วันพุธ, กรกฎาคม 03, 2562
ผู้เข้าร่วมประชุมสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ส่งข้อความมายังเมืองไทย #หยุดมาเฟียปล้นชาติ #ไทย_ยุโรป_ร่วมโค่นคสช. #ยกเลิกมาตรา_112
..
สมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน ชี้ระบอบประยุทธ์ คือระบอบมาเฟีย
2019-07-02
ที่มา ประชาไท
2 ก.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน จัดประชุมสมัชชาครั้งที่ 1 หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อชัยชนะระบอบประยุทธ์ 2” โดยมีผู้บรรยายหลักคือ ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมือง
จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานสมาคมนักประชาธิปไตยชาวไทยไร้พรมแดน กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบทอดอำนาจสำเร็จ จึงต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพราะ 5 ปีที่ผ่านมาเป็นเผด็จการโจ่งแจ้งแล้วประชาชนก็ไม่สามารถต่อสู้เอาชนะได้ แต่เวลานี้เมื่อเขาเป็นรัฐบาลที่สวมเสื้อประชาธิปไตยแบบขาดวิ่น อาจทำให้ต่อต้านได้ยากลำบากกว่าการต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร
จรัลกล่าวต่อว่า ความพยายามสถาปนาระบอบประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2475 ผ่านมา 87 ปีก็ยังล้มเหลว เพราะฝ่ายนิยมกษัตริย์สามารถฟื้นฟูระบอบเก่าได้เป็นระยะ นอกจากนี้สัญลักษณ์ประชาธิปไตยยังหายไปเช่น หมุดคณะราษฎร อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และสิ่งต่อไปอาจจะเป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ส่วนฝ่ายมีอำนาจที่หวาดกลัวและไม่พอใจการเคลื่อนไหวของนักประชาธิปไตยจากเดิมที่ใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีก็เปลี่ยนมาเป็นการทำร้ายร่างกาย เช่นที่เกิดขึ้นกับ จ่านิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เราจึงต้องคิดว่าจะรับมือ ตอบโต้ และไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร
ณัฏฐา กล่าวว่าเริ่มต้นว่า ขอเรียกระบอบประยุทธ์ว่า “ระบอบมาเฟีย” เพราะมีกองกำลังของตัวเองและมีอำนาจที่สร้างขึ้นจากกฎของตัวเอง คสช. มีการถ่ายอำนาจที่สำคัญของตัวเองเข้าไปใน กอ.รมน. ถ่ายโอนคำสั่ง คสช. มาแล้วยังมีอำนาจกำกับ ทหาร ตำรวจ ซึ่งเป็นการกำกับอำนาจในกระบวนการยุติธรรม ทำให้การถ่วงดุลหายไป คสช.สร้างกฎของตัวเองผ่านรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มีการกำหนด ส.ว. 250 คนที่มาจากการเลือกของ คสช. แล้วทำให้พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ส่งผลถึงการเลือกของพรรคการเมืองที่ตระบัดสัตย์ เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะรวมเสียงได้ไม่ถึง 375 เสียง จึงเข้าร่วมกับพรรคพลังงประชารัฐ ส.ว. 250 คนจึงมีผลโดยตรงให้เกิดระบอบประยุทธ์2
“มีการถกเถียงกันว่าต่อจากนี้เราจะเรียกเขาว่าอะไร เมื่อเขาผ่านการเลือกตั้งมา แต่เขาใช้การเลือกตั้งฟอกตัว และค้ำยันอำนาจด้วยรัฐธรรมนูญ, ส.ว., องค์กรอิสระ และ กอ.รมน. เป็นการใช้อำนาจระบบราชการค้ำยันตัวเอง จะเห็นได้ว่าการที่เสียง ส.ว. มีน้ำหนักมากกว่าเสียงของประชาชน เป็นทำลายหลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง ระบบเลือกตั้งจากรัฐธรรมนูญ 2560 สร้างความอ่อนแอให้ภาคการเมืองและประชาชน กลายเป็นว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งแบบเขตเหมือนถูกลงโทษให้ไม่ได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ รัฐธรรมนูญนี้เอื้อให้พรรคเล็ก บางพรรคได้ไม่กี่หมื่นเสียงก็ได้เข้าสภา เกิดรัฐบาลที่เกิดการรวมตัวจากพรรคจำนวนมาก ทำให้พรรคการเมืองและภาคการเมืองอ่อนแอ นั่นหมายถึงประชาชนอ่อนแอไปด้วย แต่ 5 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองถูกสร้างภาพว่าเป็นปีศาจ เช่นเดียวกับการชุมนุมของประชาชน ทั้งที่พรรคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน ดังนั้นในการเลือกตั้งครั้งใหม่ หากเราแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้จะทำให้เราได้รัฐบาลเดิม และอาจทำให้เขาอยู่ได้ตลอดไป
