วันอังคาร, กรกฎาคม 09, 2562

การใช้เครื่องแต่งกายเป็นการแสดงออกทางการเมืองในสภา ไม่ใช่เรืองใหม่ และไม่เคยลงตัวในสภาทั่วโลก เพราะรัฐสภาเป็นเวทีหนึ่งของการแสดงออกไง





รัฐสภานั้น ไม่ได้เป็นแต่เพียงแค่สถาบันทางการเมืองที่มีไว้ออกกฎหมายเท่านั้น หากแต่ยังเป็นที่ๆบรรจุไปด้วยพิธีกรรม (ceremony, ritual) และการแสดง (performance) ต่างๆ ที่ผลิตสร้างความหมายของประวัติศาสตร์ของการสร้างชาติ ตลอดจนการแสดงแทนหรือเป็นตัวแทนของอัตลักษณ์และผลประโยชน์ของกลุ่มชนต่างๆที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นชาติอีกด้วย

จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ด้านที่เป็นสุนทรียศาสตร์ และการแสดง (performative) ของพิธีกรรมต่างๆของรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นระเบียบที่กำกับร่างกาย หรือการแสดงออกในแบบต่างๆ จึงถูกให้ความสำคัญและเป็นพื้นที่ของการคัดง้างที่ดุเดือด ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า เนื้อหาที่ขับเคี่ยวกันในสภา

พัฒนาการของรัฐสภา ในฐานะการเมืองตัวแทน (representative politic) จึงไม่อาจแยกออกจากการแสดงของตัวแทน (performing representation) ที่ปรากฏในพิธีกรรมและการแสดงออกต่างๆในชีวิตประจำวันของรัฐสภา

เครื่องแต่งกายก็เช่นกัน

คำถามว่าด้วยเครื่องแต่งกายในรัฐสภาควรเป็นเช่นไร เป็นคำถามที่มีมิติทางการเมืองมากเท่าๆกับที่เป็นคำถามเรื่องตัวเลือกส่วนบุคคล ที่มีในแทบทุกประเทศ และมีมานาน Cin Sian Thang ส.ส.ชาว Zomi จากรัฐชิน ในพม่า ซึ่งได้ที่นั่งในสภาเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2015 ได้กล่าวกับ Renaud Egreteau ว่า ในวันแรกของรัฐสภา เขาแทบไม่รู้ว่าควรจะแต่งกายอย่างไร เพราะชาวชิน ไม่เคยได้มีโอกาสเป็นตัวแทนทางการเมืองในรัฐสภาของพม่ามาก่อน (Egreteau 2018) ทั้งนี้ รัฐสภาพม่า กำหนดให้การแต่งกายของสมาชิกสภาฯเป็นไปตามอัตลักษณ์พื้นเมือง โดยสามารถแต่งกายตามชาติพันธุ์ของตนได้

ประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายในสภาของพม่า ในด้านหนึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์การพยายามสร้างชาติ และชาตินิยม ที่ถูกนิยามผ่านการฉีกตนเองออกจากอำนาจการปกครองของเจ้าอาณานิคมตะวันตก และในอีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนการพยายามใช้อาภรณ์เป็นเครื่องมือทางการแสดงประเภทหนึ่ง ที่อนุญาตให้ความหลากหลายของชาติพันธุ์สามารถดำรงอยู่ได้ ผ่านเสื้อผ้าอาภรณ์พื้นเมืองของตัวแทนทางการเมืองของพวกเขา แม้ว่าความเป็นจริงนอกสภา จะเป็นอีกเรื่องก็ตามที ในแง่นี้เสื้อผ้าแบบตะวันตก จีน และอินเดีย จึงเป็นสิ่งต้องห้ามในรัฐสภา

พม่าน่าจะไม่ใช่ประเทศแรก ที่ใช้การแต่งกายของส.ส. เป็นเครื่องสะท้อนความเป็นชาติที่สะท้อนประวัติศาสตร์การต่อต้านเจ้าอาณานิคมตะวันตก ประเพณีเช่นนี้ เริ่มมาก่อนหน้านานแล้วในอินเดีย การสลัดเน็คไทและเสื้อสูทผ้าตะวันตกออกไป หันไปหา ผ้าฝ้ายทอมือ Khadi เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านระเบียบอำนาจของเจ้าอาณานิคมอังกฤษในอินเดียตั้งแต่ยุคคานธี ที่สืบกันมาจนถึงรัฐสภา

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้แปลว่า ชุดพื้นเมืองแบบอินเดีย จะเป็นมาตรฐานเดียวที่กำหนดการแต่งกายในรัฐสภา ในความเป็นจริงแล้ว ความที่ไม่มีกฎตายตัวว่า แต่งอย่างไร จึงจะเป็น “อินเดีย” แฟชั่นการแต่งกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมู่ส.ส.ชาย จึงเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามรสนิยม ในสภาและในรัฐพิธีสำคัญๆ ผู้ชายมักสวมใส่ Pyjama-kurta เสื้อผ้าฝ้ายหรือไหมไม่มีปก แขนยาว ปล่อยชาย และ Veshti สำหรับผู้แทนจากภาคใต้ แต่สำหรับ นักการเมืองฝ่ายซ้ายแล้ว พวกเขาอาจเลือกที่จะสวมเสื้อและกางเกงสีเรียบๆแบบตะวันตก เพื่อสะท้อนอุดมการณ์ที่ต่างออกไปจากพวกอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าจะต้องสวมชุดตามประเพณี อาทิ ส่าหรี และเสื้อพื้นเมืองประเภทอื่น

