วันศุกร์, มกราคม 29, 2564

ส.ส.รัฐบาลเล่นบท ‘โหนเจ้า’ สกัดกั้นการตรวจสอบ 'หัวหน้า' พวกตน


ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจการทำงานของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในส่วนที่เกี่ยวพันสถาบันกษัตริย์ หรือการยื่นข้อเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ล้วนเป็นกระบวนการที่เหมาะสมแล้ว ในวิถีทางประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา

ทั้งสองประเด็นเกิดจากข้อเรียกร้องโดยฐานราก ในการชุมนุมของกลุ่มนักกิจกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนรุ่นใหม่ คนหนุ่มคนสาวไปจนกระทั่งนักศึกษาและนักเรียน จนเกิด ม็อบ ไม่เว้นแต่ละวัน (เดี๋ยวนี้เขาเรียกกันว่า ปาร์ตี้ให้สะใจกับสำบัดสำนวนของฝ่ายรัฐ)

ในเมื่อใช้ระบบรัฐสภาในทางการเมืองการปกครอง การนำประเด็นขัดแย้งต่างๆ เข้าไปถกเถียงหาข้อยุติกันในสภา ประชาชนจะได้ไม่ต้องลงถนนทำการเรียกร้อง มิใช่หรือ และย่อมดีกว่าวิธีการการบังคับใช้มาตรการเกินกว่ากฎหมายของตำรวจด้วย

หากแต่ว่าสิ่งที่เกิดในกะลาแลนด์ทุกวันนี้ กลับเป็นพวกพ้องของรัฐบาลในสภาใช้วิธีการครอบงำ และข่มเขาโคต่อฝ่ายตรงข้าม เพื่อสะกัดกั้นไม่ให้หัวหน้ารัฐบาลถูกตรวจสอบ ด้วยวิธีการก่อกวน ตีรวน และประท้วงไม่ให้มีการอภิปราย

ดังที่ วิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาลต้องการให้ฝ่ายค้านแก้ไขญัตติของตนเสียก่อนจะนำเข้าอภิปราย อ้างว่าญัตติ “กล่าวหานายกรัฐมนตรีโดยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์” เมื่อฝ่ายค้านแย้งว่าญัตติดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับสภาดีแล้ว

ฝ่ายค้านพยายามชี้แจง “ญัตติที่ยื่นไปแล้วไม่ควรและไม่จำเป็นที่ต้องแก้ไข ขอให้รอดูตอนอภิปราย ถ้าอภิปรายไม่เหมาะสมก็สามารถคัดค้านและประท้วงได้” เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวศ แยงว่า “เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลหยิบยกขึ้นทำลายน้ำหนักของฝ่ายค้าน”

เช่นกันกับ ชัยธวัช ตุลาธน พรรคก้าวไกลแถลงโต้ว่า “รัฐบาลควรหยุดการนำเรื่องของสถาบันมาโจมตีฝ่ายค้าน เพื่อปิดบังการบริหารราชการเเผ่นดินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ล้มเหลว” วิธีการของรัฐบาลนี้เอง “ทำให้พระมหากษัตริย์เป็นเงื่อนไขแบ่งเเยกประชาชน”


อีกคนที่ออกมายืนยันว่าการอภิปรายประยุทธ์ครั้งนี้ “มุ่งโจมตีไปที่รัฐบาล” ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ “การจะมาตีฉาบในวันนี้ว่าสิ่งที่ฝายค้านยื่นเป็นการจาบจ้วงสถาบันฯ ตนถือว่าพูดเกินจริง” รังสิมันต์ โรม ขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลฟังเนื้อหาการอ๓ปรายเสียก่อน

แต่นายวิรัชก็ยังยืนกรานจะใช้การตีรวน “อาจทำให้มีการประท้วงวุ่นวาย จนการอภิปรายไม่เสร็จภายใน ๔ วัน...จบไม่จบก็ไม่ทราบ แต่หากถึงเวลาตามที่กำหนดไว้เราก็ต้องขอปิดการอภิปราย...จะหนักหรือจะน้อย ก็ต้องคอยดูหน้างานเอา”

ส่วน สิระ เจนจาคะ ส.ส.พลังประชารัฐอีกคน เล่นบท โหนเจ้า หนักเข้าไปอีก ขู่ว่าจะฟ้องร้องข้อหา ๑๑๒ กับพวกผู้นำฝ่ายค้าน ทั้งที่ยังไม่ได้มีการอภิปราย “จริงๆ แล้วนายสิระก็ไม่มีความแม่นยำในเรื่องของกฎหมายหรือเรื่องรัฐธรรมนูญ ควรเอาตัวเองให้รอดก่อนดีกว่า”

รังสิมันต์คงพาดถึงกรณีที่สิระอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ปปช.ตามคำร้องของเสรีพิศุทธ์ให้สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากมีข้อหาฉ้อโกงและประพฤติมิชอบติดตัวอยู่หลายคดี การ สร้างฉากเช่นนี้น่าจะเพียงใช้การโหนเจ้าปิดบังความชั่วของตน

สำหรับในพรรคก้าวไกลที่มี ส.ส.สองคน (อย่างน้อยในขณะนี้) ที่ประกาศตนจะไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติหากเป็นการเสนอแก้ไข ป.อาญามาตรา ๑๑๒ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าเป็นความเห็นต่างภายในพรรค แต่การแสดงออกสาธารณะก็เพื่อหวังผลประโยชน์เฉพาะตัว

ส.ส.ชลบุรี ขวัญเลิศ พานิชมาท อ้างว่าต้องการมุ่งมั่นกับประเด็นการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ในท้องที่ตนเป็นตัวแทนเท่านั้น จึงจำต้องฝืนมติพรรคไม่ยอมลงชื่อในญัตติการแก้ไข ม.๑๑๒ และยินดีที่จะน้อมรับการลงโทษจากพรรคเพื่อรักษาหลักการส่วนตัวไว้


ทางด้าน คารม พลพรกลาง นั้นออกจะมีลักษณะแบบงูเงี้ยวเขี้ยวขอเสียมากกว่า “บอกผ่านสื่อเลยครับผมไม่เซ็น” ญัตติแก้ไข ม.๑๑๒ ที่ว่านั้น “ใครชอบกินอะไรก็กินไป จะมาบอกว่าอยู่บริษัทเดียวกันแล้วชอบเหมือนกันไม่ได้”

คารมคงให้ความสำคัญตนเองมากไปนิด ในเมื่อตามประวัติก็ “แม่งูเอ๋ย เลื้อยไปก็เลื้อยมา” อดีตเพื่อไทยไปเกาะอนาคตใหม่ พอพรรคถูกยุบทำท่าจะกระโดด แล้วกลับเปลี่ยนใจมาเกาะก้าวไกล ตอนนี้ขอเป็นตัวของตัวเอง เลื้อยแบบเลี้ยวๆ

ตรงตามที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล จำแนกประเภทว่าเป็น ส.ส. ชนิด “ไม่กล้าเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพและอำนาจประชาชน” ซึ่งทำให้ “ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ” กลายเป็น ไพร่ มีแต่ลมหายใจไปวันๆ

(https://voicetv.co.th/read/1KgCwLWqS, https://www.facebook.com/thestandardth/posts/2666177367008472,  https://www.matichon.co.th/politics/news_2552520, https://www.matichon.co.th/politics/news_2552490 และ https://www.facebook.com/amarat.chokepamitkul/posts/3821188911295161)