้ เป็นอาการเดียวกับเมื่อไวรัสแขนงเดิมระบาด

อาฟริกาใต้สั่งซื้อวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าไปใช้และเพิ่งเริ่มฉีดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว หลังจากที่มีคนตายเพราะการระบาดนี้แล้ว ๔๖,๐๐๐ คน นอกนั้นยังพบว่าไวรัสแขนงอาฟริกาใต้นี้ ได้แผ่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ  ๓๒ แห่งทั่วโลก ถึงไทยหรือยัง ตู่ไม่บอก

ส่วนหมอนคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติเองตอนนี้มัวแต่สาละวนกับการแก้ต่างให้รัฐบาล เรื่องที่ว่าทำไมไม่ยอมรับโครงการโคแว็กของอนามัยโลก หมอแกอ้างว่าถ้าจองกับโคแว็กจะราคาแพง มีทั้งค่าธรรมเนียมและค่าประกันเพิ่ม

แต่หมอสลักธรรม โตจิราการ โต้ว่าการจองผ่านโคแว็กมีสองแบบ คือซื้อขาดกับจองแล้วเลิกได้ แบบซื้อขาดต้องจ่ายล่วงหน้า ๑.๖ ดอลลาร์ต่อโด๊ส เมื่อได้วัคซีนมา ราคาจริงเท่าไรก็จ่ายเพิ่มหรือหักลบตามราคานั้น จะสี่เหรียญกว่าหรือไม่ยังไม่ทราบ

ส่วนการจองแบบเผื่อเปลี่ยนใจหากได้จากที่อื่นมาก่อน ให้จ่ายล่วงหน้า ๓.๑ ดอลลาร์ บวกค่าธรรมเนียม ๐.๔ ดอลลาร์เมื่อวัคซีนเสร็จ แต่ถ้าราคาเมื่อส่งมอบอยู่ที่สี่เหรียญ ก็จ่ายเพิ่มอีก ๐.๙ ดอลลาร์ต่อโด๊ส หากเปลี่ยนใจยกเลิกจอง ก็ได้คืน ๓.๑ ดอลลาร์

ข้อเท็จจริงมีว่าราคาวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ไทยจองผ่านบริษัทพระราชทานนั้นราคา ๕ ดอลลาร์ต่อโด๊ส ขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่อินเดียผลิตและส่งให้สิงคโปร์แล้ว ราคาบวกค่าธรรมเนียมเพิ่มอยู่ที่ ๓.๕ ดอลลาร์ต่อโด๊สเท่านั้น

ก็อย่างว่าแหละ ของสูงต้องราคาแพงหน่อย อย่าทำเป็นบ่นไป

(https://www.facebook.com/salakthamT/posts/1357766147958636, https://www.nytimes.com/2021/02/07/world/south-africa-astrazeneca-vaccine.html และ Frontier Myanmar @FrontierMM)