วันอังคาร, มกราคม 26, 2564

ทำความรู้จักบัณฑิต อาร์ณีญาญ์ จำเลยคดีมาตรา 112 ก่อนเข้าฟังคำพิพากษาคดี 112 คดีที่ 3 ในชีวิต บางคนขนานนามเขาว่า นักเขียน “กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ”



iLaw
8h ·

บัณฑิต อาร์ณีญาญ์ จำเลยคดีมาตรา 112 ก่อนเข้าฟังคำพิพากษาคดี 112 คดีที่ 3 ในชีวิต
วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอาญานัดบัณฑิต จำเลยคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ฟังคำพิพากษาในคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่าพูดในลักษณะเสียดสีพระมหากษัตริย์ระหว่างร่วมงานเสวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่จัดโดยขบวนการประชาธิปไตยใหม่ในช่วงปี 2559
เท่าที่ไอลอว์มีข้อมูล นอกจากคดีนี้บัณฑิตเคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มาแล้วอีกอย่างน้อยสองคดี
คดีแรกเหตุเกิดในปี 2546 บัณฑิตไปฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในงานเสวนาหัวข้อกฎหมายพรรคการเมืองที่จัดโดยกกต. พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานกกต.ในขณะนั้นเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับเขา
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ศาลฎีกามีคำพิพากษาเป็นที่สุด ลงโทษจำคุกบัณฑิตในความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯรวมสองกระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 2 ปีแต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปีและให้คุมประพฤติ โดยให้จำเลยมารายงานตัวทุกสามเดือน
ดูรายละเอียดคดี >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/69
คดีที่สองเหตุเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2557 บัณฑิตไปฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในงานเสวนาของพรรคนวัตกรรม เขาถูกเจ้าหน้าที่ทำการจับกุมระหว่างที่ยังแสดงความคิดเห็นไม่จบ เบื้องต้นคดีนี้ถูกฟ้องในศาลทหารกรุงเทพก่อนจะโอนย้ายมาพิจารณาต่อที่ศาลอาญาในเดือนกรกฎาคม 2562 และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องบัณฑิตในเดือนสิงหาคม 2563 โดยให้เหตุผลว่า
ในวันเกิดเหตุบัณฑิตได้พูดจบเพียงประโยคที่หนึ่ง และกำลังจะเริ่มพูดประโยคที่สอง แต่ยังไม่ทันได้พูด ก็ถูกควบคุมตัวและหยุดพูด ข้อความตามคำฟ้องเป็นเพียงประโยคและวลีที่ยังไม่จบ พฤติการณ์ยังไม่ชัดแจ้งเพียงพอว่าการกระทำของเขาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ
ดูรายละเอียดคดี >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/640
• 112 the Series ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์ของบัณฑิต อาร์ณีญาญ์
1.
ฉันรู้จักลุงครั้งแรกผ่านตัวหนังสือ "ความฝันภายใต้ดวงอาทิตย์" หนังสือกึ่งชีวประวัติของลุง ความยาว 562 หน้า ตอนนั้นฉันอยากทำหนังสารคดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 คิดแค่ว่าอยากทำในแบบที่เล่าเรื่องราวชีวิตมนุษย์ ไม่ใช่แค่ให้ข้อเท็จจริงและข้อมูลเชิงวิชาการ พี่ที่ไอลอว์เป็นคนแนะนำให้ฉันรู้จักคดีของลุง แล้วให้หนังสือเล่มนั้นมา ฉันตะลุยอ่านด้วยความรู้สึกผสมปนเปกันไปหมด ตอนนั้นฉันรู้แค่ว่าลุงถูกศาลตัดสินว่ามีอาการทางจิต แต่ในหนังสือหากไม่นับส่วนที่มีข้อความซ้ำหลายตอน บางตอนทำให้ฉันเศร้า บางตอนทำให้ฉันหัวเราะ และตอนจบทำให้ฉันร้องไห้
หนังสือเผยให้เห็นชีวิตของลุงที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ถูกกดขี่ ถูกเอารัดเอาเปรียบ แฝงด้วยลีลาการเล่าเรื่องเสียดสีประชดประชันแกมขบขัน และบางตอนก็ทำให้หลุดลอยเข้าไปในจินตนาการเหนือจริงของลุง ขณะเดียวกันก็เห็นความจริงที่ลุงต่อสู้ดิ้นรน แสวงหาความรู้ ใช้ชีวิตอย่างซื่อสัตย์เท่าที่สภาพแวดล้อมจะเอื้ออำนวย แม้บางครั้งต้องทำชั่วเพื่อเอาชีวิตรอดลุงก็ยอมรับและเปิดเผยออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ
ที่น่าสนใจคือมุมมองของลุงที่มีต่อโลก ลุงมองลึกลงไปในใจของผู้คน กระชากหน้ากากภายนอกของพวกเขาออก เปลื้องให้เห็นถึงความจริงภายใน ลุงปฏิเสธสิ่งที่คนในสังคมปฏิบัติ นั่นคือการไม่ตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์กับหลายๆสิ่ง ลุงตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมและการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม
ฉันรู้ในทันทีว่าอยากทำสารคดีเกี่ยวกับลุง และไม่สำคัญเลยว่าใครจะตัดสินลุงว่าอย่างไร
2.
