วันเสาร์, มกราคม 30, 2564

อ.ผาสุกและอ.คริส เสนอให้มีการปฏิรูปภาษี เพื่อจะได้เก็บภาษีเพิ่มจากพวกที่มั่งคั่ง นั้นหมายความว่าที่ผ่านมา คนตัวเล็กตัวน้อย เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ส่วนพวกที่มั่งคั่ง ถ้าเสียได้ เสีย ถ้าเลี่ยงได้ เลี่ยง



Somrit Luechai
17h ·

อ.ผาสุกและอ.คริส
เสนอให้มีการปฏิรูปภาษี
เพื่อจะได้เก็บภาษีเพิ่มจากพวกที่มั่งคั่ง
นั้นหมายความว่าที่ผ่านมา
คนตัวเล็กตัวน้อย
เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ส่วนพวกที่มั่งคั่ง
ถ้าเสียได้ เสีย
ถ้าเลี่ยงได้ เลี่ยง
นี่คือความไม่เท่าเทียมกันอย่างหนึ่งในสังคมนี้
เหตุเพราะรัฐไทยเอื้อต่อพวกนี้ทั้งที่ลับและที่แจ้ง
ในทางกลับกัน
ความมั่งคั่งของคนเหล่านี้
ก็ล้วนมาจากความไม่เท่าเทียมกันที่ว่านี้แหละ
ดังนั้น
การเสนอให้เปลี่ยนแปลงเพื่อความเท่าเทียมกัน
จึงถูกต่อต้านจากคนพวกนี้
โดยนำ"ชาติหรือสถาบัน"มาเป็นข้ออ้าง
แต่ในที่สุดแล้วก็เป็นที่รู้กันว่า
"ชาติหรือสถาบัน"ที่คนพวกนี้อ้างว่ารักเหลือเกินนั้น
แท้จริงคือความมั่งคั่งของพวกมันนั่นเอง
ดังนั้นเราต้องช่วยกัน
ให้ข้อเสนอของอ.ผาสุกและอ.คริสเป็นจริงขึ้นมา
เราต้องอยู่อย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย
เมืองไทยต้องเปลี่ยน
ไม่งั้นไม่รอด ครับ
ooooo

‘ผาสุก-คริส’ เสนอ ‘ปฏิวัติระบบภาษี’ แนะ 6 ประเด็นหนุนสังคมไทยเสมอหน้า

29 มกราคม 2564
มติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลาประมาณ 09.00 น. เครือมติชนจัดเสวนา ‘เบรกทรูไทยแลนด์ 2021’ ในรูปแบบเวอร์ชวล คอนเฟอร์เรนซ์ เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนก้าวเข้าสู่ปีที่ 44โดยมีวิทยาการร่วมเสวนา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อการวิเคราะห์โครงสร้างและนำเสนอทางออกประเทศ, ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ ดร.คริส เบเคอร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและนักประวัติศาสตร์ ร่วมเสวนาในหัวข้อคนไทยเสมอหน้าด้วยภาษี, ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ พลวัตรขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่, นายธานี ชัยวัฒน์ ผอ.ศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อคอร์รัปชั่นและความเหลื่อมล้ำ , ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง ใบยา ไฟโตฟาร์ม ร่วมวิเคราะห์ในหัวข้อวัคซีนโควิด-19 ฉีดอย่างไรให้รอดจริง และนายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในหัวข้อ โอกาสและความหวังของประเทศไทยในปี 2021 ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า ไม่มีใครอยากเสียภาษี ครั้งที่แล้วที่พูดเรื่องภาษี ผู้ฟังท่านหนึ่ง รีบยกมือถามทันทีว่า ใครๆอยากจะรวยกัน แต่จะอาจารย์มาขอเก็บภาษี เราไม่อยากเสียภาษี แต่ชอบเรื่องที่ภาษีให้เรา ไม่ว่าจะเป็นถนน โรงเรียน บริการเก็บขยะ ทางเดินที่ร่วมรื่น หลังวิกฤตเศรษฐกิจ รับบาลจะต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจขนานใหญ่ ต้องใช้เงินเยอะ แต่รายรับมีไม่พอแน่นอน หนี้สาธารณะมากมาย แล้วจะฟื้นฟูจากโควิดแบบแฟร์ๆถ้วนหน้าได้อย่างไร จากงานวิจัยของกลุ่มคณะวิจัยที่จุฬา ธรรมศาสตร์และกระทรวงการคลัง เราได้พบว่าระบบภาษีของเราไม่แฟร์ ถ้าเราจะต้องเพิ่มรายรับรัฐบาลในระบบภาษีปัจจุบันก็จะยิ่งไม่แฟร์ วันนี้จะมาพูดในประเด็นที่ว่าเราจะเสมอหน้ากันอย่างไร

