เนื้อหาบางส่วนจากรายงานของ บีบีซีไทย
ความคาดหวังต่อกษัตริย์ไทยขณะประทับในเยอรมนี
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า เท่าที่รัฐบาลเยอรมนีทราบ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับในเยอรมนีบ่อยครั้งและประทับอยู่เป็นระยะเวลานาน ตามที่รัฐบาลไทยแจ้งให้ทราบนั้นพระองค์เสด็จมาประทับเป็นการส่วนพระองค์ รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งให้ทางฝ่ายไทยรับทราบแล้วถึงความคาดหวังของรัฐบาลกลางเยอรมนีว่าขณะประทับอยู่ที่นี่จะไม่มีพระราชบัญชา ตัดสินพระราชหฤทัยใด ๆ ที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์ทางกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานสากล
"รัฐบาลเยอรมนีไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าขณะทรงประทับในประเทศเยอรมนี พระมหากษัตริย์ไทยทรงบริหารราชการแผ่นดินในลักษณะดังกล่าว" รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุ
ภาษีมรดก
ประเด็นหนึ่งที่ผู้ชุมนุมในประเทศไทยได้ตั้งคำถามก็คือ เรื่องภาษีมรดกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอาจต้องจ่ายในเยอรมนี โดยพรรคฝ่ายซ้ายได้ตั้งกระทู้ถามหลายข้อเกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปใจความได้ว่า จริงหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยทรงมีที่พำนักหลักในประเทศเยอรมนีแต่ไม่เคยทรงเสียภาษีมรดกให้แก่รัฐบาวาเรียถึงแม้ว่าตามข้อเท็จจริงแล้ววิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงจะเคยถูกใช้หรือถูกใช้สำหรับเป็นที่ประทับส่วนพระองค์เท่านั้น จริงหรือไม่ที่รัฐบาวาเรียยังไม่ได้รับการชำระเงินภาษีมรดกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องชำระในอัตราร้อยละ 30 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่ทรงครอบครองหรือประมาณ 3 พันล้านยูโร (1.1 แสนล้านบาท)
อีกคำถามคือ จริงหรือไม่ที่ทรงปลดภาระหน้าที่ในการเสียภาษีมรดกของพระองค์โดยใช้วิธีเสด็จออกจากวิลล่าที่ประทับในเมืองทุทซิงแล้วแปรพระราชฐานไปประทับในโรงแรมเช่าแห่งหนึ่งในเมืองการ์มิช-พาร์เทิน ซึ่งวิธีการนี้ทำให้พระองค์มิได้ทรงมีสถานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แต่คือแขกอย่างเป็นทางการของโรงแรมในรัฐบาวาเรีย พระองค์จึงไม่มีภาระหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร
รัฐบาลเยอรมนีได้ตอบคำถามเหล่านี้อย่างสั้น ๆ ว่า "การจัดการและเรียกเก็บภาษีมรดกและภาษีจากของขวัญเป็นหน้าที่รับผิดชอบของรัฐท้องถิ่นแต่ละรัฐ"
การดำเนินคดีผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ในส่วนของกระทู้ถามของพรรคกรีนส์เกี่ยวกับการดำเนินคดีผู้ชุมนุมและสิทธิ์ในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมนั้น รัฐบาลเยอรมนีตอบว่า รัฐบาลไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนของผู้ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ตัวเลขที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียคือราว 80 คน เท่าที่รัฐบาลทราบ ไม่มีใครในกลุ่มนี้ยังถูกคุมขัง เท่าที่ทราบผู้ถูกจับกุมทุกคนสามารถเข้าถึงทนายความตามที่ตัวเองเลือกได้ และได้รับการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ ตามที่รัฐบาลกลางเยอรมนีทราบยังไม่มีการยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดี
"เท่าที่รัฐบาลเยอรมนีทราบ การดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยเป็นไปตามหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ ศัพท์กฎหมายหลายคำที่มีความหมายไม่ชัดเจนเปิดช่องทางให้ศาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือเอาผิดกับจำเลย" รัฐบาลกลางเยอรมนีระบุ
ขอคำชี้แจงกรณีสูญหายของ "วันเฉลิม"
พรรคกรีนส์ยังได้ถามถึงกรณีการถูกบังคับสูญหายของผู้เห็นต่างจากรัฐบาลซึ่งเป็นชาวไทยที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ เช่น กรณีล่าสุดคือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ว่ารัฐบาลเยอรมนีได้ดำเนินการผลักดันเพื่อให้มีการติดตามหาตัวผู้สูญหายจำนวนหลายคนนี้อย่างไรบ้าง
"กรณีการหายสาบสูญไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในการประชุมเจรจาระหว่างกันหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนีได้แจ้งเตือนให้ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลไทยเร่งชี้แจงรายละเอียดโดยปราศจากช่องโหว่นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมนียังได้สอบถามรัฐบาลไทยอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในกรณีอื่นตามความหมายในคำถามนี้ด้วย โดยรัฐบาลยอรมนีเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชนและให้ติดตามหาตัวผู้สูญหายเหล่านั้น" รัฐบาลเยอรมนีระบุ
ส่วนกระทู้ถามจากพรรคกรีนส์ที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยหรือองครักษ์ได้กระทำการอันละเมิดกฎหมายเยอรมนีหรือไม่ และรัฐบาลเยอรมนีทราบอะไรบ้างเรื่องที่มีบุคคลซึ่งถูกองครักษ์ส่วนพระองค์คุกคามหรือรู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่ได้ดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเยอรมนี
"รัฐบาลเยอรมนีไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในเนื้อหาของคำถามที่ถามมา"
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า พระมหากษัตริย์ไทยหรือทหารองครักษ์ส่วนพระองค์ฝ่าฝืนข้อจำกัดการเดินทางและมาตรการยับยั้งการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือไม่ และรัฐบาลกลางเยอรมนีได้ตรวจสอบหนังสืออนุมัติเป็นกรณีพิเศษของสำนักงานเขตท้องถิ่นเรื่องการเสด็จเข้าประทับของพระมหากษัตริย์ไทย ณ โรงแรมหรูในบาวาเรียในช่วงที่มีการห้ามเข้าพักค้างคืนหรือไม่
รัฐบาลเยอรมนีระบุว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ในเนื้อหาของคำถาม และการกำกับดูแลการปฏิบัติตามข้อบังคับป้องกันการติดเชื้อโรคในพื้นที่เป็นหน้าที่ของรัฐบาวาเรีย
อ่านยทความเต็มได้ที่
https://www.bbc.com/thai/international-55626562