ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
8h ·
+++ “การเข้าเรือนจำครั้งนี้ไม่ยุติธรรม” เสียงสะท้อนจากทนายจำเลยในวันที่ 4 ราษฎรไม่ได้ประกัน +++
.
.
ราว 1 สัปดาห์ก่อน ชาย 4 คนนั่งอยู่บนม้านั่งในห้องเวรชี้ของศาลอาญา ด้านในตกแต่งคล้ายกับห้องพิจารณาคดีที่เมื่อมองขึ้นไป มีบัลลังก์ผู้พิพากษาสูงชะลูดเหนือศีรษะ
.
ชายที่อายุน้อยที่สุดสวมแว่นตาสี่เหลี่ยม เขายังคงเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กำลังจะเรียนจบ
.
คนถัดมาคือหมอลำจากจังหวัดขอนแก่น ผู้กำลังพยายามตั้งต้นชีวิตใหม่ หลังต้องถูกจำคุกสองปีเศษในคดีมาตรา 112 จากการร่วมเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2556
.
อีกคนหนึ่งคือทนายความสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเหลือคดีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
.
คนสุดท้ายคือชายวัยกลางคนสูงที่เคยถูกจองจำยาวนานเพราะข้อหามาตรา 112 ถึง 7 ปี จากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ
.
พวกเขามาจากต่างพื้นเพ ต่างวัย แต่ชีวิตกลับผูกพันด้วยคดีการเมือง หลังถูกฝ่ายความมั่นคงชี้ว่าคำพูดและความคิดของพวกเขา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ทั้งยังต้องเผชิญกับการถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 2 อาทิตย์ หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา
.
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้ง 4 เผชิญกับโชคชะตาที่คล้ายกันอีกครั้ง เมื่อต้องนั่งนับเวลาถอยหลัง 4 ชั่วโมงเพื่อฟังคำสั่งศาลที่จะชี้ว่า พวกเขาต้องสู้คดีในชุดนักโทษหรือจะได้ต่อสู้คดีในโลกภายนอก
.
ทว่ากว่า 4 ชั่วโมงในห้องเวรชี้และชีวิตเบื้องหลังกรงขังเปรียบเสมือนสิ่งรี้เร้นที่มีเพียงทนายความเป็นพยาน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงชวนทนายจำเลยมาพูดคุยถึงช่วงเวลาชี้ชะตาของจำเลย ก่อนศาลชั้นต้นจะไม่ให้ประกัน ทำให้ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม, อานนท์ นำภา, และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ แม้ศาลจะยังไม่เริ่มสืบพยานหรือพิพากษาว่ามีความผิดจริง
.
.
++การดำเนินคดีที่เร่งรัด อัยการสั่งฟ้องหลังรับสำนวนคดีจากพนักงานสอบสวนไม่ถึง 2 อาทิตย์++
.
“เราไม่คิดด้วยซ้ำว่าวันนั้น [9 ก.พ. 64] จะสั่งฟ้องคดีเลย” ทนายเล่าแฝงความประหลาดที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้ว
.
นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ของปีที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 14 ก.พ. 64 มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมและประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกกว่า 198 คดี ขณะที่คดีจำนวนมากยังคงอยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนอีกจำนวนหนึ่งอัยการเริ่มทะยอยสั่งฟ้องคดีต่อศาล แต่คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร กลับแตกต่างออกไปตั้งแต่ชั้นสอบสวน
.
“เมื่อเดือนที่แล้ว พนักงานสอบสวนสน.ชนะสงครามส่งหมายนัดส่งตัวอัยการให้กับผู้ต้องหาไป แต่ผู้ต้องหาต้องการเลื่อน ตำรวจก็แจ้งว่าจะไปขอหมายจับ ถึงสุดท้ายศาลจะแจ้งว่าไม่มีการออกหมายจับก็ตาม แต่เราคิดว่าถึงขั้นต้องไปออกหมายจับกันเลยหรือ ปกติตามขั้นตอนการส่งตัวอัยการก็สามารถตกลงนัดได้ตามความสะดวกของผู้ต้องหา
.
“เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ตำรวจสน.ชนะสงครามก็มาที่ศาลด้วย เพื่อดูว่าผู้ต้องหามาตามนัดรายงานตัวอัยการไหม ถ้าไม่มาเขาจะเตรียมไปออกหมายจับ แต่ปกติแล้วถ้าผู้ต้องหาไม่มาตามนัด อัยการจะแจ้งให้ตำรวจออกหมายจับต่อไป ไม่จำเป็นต้องรีบขอออกหมายในวันนั้นทันที”
.
เมื่อเช้าวันที่ 9 ก.พ. 64 ทั้งสี่ตัดสินใจยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอให้สอบ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และชำนาญ จันทร์เรือง ถึงประเด็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ในบริบทสังคมไทยและในมุมมองของกฎหมายระหว่างประเทศ
.
“ปกติแล้วถ้ายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการมักสั่งให้สอบเพิ่ม แล้วนัดให้ฟังคำสั่งฟ้องในนัดหน้า ในคดีอื่นๆ ที่เรายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการก็ขอให้สอบเพิ่ม ถ้าตัดสินใจฟ้องคดี สามารถสั่งฟ้องในนัดหน้าได้ สามารถเลื่อนออกไปได้ ไม่ได้มีอะไรจำกัดให้ยื่นฟ้องในวันที่ 9 ก.พ. เท่านั้น
.
“หลังยื่นหนังสือ รอฟังคำสั่งอัยการ เรายังคิดอยู่เลยว่าอาจเลื่อนนัดให้ฟังคำสั่งครั้งหน้า พอสุดท้ายโฆษกอัยการแถลงว่าฟ้องแน่ เราคิดแล้วว่าคงไม่ได้ประกัน แม้ตามหลักไม่มีเหตุที่จะไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพราะผู้ต้องหาก็ไปรับทราบข้อหาตามนัด ไปรายงานตัวตามนัดตลอด ไม่เคยหลบหนี”
.
แม้ทนายจะไม่คาดคิดว่านั่นจะเป็นวันสุดท้ายที่ทั้งสี่จะมีอิสรภาพ แต่ทั้งสี่เหมือนจะล่วงรู้หน้าอยู่แล้วว่า วันนั้นจะเป็นวันที่ต้องก้าวเท้าเข้าเรือนจำ ถึงจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจได้สำหรับผู้เรียกร้องความ “ยุติธรรม”
.
.
++“วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย”++
.
“ก่อนหน้าวันนัด 1 วัน [8 ก.พ. 64] เราโทรคุยกับพี่สมยศว่าจะยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมวันพรุ่งนี้ แล้วก็คุยกันเรื่องคดี เราคิดว่ายังไม่ฟ้องหรอก อะไรจะฟ้องคดีเร็วขนาดนี้ เพิ่งส่งสำนวนไปไม่ถึง 2 อาทิตย์เลย แต่พี่สมยศคิดว่าน่าจะฟ้องเลย เพราะตำรวจบอกแกว่า คดีนี้อัยการกับตำรวจเขาทำสำนวนร่วมกัน สำนวนค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว
.
“ตอนที่คุยกับแกทางโทรศัพท์วันนั้น เรารู้สึกแกนิ่งผิดปกติ แกคงคาดการณ์ไว้แล้วและฝากฝังให้เราช่วยดูแลเรื่องต่างๆ พอถีงวันนัด เราเห็นแกใส่รองเท้าแตะ แกบอกกับเราว่า ‘วันนี้ผมพร้อม ผมไม่ได้เอารถมาด้วย’
.