ดร.คริส กล่าวว่า ธนาคารโลกรายงานว่า ในปีที่ผ่านมา จำนวนคนจนในเมืองไทยเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน ทำให้คนจนทั้งหมดมีถึง กว่า 5 บ้านคนซึ่งมากพอสมควร รัฐบาลออกมาตรการชดเชยต่างๆ ในช่วงโควิด ซึ่งแม้คนไทยจะฉีดวัคซีน ก็คงอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย กว่าเศรษฐกิจจะฟื้นก็คงอีกสัก 1 ปีด้วย แน่นอนว่าจะมีคนจนมากขึ้นเยอะ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหาในไทยอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในต่างประเทศมีข้อมูลที่ดีกว่าไทย เขารู้ว่านอกจากจะมีคนจนมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันคนมั่งมี ก็มีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมหาศาล สหรัฐ มี 614 คนที่รวยที่สุด มูลค่าทรัพย์สินของเขาคนละ 5 หมื่นล้านบาท อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนีก็เช่นกัน มีการอภิปรายกันว่า ในสังคมเดียวกันต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ทำอย่างไรให้คนที่ได้เปรียบจากวิกฤตโควิดจะช่วยคนที่เสียเปรียบ มีคนตอบว่า ให้เพิ่มภาษีทรัพย์สินให้มหาเศรษฐีช่วยและใช้ภาษีนี้เป็นทุนฟื้นฟูเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีคนกล่าวว่าลำบากสักหน่อย เพราะคนรวยซึ่งมีอำนาจจะต่อต้าน ทำให้ข้อเสนอนี้ไม่ได้ผล

อีกข้อเสนอหนึ่งคือการเก็บภาษีเฉพาะกิจ ครั้งเดียวจบ สำหรับโควิดอย่างเดียว ซึ่งเคยมีการใช้ในสมัยสงคราม แต่มีผู้เกรงว่าคนรายก็จะยังต่อต้าน ในที่สุดก็พบว่าต้องเป็นภาษีจิตอาสา ให้คนรวยจ่ายตามความพอใจ เท่าไหร่ก็ได้ เพื่อแสดงว่าเขาเป็นพลเมืองที่ดี

“การอภิปรายในลักษณะนี้ในต่างประเทศยังไม่จบ ยังดำเนินอยู่ แต่ในเมืองไทย ไม่เห็นว่ามีการอภิปรายแบบนี้เกิดขึ้น ปัญหาคือหลังโควิด รัฐบาลกระเป๋าแห้งแน่นอน ไม่มีเงิน แต่ต้องหารายได้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จะทำอย่างไรให้สามารถทำได้อย่างแฟร์ๆ ทั้งคนรวย คนจน และคนตรงกลางด้วย” ดร.คริสกล่าว

จากนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก กล่าวเสริมว่า เรื่องที่ ดร.คริสกล่าวในประเด็นความมั่งคั่งนั้น สำคัญมาก ศตวรรษที่ 21 คือศตวรรษของเอเชีย ในช่วง 2-3 ชั่วอายุคนที่ผ่านมา เราได้สะสมความมั่งคั่งในภูมิภาคของเราอย่างมากมาย จำนวนคนมั่งมีในเอเชียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วรวมถึงไทยด้วย ขณะนี้ธุรกิจความมั่งคั่งในประเทศไทยกำลังเฟื่องฟู ธุรกิจดังกล่าว คือธุรกิจที่ให้บริการผู้ที่มีทรัพย์สินจะใช้ทรัพย์สินที่มีอยู่หาประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร และเสียภาษีน้อยหรือเป็นศูนย์ สาเหตุที่เฟื่องฟูเพราะคนวัยเกษียณอายุ 50-60 ขึ้นไปอยู่บ้านลงทุนเล่นหุ้น ใช้บริการธุรกิจนี้มากมายในบ้านเรา และจะมากขึ้นไปอีก เพราะโครงสร้างประชากรเคลื่อนไปทางนั้น เนื่องจากเราเป็นสังคมสูงอายุ ในขณะที่กำลังแรงงานรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาด ยังหารายได้ไม่พอเพียง และคนจนยังมีเยอะ รัฐบาลที่สมาร์ทต้องให้กลุ่มคนมั่งมีได้มีส่วนช่วยสังคมด้วยภาษีที่เท่าเทียมให้เต็มกำลังมากกว่าเดิม ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก กล่าวต่อไปว่า ตนและ ดร.คริส มีประเด็นนำเสนอ 6 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 เรารู้อยู่แล้วว่าวิกฤตแล้วว่าวิกฤตเป็นโอกาส เมื่อเกิดวิกฤตเราต้องทบทวน และมองเห็นประเด็นใหม่ๆ เรื่องภาษีเป็นประเด็นที่ดี วิกฤตโควิดเป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงให้เรามีระบบภาษีที่เท่าเทียม และไปสู่ความรุ่งเรืองด้วยกัน

ประเด็นที่ 2 ระบบภาษีของเราไม่แฟร์ กล่าวคือ เป็นภาษีแบบแยกส่วน คือมีหลายระบบ นอกจากเงินได้ประเภทต่างๆ มีข้อกำหนดต่างๆในการหักต่างกันแล้ว อัตราภาษียังต่างกันอีกตามประเภทของรายได้ เราอาจแบ่งคนเสียภาษีในไทยเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มนาย ก. มนุษย์เงินเดือน มีรายได้หลักเพียงเงินเดือน ไม่มีทรัพย์สินใดๆมากมาย อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มนาย ข. มนุษย์ทรัพย์สิน มีความมั่งคั่ง บางคนไม่จำเป็นต้องทำงานกินเงินเดือน มีรายได้หลายประเภท อาจเป็นค่าเช่า ดอกเบี้ย เงินปันผล กำไรจากการเล่นหุ้น ลงทุนต่างประเทศ ทำธุรกิจส่วนตัว เป็นต้น

กลุ่มนาย ก. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นอัตราก้าวหน้า ต่ำสุดที่ร้อยละ 5 สูงสุดร้อยละ 35 ตามค่าเงินได้ที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องถูกนายจ้างหักภาษี ณ ที่จ่ายบางส่วนไว้ก่อน และจะต้องกรอกแบบภาษีประจำปี เพื่อเสียภาษีให้ครบถ้วน

กลุ่มนาย ข. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราคงที่ ตามกฎหมายกำหนด ตามประเภทรายได้ เริ่มที่ 0 และสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 เสียครั้งเดียวจบ ตรงนี้ก็ไม่แฟร์แล้ว และอาจจะไม่ต้องกรอกแบบฟอร์มภาษีอีกหากไม่มีธุรกรรมด้านนิติบุคคลอื่นใดที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แม้จะต้องกรอกแบบภาษีก็ไม่ต้องรายงานเงินได้ที่ได้จากการใช้ทรัพย์สินลงทุน เว้นเสียแต่ว่าจะมีสิทธิ์ได้คืนภาษีการหักค่าลดหย่อนสำหรับกลุ่มนาย ก. มีขอบเขตจำกัด สำหรับนาย ข. ถ้าทำธุรกิจ ช่องทางที่จะหักลดหย่อนมีมากกว่า และมีขอบเขตไม่แน่นอน

“ที่บอกว่ากลุ่มนาย ข. ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราคงที่ ตามกฎหมายกำหนด ตามประเภทรายได้ เริ่มที่ 0 และสูงสุดไม่เกินร้อยละ 15 นั้น ภาษีที่เสียเป็น 0 ในไทยมีหลายประเภท เช่น กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นไทย กฎหมายยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษี ผลได้จากการลงทุนต่างประเทศ และไม่ได้เอารายได้กลับเข้ามาในปีเดียวกัน ก็ไม่ต้องเสียภาษีเลย นอกจากนั้น ยังมีกลุ่มที่ได้รายได้จากเงินปันผลหุ้นของบริษัทที่ได้รับสิทธิพิเศษจากบีโอไอ และมีกลุ่มคนที่ได้รายได้จากค่าเช่าบ้าน หรือให้กู้เงินแบบปากเปล่า แล้วยังมีนักบัญชีที่ทำบัญชีให้ขาดทุนทั้งที่มีกำไร จึงหลุดรอดไปได้ และอย่าลืมธุรกิจค้ายาเสพติด พนัน และกิจการผิดกำหมายนอกระบบภาษีอากร รวมทั้งคาสิโนด้วย เสียภาษีทางเป็น 0 แต่ภาษีไม่เป็นทางการ ก็อีกเรื่องหนึ่ง”

