วันอาทิตย์, มกราคม 31, 2564

‘กนกรัตน์’ เชื่อ อนาคตกำลังเปลี่ยน ไม่อาจหยุดยั้งได้ แนะ ผู้ใหญ่ยอมรับข้อจำกัดตัวเอง - ‘เบรกทรู ไทยแลนด์ 2021’



‘กนกรัตน์’ เชื่อ อนาคตกำลังเปลี่ยน ไม่อาจหยุดยั้งได้ แนะ ผู้ใหญ่ยอมรับข้อจำกัดตัวเอง

29 มกราคม 2564
มติชนออนไลน์

‘กนกรัตน์’ เชื่อ อนาคตกำลังเปลี่ยนโดยไม่อาจหยุดยั้งได้ แนะผู้ใหญ่ยอมรับข้อจำกัดตัวเอง เปิดทางคนรุ่นใหม่เสนอทางเลือก

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 09.00 น. เครือมติชนจัดเสวนา “เบรกทรูไทยแลนด์ 2021” ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44 โดยมีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ พลวัตขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ, ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และ นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021 ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล กล่าวว่า สิ่งที่เห็นภาพในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กับการเติบโตขึ้นของกระบวนการนิสิต นักศึกษา เป็นสัญญาณที่บอกว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปแบบที่จะไม่กลับมาเป็นแบบเดิมหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามีหลายมิติที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยอาจต้องเริ่มมองที่มุมแรก ถ้าถามว่ารัฐบาล โครงสร้างรัฐ อำนาจ กำลังเปลี่ยนไปหรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็นวี่แววของการเปลี่ยนไป

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า ถามว่า ทำไม ทั้งที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการการรับฟัง กระบวนการเปิดเวทีสาธารณะ การให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วม, การเปลี่ยนแปลงตามข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในด้านการปฏิรูป ตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่น การปฏิรูปการศึกษา สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และสุดท้ายคือการใช้ความรุนแรง ข่มขู่คุกคามคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังปีใหม่ที่ผ่านมา ยังได้เห็นการบังคับใช้กฎหมายหลายมาตราจัดการควบคุมคนที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง

“คำถามคือทำไมจึงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาของพวกเขา คิดว่ามี 2 มิติที่น่าสนใจ คือ หนึ่ง ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในมือ หรือรัฐบาลยังไม่ยอมรับว่า สังคมมีปัญหาจริงๆ และเป็นปัญหาที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มันเป็นปัญหาที่เราหลีกเลี่ยงที่จะพูดกันมานาน ผู้ใหญ่ยังมองเสียงของคนรุ่นใหม่ว่าเป็นเสียงที่ไมได้มีความชอบธรรมเพียงพอ ยังใช้เลนส์หรือแว่นตาในการมองคนรุ่นใหม่เป็นขั้วตรงข้ามทางการเมือง เป็นคู่แข่งทางการเมือง มองว่าเขาถูกจูงจมูกโดยนักการเมืองรุ่นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ หรือธนาธร หรือมองไปกระทั่งว่าถูกครอบงำโดยสหรัฐอเมริกา โดยมหาอำนาจที่เข้ามาสร้างความวุ่นวาย
ในอีกแง่หนึ่ง

“จริงๆ แล้วอาจมีผู้ใหญ่จำนวนมาก หรือคนที่อยู่ในภาครัฐจำนวนมากที่เข้าใจประเด็นปัญหาที่คนรุ่นใหม่พยายามเรียกร้อง แต่ปัญหาคือเส้นขอบฟ้าของคนรุ่นเรากับปัญหาที่มันซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน มันไม่สอดคล้องกัน

