วันอาทิตย์, มกราคม 24, 2564

ข้อคิดว่าด้วยการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Pierre Bourdieu เคยกล่าวไว้ว่า ระบบการมอบรางวัล เหรียญตรา เกียรติยศ คือ เครื่องมือแห่งการครอบงำ ไม่เพียงแต่ช่วยแบ่งแยกคนออกเป็นพวกเป็นประเภทเท่านั้น แต่ยังช่วยล้อมกรอบให้คนอยู่ในโอวาทด้วย

Pierre Bourdieu (French: [buʁdjø]; 1 August 1930 – 23 January 2002) was a French sociologistanthropologist, philosopher and public intellectual.

Bourdieu's work was primarily concerned with the dynamics of power in society, especially the diverse and subtle ways in which power is transferred and social order is maintained within and across generations.

Bourdieu suggested that cultural roles are more dominant than economic forces in determining how hierarchies of power are situated and reproduced across societies. Status and economic capital are both necessary to maintain dominance in a system, rather than just ownership over the means of production alone.
.....
Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
9h ·

[ ว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ]
เมื่อครั้งผมได้เข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ในเดือนพฤศจิกายน 2544 ช่วงเวลานั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังถกเถียงเรื่องการให้มหาวิทยาลัยออกจากระบบราชการมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับแทน มีการอภิปรายข้อดี-ข้อเสีย มีการหยิบยกเหตุผลของทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยขึ้นมา เหตุผลแต่ละเรื่อง ดูน่ารับฟังทั้งนั้น แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมฉงนสนเท่ห์ และไม่คาดคิดเลยว่าจะกลายมาเป็นข้อโต้แย้งได้ นั่นคือ การได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์
ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบบางส่วน กังวลใจว่า หากพวกเขาพ้นจากสถานะ “ข้าราชการ” ไปเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” แล้ว อาจทำให้พวกเขาไม่ได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือถ้าได้ ก็จะได้ลำดับชั้นของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้ากว่าข้าราชการ
ในท้ายที่สุด ข้อโต้แย้งนี้ก็หมดไป เมื่อมหาวิทยาลัยยืนยันว่า บรรดาพนักงานของมหาวิทยาลัยที่อยู่ตามสัญญาจ้าง จะได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เหมือนกับข้าราชการ
12 ปีต่อมา วันหนึ่ง ผมเดินทางไปคณะนิติศาสตร์ ทำงานตามปกติ มีเอกสารซองน้ำตาลเบ้อเริ่มวางอยู่ที่โต๊ะทำงาน ผมเปิดดู ข้างในซองคือ เอกสารประกาศว่าผมได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นอะไรก็จำไม่ได้เสียแล้ว มีนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ผมสงสัย จึงไปถามเจ้าหน้าที่ เขาตอบว่า เมื่อรับราชการมาครบตามจำนวนปี ก็จะได้เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหล่านี้ไปตามลำดับขั้น ทางคณะและมหาวิทยาลัยดำเนินการให้กับข้าราชการและพนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน
18 ปีต่อมา ผมได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ความยากลำบากในชีวิตก็เริ่มต้นขึ้น พิธีรีตอง รัฐพิธี ต่างๆ ที่บังคับใช้กับ ส.ส. เยอะแยะมากมาย
