วันพุธ, กรกฎาคม 17, 2562

'คดีแพรวา' กระหึ่มใหม่ เลี่ยงจ่ายชดใช้ผู้เสียหายทั้งที่อ้างศาลว่ามั่งมี


คดีแพรวาครบ ๙ ปีกลับมากระหึ่มอีก เรื่องนี้จบไปตั้งนานแล้วมิใช่หรือ นั่นสิ น่าจะใช่ “ในทางอาญาสิ้นสุดไปแล้วเมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาจำคุก แพรวา ๒ ปี โทษรอลงอาญา ๓ ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติห้ามขับรถจนถึงอายุ ๒๕ ปี”

แพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา เด็กสาววัยย่าง ๑๗ ปี ซึ่งขับรถเก๋งฮอนด้าซิวิคชนรถตู้รับส่งผู้โดยสารจากธรรมศาสตร์ รังสิต บนทางด่วนโทลเวย์ทำให้รถตู้เสียหลักพลิกหลายตลบ ผู้โดยสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา เสียชีวิต ๙ คน

คดีนั้นเป็นที่กล่าวขานนานแรมปีว่า แพรวา ๙ ศพเหตุเพราะผู้กระทำผิดเคยกล่าวในทางสาธารณะครั้งหนึ่งว่า “โกรธมากที่รถตู้ไม่หลบ รถของเธอเสียหายยับเยิน และผู้ตายก็กระเด็นออกมานอกรถเอง” ทว่า ข่าวสดอิงลิชกล่าวถึงว่า

“เธอได้กลายเป็นสัญญลักษณ์ของคนมั่งมีและทรงอิทธิพล ที่สามารถหลีกเลี่ยงโทษจากความผิดทางอาญาได้ ไม่ต้องถูกคุมขังในคุก เพียงแค่ศาลสั่งให้ไปบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ๑๓๘ ชั่วโมง ซึ่งทำเสร็จเมื่อปี ๒๕๕๙”

 
ในทางแพ่ง คดีแพรวาถูกลากถูลู่ถูกังด้วยการต่อสู้ของทนายเช่นเดียวกับคดีอาญา คดีเริ่มเมื่อ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ มาสิ้นสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒ นี่เอง ศาลสั่งให้จำเลยจ่ายค่าเยียวยาต่อผู้เสียหาย ๙ ครอบครัว จากมูลค่าทั้งสิ้น ๓๐ ล้านบาท เหลือ ๑๙.๘ ล้านบาท

ตินตินวรัญญู เกตุชู ผู้โดยสารรถตู้คนหนึ่งซึ่งรอดตายจากอุบัติเหตุเดือนธัวา ๕๓ จุดกระแสวิพากษ์คดีแพรวาขึ้นมาจากการโพสต์ข้อความ “เรารู้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิด เธอไม่ได้ตั้งใจ แต่ ๙ ปีที่ผ่านมานั้น เธอและครอบครัวกลับไม่สนใจอะไรเลย”

ปัญหาอยู่ที่หลังจากมีการไกล่เกลี่ยในศาลให้จำเลยชดใช้ “ผ่านมา ๙ ปีแล้วเขาถึงจะยอมทำ คือเขาเสนอให้ก้อนนึงจะได้จบๆ เราตกลงถึงแม้มันจะไม่เท่าที่ศาลตัดสิน มันเหนื่อยเหลือเกินแล้ว ผ่านไป ๑ เดือน มาบอกจะหักอีกครึ่ง”

เมื่อถูกท้วงทัก ธีรวุธ อรุณวงศ์ ทนายจำเลยซึ่งวรัญญูอ้างว่าเป็นลุงของแพรวากลับบอกว่า “ถ้าไม่เอาก็ต้องเอา ไปฟ้องบังคับคดีเอา ฟ้องไปก็ไม่ได้อะไรนะ” พ่อแม่ของผู้เสียชีวิตอีกสี่รายก็ให้สัมภาษณ์ไทยรัฐทีวีว่าไม่เคยได้รับเงินชดเชยค่าเสียหายด้วยเหมือนกัน

“ไม่มีแม้แต่รอยยิ้มจากแพรวาหรือครอบครัวของเธอ” ชุติมา นิ่งวัน มารดาของสุดาวดี หญิงสาวที่เสียชีวิตรายหนึ่งกล่าว เช่นดียวกับคำบอกเล่าของ Thawin Chaotiang มารดาบุญธรรมของผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุอีกคนที่เป็นหมอ