“ระหว่างรอผลประกัน แกคิดว่าวันนี้ศาลคงไม่ให้ประกัน พอคำสั่งศาลลงมาแล้ว เราลงจากชั้นบนของศาลไปที่ห้องเวรชี้เพื่ออ่านคำสั่งให้ฟัง แกบอกว่า แกจะอดอาหารหรืออยากจะให้แกฆ่าตัวตาย เราก็บอก เดี๋ยวก่อนพี่ อย่าเพิ่งพูดแบบนั้น ใจเย็นๆ
.
“ความรู้สึกของคนที่อยู่ในเรือนจำมานาน ได้รับอิสรภาพมาอยู่ข้างนอกไม่กี่ปีแล้วต้องกลับไปใหม่ อาจเป็นแบบนั้น ส่วนเมื่อวันก่อน [10 ก.พ. 64] เราเข้าไปเยี่ยมพี่สมยศที่เรือนจำ แกบอกว่า
.
“ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องเป็นห่วง”
.
.
++“ผมไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย”++
.
“ผมคิดว่าจะได้ประกันนะ เขาคงใช้เกมจิตวิทยากับเรา ทำให้เรากังวลไปเองจะไม่ได้ประกัน ผมว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะไม่ได้ประกัน ถ้าพวกเราต้องเข้าเรือนจำ จะเป็นการเร่งปฏิกริยา ทำให้คนไม่เห็นความเป็นธรรม ทำให้คนออกมาชุมนุม” เพนกวินตอบคำถามของทนายขณะรอฟังผลประกันในห้องเวรชี้
.
“วันนั้นเพนกวินเป็นคนเดียวที่คิดว่าจะได้ประกัน ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ขอให้แม่มาที่ศาลด้วย ตามปกติ แม่เขาจะตามเพนกวินไปเกือบทุกนัด” ทนายเล่า
.
“วันรุ่งขึ้น เราเจอแม่เพนกวินที่เรือนจำ เหมือนก่อนหน้านี้แกร้องไห้มาก่อน แกไปชะเง้อดูอยู่ด้านหน้าเรือนจำ เขาอยากเจอ อยากหาลูก อยากคุยกับลูก
.
“แม่แกเสียใจที่ไม่ได้ไปในวันนั้น แกเล่าให้เราฟังว่า ปกติไปกับลูกตลอด แต่ก่อนหน้า เพนกวินบอกวันที่ 9 เป็นแค่นัดรายงานตัว ‘พรุ่งนี้ ไม่มีอะไรหรอกแม่’
.
หลังทนายเข้าเยี่ยมเพนกวินที่เรือนจำ ทนายเอ่ยถึงผลประกันที่เขาเคยประเมินไว้
.
“ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะขังผมวันนั้นเลย” เพนกวินตอบอีกครั้ง
.
.
++“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ไม่อยากมากรุงเทพฯ อีกแล้ว”++
.
“ตั้งแต่ที่แบงค์ถูกควบคุมตัวช่วงเดือนตุลาคม แบงค์บอกเขาไม่เข้าใจทำไมเขาถึงถูกออกหมายจับ เขาไม่ใช่แกนนำ วันนั้น [19 ก.ย. 63] เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษ 112 ด้วยซ้ำ ไม่ได้พูดถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันหรืออยู่ในขบวนเดียวกันกับแกนนำ” ทนายความเล่า
.
“เขาพูดเรื่องนิรโทษกรรม เพราะต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพื่อล้างมลทิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้สถาบันอยู่ในสถานะที่ดีด้วย ทำให้เขาไม่เคยคิดว่าจะถูกดำเนินคดีอีกครั้ง
.
“แม้เราจะไม่ได้เป็นทนายแบงค์ในคดีนี้ แต่เราเคยเป็นทนายให้เขาในคดีแรก [คดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า] ระหว่างรอผลประกัน เลยคุยกับแบงค์หลายเรื่อง เรื่องปัญหาชีวิต ครอบครัว เรื่องงาน เรื่องความไม่เป็นธรรม แบงค์ร้องไห้เลย [นิ่งไปสักพัก] ตั้งแต่หลังออกจากเรือนจำในคดีแรก ชีวิตเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว
.
