วันจันทร์, มกราคม 25, 2564

อาจารย์นิติศาสตร์ มธ. เผย นักกฎหมายบางคนท้อ ถามสอนหนังสือไปทำไม เมื่อกม.ถูกบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม


เมื่อวันที่ 24 มกราคม ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา ผู้ชำนาญด้านอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ ‘มติชนรายวัน’ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม หน้า 13-14 มีเนื้อหาในตอนหนึ่งระบุถึงมุมมองเกี่ยวกับการกลับมาใช้กฎหมาย มาตรา 112 ของรัฐอย่างมากมายในช่วงหลังว่า ปัญหาในปัจจุบันคือการใช้แบบเกินขอบเขตกฎหมาย (อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็ม เปิดตำรานิติศาสตร์กับ “รณกรณ์ บุญมี” ในวันที่กฎหมายถูกตั้งคำถาม โดย อธิษฐาน จันทร์กลม)

ความว่า

“เมื่อก่อนราว 10-15 ปี เข้าใจว่าไม่เยอะแบบนี้ อยู่ๆ ก็มีการใช้ มาตรา 112 ด้วยเหตุผลทางการเมืองค่อนข้างมาก ทุกคนก็คงมีทฤษฎีของตัวเอง ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หากสังเกต เมื่อปีที่แล้วชัดเจนมากว่ามีนโยบายว่าถ้าไม่จำเป็น ให้เลี่ยงไปใช้มาตราอื่นแทน รัฐจึงไม่ค่อยฟ้อง ม.112 แต่เปลี่ยนมาเป็น ม.116 ซึ่งช่วงที่เริ่มมีการชุมนุมเราเริ่มเห็นการกลับมาเกิดใหม่ของการใช้มาตรา 112 แบบเข้มข้นอีกครั้ง

กฎหมายอาญา คือกฎหมายที่กำหนดแบบแผนประพฤติของประชาชนในสังคม ประชาชนจะต้องรู้ว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้ เพื่อที่จะได้กำหนดพฤติกรรมของตัวเอง เป็นตัวกำหนดแบบแผนที่รัฐจะให้ประชาชนเป็น

1 ใน 4 ข้อเรียกร้องพื้นฐาน คือกฎหมายอาญาต้องชัดเจน แน่นอน เพื่อจะได้รู้ว่าอะไรคือเส้นทางที่เราเดินไม่ได้ เดินไปแล้วติดคุก ปัญหาของการใช้ 112 ในปัจจุบัน คือใช้แบบไม่มีขอบเขต สิ่งที่เราสอนกันในโรงเรียนกฎหมาย ว่า 112 หมายความว่าอย่างไร แต่เวลาที่เกิดการใช้จริง เราจะเห็นการใช้แบบเกินขอบเขตของกฎหมาย แบบที่เราไม่สามารถคาดหมายได้ว่า ทำแบบนี้ได้ หรือไม่ได้

การใช้ 112 ประหลาดด้วยตัวเอง ไม่ใช่ในเรื่องการบังคับใช้ แต่คือการขยายความย้อนไปถึงอดีต ซึ่งนักกฎหมายระดับปรมาจารย์อาญา หรือโรงเรียนกฎหมายทั่วประเทศ เวลาเราสอนเรื่องนี้ เราบอกว่าใช้เฉพาะสมัยปัจจุบันเท่านั้น ไม่รวมถึงอดีต ไม่เช่นนั้นจะวิพากษ์บุคคลในประวัติศาสตร์ไม่ได้ คุณจะอธิบายพระเจ้าตากไม่ได้

พอไม่แน่นอน เราจะไม่รู้ว่า การที่คุณระบายสีอันนี้ พูดประโยคนี้ แชร์ข้อความนี้ ผิด 112 หรือไม่ ต่อให้เรียนกฎหมาย เป็นศาสตราจารย์กฎหมาย ก็ตอบไม่ได้ เพราะโดยทฤษฎีไม่ควรเป็น แต่อาจจะเป็นก็ได้ ผลคือ คนจะไม่กล้าทำอะไร ซึ่งสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ควรจะสนับสนุนให้คนกล้าและทำสิ่งที่ตนเองคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อชีวิต และสังคม ตราบใดที่ไม่เป็นความผิด ฉะนั้น เส้นของความผิดจึงต้องชัด ในการทำให้กฎหมายไม่ชัด คนจะไม่กล้า และจะมีปัญหา”

ผศ.ดร.รณกรณ์ ยังตอบคำถามในประเด็นของสังคมที่ตนอยากเห็นว่า คงไม่ได้เห็น แต่อยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่เขาสามารถเติบโตในสิ่งที่อยากเป็นได้ นอกจากนี้ ยังเปิดเผยด้วยว่า นักกฎหมายบางคนเกิดความท้อแท้ เพราะสิ่้งที่สอน ถูกบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม

“สังคมที่อยากเห็น ผมคงไม่ได้เห็น แต่ผมอยากให้ลูกอยู่ในสังคมที่เขาสามารถเติบโตในสิ่งที่อยากเป็นได้ เขาสามารถมีส่วนร่วมในสิ่งที่เขาอยากทำได้ โดยที่ไม่ต้องมากลัวการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เขาไม่จำเป็นจะต้องได้สิทธิพิเศษอะไร แต่เขารู้ขอบเขตของกฎหมายที่ชัดเจน ว่านี่คือเส้นทางที่เขาเดินไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้เราไม่อยู่ในสังคมแบบนั้น

นอกจากสังคมที่มีขอบเขตกฎหมายชัดเจนแล้ว มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันด้วย ไม่ใช่อยู่กลุ่มหนึ่ง ฝั่งหนึ่ง แล้วกฎหมายใช้อีกแบบ คือ 2 ประเด็นที่ติดใจมาก

นักกฎหมายบางคนถึงกับท้อ ว่าเราจะสอนหนังสือไปทำไม เมื่อกฎหมายที่เราสอน ซึ่งเราเชื่อว่าเป็นจริงตามตัวอักษร กลับไม่ถูกบังคับใช้ หรือมันถูกบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียม” ผศ.ดร.รณกรณ์กล่าว



https://www.matichon.co.th/politics/news_2544216