“เวลาทนายจำเลยพูดกับเราไม่ค่อยจะโอภาปราศรัยนักหรอกนะ เขาใช้น้ำเสียงแบบว่าอยากได้เงินใช่มั้ย ก็สู้ต่อไปสิ” ทำนองเดียวกับคำเล่าของวรัญญูที่ว่า “เธอเคยมาเยี่ยมผมที่โรงพยาบาลครั้งหนึ่ง นั่งรถเข็นเข้ามา

แม่เธอบอกให้ขอโทษเธอก็พูดขอโทษคำเดียว เธอเอาขนมบ้านอัยการให้แล้วถ่ายรูปด้วย พยาบาลเล่าให้ผมฟังว่าเธอเดินเข้าโรงพยาบาลอย่างดี พอถึงหน้าวอร์ดก็ขอรถเข็นนั่งเข้ามา”

วรัญญูเขียนบนทวิตเตอร์อย่างอัดอั้น “เอ้ยนี่เราไม่ขอทานป่าว...เงินเท่านั้นกับการแลกกับนอนเตียงนิ่งๆ ขยับไม่ได้ ๒ เดือน ขี้เยี่ยวบนเตียง ใครจะเอา หัดเดินอีก ๒ ปี” เขาอ้างถึงค่าชดเชยในส่วนที่เขาควรจะได้จากที่ฟ้องเรียกไว้ ๑ ล้านบาท

“เขาไม่เคยจ่ายอะไรเลย ค่ารักษาพยาบาล ๔-๕ แสนบาท ประกันภัยรถยนต์เป็นคนจ่ายทั้งหมด แต่หลังจากออก รพ. เวลาไป follow up เราก็ต้องออกเอง” รวมกับค่าใช้จ่ายติดตามคดีและค่าธรรมเนียมศาล น่าจะสูงกว่าหลักล้าน ไม่นับค่าเสียโอกาสต่างๆ

พ่อแม่ของแพรวาซึ่งตกเป็นจำเลยที่ ๒ และ ๓ เนื่องจากขณะเกิดเหตุผู้กระทำผิดยังไม่บรรลุนิติภาวะ อ้างต่อศาลขอทุเลาการบังคับคดีว่า “เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ ๑ มีฐานะมั่นคง และอยู่ในวงตระกูลที่มีชื่อเสียงในสังคม...

และ ยังเป็นทายาทของ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและประกอบคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติโดยตลอด” ซ้ำยังมีฐานะดี มีเงินทองพอชำระหนี้ได้ตามพิพากษา แต่อิดเอื้อนอยู่ขณะนี้เพราะ “มีโอกาสที่จะชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ได้”

พล.อ.ยศที่ถูกอ้างในครั้งนั้นเคยเป็นราชนิกุลใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชในรัชกาลที่ ๙ เมื่อยังทรงพระเยาว์เสด็จไปมาหาสู่อยู่ค้างแรมประจำที่บ้านของ พล.อ.ยศ จึงไม่แปลกที่ขณะนี้แพรวามีตำแหน่งการงานในกองสารนิเทศฯ สำนักนโยบายและแผนกลาโหม

แม้นว่าหลังเกิดคดีอื้อฉาว น.ส.แพรวาได้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ อรชร ก่อนที่จะเปลี่ยนอีกครั้งเป็น บัวบูชา จนเมื่อตกเป็นข่าวในงานรับน้องใหม่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ปี ๒๕๕๕ ปรากฏว่าเธอใช้ชื่อ รวินภิรมย์ อรุณวงศ์ และเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามีหลังจากสมรสกับ สรวีย์ รัฐพิทักษ์ถิรดา ในปี ๒๕๕๗

สุดท้ายวรัญญูบอกว่าไม่หวังอะไรจากค่าเสียหายอีกแล้ว “ผมไม่อยากได้แล้วครับ” เขามีอาชีพการงานมั่นคง “ยืนยันว่าไม่ได้โกรธคู่กรณีเพียงแต่ผิดหวังในการแสดงออก ความรู้สึกผิดชอบที่ค่อนข้างบิดเบี้ยว ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมบางเรื่องบางราว”