เริ่มตั้งแต่วันแรก ส.ส. ต้องไปรายงานตัวกับ กกต. เพื่อเอาเอกสารมายืนยันกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า เราได้เป็น ส.ส. แล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เลย เราได้เป็น ส.ส. เพราะประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ เป็นผู้เลือกเรามา ไม่ใช่ กกต. อนุญาตให้เราเป็น แต่ด้วยระบบการเลือกตั้งพิสดารที่เริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 40 50 จนมา 60 ทำให้ กกต. กลายเป็น “เครื่องกีดขวาง” ระหว่าง “ประชาชน” กับ “ผู้แทนราษฎร” ผ่านการออก “ใบแดง ใบเหลือง ใบส้ม ใบขาว” จนทำให้เจตจำนงของประชาชนที่ลงคะแนนไม่สามารถสะท้อนส่งผลลัพธ์เป็นผู้แทนราษฎรได้ทันที แต่ต้องได้ “ใบอนุญาต” จาก กกต. เสียก่อน
ด้วยความหวังดีของ กกต. กระมัง นอกจากเอกสารรับรองแล้ว พวกเขายังพิมพ์กระดาษแข็ง เหมือนประกาศนียบัตร เนื้อความเขียนแสดงความยินดีที่เราได้เป็น ส.ส. ใส่สมุดแฟ้มสีน้ำเงิน มอบให้แก่ ส.ส. ทุกคน ในแต่ละวัน ก็มี ส.ส. ไปรับ แล้วก็ถ่ายรูปแสดงประกาศนียบัตรนี้ต่อหน้าสื่อมวลชน ผมไม่ชอบ ไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมนี้มาก และคิดว่าพิธีกรรมนี้ได้ลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของเสียงประชาชนลงไป กลับไปให้คุณค่าแก่การรับรองของ กกต. มากกว่า จึงตั้งใจว่าจะไม่ไป และมอบอำนาจให้คนอื่นไปรับเอกสารแทน แต่แล้ว ผมก็เปลี่ยนใจ เมื่อสื่อมวลชนมาทำข่าวเยอะแบบนี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่เราจะได้สื่อสารประเด็นนี้ ผมไปสำนักงาน กกต. ตามคาด สื่อมวลชนหันมาถ่ายรูป และขอให้เราเปิดหน้าแสดงประการศนียบัตรจาก กกต. เสียหน่อย ผมจึงขอโทษสื่อมวลชนไป และบอกว่า ผมขออนุญาตไม่ถ่ายนะครับ ผมได้เป็น ส.ส. เพราะประชาชนเลือก ไม่ใช่ กกต. มารับรองแล้วออกประกาศนียบัตรให้ผม จึงไม่ควรต้องขอบคุณ กกต. หรือยินดีกับประกาศนียบัตรนี้
จนวันนี้ ผมก็ไม่รู้ว่า สมุดแฟ้มสีน้ำเงินที่ใส่ประกาศนียบัตรของ กกต. ของผมนั้น อยู่ที่ไหนแล้ว
ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีรัฐพิธี พระมหากษัตริย์เสด็จเปิดประชุมรัฐสภา สำนักงานเลขาฯ แจ้งหมายกำหนดการให้ ส.ส. เตรียมพร้อม ส.ส. อาวุโสบอกว่า เตรียมชุดขาว กางเกงดำไว้ มีเครื่องราชฯ เข็มอะไรต้องติดให้หมด ต่อมา ทางสำนักงานเลขาฯ แจ้งว่า รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในปีนี้เปลี่ยนไปจากเดิม ให้ใส่ชุดขาวทั้งชุด (น่าวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไปว่า ที่ผ่านมา รัฐพิธีเปิดประชุมทุกสมัย ให้สมาชิกใส่ขาวท่อนบน ดำท่อนล่าง แต่ทำไม ปีนี้จึงให้ใส่ขาวทั้งชุด ซึ่งปกติให้ข้าราชการใส่)
พวกเราเป็น ส.ส. ใหม่ทั้งหมด ไม่ค่อยรู้เรื่องพิธีรีตอง ทางทีมงานของสำนักงานพรรคจึงจัดการสั่งตัดชุดขาวให้ ผมถามเจ้าหน้าที่สภา ถาม ส.ส. อาวุโส ว่าไม่เข้าร่วมได้หรือไม่ คำตอบที่ได้ตรงกันหมด คือ ไปเถอะ ไปร่วมเถอะ เพื่อนมิตรจากพรรคอื่นบอกผมด้วยความปราถนาดีว่า พึ่งเริ่มต้นเท่านั้น อย่าเริ่มทำให้ถูกจับตามองเลย เดี๋ยวจะเป็นเป้ามากกว่าเดิม หากผมไม่ไปร่วม ไม่เพียงแค่ผมเป็นเป้าจับตา แต่จะกระทบถึงพรรคด้วย