ฉันพบลุงครั้งแรกในศาลทหาร ชายชราผมสีดอกเลาตัดสั้นเรียบแปล้ เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงขากระบอกสีดำ และสะพายย่ามสีขาว ย่ามวิเศษที่ล้วงออกมาเมื่อไหร่มักเจอหนังสือยกชุดสี่เล่มของลุงที่ลดจาก 900 บาทเหลือ 200 บาทก็ยังไม่มีใครซื้อ
วันนั้นฉันและเพื่อนได้รับหนังสือมาฟรีคนละชุด เราไปนั่งคุยกันต่อที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ลุงตัวจริงก็มีส่วนคล้ายกับหนังสือที่ฉันอ่าน แต่วันนั้นฉันได้เห็นความดื้อดึงบางอย่างในตัวลุง ฉันไม่ได้มองว่าเป็นข้อเสียไปทั้งหมด แต่คิดว่าถ้าลุงไม่ดื้อลุงก็คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ อาจจะไม่โดนข้อหา 112 อาจจะไม่ต้องแยกทางกับครอบครัว แล้วก็อาจจะไม่ได้เขียนหนังสือ และถ้าเป็นแบบนั้นฉันคงรู้สึกเสียดาย
ครั้งแรกที่ฉันไปบ้านลุงพร้อมแบกกล้องวิดีโอและขาตั้งกล้องไปอย่างพะรุงพะรัง ลุงลุกจากเก้าอี้ไม้ตัวโปรดข้างชั้นวางของ คะยั้นคะยอให้ฉันดื่มกาแฟที่ลุงชงให้
ห้องของลุงเรียบง่าย โล่งตา ดูสะอาด และไม่มีเตียงนอน แต่มีหนังสือกองโตที่ลุงเขียน เอกสารเกี่ยวกับคดีและเรื่องสั้นที่ลุงแปลบ้างแต่งบ้าง วางอยู่ในกล่องอย่างเรียบร้อย แต่ลุงมักบ่นว่าหาอะไรก็ไม่ค่อยเจอ ที่โต๊ะทำงานมีเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นเก่าแก่แต่ยังใช้การได้ดีวางอยู่ ข้างๆ เป็นดิกชันนารี่อังกฤษ-ไทยเล่มใหญ่ และปึกกระดาษเรื่อง Father and son ของ Ivan Turgenev นักเขียนชาวรัสเซีย ฉันถามว่าทำไมลุงถึงแปลเล่มนี้
"มันก็มีส่วนคล้ายชีวิตผมเหมือนกันมั้ง เรื่องนี้พ่อกับลูกก็ขัดแย้งกัน คล้ายๆ เตี่ยกับผม" ลุงเล่าด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ทั้งที่ในอดีตความขัดแย้งระหว่างลุงกับพ่อของลุงคงไม่อาจใช้คำบรรยายว่าราบเรียบได้
"ผมมาเมืองไทยตอน 6 ขวบ มาพร้อมแม่กับย่า มาอยู่โคราช เตี่ยผมมีเมียน้อยอยู่ที่นี่ ตอนเด็กๆ ผมเห็นเตี่ยตีแม่ผมด้วยด้ามไม้กวาดบ้าง ไม้ขัดหม้อบ้าง บางทีก็รองเท้ายางหนาๆ แม่เลี้ยงก็ใช้ให้แม่ผมทำงานหนัก สุดท้ายแม่ผมโดนคนข่มขืนจนท้อง ถูกเตี่ยส่งไปอยู่ที่โรงพยาบาลโรคจิตแล้วก็ตายในฐานะเป็นคนไข้อนาถา"
เมื่อได้คลุกคลีกับลุงนานเข้า ฉันจึงเข้าใจถึงความเจ็บปวดคับแค้นแสนสาหัสของลุงในเรื่องนี้ และเข้าใจได้ว่าทำไมงานเขียน ความคิด และการแสดงออกของลุง จึงมักอยู่กับเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคม และการกดขี่จากผู้มีอำนาจสูงกว่า
ผลงานการเขียนและการแปลของลุงมีเกือบ 50 เล่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้นของ บี.ทราเวน นักเขียนชาวเยอรมัน หรือนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น ผลงานขอ
งลุงส่วนใหญ่จัดพิมพ์โดยเพื่อนสนิทที่คบหากันมานานหลายปี บางเล่มก็พิมพ์เอง น่าเสียที่ผลงานของลุงมักขายไม่ออกและต้องเอามาขายเลหลังเล่มละไม่กี่บาท
"หนังสือผมมันไม่มีคนอ่าน พิมพ์ไปก็ขายไม่ออก" ลุงพูดเปรยๆ ขึ้นมาในบางครั้ง นอกจากเรื่องนี้ลุงก็ตัดพ้อด้วยความน้อยใจว่าผลงานของแกถูกคนอื่นขโมยไปใส่ชื่อแล้วตีพิมพ์