“ถึงแม้เราจะเข้าใจว่าระบบราชการมีปัญหา กลุ่มทุนผูกขาดทำให้คนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถมีที่ยืนได้ กลไกการพัฒนาขนาดใหญ่สร้างปัญหา ส่งผลกระทบมากมาย แต่ปัญหาคือเราซึ่งเป็นคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา เส้นขอบฟ้าในการคิดว่าทางออกของปัญหาคืออะไรมีอยู่อย่างจำกัดมาก ถ้าเรามองโลกแบบนี้ จะไม่รู้เลยว่าทางเลือกเหล่านั้นคืออะไร เราจะไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวอีกว่า แม้ในช่วงที่ผ่านมามองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ของกลไกรัฐและนโยบาย แต่ในทางตรงกันข้าม ส่วนตัวมองว่าอนาคตกำลังจะเปลี่ยน และจะไม่มีวันหยุดการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ โดยมีเงื่อนไข 2 ประการที่น่าสนใจ คือ 1.การลุกขึ้น ความตื่นตัวทางการเมือง และความต้องการจะเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่กว้างขวางมากอย่างที่คนรุ่นเราจินตนาการไม่ได้ 2.คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตัวเองชนะทุกวัน

“ถ้าเทียบกับช่วง 6 ตุลา 14 ตุลา เป็นการขยายตัวของเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัว และตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองและสังคมที่กว้างขวางมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งจากการที่ได้เฝ้าสังเกตผ่านทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ลงไปคุยกับคนรุ่นใหม่หลากหลายแขนงในหลายพื้นที่ ดิฉันเห็น 3 พื้นที่ที่น่าสนใจมาก ที่แรกคือ สถาบันการศึกษา 2 คือ ภาคเอกชนของคนรุ่นใหม่ และ 3 คือกลไกระบบราชการ

“อย่างแรก มันเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นการขยายตัวของเครือข่ายนิสิตนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่กว้างขวางที่สุดตั้งแต่เคยเห็นมา และเท่าที่ศึกษาในประวัติศาสตร์การเมืองของคนรุ่นใหม่ การเข้าไปถึงมหาวิทยาลัยในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งเอกชนและรัฐบาลที่บางพื้นที่ไม่เคยตื่นตัวทางการเมืองมาก่อน

“นี่ยังไม่ต้องพูดถึงโรงเรียนซึ่งถ้าเอาตัวเลขง่ายๆ คือตัวเลขของรายงานที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาถูกข่มขู่คุกคามโดยคุณครู หลังจากทำกิจกรรมรณรงค์ชู 3 นิ้ว หรือแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียน มีการระบุถึงกว่า 200-300 โรงเรียน นี่คือเฉพาะโรงเรียนที่มีการรายงาน หมายความว่ามีหลายร้อยโรงเรียนทั่วประเทศ สิ่งนี้เราไม่เคยเห็นการเกิดขึ้นมาก่อน

“เท่าที่ได้ไปสัมภาษณ์ มันลงไปถึงเด็กชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า นี่มันคือการตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่กว้างขวางมาก

“อย่างที่ 2 ที่น่าสนใจคือ องค์กรเอกชน หลังจากมีการทำโพลโดยกลุ่ม เนิร์ดข้างบ้าน ดิฉันก็เริ่มสนใจ เขาสรุปว่าคนที่ลุกขึ้นมาเข้าร่วมขวนการนิสิตนักศึกษาที่เราเห็น จริงๆ แล้วเป็นคนเจนวาย คือคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในภาควิชาชีพแล้ว ไม่ใช่นิสิตนักศึกษา ซึ่งนั่นคือคนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการชุมนุมด้วยซ้ำ

“ในระยะหลัง ดิฉันจึงเริ่มสนใจสัมภาษณ์คนที่ไม่ใช่นิสิตนักศึกษามากขึ้น สิ่งที่ค้นพบและน่าสนใจมากคือ คนรุ่นใหม่ในองค์กรเอกชนแบบที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน คือองค์กรที่เป็นสตาร์ทอัพ ภาคธุรกิจขนาดเล็กมากมายและหลายคนอยู่ในองค์กรกึ่งเอกชน กึ่งรัฐบาลที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ทั้งหมด