“แม่ของแบงค์เพิ่งเสีย งานหมอลำก็แสดงไม่ได้เพราะโควิดระบาด พอมีแพลนจะทำสตูดิโอหมอลำออนไลน์ ก็ต้องมาเข้าเรือนจำอีก แบงค์คงคิดว่าเขายังไม่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่สุดท้ายกลับต้องมาเข้าเรือนจำอีกครั้ง
.
“ผมมากรุงเทพฯ ทีไรติดคุกทุกที ครั้งนี้ก็เหมือนกัน มากรุงเทพฯ ยังไงก็ได้ติดคุก ไม่อยากมากรุงเทพฯ เลย ทั้งที่มารายงานตัวตลอด แต่ก็ถูกขังทุกที” ทนายทวนคำตัดพ้อของแบงค์ในห้องเวรชี้
.
“หลังจากอัยการสั่งฟ้องคดี แบงค์อยากคุยกับศาล อยากอธิบายถึงเจตนา อธิบายว่าเขาไม่ผิด แต่ตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ศาลคนที่อ่านคำฟ้องให้ฟังกับศาลคนที่ตัดสินใจให้ประกันตัวเป็นคนละคน อยู่คนละส่วนกัน ศาลที่มาอ่านฟ้อง เขาแค่อ่านคำฟ้องให้ฟัง แจ้งสิทธิของจำเลย ไม่ได้มีการไต่สวนหรือเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจอะไร ส่วนศาลที่ให้ประกัน เขาพิจารณาอ่านจากคำฟ้องอย่างเดียว เห็นแค่ตัวกระดาษ ยังไม่เห็นพยานหลักฐานอะไรเลย
.
“ถ้ามีโอกาสให้จำเลยได้อธิบาย ได้พูดก็คงจะดี ศาลจะได้เห็น ได้เจอ ได้ฟังคำอธิบายของจำเลย พอเราไปเยี่ยมแบงค์ที่เรือนจำ เขาก็ถามว่าเมื่อไหร่เขาจะได้อธิบายให้ศาลฟัง”
.
.
++“อานนท์คาดการณ์และเตรียมใจเข้าเรือนจำ แต่ไม่ได้หมายความว่าทำใจหรือเข้าใจได้”++
.
“วันนั้นอานนท์สวมเสื้อกันหนาวทับเสื้อยืด คงประเมินไว้บ้างแล้วว่าต้องเข้าเรือนจำ พอมีคำสั่งฟ้องคดี เราคุยวางแผนกันว่าต่อไปจะเอายังไง ขั้นตอนต่อไปคืออะไร จะทำอะไรต่อในทางคดี จะยื่นอุทธรณ์ไหม เมื่อไหร่
.
“เขาคงรู้ว่าถึงเวลาก็คงต้องเข้าเรือนจำ แต่ถามว่าเข้าใจไหมกับสิ่งที่เกิดขึ้น เราว่ามันไม่มีใครเข้าใจ ถึงอานนท์จะรู้ล่วงหน้า เตรียมใจไว้ แต่ไม่ใช่ว่าจะทำใจได้ คงไม่มีใครเข้าใจว่าทำไมต้องเข้าเรือนจำเพราะเรื่องนี้ ทั้งที่ไปรายงานตัวตลอด เราคิดว่าไม่มีใครเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นอานนท์หรือคนอื่นๆ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ยังไม่เข้าใจ
.
“การเข้าเรือนจำมันไม่ยุติธรรมหรอก คำสั่งศาลระบุเหตุผลว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ หลายครั้งหลายครา เราคิดว่าเป็นคำสั่งที่มีอคติต่อการแสดงออกของกลุ่มประชาธิปไตย ประเด็นแรกคือการกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นความผิดด้วยตัวของมันเอง การปราศรัยยังเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยว่าเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก อีกประเด็นคือ จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ การปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดแบบเปิดเผยสุจริต ไม่ได้ไปลักลอบกระทำความผิด ดูจากคำพูดแล้ว เนื้อหาไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่น แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสาธารณะด้วยคำพูดที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้
.
