วันศุกร์, กรกฎาคม 05, 2562

ถ้า “ปิยบุตร” อภิปรายเรื่องกฎหมาย-การเมืองได้พีคแล้ว อีกหนึ่งพีคอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจ-เกษตร ต้องนี่ “ทิม พิธา”




"ทิม พิธา" อภิปรายเสนอแก้ราคาเกษตรตกต่ำ 3 ระยะ "สั้น - กลาง- ยาว"

4289 วิสัยทัศน์
Published on Jul 3, 2019
.

ถ้า “ปิยบุตร” อภิปรายเรื่องกฎหมาย-การเมืองได้พีคแล้ว อีกหนึ่งพีคอภิปรายเรื่องเศรษฐกิจ-เกษตร ต้องนี่ “ทิม พิธา” ได้ข่าวว่า ส.ส.ในสภาถึงกับอ้าปากเหวอ จากง่วงเหงาหาวนอนกลับมาตั้งใจฟังจับจ้องลีลาการพูด ... ปรบมือสิ รออะไร !
.
ครั้งแรกในสภา! "ทิม พิธา" อภิปรายเสนอแก้ราคาเกษตรตกต่ำ 3 ระยะ "สั้น - กลาง- ยาว" แจงยิบ-เปรียบเทียบภาพชัด ทำได้เปลี่ยนประเทศ-พลิกสามเหลี่ยมหัวกลับ
_____
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ที่รัฐสภาชั่วคราว หอประชุมใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในการพิจารณา ญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญแก้ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แบบบัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ขอแบ่งการอภิปรายเรื่องการแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง และยาว ซึ่งข้อมูลที่ใช้อภิปรายนั้นมาจากสำนักเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลเดียวกับสำนักวิชาการเตรียมให้กับ ส.ส. หากแต่ตนพยายามใช้ราคาที่อัพเดทและเปรียบเทียบมากกว่า 1 ปี เพื่อให้เห็นภาพรวมของวงจรสินค้าเกษตร
.
1.ระยะสั้น - ปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำคงหนีไม่พ้นเรื่องฤดูกาล การลักลอบ การนำเข้าจากต่างประเทศ และการเอารัดเอาเปรียบพ่อค้า เหล่านี้่กดราคาพืชผลเกษตรอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างพืชผลที่จะออกเร็วๆนี้อย่าง เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย และสัปปะรด ล้วนมีปัญหาสรุปได้ประโยคเดียว คือ ผลไม้ไทยในเงาล้งต่างประเทศ เช่น ลำไย จริงอยู่ว่ามีการสนับสนุนให้มีการปลูกนอกฤดู ใช้สารเร่งให้ออกนอกฤดูเพื่อพยุงราคาให้มีสเถียรภาพ แต่อย่างไรก็ตามในการส่งออก เกษตรกรก็ต้องพึ่งล้งต่างประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสให้ล้งต่างประเทศเอาเปรียบเกษตรกรได้ ลำไยนั้นมีหลายเกรด ราคาต่างกันตั้งแต่ 25-40 บาท แต่ตราบใดที่ภาครัฐไม่เข้าไปช่วยเหลือ ล้งต่างประเทศมีวิธีคละเกรดและกดราคาลซึ่งพี่น้องเกษตรกรไทยไม่มีความสามารถต่อรองในการทำธุรกิจด้วยได้ ทั้งนี้ มีคดีความระหว่างเกษตรกรกับล้งต่างประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ เรื่องนี้พาณิชย์จังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ต้องไปเข้าไปช่วยเหลือ
.
ในส่วนของการลักลอบ หนีไม่พ้นเรื่องของราคามะพร้าว ซึ่งปัจจุบันลูกละ 5 บาท จากแต่เดิมเคยราคาสูงถึงลูกละ 21 บาท เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่าเป็นเพราะการลักลอบนำมะพร้าวเถื่อนเข้ามา รวมถึงการนำเข้ามะพร้าวตามโควต้า WTO อีกทั้ง การตกสำรวจพื้นที่ปลูก ทำให้เราไม่รู้ว่ามะพร้าวมีอุปทานเท่าไหร่ หรือปัญหาประมง สัตว์น้ำจากต่างประเทศที่ถูกลักลอบนำเข้ามาในสินค้าประมงไทยมีมากกว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับปฏิบัติ ไม่ใช่ระดับนโยบาย ดังนั้น ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ ศุลกากร ต้องเพิ่มการตรวจอย่างเเข้มแข็งก็จะสามารถช่วยบรรเทาได้
.
2.ระยะกลาง - เป็นเรื่องของดุลยภาพและการกระจายความเสี่ยง โดยดุลยภาพคือความสมดุลระหว่างอุปทานและอุปสงค์ ทั้งนี้ ด้านอุปทาน การเกษตรไทยนั้นพัฒนาแบบพืชเชิงเดี่ยวมาตลอด พืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มัน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ใช้พื้นที่ปลูกรวมกันสูงถึง 82 เปอร์เซ็นต์ และมีการกระจุกกันของพื้นที่ มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ ขาดความหลากหลายทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม ได้เปลี่ยนความกระจุกและกระจายความเสี่ยงออกไป โดยมีความหลากหลายมากขี้นในการปลูก เขามีเรื่องการปลูกพืชสมุนไพร ปลูกป่าไม้ ซึ่งมีราคาสูงกว่า
