วันพุธ, มกราคม 27, 2564

เคสตัวอย่าง ประเทศไทยขาดความมุ่งมั่นที่จะหยุดการบังคับสูญหาย


Angkhana Neelapaijit
5h ·

ประเทศไทย #การขาดเจตจำนงทางการเมือง (political will) และ #ความไม่เต็มใจ ในการ #ยุติการบังคับสูญหาย
เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (2563) มีโอกาสได้พบชายสูงอายุคนหนึ่งบริเวณอนุสรณ์สถาน พฤษภา 2535 โดยที่เขาได้ส่งหนังสือยับๆฉบับนี้ให้พร้อมเล่าว่า เขาเป็นพ่อของลูกชายที่สูญหายในเหตุการณ์ พฤษภา 35 ไม่นานมานี้มีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมไปพบเขาที่บ้านเนื่องจากลูกชายเป็นหนึ่งใน 80 กว่ารายชื่อคนหายในประเทศไทยที่ถูกบันทึกโดย #คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ (UN Working on Enforced or Involuntary Disappearance – #WGEID) พ่อของเหยื่อรายนี้เล่าว่า เจ้าหน้าที่ที่ไปพบพยายามโน้มน้าวให้เขาสมัครใจถอนเรื่องร้องเรียนการบังคับสูญหายของลูกชายต่อคณะทำงานคนหายสหประชาชาติ โดยบอกว่าอย่างไร UN ก็ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ และหากเขาสมัครใจถอนเรื่อง และต้องการความช่วยเหลือใด ทางกระทรวงยุติธรรมยินดีช่วยเสนอต่อ อนุกรรมการเยียวยาฯ ภายใต้คณะกรรมการตรวจสอบกรณีการทรมานและบังคับสูญหาย ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน เพื่อพิจารณาช่วยเหลือครอบครัว
หลังจากยินยอมลงนามหนังสือสมัครใจถอนเรื่องร้องเรียนจากคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ และรอคอยด้วยความหวังว่ารัฐจะให้การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเนื่องจากเขาประสบความยากลำบากมาก ต่อมาเขาได้รับหนังสือฉบับนี้จากกระทรวงยุติธรรม แจ้งว่า คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ มีมติไม่สามารถเยียวยาครอบครัวเขาได้อีก เนื่องจากได้รับการเยียวยาไปแล้ว (สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปัณยารชุน)
ไม่ต่างจากครอบครัวของ #มือนอ เมียบิลลี่ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งต่อ UN WGEID ว่าบิลลี่เสียชีวิตแล้วเพื่อให้คณะทำงานคนหาย สหประชาชาติ ลบชื่อบิลลี่ออกจากรายชื่อบุคคลสูญหายของสหประชาชาติ เนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษแจ้งผลการพิสูจน์ว่าพบชิ้นส่วนกระดูกที่มีความสัมพันธ์กับแม่และยายของบิลลี่ DSI จึงสรุปว่า บิลลี่เสียชีวิต ทั้งที่การเสียชีวิตของบิลลี่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ทางกระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด
มือนอ เล่าว่า เธอได้ไปที่อำเภอแก่งกระจานเพื่อขอให้นายอำเภอออกใบมรณะบัตรของบิลลี่ เพื่อเธอจะได้นำมาจัดการนิติกรรมต่างๆ แต่อำเภอไม่ยอมออกให้ เพราะไม่มีใครยืนยันการเสียชีวิต หรือมีผู้ใดที่พบเห็นศพของเขาทำให้เธอไม่สามารถดำเนินการจัดการนิติกรรมใดๆแทนลูกๆได้เลย
ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ขณะที่ประเทศไทยไปรายงานสถานการณ์ตามกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่เจนีวา (ประเทศไทยถูกคณะกรรมการ ICCPR แซวว่าเป็น Bigest Delegations) ครั้งนั้นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยถูกคณะกรรมการ ICCPR สหประชาชาติ ตั้งคำถามถึงกรณีบังคับสูญหายในประเทศไทย ทั้งกรณี #สมชายนีละไพจิตร และบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ซึ่งผู้แทนไทยได้ตอบว่าให้ความสำคัญกับการบังคับสูญหายอย่างมาก โดยนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีการทรมานและบังคับสูญหาย ซึ่งจะติดตามตรวจสอบกรณีบังคับสูญหาย และให้ความเป็นธรรมแก่ญาติทุกคน
ผ่านไป 3 ปีเศษ การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ได้ตรวจสอบการบังคับสูญหายในประเทศไทยผ่านรายชื่อคนหายของ WGEID เนื่องจากในประเทศไทยไม่มีรายงานบันทึกข้อมูลการบังคับบุคคลสูญหายอย่างเป็นทางการ โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ไปพบญาติของผู้สูญหายที่บ้าน มีบางรายตรวจสอบพบยังมีชีวิตอยู่ ขณะที่เหยื่อส่วนมากยังเป็นบุคคลสูญหาย ซึ่งกรณีเหล่านี้ญาติเล่าว่าจะถูกเจ้าหน้าที่โน้มน้าวให้ถอนรายชื่อจาก WGEID เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่า UN WGEID ไม่สามารถช่วยอะไรได้
#บนเส้นทางการทำงานเพื่อยุติการบังคับสูญหาย ส่วนตัวพบว่าการ “#สิทธิในการทราบความจริง” และ “#การเข้าถึงความยุติธรรม” เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับเหยื่อและครอบครัว ในขณะที่รัฐบาลหน้าบางกลับพยายามปกปิดความจริงด้วยการลบชื่อของผู้ถูกบังคับสูญหาย แต่ไม่ว่าจะปกปิดอย่างไร ความจริงย่อมเป็นสัจธรรม #ใบหน้าของบรรดาผู้สูญหาย และ #ความทรงจำของญาติ จะเป็นเครื่องยืนยันตัวตนเหยื่อการบังคับสูญหาย และอาชญากรรมร้ายแรงโดยรัฐที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่อาจมีผู้ใดลบเลือน ปิดบัง หรือทำให้สูญหายไปได้
#AKN