ประเทศอื่นที่พัฒนาแล้ว ไม่มีระบบนี้ หรือถ้ามี ก็ยกเลิกไปแล้ว โดยจะมีภาษีระบบเดียว ที่ใช้กับทุกคนเหมือนกันหมด เรียกว่า ระบบบูรณาการ ทุกคนเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องกรอกแบบภาษี ลงรายการรายได้ทุกประเภทในแบบฟอร์มเดียวกัน จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า 5-35 เปอร์เซนต์ตามขั้นรายได้เหมือนกันหมด หลักการคือ รายได้ก็คือรายได้ ไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด รวมทั้งจากการพนัน เพราะใช้ซื้อของและจ่ายหนี้ได้ ในต่างประเทศกรมเก็บภาษีจะเก็บหมด แต่ไทยไม่ใช่ จึงไม่แฟร์” ศาสตราจารย์ดร.ผาสุกกล่าว

ศาสตราจารย์ดร.ผาสุกกล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่ 3 คือโอกาสในการหลีกเลี่ยงภาษีต่างกันระหว่างมนุษย์เงินเดือนและมนุษย์มีทรัพย์สิน สำหรับมนุษย์เงินเดือน ถ้าทำงานในสถานประกอบการ มีรายได้เป็นเงินอย่างเดียว แทบไม่มีช่องหลีกภาษี เพราถูกหัก ณ ที่จ่าย สรรพากรจะมาตามจตัว ถ้าไม่ส่งแบบฟอร์มภาษี แต่มนุษย์ทรัพย์สินช่องทางหลีกเลี่ยงมีมากมายอย่างที่รู้กัน

“ส่วนประเด็นที่ 4 คือผลของระบบภาษีแยกส่วน ทำให้มีคนจำนวนมากในไทยที่นั่งอยู่บ้าน เล่นหุ้น เสียภาษีเท่ากับ 0 หรือ ลงทุนต่างประเทศ ก็เสียภาษีเท่ากับ 0 ในขณะที่มีเงินออมมหาศาล แล้วเราก็มีฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่แคบลง เพราะคนมีรายได้สูงมีโอกาสหลุดรอดจากระบบภาษี หรือสามารถหักค่าลดหย่อยได้มากจนทำให้ฐานภาษีหดตัวลง คณะวิจัยของเราได้คำนวณ พบว่า ในปี 2560 รัฐบาลเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น 1 แสนล้านบาทซึ่งเท่ากับเกือบ 1 เปอร์เซนต์ของจีดีพีของประเทศ และใกล้เคียงกับงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ ซึ่งในปีนั้นใช้เงินเพียง 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท

ประเด็นที่ 5 ขอเสนอให้ปฏิวัติระบบภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาที่เป็นแบบแยกส่วนให้เป็นระบบเดียวที่บูรณาการตามหลักการสากล ทุกคนเสียภาษีอัตราก้าวหน้าตามขั้นบันไดเงินได้ตามกฎหมายในมาตรฐานเดียวกัน กล่าวคือ ระบบบูรณาการทุกคนต้องรายงานภาษีทุกอย่างเข้าไปในแบบฟอร์มเดียวกันไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือนหรือมนุษย์ทรัพย์สิน ดังนั้นจะไม่มีใครในไทยสามารถนั่งอยู่กับบ้านเล่นหุ้นแล้วเสียภาษีเงินได้เป็น 0 หรือเอาเงินไปลงทุนต่างประเทศ เสียภาษีที่ประเทศเขา แต่ไม่เสียภาษีในไทย

ประเด็นที่ 6 การซื้อขายที่ดิน ในขณะนี้เราจ่ายภาษีตามราคาประเมินซึ่งต่ำกว่าราคาจริง เพราะฉะนั้นต้องเปลี่ยนให้เป็นการซื้อขายราคาจริงเหมือนนักธุรกิจทั่วไปแล้วเก็บภาษีจากกำไร” ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุกกล่าว ก่อนทิ้งท้ายว่า

อยากจะขอบใจโควิดที่เปิดโอกาสให้ได้ทบทวนระบบภาษีของเราว่าไม่แฟร์อย่างไร และจะสามารถมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งรัฐบาลจะเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1-5 เปอร์เซนต์ของจีดีพี ซึ่งจะทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าแค่สร้างถนนหรือ สร้างระบบเก็บขยะ