เจ้าหน้าที่สภาแจ้งผมว่า ผมเคยรับราชการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมาหลายปี ต้องมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ต้องนำมาติดที่เสื้อด้วย ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ มหาวิทยาลัยดำเนินการขอให้ ผมได้ระดับชั้นไหน เรียกว่าอะไร หน้าตาอย่างไรก็ไม่เคยเห็น เดือดร้อนทีมงาน ต้องไปถามมหาวิทยาลัย ไปค้นราชกิจจาฯ ว่าผมได้ระดับใด และไปซื้อเหรียญตราเครื่องราชย์มาติดให้ผม ราคาแพงมาก รวมทั้งชุดขาวและเหรียญตราพวกนี้ หมดไปหมื่นกว่าบาท ส.ส. ที่ไม่มีเงินมาก ส.ส. ที่มาจากครอบครัวยากจน จะทำอย่างไร ผมหวนคิดถึงพิธี “พระราชทานปริญญาบัตร” เพื่อนพี่น้องที่ยากจน ต้องยอมเสียเงินกับชุดครุย พิธีกรรม เพื่อให้ครอบครัวภาคภูมิใจ
เพื่อน ส.ส. และเจ้าหน้าที่สภา เห็นเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์บนเสื้อผม ก็ร้องทักว่า เป็น ส.ส. ได้เลื่อนชั้นเร็ว ไม่กี่ปี ก็ขยับได้ระดับสูงขึ้น มีชั้นนั้นชั้นนี้ ชื่อเรียกยากๆ ทั้งนั้น ผมจำไม่ได้
ต่อมา ผมได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ ก็ต้องมาปวดหัวอีกรอบกับการจัดสรรตำแหน่งให้กับ กมธ. ที่เป็น ส.ส. จากหลากหลายพรรค ทั้งตำแหน่งที่ปรึกษา นักวิชาการ เลขานุการ ที่ปรึกษาไม่มีเงินเดือน ผมจึงได้ความรู้ใหม่อีกว่า ตำแหน่งเหล่านี้ ได้เครื่องราชฯ ด้วย แม้บางตำแหน่ง ไม่ได้เงิน แต่ได้เครื่องราช ก็ยังมีหลายคนต้องการเป็น
21 ก.พ. 63 คน 7 คนใส่ชุดครุยบนบัลลังก์ในชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคอนาคตใหม่ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ทำให้ผมพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่สภา เป็นธุระเอาการเอางาน ติดต่อมาที่ผม ที่ผู้ช่วย ทีมงานของผม ติดต่อผ่าน เพื่อน ส.ส. หลายครั้ง ต่อเนื่องหลายสัปดาห์ ให้ผมไปลงนามในเอกสารขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อส่งเรื่องให้รัฐบาลส่งรายชื่อทูลเกล้าให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยต่อไป เจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่าสำคัญ เพราะ ตามลำดับขั้นที่เคยได้ บวกกับจำนวนเวลาที่เป็น ส.ส. และประธาน กมธ. อีก น่าจะขยับไปอีกหลายลำดับ
Etienne de la Boétie เขียนไว้ตั้งแต่ปี 1576 ว่า
"ธรรมชาติของมนุษย์ คือ ความเป็นอิสระและความต้องการเป็นอิสระ แต่มนุษย์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างง่ายดายเมื่อการศึกษาทำให้เขาเปลี่ยน ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเขาเคยชิน สิ่งเดียวที่ยังคงอยู่ในลักษณะตามธรรมชาติของพวกเขา คือ มนุษย์ปรารถนาอะไรที่ง่ายและไม่เปลี่ยนแปลง
เหตุผลประการแรกของความเป็นทาสโดยใจสมัคร คือ ความเคยชิน นั่นแหละ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับม้าที่กล้าหาญที่สุด เริ่มแรก มันกัดเหล็กปากม้า แต่ไม่นาน มันกลับเล่นสนุกสนานกับเหล็กนั้น เริ่มแรก มันไม่ยอมให้ใครเอาอานมาใส่หลัง แต่ตอนนี้ มันกลับวิ่งเข้าไปให้ใส่บังเหียนด้วยความภาคภูมิใจ และโอ้อวดในชุดเกราะ"
Pierre Bourdieu เคยกล่าวไว้ที่ไหนสักแห่งว่า ระบบการมอบรางวัล เหรียญตรา เกียรติยศ คือ เครื่องมือแห่งการครอบงำ ไม่เพียงแต่ช่วยแบ่งแยกคนออกเป็นพวกเป็นประเภทเท่านั้น แต่ยังช่วยล้อมกรอบให้คนอยู่ในโอวาทด้วย
ในความเห็นของผม รัฐบาลไม่ได้มีหน้าที่ในการบอกว่าใครควรได้เกียรติยศผ่านการทูลเกล้าฯ รายชื่อขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เกียรติยศของบุคคลผู้ใช้อำนาจสาธารณะพึงเกิดจากความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ และเพื่อให้ผมยังคงความเป็นอิสระในการนำเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ผมจึงต้องปฏิเสธไม่ลงนามในเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่สภาร้องขอ