นโยบายที่ใช้หาเสียงเกิดจะยังทำไม่ได้อีกอย่างแระ
รัฐบาลประชารัฐ ณ คสช. ที่ว่าจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ๑๐ เปอร์เซ็นต์รวด
ต้องรอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียก่อนว่าจะทำได้ไหม
รมว.คลังใหม่หน้าเก่าเผยอแย้มกลีบลำดวน นายอุตตม
สาวนายน เปิดเผยหลังจากเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบิกฤกษ์ก่อนเข้ากระทรวง อ้าง “ตอนหาเสียงพูดแต่ภาพใหญ่
ถึงเวลาทำงานจริงต้องมาดูรายละเอียดกันว่าทำได้หรือไม่อย่างไร”
แหม รอบคอบดีจัง รีบบอกก่อนกลัวพังทีหลัง ถึงอย่างนั้นก็บ้อท่าไปแล้วละ
มีอย่างที่ไหนวางนโยบายโดยไม่คิดทางได้ทางเสียไว้เสียก่อน
ขนาดแม่ค้าขายผักก่อนจะทำ ‘โปร’ (โมชั่น) เขายังคิดแล้วจะเอาแบบซื้อกำแถมกำ หรือลดราคาต่อกำ
หรือขายราคาเดิมแต่ลดปริมาณ
นี่ถือเป็นพรรคของ คสช.
พูดอะไรก็ได้ไม่แคร์จะถูกผิด สมเหตุสมผล หรือว่าต้องตรงกับความเป็นจริงไหม
ทำเป็นเฮียฉุนนึกจะพูดอะไรก็พูดไปก่อน พูดแล้วไม่ค่อยยอมแก้แม้ผิด ใช้วิธีแถสไตล์นักลอกการบ้าน
แถมยังคายขี้เลื่อยในสมองอีกว่า
“ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ๑๐%
ตามที่หาเสียงไว้ก็เป็นเรื่องของการคาดหวัง รัฐบาลเข้าใจแต่รัฐบาลต้องหารือวิธีปฏิบัติว่าจะทำได้หรือไม่”
ใช่สิ แต่ทางที่ควรคือต้องหารือก่อนประกาศออกไป คนธรรมดาที่ไหนก็รู้
ไม่ต้องเป็นถึงผู้วิเศษอย่าง คสช. หรือ พปชร.
ขนาดลูกน้องเคยบอกไว้แล้ว นายเอกนิติ
นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร แจ้งก่อนหน้านี้ว่าการลดภาษีอย่างนั้น “จะกระทบทำให้การเก็บภาษีหายไปจำนวนมาก
ซึ่งกรมสรรพากรต้องเสนอแนวทางการเก็บภาษีอื่นเพิ่ม”
กระทั่งลูกไล่อย่างพรรค ปชป. ก็ยังติง อดีต
รมว.คลัง อย่างกรณ์ จาติกวนิช แจงว่าพรรคตนก็มีนโยบายลดภาษีเงินได้เหมือนกัน แต่ลด
๒๐% จากอัตราที่เคยเสีย เช่นเคยจ่าย ๒๐ ก็ลด ๒๐% จากจำนวนนั้นเป็นจ่ายแค่ ๑๖ บาท
ส่วนของพลังประชารัฐเหมือนจะพูดพล่อยว่าลดรวด
๑๐% ดังเช่นที่เคยจ่ายในอัตรา ๒๕% ก็ให้เหลือแค่ ๑๕% มันต่างกันเยอะ คิดสาระตะแล้วของ
ปชป. ลงเอยอยู่ที่อัตราสุดท้าย ๒๕-๔ =
๒๑% พอสมน้ำสมเนื้อ ในเมื่อภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปัจจุบันเก็บได้ที่
๔.๙ แสนล้านบาทเท่านั้น
ถ้าลดอัตราเหลือ ๑๕%
รายได้ภาษีส่วนนี้จะเหลือเพียงไม่ถึง ๓ แสนล้านบาท ดูจากประกาศกระทรวงการคลังเมื่อสิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
หนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่กว่า ๖.๙ ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ ๔๑.๗๘
ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี
แสดงว่าฐานะการคลังในวันที่
รมว.คนใหม่หน้าเก่าเข้าไปบริหารจัดการ ยังคงบักโกรกบักอานพอดู
ไหนจะปัญหาค่าเงินบาทแข็งเอาแข็งเอาเหมือนกินไวอะกร้า ถึงอ้างว่าเป็นเพราะสถานการณ์โลก
เงินดอลลาร์อ่อนปวกเปียกเนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างคู่ตุนาหงันการค้าสหรัฐ-จีน
แต่ภาวะการณ์ภายในประเทศธนาคารแห่งประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้ มีการการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือ ๓.๓%” จากที่คุยไว้ ๓.๕ และที่โวก่อนหน้านั้นอีกว่าจะถึง ๔
แบ๊งค์ชาติกำลังเป็นห่วงว่าจะเจอวิกฤติ “ถูกแทรกแซงค่าเงิน”
อีกเหมือนเมื่อครั้ง ‘ต้มยำกุ้ง’ ซึ่งนายวีรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
แจงว่าการแก้ไขตามทฤษฎีปกติที่เคยใช้ได้ผล เหมือนกินพาราเซ้ทตาม่อน
ตอนนี้ไม่ได้แล้ว
เพราะ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค
การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ส่งผลมากนักกับการแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็ง”
อันเนื่องมาแต่ “ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมไม่ได้ลดลง”
ความเสี่ยงที่เพิ่มมานี้มีทั้ง “หนี้ครัวเรือนสูง
การเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนมีพฤติกรรมลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และการออกกฎหมายความคุมสหกรณ์ออมทรัพย์ล่าช้า”
ปัญหาปกติในการบริหารจัดการเศรษฐกิจการเงินประเทศ
เมื่อก่อนตอน ๕ ปีที่แล้ว แก้ตัวน้ำขุ่นๆ กันด้วยการโทษรัฐบาลชุดก่อน
ตอนนี้ร่ำๆ จะโทษใครก็ไม่ได้โทษเศรษฐกิจโลกละวะ แต่ว่าเรื่อง ‘รูทีน’ งานประจำที่ต้องทำในการรักษาสุขภาพทางเศรษฐกิจของประชากรยังกระท่อนกระแท่น