“คนเหล่านี้อยู่ในบรรยากาศวัฒนธรรมทางธุรกิจอีกแบบหนึ่งเลย คนเหล่านี้เสรีนิยมมาก สนใจ ตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาของสังคม เท่าที่ไปสัมภาษณ์มา จะเห็นการขยายตัวของคนเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหาสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ” ผศ.ดร. กนกรัตน์กล่าว



ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวต่อไปว่า สำหรับคนรุ่นใหม่ในองค์กรภาครัฐ สิ่งที่น่าสนใจมากคือ เรากำลังเห็นการผลัดใบของหน่วยงานราชการ เท่าที่สำรวจ 6-7 หน่วยงานภาครัฐ เช่น หน่วยงานความมั่นคงของรัฐบางหน่วยงาน ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ที่อาชีพต่ำกว่า 35 ปีลงไปมีถึง 60-70 เปอร์เซนต์ในหลายองค์กร นั่นแปลว่าคนเหล่านี้คือคนที่ร่วมสมัยกับคนที่กำลังเรียกร้องและสะท้อนถึงปัญหา เพราะฉะนั้นเขาอยู่ในหน่วยงานภาครัฐแบบที่เข้าใจ และมีความอยากที่จะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ระบบยังคงแข็งตัว แต่คนเหล่านี้ก็มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ นี่คือเงื่อนไขที่ 1 ที่บอกว่าเรากำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ในขณะที่ผู้ใหญ่มองว่า ชุมนุมมา 6-7 เดือน ไม่เห็นจะชนะเลย ไม่ชนะในมิติแบบที่เราเป็นผู้ใหญ่ คือไล่รัฐบาลก็ไม่ได้ หรือไม่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ในทางตรงกันข้ามกลับถูกรุกคืบขึ้นทุกวันในแง่ของพื้นที่ในการชุมนุม

“แต่ถ้าไปคุยกับคนรุ่นใหม่ เขารู้สึกว่าชนะใน 3 มิติที่สำคัญ คือ 1.มิติในการต่อสู้ทางการเมืองในชีวิตประจำวัน คือสิ่งที่เขาต่อสู้มาไม่ใช่เพียงบนท้องถนนแบบที่เราเห็น สิ่งที่เขาต่อสู้ในทุกวันที่เรามองไม่เห็นคือการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงขนบทางสังคมในโรงเรียนและในครอบครัว จากที่สัมภาณ์คนรุ่นใหม่นับไม่ถ้วนที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงทุกวันในการทำให้พ่อแม่สนใจการเมืองมากขึ้น ยอมรับมากขึ้นว่าปัญหามีจริง หรือหลายคนประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้นานมากในการผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชั่นในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งชัยชนะในการชู 3 นิ้ว ในการแต่งชุดไปรเวท มันทำให้คนรุ่นนี้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเขาประสบความสำเร็จในพื้นที่ที่เขาใช้ชีวิตอยู่

“ถ้าไปสัมภษณ์เด็กหลายโรงเรียนที่เริ่มต้นรณรงค์ชู 3 นิ้ว จะเห็นเลยว่าหลายพื้นที่ในโรงเรียนยอมให้นักเรียนไม่ต้องเข้าแถวเคารพธงชาติในพื้นที่ที่ต้องตากแดด แค่นี้สำหรับคนรุ่นใหม่ก็ชนะแล้ว บางโรงเรียนยอมให้มีการแต่งชุดไปรเวทแล้วในบางวัน

“สำหรับผู้ใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องมีสาระอะไร แต่สำหรับคนุร่นใหม่มันคือการผลักดันการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกๆ ของเขา

