การยกฟ้องของศาลอาญาในคดีหมิ่นกษัตริย์ตาม ม.๑๑๒ ต่อลุง บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ ผู้ต้องหาวัย ๘๐ ปี มีข้อสังเกตุน่าใส่ใจสองสามประเด็น ซึ่งนอกเหนือจากกรณีที่ศาลวินิจฉัยตรงตามหลักฐานประจักษ์แล้วพอเชื่อได้ว่าสุขภาพของผู้ต้องหามีส่วน
หากจะคำนึงถึงข้อคิดเห็นของ เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ผู้เป็นทนายแก้ต่างให้ลุงบัณฑิตและยังเป็นหัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนละก็ ปัจจัยที่ทำให้ศาลยกฟ้องอยู่ที่ ‘ความกล้าหาญ’ ของผู้พิพากษาเป็นหลักใหญ่ ชนิดต้องสงสัย
“ถ้าคดีนี้ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลทหาร ผลจะออกมาเหมือนกันแบบนี้หรือเปล่า” คงไม่ เชื่อได้ว่า ‘mind set’ และจิตสำนึกของศาลทหารจะต้องเอาผิดต่อผู้ต้องหาสถานเดียว หนักหรือเบาอีกเรื่อง และจะไม่แม้กระทั่งประเด็นภาษา ‘ราชาศัพท์’
ลุงบัณฑิตถูกฟ้องเพราะลุกขึ้นแสดงความเห็น ระหว่างงานเสวนาเรื่องรัฐธรรมนูญที่ธรรมศาสตร์เมื่อปี ๒๕๕๘ มีถ้อยคำตอนหนึ่งว่า “คุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของคนไทยทั้งแผ่นดิน จะต้องอยู่สูงกว่าฝุ่นละอองที่ติดอยู่ใต้เท้าของใครบางคน…”
พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ และ ร.ต.อ.สิทธิชัย เคียงสูงเนิน ผู้ฟ้องอ้างว่า ‘ใครบางคน’ ของจำเลยหมายถึงกษัตริย์รัชกาลที่ ๙ การพูดเช่นนั้นจึง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เนื่องจากมีวลีที่ใช้เอ่ยถึงเดชานุภาพของกษัตริย์ที่ว่า
“ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท (ปกเกล้า ปกกระหม่อม)” อันประชากรไทยทั่วไปเข้าใจว่าหมายถึง ฝุ่นใต้ฝ่าเท้าของกษัตริย์ย่อมปกคลุมเหนือหัวอาณาประชาราษฎร์ แต่เดชะบุญศาลตีความตามหลักฐานและคำให้การพยานว่าฝุ่นใต้เท้านั้นเป็นของใครก็ได้ ไม่เจาะจง ร.๙
เป็นความกล้าหาญของศาลที่วินิจฉัยตามหลักการแห่งกฎหมาย ยึดเอาหลักฐานเป็นที่ตั้งมากกว่า ‘ความจงรักภักดี’ ส่วนบุคคล หรือไม่เช่นนั้นเงี่ยฟังจิตสำนึกของตนเองว่าถ้าพิพากษาตามธรรมเนียมปฏิบัติที่เอาความจงรักภักดีเหนืออื่นใด
ผู้ต้องหาคนหนึ่งซึ่งอายุมากและมีโรคร้ายติดตัว คงจะต้องไปตายในคุกอย่างแน่นอน ตัวอย่างเคยมีมาแล้วในคดี อากง อันลือเลื่องว่าแกเป็นคนที่ไม่สามารถกระทำผิดตามฟ้องได้ เพราะไม่รู้เรื่องส่งข้อความทางโทรศัพท์อัจฉริยะอะไรนัก
กลับต้องจบชีวิตขณะถูกจองจำ เพราะความจงรักภักดีของเพื่อนร่วมชาติ ที่เห็นว่ากษัตริย์ถูกอ้างอิงถึงในทางที่ทำให้คิดว่าดูแล้วไม่ดี พอมาถึงนักเขียนและนักแปลซึ่งเคยเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ จนต้องตัดออกไปข้างหนึ่ง จึงโชคช่วยรอดคดีได้
“อันหนึ่งที่น่าสนใจ” ดังที่เยาวลักษ์ว่า “พี่เองก็เพิ่งมารู้เพราะทำคดีนี้” เฉกเช่นประชากรอีกหลายสิบล้าน “คำว่า ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’ ที่พยานคนนี้หยิบมาโยงกับคำว่าฝุ่นที่อยู่ใต้เท้าของใครบางคน มันเป็นคำเฉพาะมาก
คนทั่วไปจะเข้าใจว่าคำๆ นี้หมายถึงคำที่ประชาชนที่เรียกตัวเองเวลาพูดกับพระมหากษัตริย์ “แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ คำว่าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท (กลับ) หมายถึง (องค์) พระมหากษัตริย์” เอง และคล้องจองกับ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์จากราชบัณฑิตยสถาน
ซึ่ง “ให้การกับตำรวจว่าสิ่งที่จำเลยพูดไม่น่าจะหมายถึงพระมหากษัตริย์...แต่คำให้การพยานปากนั้นก็ไม่อยู่ในสำนวนของอัยการ ส่วนพยานปากที่เป็นเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)” ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ
แรกก็ว่าน่าจะผิด แต่ต่อมากลับ “ยอมรับว่าตัวประโยคที่คุณลุงพูดมันจะผิดหรือไม่ผิด มันขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคน” คือลงไปอยู่กับความกล้าหรือหงอของผู้พิพากษาจะเกาะแน่นหลักการหรือขอไปทีเอาตัวรอด
ฉะนั้นการตัดสินครั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ข้อเท็จจริงในทางภาษาศาสตร์เสียทีเดียว ว่าคำ ‘ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท’ ไม่ได้หมายถึงประชาราษฎร์ แต่อาจหมายถึง ‘ใต้เท้า’ ในคำที่คนทั่วไปใช้สำหรับผู้อยู่ในฐานะตำแหน่งสูงทั้งหลาย อันเป็นความหมายทางเท็คนิค
ในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษและระบบยุติธรรมอย่างตะวันตก มีการชนะ-แพ้คดีกันด้วย ‘technicality’ หรือตีความกฎหมายด้วยอนุสนธิด้านเท็คนิค ไม่จำเป็นต้องว่ากันด้วยเหตุซึ่งหน้าหรือตามลายลักษณ์อักษรเสมอไป หากข้อหาทะแม่ง
ข้ออ้างโดยคำฟ้องไม่ต้องตรงเด๋ตามหลักกฎหมายก็ปล่อยไป ตามหลักสากลที่ว่าให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาบริสุทธิจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าผิดจริงๆ อันตรงข้ามกับปรัชญาของ ป.อาญามาตรา ๑๑๒ ที่ในทางปฏิบัติผู้ถูกฟ้องต้องแก้ให้ได้ว่าไม่ผิด
ข้อสังเกตุตรงนี้ก็คือ ไม่ควรถือเอาคำตัดสินลุงบัณฑิตเป็นมาตรฐานของคดี ม.๑๑๒ อื่นๆ ที่ยังไม่ตัดสิน ยังไม่มีการฟ้องร้อง หรือยังไม่ถูกกล่าวหา ในเมื่อข้อเสียอันชั่วร้ายของมาตรานี้อยู่ที่ ใครใคร่ฟ้องใครก็ได้ถ้าเห็นว่าคนที่โดนฟ้องไม่ ‘จงรักภักดี’
(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164958174130551, https://tlhr2014.com/archives/25565 และ https://www.facebook.com/Prachatai/posts/10158090228481699)