การเมืองเรื่องวาทกรรม: อ่าน พธม. นปช. กปปส. อ่านภาษานุสติจากยุคการเมืองสีเสื้อ
3 Jul 2019 - รุ่งรวิน แสงสิงห์ and ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
Way Magazine
จะเกิดอะไรขึ้น หากภาษาถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง ทั้งหมดเป็นการศึกษา ‘พลังและอิทธิพล’ ของการผลิตสร้างภาษาในฐานะเครื่องมือทางการเมือง เป็นระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ที่ประเทศไทยต้องติดอยู่ในห้วงวิกฤตการณ์การเมืองหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การผลิตสร้างภาษาและชุดคำเพื่อโอบล้อมฐานมวลชนเข้ามาอยู่ภายในอาณาบริเวณของขบวนการเคลื่อนไหวของตนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเมืองยุคสีเสื้อ
ข้อค้นพบของ อิทธิ โคตะมี เจ้าของวิทยานิพนธ์ เรื่อง ‘ปฏิบัติการภาษาและการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย พ.ศ. 2549-2557’ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาการสร้างความชอบธรรมในการช่วงชิงทางอำนาจผ่านวิธีปฏิการและผลิตสร้างภาษาและชุดคำ นำเสนอในงานเสวนา ‘การช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมือง: ภาษานุสติ จากยุคการเมืองสีเสื้อ’ โดยอิทธิพลต้องการที่จะคืนสถานะความเป็น ‘ผู้กระทำ’ ให้กับขบวนการเคลื่อนไหว มากกว่าจะเน้นศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวด้วยกรอบอื่นดังที่แล้วมา ข้อค้นพบของอิทธิพลจากวิธีการและปฏิบัติการในการผลิตสร้างภาษาและชุดคำมีทั้งหมด 4 แบบ
- การกำหนดนิยาม (identification)
- การสร้างสัมพันธบท (intertextuality)
- การให้ความหมายใหม่ (resignification)
- การอ้างอิงนอกบริบท (recontextualisation)
โดยแต่ละขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ใช้วิธีที่แตกต่างกัน หรือใช้วิธีที่หลากหลายมากกว่าหนึ่งรูปแบบก็ได้ แต่รูปแบบที่เด่นชัดที่สุดของแต่ละกลุ่มมีดังนี้ ขบวนการแรก กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เป็นกลุ่มที่รุ่มรวยและเต็มไปด้วยมรดกทางภาษาที่ตกทอดถึงสังคมการเมืองในปัจจุบันมากที่สุด พันธมิตรฯ ใช้วิธีกำหนดความหมายใหม่เป็นหลักในการผลิตสร้าง เช่น ระบอบ+ทักษิณ = ระบอบทักษิณ และให้ความหมายแก่คำดังกล่าว
ขณะที่กลุ่มถัดมา แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เป็นกลุ่มที่เริ่มการชุมนุมหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อเทียบกับกลุ่มพันธมิตรแล้ว นปช. แทบไม่มีมรดกทางภาษาในการตั้งต้นปฏิบัติการทางการเมือง ลักษณะเด่นของ นปช. มีวิธีการผลิตสร้างแบบการกำหนดนิยาม เช่น กรณี ไพร่-อำมาตย์ ‘ไพร่’ คือใคร ‘อำมาตย์’ คือใคร ขณะที่กลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ขบวนการเคลื่อนไหวยุคหลังสุดของขบวนการต่อต้านทักษิณ แม้จะมีเป้าหมายคล้ายคลึงกลับกลุ่มพันธมิตรฯ กลับมีวิธีผลิตสร้างที่แตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรอย่างสิ้นเชิง วิธีการที่ กปปส. ใช้เป็นหลักคือการอ้างอิงนอกบริบท เช่น ‘สภาประชาชน’ เป็นการเปลี่ยนประเด็นของการต่อสู้
กลุ่มต่างๆ เป็นภาพสะท้อนของการเมืองยุคสีเสื้อ ซึ่งเป็นคำเรียกการเมืองแบบมวลชนที่ใช้สีเสื้อเป็นตัวแทนกลุ่มก้อนทางการเมือง เริ่มก่อตัวครั้งแรกในปลายทศวรรษ 2540 ตรงกับช่วงยุครัฐบาลทักษิณ 2 เวลานั้น สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ สวมใส่เสื้อสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ เดินขบวนปักหลังชุมนุมประท้วงขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร จนเหตุการณ์การชุมนุมดังกล่าวกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำรัฐประหารในเดือนกันยายนปี 2549 ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการอยู่ต่างประเทศ
ภายหลังการรัฐประหารในปี 2549 มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในปี 2550 ส่งผลให้ สมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนั้น ในช่วงต้นของรัฐบาลสมัครได้มีความพยายามที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตจากการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้เกิดความไม่พอใจและมีการออกมาประท้วงอีกครั้งของฝ่ายพันธมิตรฯ คำว่า ‘รัฐบาลนอมินี’ จึงถือกำเนิดขึ้น แต่นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการผลิตชุดคำในการต่อสู้ทางการเมือง
ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ในการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตร มีการผลิตชุดคำ เช่น ระบอบทักษิณ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบอบทักษิณ คือตัวแสดงหนึ่งที่พร้อมจะไล่ทำลายระบอบดั้งเดิมอันเป็นจารีต ทำให้ความรู้สึกชาตินิยมถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง มีการใช้คำเร้าอารมณ์ เช่น ‘ขายชาติ’ ต่อพฤติการณ์ของอดีตนายกฯ และสร้างคำว่า ‘กู้ชาติ’ เพื่อใช้เป็นตัวแทนของเป้าหมายในภารกิจที่ขบวนการการเคลื่อนไหวอย่างพันธมิตรจะต้องปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วง
สิ่งที่น่าสนใจของภาษากลุ่มนี้ คือการถูกนำมาใช้ในระดับทางการ คำว่า ‘ระบอบทักษิณ’ แม้จะเป็นคำที่ผลิตสร้างจากกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ก็ได้ปรากฏตัวอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักไทย และข้อเสนอของกลุ่มพันธมิตรค่อนข้างชัดเจนอย่างมาก ในการเสนอให้มี ‘การเมืองใหม่’ เกิดขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นลักษณะของการเมืองที่ปราศจากนักเลือกตั้ง และอุดมไปด้วย ‘คนดี’ จากหลากหลายส่วน คำว่า ‘การเมืองใหม่’ จึงเป็นคำที่ถูกนำมาใช้อธิบายการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรในช่วงต้นได้ ต่างจากขบวนการต่อต้านทักษิณในช่วงหลังการเมืองสีเสื้อ
หลังความวุ่นวายยืดเยื้อในยุครัฐบาล สมัคร สุนทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จบลง กลุ่มพันธมิตรฯ ก็ค่อยๆ ยุติบทบาททางการเมือง จนกระทั่งเข้าสู่รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เรียกตัวเองว่า นปช. ก็ได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากเคยมีความเคลื่อนไหวเล็กๆ หลังการรัฐประหารในปี 2549 แต่การเคลื่อนไหวของ นปช. ครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อช่วงชิงความชอบธรรมที่มีลักษณะที่แตกต่างออกไปจากกลุ่มพันธมิตร
การผลิตสร้างชุดคำและเลือกเฟ้นภาษามาใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ของกลุ่ม นปช. นั้นทำได้อย่างลำบาก และค่อนข้างเสียเปรียบกลุ่มพันธมิตรฯ ค่อนข้างมาก เพราะกลุ่ม นปช. ไม่มีมรดกทางภาษาเหมือนกลุ่มพันธมิตร อีกทั้งชุดคำและภาษาส่วนหนึ่งยังถูกช่วงชิงไปใช้งานเกือบหมด ทำให้ช่วงแรกของการเปิดตัวของกลุ่ม นปช. พวกเขาพยายามอาศัยรูปแบบจารีตในการต่อสู้ และการพึ่งพิงสถาบัน เลือกใช้คำและภาษาที่แสดงถึงความเป็นกลาง เช่น การใช้คำว่า ‘พลเมือง’ แทนตัวเอง แต่ก็ไม่เป็นผล
หลังจากนั้นไม่นานในปี 2553 กลุ่ม นปช. ได้โต้กลับเพื่อชิงความชอบธรรมกลับคืนให้ขบวนการของตน ด้วยการนิยามตนเองในฐานะ ‘ไพร่’ ซึ่งกลายเป็นครั้งแรกในการนำคำว่า ‘ไพร่’ และ ‘อำมาตย์’ มาใช้ในการเมืองยุคสีเสื้อ จนเป็นคำสำคัญของการต่อสู้ในเวลาต่อมา
เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการใช้คำโต้กลับพฤติกรรมของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน กลุ่ม นปช. ผลิตชุดคำว่า ‘สองมาตรฐาน’ ขึ้นมา และ ‘สองมาตรฐาน’ ได้กลายเป็นคำหลักในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน ไม่นานจากนั้น ภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2554 กลุ่ม นปช. ก็ค่อยๆ ยุติบทบาททางการเมืองของตนลงตามลำดับ
หากแต่การขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับเหมาเข่ง ทำให้การก่อตัวของขบวนการต่อต้านระบอบทักษิณกลับมาอีกครั้ง ภายใต้นามของ กปปส. แม้จะมีการวางศัตรูทางการเมืองชัดเจนเช่นเดียวกับกลุ่มพันธมิตรฯ ในอดีต แต่สิ่งที่แตกต่างจากกลุ่มพันธมิตรอย่างสิ้นเชิงคือ กปปส. เลือกใช้คำที่รุนแรงกว่ากลุ่มพันธมิตรฯในอดีต และเลือกปฏิเสธสิ่งที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยเสนอและยึดถือ เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ เสนอให้มี ‘การเมืองใหม่’ ในสังคมไทย ต้องการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 30 เปอร์เซ็นต์ และสรรหา ‘คนดี’ มาเป็น สว. อีก 70 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงออกมาเคลื่อนไหวปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 แต่ กปปส. เลือกทำให้ทางตรงกันข้าม และผลิตชุดคำเช่น ‘สภาประชาชน’ ที่ไม่เอาการเลือกตั้งใดๆ ทั้งสิ่ง ทุกอย่างต้องมาจากการแต่งตั้ง ‘คนดี’ เข้าไปในสภาเท่านั้น
นอกจากนี้ยังเกิดคำใหม่อย่าง ‘เผด็จการรัฐสภา’ และ ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ ขึ้น เพื่อปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย และมองว่าเป็นระบอบที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสมอีกต่อไป ที่สำคัญคือ กลุ่ม กปปส. ไม่ได้แสดงจุดยืนในการปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 อย่างที่กลุ่มพันธมิตรฯ เคยทำ นี่จึงเป็นความแตกต่างของวิธีผลิตสร้างและปฏิบัติการทางภาษาของแต่ละขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง