วันเสาร์, กรกฎาคม 06, 2562

ฝ่ายค้านทั้งแม่นและคึกคัก ไม่ยั่น "ชั้นเชิงการเมืองอย่างเลว" ฝ่ายตรงข้าม

เอ๊า ถึงรัฐบาลจะตั้งเสร็จ รายชื่อ ครม.ส่งเข้าวัง รอโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าถวายสัตย์ โดยมีหรือไม่มีผู้กอง (ธรรม) นัส อดีต ร.ท.พชร เสือกองสลากที่ถูกปลดจากราชการเมื่อปี ๔๑ เพราะเป็นเพียงโผนั่งเทียนของสื่อก็ตามเถอะ
 
ควรไหมนี่ที่พรรคหลักของ คสช. จะประกาศแช่แข็งนโยบายที่ใช้หาเสียงเอาดื้อๆ ตั้งแต่นกกระจอกยังไม่กินน้ำ เมื่อกอบศักดิ์ ภูตระกูล โฆษกพลังประชารัฐบอกว่านโยบายขึ้นค่าแรงเป็นวันละ ๔๐๐-๔๒๕ บาท เก็บใส่ลิ้นชักไว้ก่อน ตอนนี้ยังทำไม่ได้ (ขืนทำโดนเจ้าสัวด่าตายโหง สิท่า)

กอบศักดิ์บอกด้วยว่าจะยังเอาใจคนชั้นกลางชาวกรุงให้ต่อเนื่อง ฉะนั้นค่าแรงปริญญาตรี ๒ หมื่นต่อเดือน กับค่าแรงอาชีวะ ๑ หมื่น ๘ พันต่อเดือนทำได้ ที่ค่อนข้างห่วงแค่การอภิปรายแถลงนโยบายและเรื่องงบประมาณ

เห็นฝ่ายค้านตั้งท่าฟัดแหลกแน่ ถึงต้องคุยพวกพรรคร่วมไว้ให้ดี อย่าปล่อยรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำ


อ่านเกมวิธีเอาชนะฝ่ายค้านของพลังประชารัฐได้ไม่ยาก จากที่ ส.ส.ราชบุรี ปารีณา ไกรคุปต์ ตามจิกตามทึ้ง พรรณิการ์ วานิช ส.ส.อนาคตใหม่ไม่หยุดหย่อน นอกจากเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมแล้วยังมีเป้าหมายโยงใยไปถึงเรื่องหมิ่นสถาบัน

เช่นเดียวกับ ธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรค พปชร. ที่ดูเหมือนงานหลักอยู่ที่คอย ดิสเครดิตพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะหัวหน้า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเลขาธิการ ปิยบุตร แสงกนกกุล หาว่า “วันๆ คิดแต่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ คิดแต่เรื่องการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ”

แหม่ ก็นั่นนโยบายหลักของเขา ไม่เหมือนพลังประชารัฐที่นโยบายหลักเก็บไว้ก่อนได้ เอาแต่นโยบายสร้างคะแนนนิยมกับฐานเสียง ทำเป็นนิสัยทรั้มพ์ไปได้ที่หาเสียงกระทั่งในงานวันชาติ เป็นปรากฏการณ์อเมริกันไม่เคยมีประธานาธิบดีคนไหนทำอย่างนี้มาก่อน

แต่ประการสำคัญของวิธีการ คสช. ที่พยายามยัดข้อหาต่อต้านสถาบัน ชั้นเชิงการเมืองอย่างเลวเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นการแอบอ้าง โหนเจ้า ทั้งที่พระเจ้าอยู่หัวฯ ก็ทรงพระเกษมสำราญดีอยู่ที่สตรานเบิร์ก

นอกจากกล่าวหาธนาธร-ปิยบุตรเพื่อปกป้องประยุทธ์แล้ว รองโฆษก พปชร. ไม่เว้นโยงเข้าเรื่อง ล้มเจ้าให้ได้ จู่ๆ ก็ทะลุกลางปล้องว่า “รับไม่ได้ที่นายธนาธรและนายปิยบุตร ยืนอยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่คนไทยรักและศรัทธา” (เขาหมายถึงประยุทธ์หรือเปล่านั่น)

ประการสำคัญยิ่งกว่า อยู่ที่การโจมตีคู่แข่งด้วยข้อหาอันเป็นเท็จ สักแต่จะด่าว่าเขาให้เสียหายเป็นใช้ได้ “ผมไม่เคยเห็นคุณธนาธรพูดถึงเรื่องนโยบายที่จะแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนเลย” ในเมื่อตลอดกว่าสามเดือนที่ผ่านมาหลังการโหวตนายกฯ แล้วพรรคหลักฝ่าย คสช.ไม่ค่อยโผล่หน้าไปสภากันนัก


เป็นเพราะเหตุนั้นกระมังทำให้ธนกรไม่รับรู้ว่าฝ่ายค้านเขาอภิปรายเรื่องปากท้องของประชาชนไปถึงไหนแล้ว ขอยกตัวอย่างพรรคอนาคตใหม่จากการอภิปรายประเด็นการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรกรรมราคาตกต่ำ มีการยื่นกระทู้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้น

ควรที่ฝ่ายรัฐบาลต้องเงี่ยหูฟัง ไหนๆ รัฐบาลที่แล้วซึ่งทีมเศรษฐกิจยกทั้งกระบิมาอยู่รัฐบาลใหม่มีวิสัยทัศน์ลอกการบ้านดีๆ จากสมัยทักษิณมาใช้ แม้จะไม่ได้เห็นผลเพราะปรับใช้ไม่เป็นก็ตาม

นอกจาก ทิม พิธาลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อของ อนค.บัณฑิตฮาวาร์ดที่รับช่วงกิจการของครอบครัวด้านเกษตรกรรมมาตั้งแต่อายุ ๒๕ ปี จากบริษัทที่เคยติดหนี้ระดับร้อยล้านมาเป็นกิจการระดับพันล้าน พูดถึงการแก้ปัญหาราคาพืชผลอย่างได้เนื้อแท้ๆ ในแง่นโยบายที่เป็นรูปธรรม

 
แล้วยังมี ส.ส.บัญชีรายชื่อของ อนค.อีกคนที่อภิปรายสนับสนุนการตั้งกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลเกษตรกรรมตกต่ำ ศิริกัญญา ตันสกุล ให้รายละเอียดของปัญหาเสริมจากพิธา ทำให้มองเห็นความผิดพลาดบกพร่องชัดเจน อันจะนำไปสู่การแก้ไขได้ดี ที่ดูเหมือนว่าพรรครัฐบาล ขี้ตู่จะไม่ยอมฟัง

ศิริกัญญาซึ่งอ้างในตอนหนึ่งว่าได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ พูดถึงความผิดพลาดของรัฐบาล คสช.ชุดที่แล้วว่ามัก ไม่คงเส้นคงวาแล้วยังวางนโยบายโดยไม่ฟังความเห็นของเกษตรกร

อย่างกรณีอ้อย คสช.มีนโยบายจูงใจให้ชาวนาเลิกปลูกข้าว ให้เงินอุดหนุนชาวนาที่หันมาปลูกอ้อยไร่ละ ๒ พันบาท แต่พอขึ้นปี ๒๕๖๑ กลับมีประกาศ คสช.ฉบับที่ ๑/๒๕๖๑ ให้มีการลอยตัวราคาน้ำตาล จนโดนบราซิลฟ้อง WTO

เพื่อที่จะเลี่ยงปัญหาที่บราซิลฟ้องว่าไทยใช้นโยบายอุดหนุนน้ำตาลในประเทศ คสช.ก็สั่งให้ยกเลิกการตัดเงินสะสมเข้ากองทุนพยุงราคาเยียวยาอ้อยและน้ำตาล ที่เคยเก็บ ๕ บาทต่อกิโลกรัม ทำให้กองทุนหมดเงิน เมื่อเกิดปัญหาราคาตกเกษตรกรก็ไร้ที่พึ่ง

เรื่องอ้อยและยางพารานี้มีปัญหาใหญ่อีกอย่างด้านการเพิ่มผลผลิต ศิริกัญญาบอกว่าแม้สินค้าราคาดีแต่ว่าต้นทุนกินหมด อย่างเช่นราคาปุ๋ย ซึ่งเป็นต้นทุนต้องจ่ายให้แก่การนำเข้า อันมีบริษัทใหญ่เกือบจะผูกขาด ๕ บริษัท

รัฐบาล คสช.จำกัดประเภทปุ๋ยที่นำเข้าให้อยู่ที่ ๑๐ ชนิด ทำให้เจ้าใหญ่ๆ สามารถควบคุมตลาดได้เพราะมีทุนมากและสายป่านยาว นำเข้าครั้งละจำนวนมากก็ได้เปรียบเรื่องต้นทุน หรืออย่างยาฆ่าแมลงที่เธอยืนยันว่า

“มีการผูกขาดการนำเข้าแน่นอน” แถมบริษัทนำเข้านั้น “ยังอาจเป็นของท่านใดท่านหนึ่งใน (สภาฯ) ที่นี้” ด้วยซ้ำ

ศิริกัญญาชี้ว่าปัญหาการผูกขาดยังเป็นอุปสรรคที่ปลายน้ำของเกษตรกรในการขายผลิตผล เพราะ คสช.หวงแหนโควต้าการส่งออกไว้กับสมาคมการค้าไม่กี่แห่ง

แล้วยังเจอการผูกขาดจากตลาดที่ซื้อสินค้าไทยอีกด้วย ดังเช่นการส่งออกลำไยตากแห้งขึ้นอยู่กับ ล้งผู้นำเข้าของจีน เจ้าใหญ่รายเดียวเท่านั้น


ฝ่ายค้านทั้งแม่นและคึกคักอย่างนี้ เห็นจะต้องปูเสื่อรอฟังรัฐบาล ตู่ ๒ แถลงนโยบายในสภานัดแรกแน่ๆ ละ ว่าไปแล้วการเลือกตั้งจัดฉากให้ ตู่ตั้ง ครั้งนี้ แม้ฝ่ายประชาธิปไตยจะโดนกลโกงตั้งแต่ต้นแค่ไหน ก็ยังไม่ถึงขั้นเสียหลาย ด้วยการที่ได้ฝ่ายค้านคุณภาพและเข้มแข็ง