วันจันทร์, กรกฎาคม 08, 2562

กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย ล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560





กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย ล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
.
วันนี้ (7 กรกฎาคม 2562) เวลาประมาณ 13.30 น. ณ ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย นำโดย เยี่ยมยอด ศรีมันตะ ประธานที่ปรึกษา และคณะ แถลงข่าวรณรงค์ล่ารายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 256(1) ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้
.
เยี่ยมยอด ศรีมันตะ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า 1) รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 2) ประสานงานระหว่างองค์กรภาคประชาชน ภาคเอกชน และพรรคการเมือง 3) รณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อให้ได้อย่างน้อย 50,000 รายชื่อ
.
การล่ารายชื่อจะแบ่งเป็น 5 ภาค ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ ให้ผู้ร่วมงานที่สนใจเป็น “คณะจองกฐิน” หรือผู้ริเริ่ม 20 คนที่จะต้องไปยื่นริเริ่มกับประธานรัฐสภาเพื่อขอริเริ่มการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
.
เยี่ยมยอด กล่าวว่า สาระสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือ การแก้มาตรา 256 ซึ่งว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้ยกเลิกมาตรา 256 ตั้งแต่ (2) ถึง (9) และให้วาระที่สองเป็นการลงประชามติโดยประชาชนเลย
.
บูรพา เล็กล้วนงาม หนึ่งในผู้รณรงค์ฯ ประมวลปัญหาของรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สมควรเป็นรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกเพราะมาจากการยึดอำนาจ และสิ่งที่บกพร่องที่สุดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะการเลือกรัฐมนตรีให้ ส.ว. ร่วมเลือกด้วย โดยคิดกันว่า จะยกเลิก ส.ว. เลยหรือจะให้ ส.ว. มาจาการเลือกตั้งดี
.
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาระบบเลือกตั้ง ซึ่งมี ส.ส. สองแบบแต่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว และเห็นว่า ควรบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. เพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน ควรแก้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และควรให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความยึดโยงกับประชาชน รวมถึงต้องปรับปรุงองค์กรอิสระอีกด้วย
.
ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เขียนไว้ในหมวด 15 มาตรา 255 และ 256
.
มาตรา 255 กำหนดว่า เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้เลยคือ การแก้ไขที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
.
มาตรา 256 (1) ระบุผู้มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แก่
.
- คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 100 คนเข้าชื่อกัน
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภารวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 150 คน
- ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อกัน
.
มาตรา 256 (2) ถึง (9) กำหนดขั้นตอนในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไว้ดังนี้
.
ให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาพิจารณา 3 วาระ ได้แก่
.
วาระแรก ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน
.
วาระที่สอง พิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมาก แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
.
วาระที่สาม เป็นขั้นสุดท้าย ต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และต้องมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน
.
ส่วนกรณีที่ต้องการจะแก้ไขเกี่ยวกับหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือแก้ไขเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่สามารถทำหน้าที่ได้ หลังผ่านการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว ให้จัดทำประชามติ ก่อน หากผลประชามติเห็นชอบ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้
.
นอกจากนี้ หากการพิจารณาผ่านขั้นตอนทั้งหมดแล้ว ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภา หรือ 100 คน ยังอาจเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้
.
.
ดู วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4076
ติดตาม กลุ่มสังคมนิยมประชาธิปไตย ได้ที่https://bit.ly/2LdvT8z


iLaw