“2.หลายคนเขาเชื่อว่าเขาสำเร็จ โดยเฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัย คือการสร้างพรรคการเมืองของเขาเอง คือการสนับสนุนและผลักดันจนพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จ แม้พรรคถูกยุบไปแล้ว แต่เขามองว่านั่นเป็นแค่การปฏิบัติการทางการเมือง ความสำเร็จของเขา เขามองว่า เขาตั้งพรรคหนึ่งได้ในอนาคตและเรากำลังจะเห็นการเติบโตขึ้นของพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่ คือพรรคที่พวกเขาสร้างขึ้นเอง มันจะเริ่มขยายตัวและเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

“3.ความสำเร็จในการชุมนุม ในการเคลื่อนไหวเพียงไม่ถึง 6-7 เดือน ประสบความสำเร็จแบบก้าวกระโดมาก สำหรับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มีทรัพยากรภายนอกมาช่วย เราเห็นตั้งแต่การชุมนุมแบบมีแกนนำ ไปจนถึงการชุมนุมแบบที่แกนนำไม่ได้อยู่ในพื้นที่ กลุ่มเล็กๆต่างๆ เริ่มเติบโตขึ้น เขาประสบความสำเร็จในการตะโกนบอกผู้ใหญ่ว่าปัญหาของพวกเขาอยู่ที่ไหน” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

จากนั้น ผศ.ดร.กนกรัตน์ ตอบคำถามในประเด็นการไปต่อในปี 2021 โดยระบุว่า มี 3 เรื่องที่คนทุกรุ่นต้องคิด อย่างแรกคือการที่จะผลักดันการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยได้ จะต้องทำให้โครงสร้างอำนาจเก่า ระบบที่มีปัญหาแบบเดิม ตระหนักถึงปัญหาหรือยอมลดอำนาจลง รับฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ตาม ชนชั้นนำไทย เท่าที่เห็นเรายังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจริงๆ หรือแม้แต่มวลชน พ่อแม่ พี่น้องที่สนับสนุนแนวคิดแบบอนุรักษนิยม ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง อย่างไรเขาก็ไม่เปลี่ยน

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม พลังเหล่านี้ เขาไม่สามารถที่จะจัดการกับความซับซ้อนของปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามาในสังคมไทย ปัญหาโควิด ปัญหาโลกทางธุรกิจ ที่ยากและซับซ้อนมากขึ้น กลไกระบบรัฐแบบเดิมที่ไม่ยอมเปลี่ยน หรือชนชั้นนำที่ไม่ยอมเปลี่ยน ที่ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่ซับซ้อนมากในอนาคตได้

“ส่วนเรื่องที่ 2 และเรื่องที่ 3 ที่คนรุ่นใหม่ต้องคิดมากขึ้นคือ การสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้นและการนำเสนอทางเลือกทั้งทางอุดมการณ์และทางนโยบาย

“อย่างแรกคือการสร้างเครือข่ายซึ่งสำคัญมาก จะทำหรือไม่ทำ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นทางเลือก คืออย่างไรก็ตาม ต้องทำ คือต้องสร้างเครือข่ายกับคนเจนเนเรชั่นเอ็กซ์ วาย และคนที่ยังไม่สนใจทางการเมือง รู้ว่ายากแต่ก็ต้องทำ เพราะคนเจนวายเป็นคนกลุ่มที่สนับสนุนการชุมนุมมากที่สุด ที่สำคัญคือการจะไปทำให้คนเจนเอ็กซ์ซึ่งหมายถึงคนอายุ 40-50 มาสนับสนุนขบวนการนี้ คือเรื่องจำเป็นมาก

“คนเหล่านี้กำลังจะได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด เพราะเมื่อเศรษฐกิจแย่ไปมากกว่านี้ คนเจนเอ็กซ์จะได้รับผลกระทบมากที่สุด การเลย์ออฟจากองค์กร คนอายุ 40-50 จะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้น การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว

ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าวว่า เรื่องที่ 2 คือการนำเสนอทางเลือก ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ ดิฉันพูดมาตลอดว่า ในขณะที่สังคมไทยมีปัญหาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเมือง ปัญหาทั้งหมดถูกสร้างโดยคนรุ่นผู้ใหญ่ แต่เรากำลังบังคับให้เด็กมาแก้ อย่างไรก็ตาม เราปฏิเสธไมได้ว่าอย่างไรคนรุ่นใหม่ก็ต้องนำเสนอทางเลือก

“ปีที่แล้วเป็นปีแห่งการบอกว่าปัญหาคืออะไร แต่ปีนี้เสียงถูกได้ยินแล้ว ปีนี้คือปีแห่งการนำเสนอทางเลือกเพราะขบวนการจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ทางเลือกในการแก้ปัญหาจะต้องมาจากคนรุ่นใหม่” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว



ในตอนท้าย ผศ.ดร.กนกรัตน์ กล่าวใน 3 ประเด็นที่ต้องผลักดันเพื่อเบรกทรู หรือฝ่าฟันอุปสรรค ได้แก่ 1.ทางเลือกในการสร้างสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง กลไกทางการเมือง ที่ต้องไปไกลกว่าพรรคการเมืองแบบเดิม 2.อุดมการณ์และฐานคิดทางการเมือง ซึ่งการเกิดขึ้นของ RT restart Thailand และการเริ่มถกเถียงเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดพื้นที่ทางการเมืองในการถกเถียงในสังคมไทย 3.การสร้างทางเลือกในวัฒนธรรมทางการเมืองแห่งการร่วมมือถกเถียง แต่ไม่ใช่การห้ำหั่น ต่อสู้กันแบบเอาเป็นเอาตายอย่างที่คนรุ่นผู้ใหญ่เป็น

“จากการประเมิน 1 ปีที่ผ่านมา ขบวนการคนรุ่นใหม่น่าสนใจมาก ในการสร้างนอร์มแบบนี้ แม้พวกเขาจะหลากหลาย คิดแตกต่างกัน แต่ก็ทำงานร่วมกัน ทะเลาะกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ถกเถียงกันตลอดเวลา แต่เราไม่เห็นการต่อสู้เอาเป็นเอาตายอย่างไร้เหตุผลแบบการเมืองในอดีต

“การจะเบรกทรูไปได้ ต้องผลักดัน 3 เรื่องนี้ไปด้วยกัน ถามว่ายากไหม ยากมาก ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ชนชั้นนำไทย รัฐไทยกำลังพยายามที่จะต่อต้านไม่ให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราต้องยอมรับก่อนว่าการลุกขึ้นมาของพวกเขามันมีอยู่จริง ความพยายามในการแก้ไขปัญหา ผลักดัน เพื่อบอกเราว่าปัญหาทั้งหมดของสังคมไทย เราหลีกเลี่ยงที่จะจัดการจริงๆ ไม่ได้แล้ว

“เราต้องยอมรับว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ พวกเรา คนรุ่นก่อนหน้านี้ มีส่วนในการสร้าง หรือการยอมให้มันดำรงอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความผิดของพวกเรา

“เรื่องสุดท้ายคือต้องยอมรับข้อจำกัดของพวกเราเอง ยอมให้อนาคตเป็นผู้เสนอทางเลือกอนาคตของเขา ข้อคิดแบบคนมีประสบการณ์มากกว่า คนอาบน้ำร้อนมาก่อน มันอาจใช้ไม่ได้แล้วในการบอกว่าใครคือคนที่เหมาะสมในการนำเสนอทางเลือก และทางออกในอนาคต” ผศ.ดร.กนกรัตน์กล่าว
...



https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2553937

สำหรับผู้ที่พลาดชมเวอร์ชวล คอนเฟอเรนซ์ ในครั้งนี้ สามารถรับชมคลิปฉบับเต็มได้ในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 20.00 น. ทางเฟซบุ๊ก มติชน ข่าวสด และประชาชาติธุรกิจ