กาละและเทศะ ของการแต่งกายในสภาของอินเดีย จึงเป็นเรื่องการตีความ สิ่งที่เรียกว่า “ประเพณีปฏิบัติ” มักถูกท้าทาย และตีความใหม่อยู่เสมอ เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ส.ส.สาวสองคน Nusrat Jahan และ Mimi Chakroborty ผู้ผันตนเองจากนักแสดงมาสู่วงการเมือง ลุกขึ้นมาแหวกขนบรัฐสภาอินเดีย ด้วยการสวมเสื้อกางเกงทันสมัยแบบตะวันตก และโพสต์รูปของตนเองหน้าตึกรัฐสภา แน่นอน เรื่องนี้ กลายเป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนวงการ และเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่นักอนุรักษ์นิยมในโซเชียลมีเดีย แต่รัฐสภาอินเดีย ก็ไม่อุตริ เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สร้างปัญหาอะไรให้กับรัฐสภา ที่จะต้องลุกขึ้นมาสร้างกฎระเบียบอะไรใหม่ให้วุ่นวาย

นอกจากนี้ หากการเมืองเรื่องเครื่องแต่งกายในสภา เป็นการเมืองเรื่องร่างกายแล้ว ร่ายกายของผู้ชาย ก็เป็นพื้นที่ของการแสดงแทนทางอำนาจ ที่เรียกร้องความจงรักภักดีต่อรัฐ ต่อประเพณี ไม่น้อยไปกว่าผู้หญิง ในสหรัฐอเมริกา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เครื่องแต่งกายในสภา สามารถถูกพิจารณาในฐานะที่เป็นเครื่องวัดประการหนึ่ง ถึงอิทธิพลของอนุรักษ์นิยมทางการเมือง และกระแสเลี้ยวขวาทางเศรษฐกิจที่ทวีอำนาจมากขึ้น เมื่อหลายมลรัฐเริ่ม ออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับเครื่องแต่งกาย ซึ่ง ส.ส.ชายนั้น ถูกคาดหวังให้แต่งสูทธุรกิจ โดยที่การผูกเน็คไท เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ การไม่ผูกไท จึงกลายเป็นประเด็นที่มักถูกหยิบยกมาโจมตีอยู่เนืองๆ ทั้งในสหรัฐฯและในอังกฤษ

และด้วยเหตุนี้ การไม่ผูกเน็คไท จึงกลายเป็นสมรภูมิทางชนชั้นอันดุเดือด เมื่อการสลัดเน็คไท ถูกทำให้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของการต่อต้านทางชนชั้น เมื่อสองปีก่อน ส.ส.ของพรรคการเมืองซ้ายสุดขั้ว อย่าง Insoumise ในฝรั่งเศส พร้อมใจกัน ไม่ผูกไทไปสภา โดยกล่าวว่าเพื่อเป็นการสร้างภราดรภาพกับชนชั้นแรงงานในฝรั่งเศส และมีนัยกระทบไปถึงประธานาธิบดีมาครง ผู้มักแต่งตัวด้วยสูทธุรกิจและเน็คไทอย่างดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในสายตาของฝ่ายซ้ายฝรั่งเศส สะท้อนจุดยืนทางชนชั้นนายทุนของผู้นำของประเทศ

ซ้ายฝรั่งเศสไม่ใช่ซ้ายกลุ่มแรกที่ใช้เครื่องแต่งกายเป็นการแสดงออกทางการเมือง ในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจของกรีซ นายกรัฐมนตรีของกรีซ ก็เคยปฏิเสธที่จะผูกไทในการประชุมนานาชาติ โดยให้เหตุผลว่า จนกว่าปัญหาหนี้สินของกรีซจะได้รับการแก้ไขลุล่วงได้ อันสะท้อนนัยของการสลัดเครื่องแต่งกายของชนชั้นนำ ลงมายืนกับประชาชนในยามยากลำบาก ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีของอุรุกวัย ก็เคยกล่าวโจมตีการผูกเน็คไทว่า เป็นตัวอย่างของลัทธิบริโภคนิยมอย่างล้นเกินของทุนนิยม

กาละเทศะของการแต่งกายในสภาของผู้ชาย ในโลกตะวันตก นอกจากจะไม่เคยลงตัว และห่างไกลจากการจะหาข้อสรุปรวบยอดในทางเดียวแล้ว ยังเป็นสนามของ "การเมืองของการปรากฎ" ที่เข้มข้นและดุเดือด ไม่น้อยไปกว่าเครื่องแต่งกายของส.ส.หญิง

การเมืองของการแต่งกายในสภาทั่วโลก จึงสะท้อนความไม่ลงรอย และคัดง้าง ของสิ่งที่เรียกว่า ชาติ ที่ทั้งถูกประดิษฐ์สร้างและถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา สำหรับในไทย ความกระวนกระวายต่อเครื่องแต่งกายในสภา เป็นกระจกสะท้อนภาวะการเมืองที่ใหญ่กว่าเครื่องแต่งกายเป็นอย่างดี ซึ่งได้แก่ ความสั่นคลอนของอำนาจการผูกขาดความหมายของอัตลักษณ์ความเป็นชาติ ที่ทั้งเสื่อม และไม่มั่นคง และฟางเส้นสุดท้ายของความสั่นคลอนและหวาดกลัวดังกล่าว ได้แก่ สุนทรียศาสตร์ ว่าด้วยการแต่งกายนั่นเอง


Pinkaew Laungaramsri