แต่ความท้อใจก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไฟในการผลิตผลงานของลุงได้ พอฉันเจอลุงในวันต่อมา ลุงก็ยื่นเรื่องสั้นเรื่องใหม่ที่เพิ่งแต่งจบให้ฉันอ่าน แล้วถามอย่างกระตือรือร้นว่าเป็นอย่างไรบ้าง บางโอกาสเราถกเถียงกันเรื่องการเมือง สังคม ศาสนา ไปจนถึงชีวิตและวิธีคิดในบางประเด็น ความคิดเห็นของเราขัดแย้งกันบางเรื่อง แม้ลุงจะยึดมั่นในความคิดของตัวเองอย่างแน่วแน่ แต่ลุงก็ฟังความคิดเห็นของฉันเสมอ
ตอนนี้ลุงอายุ 75 ปี อาศัยอยู่คนเดียวบนชั้นสามของอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในย่านหนองแขม ลุงเคยเป็นโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ต้องตัดไตออกข้างหนึ่งรวมทั้งกระเพาะปัสสาวะด้วย แทนที่ด้วยถุงปัสสาวะที่ต้องใส่ติดตัวตลอดเวลา แต่ภายนอกลุงยังดูแข็งแรงเดินเหินปกติ ทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว เดินทางไปตามงานเสวนาที่ต่างๆ เป็นประจำ สะพายย่ามคู่ใจที่ภายในมีหนังสือ เรื่องสั้น หรือเอกสารเกี่ยวกับคดีของแก บ้างก็แจกจ่าย บางทีโชคดีก็ขายได้
3.
"ผมสงสัยมากเลยนะว่าพวกดวงดาว จักรวาลมันเกิดขึ้นมาได้ยังไง"
ลุงตั้งคำถามขึ้นมาอย่างที่ชอบทำ ตอนนั้นเราสี่คนนอนดูดาวกันที่เชียงดาวระหว่างที่ไปถ่ายทำสารคดี คืนนั้นเป็นคืนฟ้าเปิด เห็นดาววาววับมากมาย เราคุยกันไปเรื่อยเปื่อย
"ทฤษฎีบิ๊กแบงไงคะ" ฉันตอบ "ไอ้หนังสือพวกนั้นผมก็อ่านมาบ้าง แต่เข้าใจยากเกินไป ผมอยากเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้นะ เหมือนที่ผมสงสัยว่าพืชมันเจริญเติบโตขึ้นมาจากใต้ดินได้ยังไง คิดดูสิ ดินมันก็เป็นแค่ดิน แต่ดินเป็นที่มาของพืชทุกชนิด มันเป็นความมหัศจรรย์นะ"
คำถามซื่อๆ กระตุ้นให้ฉันคิดถึงหนังสือเล่มแรกของลุงที่ฉันอ่าน ในตอนจบลุงก็ลงท้ายด้วยคำถามแบบนี้เช่นกัน
ความมหัศจรรย์ของลุงนั้นเรียบง่ายเหลือเกิน
ลุงดำรงอยู่ด้วยความคิดและความสงสัยต่อชีวิตและจุดกำเนิดของมัน เช่นที่ลุงเฝ้าสงสัยเกี่ยวกับการกำเนิดดวงดาวจักรวาลและพรรณพืช เช่นที่ลุงชอบนั่งดูคลิปเกี่ยวกับดาวอังคารในมือถือ เช่นที่ลุงเชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวอาจจะมีจริง เช่นที่ลุงชอบเลี้ยงนกและเฝ้ามองพวกมันหากิน ขณะเดียวกันชีวิตลุงก็มีปมปัญหาที่ไม่อาจสลัดหลุด ลุงยึดติดอยู่กับอดีตบางอย่างอันน่าขมขื่นที่ชั่วชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งคงไม่อาจลืมได้ ลุงทำให้ฉันเข้าใจว่าชีวิตมนุษย์มีความซับซ้อนและลึกลับเกินกว่าที่ใครคนหนึ่งจะไปตัดสินการกระทำของเขาหรือบอกให้เขาปล่อยวางได้
ฉันจะไม่ตัดสินและไม่บอกให้ลุงปล่อยวาง ถ้าลุงจะเขียนหนังสือหรือขึ้นไปพูดในวงเสวนาไหนๆ ฉันจะเป็นคนรับฟัง เพราะความฝันอย่างหนึ่งที่ลุงต้องการคงเป็นการได้แสดงความเห็นอย่างซื่อตรงและเปิดเผยโดยไม่ถูกปิดกั้นหรือตัดสินจากใคร
(เผยแพร่ครั้งแรก กรกฎาคม 2559 >>> https://freedom.ilaw.or.th/112theseriesBandit)
.....

