วันจันทร์, กรกฎาคม 08, 2562

รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ เล่าถึงเพื่อนที่ชื่อสยาม ธีรวุฒิ ในงาน De-talk ล้างพิษรัฐประหาร (ขอขอบคุณที่รำลึกและพูดถึงผู้ลี้ภัย)





“สยามเป็นลูกชายของช่างแอร์ ย่านอ้อมน้อย ผมรู้จักเขาผ่านการแนะนำของน้องๆที่ทำกิจกรรมทางสังคมในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขามีนิสัยขี้อาย ไม่กล้าพูด เพื่อนชอบหัวเราะเขาเวลาที่เขาพูดอะไร ด้วยบุคลิกที่ไม่มั่นใจในตัวเองที่ทำให้เรามองว่า คำพูดของเขาเป็นเรื่องตลก สยามร่วมกิจกรรมทางการเมืองและแรงงานอย่างต่อเนื่อง กลุ่มของเราสนับสนุนให้มีการวิเคราะห์ทางการเมืองในแต่ละสัปดาห์ สยามมักจะเล่าเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ปัจจุบันยังสามารถหาอ่านได้บนเว็บไซต์ประชาไท สยามในฐานะนักแสดงของกลุ่มประกายไฟการละคร หลายท่านอาจจะเคยได้ยินละครเจ้าสาวหมาป่า กิจกรรมละครเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกการต่อสู้ทางการเมือง ละครทำให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพูดแต่แสดงออกทางร่างกาย
.
เขาจะร่วมกิจกรรมได้เมื่อว่างจากงานครอบครัว สยามจะบอกเราเสมอว่า พี่วันนี้ผมช่วยงานไม่ได้นะเพราะผมจะต้องออกไปช่วยพ่อล้างแอร์ แน่นอนว่า สยามมีพ่อและแม่ไม่ต่างจากพวกเรามี แน่นอนว่า สยามมีคนที่เขารักและรักเขาเหมือนที่พวกเรามี คำถามที่ผมคิดคือ ทำไมเขาต้องหนีไป ภายหลังการรัฐประหารนักกิจกรรมถูกเรียกไปรายงานตัว พยายามจะยัดเยียดคดีให้เช่น คดี 112 ผมและหลายคนถูกเรียกไปรายงานตัว วันที่ 29 พฤษภาคม 2557 เจ้าหน้าที่ถามว่า พวกเราอยู่ตรงไหนของผังล้มเจ้า เพราะเอารูปถ่ายผมที่คู่กับสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลและสมบัติ บุญงามอนงค์ ซึ่งเป็นภาพถ่ายที่ไปยืนเรียงติดกันเฉยๆเท่านั้น เจ้าหน้าที่เชื่อว่า ผมเป็นคนที่แก่ที่สุดในประกายไฟเป็นคนเขียนบทละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า แน่นอนว่า ผมปฏิเสธเพราะว่า ผมไม่มีความสามารถในการเขียน เว้นแต่บทความทางวิชาการ
.
ในห้องวันนั้นผู้มีอำนาจถามถึงสยามและเพื่อนๆในกลุ่มประกายไฟการละคร ผมตระหนักว่า สยามและเพื่อนๆจะต้องถูกดำเนินคดี 112 ภายหลังที่ออกมาจากการรายงานตัว ผมใช้โทรศัพท์สาธารณะ ผมไม่กล้าโทรหาเขาโดยตรง ผมโทรหาใครสักคนที่น่าจะมีเบอร์ของสยามว่า สยามอาจจะถูกดำเนินคดี 112 ต่อมาผมทราบว่า เขาหนีไป เพื่อนบางคนถูกจำคุก ระหว่างที่หนีไปผมรู้ว่า เขาลำบากมาก ไม่มีใครสนับสนุนนอกจากเงินเล็กน้อยที่มีคนส่งให้ ซึ่งผมไม่ทราบว่าเป็นกลุ่มใด พ่อแม่ของเขาถูกคุกคามมาตลอดจากคนที่รู้ว่า ใคร
.
หลังจากนั้นผมไม่ได้ตามข่าวเขามากนัก จนกระทั่งทราบข่าวว่า เขาข้ามไปยังเวียดนามและหายตัวไป จนบัดนี้เราทุกคนไม่รู้ว่า เขาหายไปไหน แน่นอนว่า สยามไม่ได้อยากจะหนี การกล่าวหาไม่มีใครถูกพิสูจน์ แต่ตัดสินไปแล้วว่า เขาผิดและเป็นภัย ไม่ควรจะเป็นคนไทย เหตุใดลูกชายของช่างแอร์ที่ตลก มีความรัก แน่นอนว่า เขามีคนที่แอบชอบ ซึ่งเป็นเพื่อนๆของเรานี่เอง สยามมีความฝัน แต่ต้องจบชีวิตลงแบบนี้ หรือสังคมนี้ไม่ต้องการคนที่มีความฝัน การจะมีความฝันได้จะต้องวางอยู่บนที่เรามีเสรีภาพ การมีชีวิตอยู่กับการมีเสรีภาพเป็นสิ่งเดียวกัน คุณจะบอกได้อย่างไรว่า คุณมีชีวิตอยู่เมื่อไม่มีเสรีภาพที่จะฝัน เวลาที่เราฝันถึงสิ่งใดสักอย่าง แสดงว่า สิ่งที่เรามีอยู่ไม่ดีพอ ในอีกด้านหนึ่งคือเราเชื่อว่า สังคมนี้มันจะเปลี่ยนแปลงได้ เราจะทำให้มันดีขึ้นได้ ผมเชื่อว่า คนจำนวนมากในประเทศนี้มีความฝันที่จะเปลียนแปลงสังคมที่เฮงซวยแบบนี้
.
ผมเพิ่งทราบว่า สยามร่วมจัดวิทยุกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ แต่ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะมองเขาอย่างไร ผมมองว่า เขาคือสยามที่ยืนยันเสรีภาพของความฝัน ความพยายามที่จะยืนยันความมีชีวิตอยู่ของเขา ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศนี้ให้ชีวิตเขาไม่ได้ ในทางรัฐศาสตร์หากสังคมหรือระบอบการเมืองใดไม่สามารถอดทนการเปลี่ยนแปลงที่มาจากการเรียกร้องของสมาชิกในสังคมมันสะท้อนว่า สังคมนั้นเจ็บป่วย กรณีผู้ลี้ภัย การอุ้มหาย การทำร้ายนักกิจกรรม คืออาการป่วยไข้ของสังคมนี้ ที่เป็นสังคมที่รังเกียจและเบียดขับความเป็นมนุษย์
.
การหาความจริงคือ จุดเริ่มต้นคือ การแก้ไขอาการป่วยไข้ของสังคม ที่ผ่านมามีสโลแกนว่า เราทุกคนคือสยาม คือสโลแกนที่สะท้อนความจริง เราคือสยามจริงๆ ถ้าใครไม่เป็นสยาม เราจะเป็นสยามจริงๆ มาถึงจุดนี้ผมขอเรียกร้องให้เราแก้ไขความป่วยไข้ของสังคม ผมไม่รู้ว่า ผมจะอยู่กับคนที่กระทำความรุนแรงได้อย่างไร เราต้องการรู้ความจริงว่า เขาอยู่ที่ไหน”
-----------------------
De-Talk ช่วงที่ 1 - ลี้ภัยจากพิษรัฐประหาร
De-Talk2: เพื่อนสยาม โดย รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
งาน De-talk ล้างพิษรัฐประหาร ทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชนเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562

iLaw
...