“การจะทำให้อำนาจเหล่านี้หายไปคือ การเข้าสู่อำนาจของฝ่ายประชาธิปไตย สิ่งที่เราต้องทำให้เกิดขึ้นคือการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากความร่วมมือของภาคการเมืองและภาคประชาชน เพราะรัฐธรรมนูญนี้วางกลไกไว้ให้แก้ยากมากหรือไม่ได้เลย การเมืองภาคประชาชนจึงหยุดทำงานไม่ได้ นอกจากการรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ อีกสิ่งที่ต้องทำคือการปฏิรูปกองทัพ เอาทหารออกจากการเมือง เปลี่ยนวัฒนธรรม เช่น ควรเปลี่ยนแปลงเรื่องการให้พื้นที่สื่อแก่ผบ.ทบ.พูดเรื่องการเมือง และควรมีกฎหมายที่กำกับบทบาทท่าทีของกองทัพ อีกทั้งควรต้องมีการให้ความหมายต่อคำที่ถูกบิดเบือน เช่น หลักประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และความยุติธรรม เราต้องมีนิยามที่ตรงกันว่าสังคมปลายทางที่เราต้องการมีภาพเหมือนกันหรือไม่กับฝ่ายที่ต่อต้านเรา ทั้งที่จริงแล้วเราอาจไม่ได้มีภาพที่ต่างกันมาก แต่มีการใช้จินตนาการว่ามันจะต่างกันมากจนคุยกันไม่รู้เรื่อง
“ปัญหาและภารกิจเฉพาะหน้าของพวกเรา วันนี้จะเห็นว่ามีนักกิจกรรมถูกทำร้ายร่างกายเกินสิบครั้ง อีกทั้งยังมีการคุกคามรูปแบบอื่นทั้งการตั้งข้อหา ข่มขู่ การใช้ไอโอ สิ่งที่เกิดขึ้นกับจ่านิวกระตุกให้สังคมสนใจเรื่องนี้อีกครั้ง คิดว่าเพียงเพราะความเห็นต่างไม่สามารถทำให้คนเอาไม้เบสบอลมาตีโดยไม่สนใจว่าจะตายได้หรือไม่ เชื่อว่าแรงจูงใจคนที่ทำร้ายจ่านิวไม่ใช่ความโกรธที่มาเรียกร้องเลือกตั้งหรือตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ การสร้างเรื่องปั่นกระแสความเกลียดชังเกิดขึ้นก่อนที่จ่านิวทำร้าย และต้องเกิดขึ้นนานพอจนสะสมความเกลียดชังและเกิดสิ่งนี้ขึ้น เชื่อว่าเป็นการทำเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แต่ไม่ฟันธงว่าใครทำ เราจะเห็นว่ารัฐบาลไม่ได้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เราจะเห็นกระแสความเกลียดชังตามโซเชียลมีเดีย
“การป้ายสีเรื่องล้มเจ้าเป็นเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรง การโต้ตอบอย่างมีสติจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการโต้ตอบด้วยอารมณ์จะยิ่งสร้างความเกลียดชัง แต่การชุมนุมก็ถูกทำให้กลายเป็นเครื่องมือที่ชำรุด คนพูดกันว่าการชุมนุมทำให้วุ่นวาย กลัวเข้าทางเขา กลัวรัฐประหาร กลัวกระสุนจริง ทำให้ปลุกม็อบไม่ขึ้น เราจึงต้องมีเครื่องมืออื่นที่จะต้องมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน เราจะทำให้ระบอบประยุทธ์ 2 เป็นภาคอวสาน ต้องมียุทธศาสตร์ที่มีภาพที่เข้าใจตรงกันในสังคม เราต้องพูดถึงนิยามประชาธิปไตยที่ตรงกัน ความเกลียดชังต้องถูกกำจัด จะสู้กับไอโอได้ต้องเกิดจากปัญญาและการสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่หัวใจของชัยชนะ” ณัฏฐากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เข้าร่วมประชุมถึงสถานการณ์การเมืองไทยปัจจุบันและการกำหนดยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับรัฐบาลประยุทธ์2 โดยช่วงท้ายการประชุมมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการถือป้ายข้อความต่อต้าน คสช. และเรียกร้องให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112