วันอาทิตย์, กรกฎาคม 07, 2562

สรุปเรื่อง #อุตตมปล่อยกู้กรุงไทย ควรค่าแก่การอ่านมาก




สรุปเรื่อง #อุตตมปล่อยกู้กรุงไทย ควรค่าแก่การอ่านมากครับ

1. คดีปล่อยกู้กรุงไทย เป็นคดีที่ คตส. ส่งเรื่องฟ้องทักษิณและพวกว่าปล่อยกู้ขัดต่อกฎหมายให้กับเครือกฤษฎามหานคร ที่มีสถานะในกลุ่มลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร และกฤษดามหานครเป็นหนี้อยู่กับสถาบันการเงินอีกหลายแห่ง แต่กรรมการบริหารกลับใช้เอกสารประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อเพียง 2 แผ่น และใช้เวลาในการพิจารณาเพียง 15 นาที จนนำไปสู่การใช้จ่ายเงินอย่างผิดวัตถุประสงค์ในการขอสินเชื่อ และสร้างความเสียหายแก่ธนาคารกรุงไทย

หมายเหตุ : คตส. เป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาหลังการรัฐประหารปี 2549 เพื่อจัดการกับทักษิณโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะมีการตั้งคนที้เป็นปฏิปักษ์กับทักษิณเป็นกรรมการ มีธงเร่งรัดคดี ไม่ได้ใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติ

2. นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย ได้ร่วมลงนามปล่อยกู้ครั้งนี้ และลงนามรับรองรายงานการประชุมที่ปล่อยกู้ซ้ำอีกรอบหนึ่งด้วย

3. มีความพยายามโยงการปล่อยกู้ครั้งนี้ไปยัง “Big Boss” ว่าเข้ามาสั่งการบีบบังคับให้มีการปล่อยกู้ ซึ่งเป้าหมายต้องการซัดทอดไปยังทักษิณว่าเป็น Big Boss โดยนายอุตตมและนายชัยณรงค์อ้างว่า Big Boss ได้โทรศัพท์มาล็อบบี้ให้ปล่อยกู้แก่เครือกฤษดามหานคร ซึ่งนายอุตตมเองก็ตอบไม่ได้ว่า Big Boss นั้นคือใคร

4. ด้วยเหตุนี้นายอุตตมและนายชัยณรงค์จึงถูก ป.ป.ช. และ คตส. กันไว้เป็นพยาน ไม่สั่งฟ้องร่วมกับกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยอีก 3 คนที่เหลือ ที่ร่วมกันอนุมัติเงินกู้ในครั้งนี้ ต่อมาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษาจำคุกกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยทั้ง 3 คน เป็นเวลา 18 ปี ยกเว้นนายอุตตมและนายชัยณรงค์ที่ถูกกันเป็นพยาน

5. นายอุตตมพยายามอ้างว่าตนไม่รู้ไม่เห็น และคัดค้านการปล่อยกู้ดังกล่าว แต่หลักฐานเชิงประจักษ์พบว่านายอุตตมได้ลงนามรับรองรายงานการประชุมที่มีการปล่อยกู้ให้แก่เครือกฤษดามหานคร และในรายงานการประชุมก็ไม่ปรากฏว่านายอุตตมได้คัดค้านแต่อย่างใด อีกทั้งการจะปล่อยกู้เงินจำนวน 9,900 ล้านบาทนั้น ต้องใช้ “มติเอกฉันท์” ของกรรมการบริหาร จะมีกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งไม่เห็นด้วยไม่ได้

ดังนั้น การที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้แก่เครือกฤษดามหานครได้ นายอุตตมก็ต้องเห็นชอบด้วย ถึงจะสามารถปล่อยกู้ได้

6. อีกทั้ง หลักเกณฑ์ในการกันบุคคลที่กระทำความผิดไว้เป็นพยานจะต้องมีความผิดที่หนักเบาต่างกัน แต่สำหรับคดีนี้ ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลที่ต้องกันไว้เป็นพยาน เพราะพยานหลักฐานในการลงชื่อเข้าร่วมประชุมก็มีความชัดเจนเพียงพอแล้ว และกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทยทุกคนมีความผิดหนักเบาเท่ากัน คือ อยู่ในสถานะเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อร่วมกัน

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมหลังการรัฐประหารปี 2549 ได้ให้การช่วยเหลือนายอุตตมเป็นการเฉพาะหรือไม่ ?

7. วันนี้นายอุตตมกำลังจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ต้องกำกับดูแลธนาคารกรุงไทยอีกครั้ง แต่ประวัติของท่านกลับไม่ใสสะอาด ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ซื่อสัตย์ และปล่อยกู้ส่งเดชจนธนาคารกรุงไทยเกือบเจ๊ง การดำรงตำแหน่งของท่านจะขาดความสง่างาม และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรี (4) มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และ (5) ว่าด้วยไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

นายอุตตมต้องชี้แจงสังคมให้ได้ครับ ด้วยการนำหลักฐานเชิงประจักษ์มาหักล้างกับหลักฐานเหล่านี้ เพื่อให้ท่านพ้นมลทินและให้สังคมหายเคลือบแคลงสงสัยท่าน ว่าท่านไม่ได้กระทำผิด และไม่ได้รับประโยชน์จากกระบวรการยุติธรรมหลังการรัฐประหารแต่อย่างใดครับ เราทุกคนรอฟังท่านอยู่นะครับ

ที่มา FB
ธนวัฒน์ วงค์ไชย - Tanawat Wongchai