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
9h ·

บางคนขนานนามเขาว่า นักเขียน “กึ่งบ้ากึ่งอัจฉริยะ” งานเขียนหรืองานแปลของบัณฑิตมักมีสไตล์เสียดสีสังคม เนื้อหาก็มักสะท้อนถึงเรื่องราวความไม่เป็นธรรมในสังคม ผู้ที่ติดตามผลงานของบัณฑิตกล่าวว่า “สำหรับเขา การเขียนการแปลหนังสือไม่ใช่เพียงการเขียนและแปลหนังสือ แต่ยังเป็นการต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยเช่นกัน”
.
พรุ่งนี้ (26 ม.ค. 64) ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ “ลุงบัณฑิต” บัณฑิต อานียา นักเขียนและนักแปลอิสระ ตกเป็นจำเลยในความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแสดงความเห็นในงานเสวนา “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในปี 2558 ซึ่งมีอัยการศาลทหารเป็นผู้ฟ้องคดี แต่สุดท้ายศาลอาญาต้องรับโอนคดีมาสืบพยานต่อจนเสร็จสิ้น และทำคำพิพากษา รวมระยะเวลาต่อสู้คดีทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรมกว่า 4 ปี
.
ย้อนไปวันที่ 12 ก.ย. 58 บัณฑิตเสนอความเห็นให้บัญญัติ 5 เรื่องสำคัญไว้ในรัฐธรรมนูญ หนึ่งในนั้นระบุเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน หลังจบการเสวนา ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ควบคุมตัวเขาไปตักเตือนและให้ลงนามในบันทึกว่าจะไม่แสดงความเห็นลักษณะนี้อีก โดยไม่ได้ดำเนินคดีแต่อย่างใด
.
1 ปีต่อมา ตำรวจจึงเข้าจับกุม โดยกล่าวหาว่า คำพูดในงานเสวนาดังกล่าวพาดพิงกษัตริย์ ลุงบัณฑิตต้องวนเวียนเดินทางไปทั้งศาลทหารและศาลอาญา กระทั่งมีนัดฟังคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้
.
ในการสืบพยาน มีประเด็นน่าสนใจว่า ก่อนมีการดำเนินคดี ตำรวจหลายนายลงความเห็น ข้อความเพียง “หมิ่นเหม่” ยังไม่เป็นความผิด 112 ในชั้นศาลพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยสอดคล้องกันว่า คำพูดจำเลยไม่ใช่คำราชาศัพท์ ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด ขณะลุงบัณฑิตเบิกความว่า สิ่งที่พูดเป็นคุณค่าที่พูดได้ คำว่า “ฝุ่นละออง” ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ การแสดงความเห็นดังกล่าวจึงเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112
.
คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ของลุงบัณฑิตที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และเป็นคดีที่ 2 ที่ถูกดำเนินคดีในยุค คสช. ทั้งหมดมาจากการแสดงความเห็นในงานเสวนา คดีแรกศาลฎีกาพิพากษาต้นปี 57 ให้จำคุก 4 ปี รอลงอาญา 3 ปี เนื่องจากเห็นว่าขณะกระทำผิดบัณฑิตป่วยเป็นโรคจิตเภท
.
อีกคดีศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อ 25 ส.ค. 63 โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ชัดเจนเพียงพอ
.
ลุงบัณฑิตในวัย 80 ปี เคยต้องผ่าตัดเอากระเพาะปัสสาวะ และไตด้านซ้ายออก ทำให้ต้องปัสสาวะโดยผ่านทางถุงปัสสาวะมาประมาณ 10 ปีแล้ว ทั้งยังเป็นโรคภูมิแพ้ แม้ภายนอกยังดูแข็งแรง เป็นขาประจำของงานเสวนาหรือกิจกรรมทางการเมือง แต่หลายครั้งในระหว่างการพิจารณาคดี ศาลต้องได้เลื่อนนัดออกไป เนื่องจากจำเลยป่วยกะทันหัน ไม่สามารถมาศาลได้
.
อ่านสรุปเนื้อหาคดีที่>> https://tlhr2014.com/archives/25531