.
ด้านอุปสงค์ ความกระจุกตัวนี้ยกตัวอย่างผลไม้ เช่น ทุเรียนและยางพารา สินค้าทั้ง 2 ประเภทนี้ราคาต่างกัน ตัวหนึ่งราคาขึ้นส่วนอีกตัวราคาตก แต่มีข้อเหมือนกันนั่นคือ การพึ่งตลาดเพียงตลาดเดียวคือ จีน ซึ่งสูงถึง 80-90 เปอร์เซ็นต์ บางคนอาจจะแย้งว่ามีการส่งไปเวียดนามด้วย แต่ถ้าลงไปในไปพื้นที่ถามเกษตรกรจะพบว่า การที่เราส่งไปเวียดนามนั้นเพื่อได้ประโยชน์ภาษี ดังนั้น เรื่องนี้ทูตพาณิชย์ต้องเร่งเปิดตลาดใหม่ให้ประเทศไทย เช่นตลาดอย่างตะวันออกกลาง เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ ต้องสอนการส่งออกไปสู่ประเทศเหล่านี้ เพราะถ้าส่งครามการค้าระหว่างจีน - อเมริกาไม่จบ โครงการวันโร้ด วันเบลท์ ของจีนเกิดขึ้นเต็มรูปแบบ รับรองได้เลยว่าสินค้าอย่างทุุเรียนจากมาเลเซียซึ่งได้รับความนิยมจากจีนเข้าไปแน่นอน ซึ่งเป็นไปได้ที่เราจะถูกกดราคาในอนาคต
.
3.ระยะยาว, เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าโดยวิทยาศาสตร์และศิลปะ ทั้งนี้ ในส่วนของวิทยาศาสตร์ เราพูดเรื่องการแปรรูปสินค้าเกษตรมากว่า 20 ปี แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ควรจะเป็น คือ ต้องเกิดการแปรรูปในพื้นที่และข้ามอุตสาหกรรม ต้องมีโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่ง ไม่ใช่ว่าปลูกมะพร้าวที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้ววิ่งไปส่งแปรรูปที่ จ.นครปฐม ส่วนการแปรรูปข้ามอุตสาหกรรม ขอยกตัวอย่าง ข้าว 1 เม็ด วันนี้เป็นข้าวสาร 40 เปอร์เซ็นต์ หากแต่ยังมีแกลบ รำข้าว อยู่ด้วย ซึ่งแกลบเอาไปเผาทำโซลาเซลล์ได้ รำข้าวสามารถสกัดทำน้ำมันรำข้าวตลอดจนมีสารช่วยป้องกันโรคเบาหวานซึ่งขายกิโลกรัมละ 4,000 -5,000 บาท หรือเปลือกทุเรียนสามารถทำน้ำยาบัวนปากยับยั้งแบตทีเรียได้ มังคุดมีสารต้านอนุมูลอิสระ หลายท่านอาจไม่ทราบว่าตอนนี้มีบริษัทจากออสเตรีเลียบินมาเอาเมล็ดทุเรียนไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น เราจะเห็นได้ประเทศอื่นทำน้อยแต่ได้มาก หากแต่เราทำมากและได้น้อย ซึ่งแบบนี้ไม่สามารถพัฒนาได้ในอนาคต
.
นอกจากนี้ ต้องคิดถึงเรื่องงบวิจัยการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ในการชดเชยข้าวต่อปีเราใช้เงิน 1 แสนล้านบาท แต่งบประมาณในการทำวิจัยเกษตร ใช้เพียง 1 พันล้านบาทเท่านั้น อย่างนี้แล้วจะเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร ถ้าไม่มีการวิจัยเกิดขึ้นในประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องวัฒนธรรม ศิลปะ การกินดื่มของเราก็ไม่แพ้ใคร ในที่นี้ถ้าเราเดินไปเข้าร้านสะดวกซื้อเบียร์ 1 กระป๋อง นั่นคือ การสนับสนุนเกษตรกรออสเตรเลีย ยุโรป, ซื้อ ไวน์ 1 ขวด นั่นคือ การสนับสนุนเกษตรกรออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ชิลี, ซื้อโซจู 1 ขวด นั่นคือ การสนับสนุนเกษตรกรเกาหลี หรือ ซื้อสาเก เหล้าบ๊วย 1 ขวด นั่นคือ การสนับสนุนเกษตรกรญีปุ่น เป็นต้น ในขณะที่พืชผลเกษตรไทย ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหนียว เกสรมะพร้าว มันแกว ข้าวโพด รวมถึงผลไม้ต่างๆ ที่ทำเป็นไซเดอร์ กลับแปรรูปและทำไม่ได้เนื่องจากเหตุผลทางกฎหมายบางอย่าง พูดให้ชัดตรงนี้ว่า การสนับสนุนให้แปรรูปผลิตผลเกษตรเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ได้เท่ากับสนับสนุนให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังมีอยู่ การดื่มอย่างเหมาะสมและมีความรับผิดชอบคือเรื่องจำเป็น แต่ถ้าไม่เปิดโอกาสเรื่องการแปรรูป เกษตรกรจะไม่มีสิทธิเพิ่มมูลค่าสินค้าตัวเองในระยะยาวได้เลย
.
จากที่อภิปรายมาทั้งหมด นั้นก็เพื่อสนับสนุนให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญให้ศึกษาราคาพืชผลการเกษตร และจากที่ตนติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาทุกครั้งก็จะเห็นว่ามีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งในอนาคต ก็หวังว่าจะเป็นเปลี่ยนชื่อกรรมาธิการจะเปลี่ยนจากคำว่าราคาและเป็นประสิทธิภาพแทน เพราะประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงทำให้สามเหลี่ยมนี้พลิกกลับได้

ที่มา FB