“ทีนี้ยิ่งศาลวินิจฉัยก้าวล่วงไปถึงการกระทำครั้งอื่นๆ ด้วยว่าการกระทำนั้นอาจผิดเหมือนกัน ก็เหมือนวินิจฉัยไปก่อนว่าทุกการปราศรัยมีความผิด ศาลรู้แล้วหรืออว่าแต่ละการชุมนุมพูดถึงประเด็นไหน เขาอาจจะพูดประเด็นอื่นหรือมีพยานหลักฐานที่พิสูจน์หักล้างกันได้
.
“การไม่ให้ประกันทำให้จำเลยถูกกักขังระหว่างการพิจารณา ทั้งๆ ที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าผิด ในทางกฎหมาย อย่างในป.วิอาญา เขาก็ระบุว่าการประกันตัวเป็นสิทธิ เพื่อป้องกันสิทธิของจำเลยไม่ให้ถูกพิพากษาไปก่อนว่าเป็นคนผิด ไม่ต้องพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ICCPR ที่ให้ความคุ้มครองด้านนี้อยู่แล้ว
.
“ตอนเราลงไปห้องเวรชี้ อ่านคำสั่งศาลให้ฟัง ทุกคนนิ่ง เพราะไม่รู้จะพูดอะไรอีกแล้ว เพราะมันเป็นการโต้แย้งบนคนละฐานความคิด
.
“เรื่องยากที่คนยอมรับและเข้าใจ โดยเฉพาะจำเลย”
.
ก่อนจบบทสนทนา เราถามทนายถึงโอกาสที่ทั้งสี่คนจะหวนคืนสู่อิสรภาพอีกครั้ง
.
“เราอาจจะตอบคำถามเหมือนคนมีปม ตอนที่เป็นทนายให้แบงค์ในคดี 112 จากการแสดงละครเจ้าสาวหมาป่า ยังอยู่ในยุค คสช. ที่ขอประกันสักกี่ครั้งก็ไม่เคยได้ ทำให้แบงค์และกอล์ฟตัดสินใจรับสารภาพในที่สุด เพราะถ้าสู้คดีโดยไม่ได้รับการประกันตัวต้องอยู่ในเรือนจำอย่างน้อย 1 ปี ถ้าสำหรับคดี 112 จำเลยรับสารภาพ ศาลอาจลงโทษ 5 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปีครึ่ง ถือเป็นระยะเวลาเท่าๆ กัน ดีไม่ดีอาจจะได้ออกเร็วกว่าคนที่ปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี”
.
เรื่องราวคดี 112 ในยุค คสช. เหมือนถูกนำมาเล่าซ้ำเดิม อีก 1 สัปดาห์ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันตัวทั้งสี่คน ระบุอัตราโทษสูง อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย-ส่งผลกระทบวงกว้าง ทั้งคำปราศรัยยังกระทบกระเทือนจิตใจของชาวไทยผู้จงรักภักดี หากได้รับการปล่อยตัว อาจหลบหนี
.
จนถึงตอนนี้ เรายังคงไม่รู้แน่ชัดว่าอีกกี่วันหรือกี่ปีที่เราจะเห็นทั้งสี่คนในโลกภายนอกอีกครั้ง
.
อ่านเนื้อหาฉบับเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/25998
.....
เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak
February 11 at 2:17 AM ·
ถึง ประธานศาลฎีกา
เรียนถาม? เราผิดด้วย ประการใด
เราฆ่า เราปล้นใคร ใคร่รู้
ท่านขังเราเพราะไฉน วานบอก
ฤาเหตุส่งเสียงสู้ อยู่ข้างเวียงวัง
พริษฐ์ ชิวารักษ์
ณ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
11 กุมภาพันธ์ 2564