วันศุกร์, ธันวาคม 11, 2563

ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ สรุปเป็นข้อเดียวได้... กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายอยู่ใต้ รธน. - อ่าน มองราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษ จาก BBC Thai แล้วจะเข้าใจ



เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรอธิบายว่าหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญอังกฤษ มีอำนาจสูงสุดในการออกหรือยกเลิกกฎหมาย และโดยทั่วไปแล้ว ศาลเองก็ไม่มีอำนาจมาสั่งยกเลิกกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภาได้

ดร.มอร์ริสบอกว่า หมุดหมายแรกที่สำคัญของระบอบราชาธิปไตยฯ ก็คือ แมกนา คาร์ตา หรือมหากฎบัตร ในปี 1215 (พ.ศ. 1758) ซึ่ง "เป็นครั้งแรกที่กษัตริย์ถูกบังคับให้ตระหนักว่าไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจ"

จาก 63 มาตราในแมกนา คาร์ตา ทุกวันนี้มี 4 มาตราด้วยกันที่ยังมีผลบังคับใช้ตามระบบกฎหมายจารีตประเพณี (common law) ซึ่งเว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรบอกว่าเป็นหลักสำคัญสำหรับการพัฒนากฎหมายอังกฤษตั้งแต่ศตวรรษที่ 14-17 ยกตัวอย่างเช่น มาตราที่ 39 ที่บอกว่า:

"เสรีชนคนใดย่อมมิอาจถูกจับกุม หรือจองจำ หรือยึดทรัพย์หรือสิทธิ์ หรือกลายเป็นอาชญากร หรือถูกเนรเทศ หรือทำลายล้างไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ และจะไม่ถูกจัดการไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม เว้นแต่จะมีคำตัดสินอย่างเป็นถูกกฎหมายจากคณะลูกขุน หรือด้วยกฎหมายของแผ่นดิน"

เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรระบุว่า "แมกนา คาร์ตา กำหนดกฎหมายที่กษัตริย์และคนอื่น ๆ ต้องทำตามเหมือนกันเป็นครั้งแรก มีการทำสำเนาของแมกนา คาร์ตา นำออกไปประกาศตามมณฑลต่าง ๆ ของอังกฤษเพื่อที่ทุกคนจะได้รู้ว่ามีสิ่งนี้อยู่"

ดร.มอร์ริสเล่าต่อว่า หมุดหมายสำคัญต่อมาเริ่มในปี 1529 (พ.ศ. 2072) ในสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ที่มีการปฏิรูปทำให้รัฐสภามี"ความสำคัญในระบบอย่างเป็นทางการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน"

"เพราะว่ากษัตริย์ต้องอาศัยรัฐสภาไม่ใช่เพื่อเรียกเก็บภาษีเท่านั้น แต่ในการอนุมัติกฎหมายด้วย นี่จึงเป็นเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สำหรับสถาบันกษัตริย์ ...กษัตริย์ยังเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาดอยู่ แต่พระองค์ต้องปกครองในรัฐสภา"

เว็บไซต์รัฐสภาสหราชอาณาจักรระบุว่า ในตอนนั้น พระเจ้าเฮนรีที่ 8 ทรงตั้งใจเรียกประชุมสภาเพื่อดำเนินขั้นตอนการหย่าร้างจากแคทเธอรีนแห่งอารากอน หลังไม่ได้รับการอนุมัติจากพระสันตะปาปาแห่งกรุงโรม แต่ในช่วงไม่กี่ปีนั้น บทบาทของรัฐสภาได้เปลี่ยนแปลงไปถึงระดับโครงสร้าง

เว็บไซต์ดังกล่าวอธิบายต่อว่า "รัฐสภายังคงอยู่ได้ด้วยพระประสงค์ของกษัตริย์ แต่พระเจ้าเฮนรีที่ 8 และผู้สืบทอดราชบัลลังก์องค์ต่อ ๆ มาทรงทราบว่าสามารถทำตามพระประสงค์ได้ดีที่สุดผ่านการเห็นชอบของรัฐสภาในรูปแบบพระราชบัญญัติ"

อย่างไรก็ดี ร้อยปีต่อมา เกิดจุดแตกหักอีกครั้งระหว่างสถาบันกษัตริย์และรัฐสภาในสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองและอังกฤษกลายเป็นสาธารณรัฐอยู่ 11 ปี อย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในข้างต้น

ก้าวสำคัญของหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาคือ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ในปี 1688 (พ.ศ. 2231) ที่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงถูกโค่นจากราชบัลลังก์และทรงต้องลี้ภัย และพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ร่วมกันแทน

ผลลัพธ์จากเหตุการณ์นั้นคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิ (Bill of Rights) ในปี 1689 (พ.ศ. 2232) ซึ่งมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีประชุมรัฐสภาเป็นประจำ ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาอย่างเสรีมากขึ้น (แม้จะยังจำกัดกลุ่มคนที่มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวงแคบ) ให้เสรีภาพในการแสดงออกในรัฐสภา และลดอำนาจพระมหากษัตริย์

"นี่เป็นส่วนประกอบหลักของหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาเพราะว่าเป็นรัฐสภาที่เป็นผู้ตัดสินใจว่ากษัตริย์จะได้เงินเท่าไร พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 เป็นเหมือนผู้มาเช่าอยู่อาศัยเท่านั้น" ดร.มอร์ริสกล่าว

"ฝ่ายบริหารค่อย ๆ แยกออกจากกษัตริย์เรื่อย ๆ และปีที่คนมักนับกันคือปี 1717 (พ.ศ. 2260) ตอนที่พระเจ้าจอร์จที่ 1 ทรงยกเลิกการเสด็จไปร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรี"

และหลังจากนั้น ดร.มอร์ริส บอกว่า หลักนิติธรรมและหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภาก็พัฒนาจนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยมา ส่วนบทบาทและธรรมเนียมปฏิบัติของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เป็นผลลัพธ์ของพัฒนาการทางการเมืองอันยาวนานหลายร้อยปีนี้ โดย "ไม่จำเป็นว่าต้องมาจากข้อตกลงที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร"

ดร.มอร์ริสบอกว่า "เป็นที่เข้าใจกันว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่มีบทบาททางการเมือง พระองค์จะทำตามแต่เฉพาะที่คณะรัฐมนตรีถวายแนะนำ และเป็นคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบต่อรัฐสภาถึงคำแนะนำที่พวกเขาถวายแด่สมเด็จพระราชินี"



อ่านบทความเต็มที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-55235766
...
Prawais Prapanugool
6h ·
ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ สรุปเป็นข้อเดียวได้ว่า....กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย
ถ้ากษัตริย์ไม่ยอมอยู่ใต้กฎหมาย....จะยังมีระบบกษัตริย์อีกมั้ย??