วันอาทิตย์, มกราคม 24, 2564

กรรมการสิทธิฯ ไทยไม่ได้ 'C' ก็ดีถมไปแล้ว เขาออกแบบมาอย่างนี้ มี สว.ตู่ตั้งช่วยสกัด


อย่างที่ ชำนาญ จันทร์เรือง ว่า ไม่ได้เกรดซีก็ดีถมไปแล้ว กรรมการสิทธิมนุษยชนไทยในมาตรฐานโลก ตามแถลงที่ออกมา กสม.จะยังอยู่ในเกรดบีอีกอย่างน้อย ๑๘ เดือน เนื่องจากอนุกรรมการประเมินคุณภาพขอเลื่อนการพิจารณาลงมติออกไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่ามาตรฐานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวบ่งบอกว่าพฤติกรรมของรัฐในการข่มขู่ข่มเหงประชากรหนักหนาขนาดไหน เผด็จการอย่างอ่อนหรือมหาวายร้าย ได้เกรดบีจึงยังดีกว่าซีหน่อยตรงที่ประชาชนเดือดร้อนพอประมาณ

แต่สถานะขององค์กรในทางสากลต่ำต้อย “ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นหรือส่งเอกสารในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้” และ “ไม่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก” ตลอดเวลาปีครึ่งต่อจากนี้ไป ก็ยังปลอบใจตัวเองกันว่า พอทน

ต้นสายปลายเหตุ (ตามอ้าง) ว่ามาจากองค์กรถูกครอบงำโดยรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ ฉบับ ๒๕๖๐ ซึ่งออกแบบมาเพื่อคณะเผด็จการ “คณะอนุกรรมการฯ มีข้อห่วงกังวล...ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ กสม. ให้ต้อง (คอย) ชี้แจงและรายงาน” ต่อรัฐบาล

ถ้อยคำใน รธน.มาตรา ๒๔๗(๔) บอกให้ “ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า” ถ้า “มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม” ตีความตามตัวอักษรได้ว่า

หากมีการกล่าวหาประจานการทำงานและประพฤติโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไปในทางเสื่อมเสียแก่หน่วยงานและรัฐบาล กสม.ต้องชี้แจง เพื่อลบล้างหรือผ่อนคลายความชั่วร้าย แล้วยังมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมาย้ำอย่างเดียวกันซ้ำอีก

กสม.ได้ทำการปกป้องรัฐบาลมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๖๑ เมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติ ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ รายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนประจำปี ๖๑ ในประเทศไทยหลายอย่าง ดังเช่นที่ระบุว่าสภาแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ระงับกม.ต่อต้านการทรมาน

กสม.ต้องออกมาแถลงว่า นั่นเพราะ “กฎหมายยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์และประเมินผลกระทบ” แล้วจนแล้วกฎหมายนี้ยังมิได้ออกมาบังคับใช้ให้เป็นเรื่องเป็นราวจนบัดนี้ “หรือกรณีที่กล่าวอ้างว่าไทยไม่ได้ดำเนินคดีกับทหาร

ที่สั่งสังหารประชาชนในการชุมนุม ปี ๒๕๕๓” ก็แก้ต่างให้ว่า “มีการดำเนินคดีโดย ป.ป.ช.และดีเอสไอ และมีการฟ้องคดีอาญาต่อผู้ชุมนุม กปปส. แล้วด้วย” ทว่ารอดคดีกันถ้วนหน้า ต่อมาหลายคนได้เป็นรัฐมนตรีและวุฒิสมาชิกในรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

การที่องค์กรสิทธิมนุษยชนถูก กำกับและสั่งงาน จากรัฐบาลเช่นนั้น ทำให้กรรมการหลายคนทะยอยลาออก หนึ่งคนในปี ๖๐ กับอีกสองคนในปี ๖๒ ด้วยเหตุผลว่า “บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์ อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ”

ในปี ๒๕๖๓ จึงมีกรรมการเหลืออยู่เพียง ๓ คน “ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง” พอที่จะประชุมลงมติเรื่องใดๆ ได้ อันนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่สภา คสช.ตั้ง (สนช.) มาทำหน้าที่วุฒิสภา ไม่อาจแต่งตั้ง กสม.ให้ครบจำนวนที่ต้องการได้ “เห็นชอบ ๒ คน ปัดตก ๕ คน”

การสรรหากรรมการสิทธิฯ ให้ครบ ๗ คนเป็นมาอย่างทุลักทุเล ตั้งแต่สิงหา ๖๑ ถึงมกรา ๖๓ วุฒิสภาอนุมัติกรรมการใหม่อีกแค่สองคน จนเมื่อสิ้นปี ๖๓ เหลือกรรมการสิทธิฯ จริงๆ เพียงสองคน นอกนั้นเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ๕ คน

เป็นผลให้ตลอดปี ๖๓ ซึ่ง “สถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้น มีการชุมนุมบนท้องถนน และการปราบปรามโดยฝ่ายรัฐ” และแม้จะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างจะแจ้ง กสม.ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้แต่เหตุ อุ้มหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ต่อด้วยกรณี “ผู้ลี้ภัยชาวไทยในกัมพูชา และ การดำเนินคดีผู้ชุมนุมทางการเมืองชุดใหญ่ ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา ๑๑๒” กสม.ซึ่งมีนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ รักษาการณ์ประธานฯ คงยังต้องนิ่งเฉยอมพะนำมาตลอด


และดูเหมือนในปี ๒๕๖๔ นี้ วุฒิสภาตู่ตั้งก็ยังไม่ใส่ใจเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศสักเท่าไร บรรดาแคนดิเดทที่ถูก สว.ปฏิเสธไปหลายคน มักเป็นเอ็นจีโอและสาขาอาชีพซึ่งมุ่งหมายสร้างความเสมอภาคในสังคมมากกว่าเกาะขาเผด็จการ

ล่าสุด สว.คนดังที่มาจากการสืบทอดอำนาจ คสช.เช่นกันสองนาย ให้ความสนใจกับเรื่องรูปปั้นที่จะตั้งหน้าตึกรัฐสภา หัวมงกุฏ เหนือกว่าอื่นใด คำนูณ สิทธิสมาน ปรึกษา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กระตุ้นดราม่า ทัศนะอุจาด กันใหญ่

จะเอารูปปั้น ร.๗ อันใหม่ “ขนาดใหญ่ ๔ เท่าพระองค์จริงมาประดิษฐานหน้าอาคารรัฐสภาแห่งใหม่” ตามที่กรมศิลป์ต้องการดีไหม หรือแค่นำ “องค์เดิมขนาดหนึ่งเท่าครึ่งพระองค์จริง ที่เคยประดิษฐานอยู่หน้าอาคารรัฐสภาเดิม” ไปไว้ภายในอาคารเท่านั้น

โถ ก็กรมศิลป์เขาฟาดงบประมาณ ๘ ล้าน หล่อปูนพลาสเตอร์ไปแล้ว รอให้ ครม.อนุมัติอีก ๒๕ ล้านสร้างของจริง ใจคอจะเป็นก้างขวางคอเรื่องแค่นี้เหรอ ทำไมไม่ออกมาหนุน สยามไบโอไซน์ ฟาด ๑,๔๐๐ ล้านเหมือน กอ.รมน.กับผู้ตรวจการแผ่นดินบ้างล่ะ

(https://www.facebook.com/SenateThailand/posts/3716945008381227, https://www.ilaw.or.th/node/5806Vep6s และ https://www.facebook.com/chamnan.chanruang/posts/3700035773373489)