เรื่องของการเมืองใหม่แบบไม่สน ‘หน้าเทพหน้ามาร’ ว่ากันตามเนื้อผ้าทุกอย่าง
ดังที่พรรคอนาคตใหม่ประกาศ “เราจะเขย่าการเมืองท้องถิ่น
เหมือนที่เขย่าการเมืองระดับชาติมาแล้ว” นั่น
อันเนื่องมาจากทวี้ตของ Thanathorn
Juangroongruangkit @Thanathorn_FWP ว่า “ผู้สมัครของอนาคตใหม่จะเดินเข้าไปบอกประชาชนว่าอีก ๑๐
ปีท้องถิ่นจะได้แบ่งปันงบเท่าใด จะพัฒนาสาธารณูปโภคอย่างไร เราจะเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นด้วยนโยบายที่ดี
แบบที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยทำกันมาก่อน”
โดยที่ พรรคอนาคตใหม่ @FWPthailand เสนอมหกรรม “We Will Rock You!” ประกาศรับสมัคร “ผู้สนใจสมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นในนามพรรคอนาคตใหม่”
ใครสนก็ไปที่ https://www.facebook.com/FWPthailand/photos/a.1657824830959771/2197919300283652/
นี่ อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์และผู้ดำเนินรายการสนทนาการเมือง
ฉายา ‘ใบตองแห้ง’ เขียนถึงกึ่งติงไว้
ชวนให้น่าคิด “ไม่ใช่เรื่องง่ายนะครับ ทั้งในระยะสั้นระยะยาว เปลืองตัวอีกต่างหาก”
เนื่องจากมีนายก อบต. อำเภอปง พะเยา
ออกมาต้าน “ไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยกรอบสอง” อ้างว่าปกติในการเมืองท้องถิ่น เมื่อเสร็จการเลือกตั้งแล้วทุกพรรคทุกฝ่ายก็กลับไปเป็นมิตรสหาย
เป็นพี่เป็นน้อง คุ้นเคยกันอย่างเดิม
ประเด็นที่ต้องคิดเกิดจากข้อมูลที่อธึกกิตชี้ว่านายก
อบต.คนนี้ “อนุรักษ์ โปร่งสุยา นี่เป็นแดงนะครับ เคยเป็นข่าวเมื่อปี ๕๔ ในฐานะประธานชมรมพะเยาอาร์มี
ยัวะที่จตุพร ก่อแก้ว ไปช่วยผู้สมัครนายก อบจ. คนหนึ่งหาเสียง” (https://mgronline.com/local/detail/9540000138464)
อธึกกิตเห็นว่า “ที่เขาค้านจึงเข้าใจได้ ตอนนั้นเขาบอกว่าในพะเยาก็แดงหมดนั่นละ
ผู้สมัครคนไหนก็แดง พรรคเพื่อไทยและ นปช.จึงควรเป็นกลาง
อย่าเลือกข้างสนับสนุนคนใดคนหนึ่ง”
แต่เหตุผลที่ยกขึ้นมาใช้ค้านเขาว่ายังฟังไม่ขึ้น
คือที่นายอนุรักษ์เอ่ยถึง
‘เสน่ห์’ ของการเมืองท้องถิ่นว่า เมื่อพ้นฤดูกาลเลือกตั้งแล้วก็ต้องกลับไปสู่ฤดูกาลของการทำมาหากินกันต่อไป
คู่ต่อสู้ต่างกลับไปถ้อยทีถ้อยอาศัย อลุ่มอล่วยกัน อันแตกต่างกับการเมืองระดับชาติ
“ที่มีการต่อสู้และแย่งชิงผลประโยชน์กันตลอด
๓๖๕ วัน ไม่มีหยุดพัก” นี้นายอนุรักษ์เห็นว่าทำให้เสน่ห์หมดไป “เป็นการจำลองการแข่งขัน
การแย่งชิงผลประโยชน์จากระดับชาติมาสู่ระดับท้องถิ่น
จะไม่ใช่การเมืองเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไม่มีความผูกพันอีกต่อไป”
ประเด็นที่อธึกกิตตั้งแง่ไม่เห็นด้วยตรงที่การเมืองท้องถิ่นอยู่ในภาวะเหมือนๆ
‘ฮั้วกัน’ แล้ว “มันเกิดการผูกขาด
หรือกึ่งๆ ตกลงกันเองในระหว่างกลุ่มการเมือง” ต่างๆ “ไม่แตะผลประโยชน์กัน
ไม่เกิดการต่อสู้จริงจัง ไม่มีฝ่ายค้านตรวจสอบฝ่ายบริหาร” ทำให้ “ประชาชนสิรับกรรม”
เขาสรุปว่า “อนาคตใหม่ก็ต้องทำ
มันคือการสร้างฐานพรรค ซึ่งไม่สามารถเดินตามแนวทางนักการเมืองเก่า
แบบไปงานบวชงานศพผันงบลงพื้นที่หารถไปเกรดถนนหาเงินทำบุญเข้าวัด ฯลฯ
สู้กับนักการเมืองแบบนั้น” แต่แล้วก็จะเป็นลูบหน้าปะจมูกอย่างกรณีพะเยา
ถึงอย่างไรในหน้าเสื่อของ ‘อนาคตใหม่’ “คืออันดับแรก ถ้าจะทำก็ต้องไม่เห็นแก่หน้าอินทร์หน้าพรหม
หน้าเพื่อไทย หน้าแนวร่วมประชาธิปไตย ซึ่งก็อาจโดนด่าขรมอีก
แม้อาจไม่ส่งชนกันทุกเขต” แต่ว่า “ถ้าชนะแล้ว จะบริหารได้หรือไม่ เพราะถ้าล้มเหลวพรรคก็จะเสียหาย
ถ้า compromise กับใครไม่ได้เลย ก็ทำงานไม่ได้”
“มันไม่ง่ายนะ”
ถึงกระนั้นรูปการณ์เวลานี้มันก็ไม่ยาก "With a little help from a friend." ก็ยังเดินหน้ากันต่อไปได้ไม่ยั้ง อย่างเช่น
พรรค “เพื่อไทยแฉหลักฐานใหม่พบคณะรัฐมนตรีลอบช่วยช่วงเลือกตั้ง โดยแจกเงิน
อสม. ๔,๐๐๐ ล้าน”
จากการที่เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ครม.ของรัฐบาล คสช.
อนุมัติค่าใช้จ่ายเพิ่มค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
ผู้บริหารพรรคเพื่อไทยตั้งโต๊ะแถลงเมื่อวันเมย์เดย์ว่าโครงการแจกเงิน
อสม. โดยเพิ่มจากเดิมเดือนละ ๖๐๐ บาท เพิ่มเป็น ๑,๐๐๐ บาท อันจะต้องถอนงบประมาณออกมาถลุงอีกประมาณ
๔,๐๐๐ ล้านบาทนั้น ภูมิธรรม เวชยชัย และชูศักดิ์ ศิรินิล ชี้ว่า
“มันบังเอิญ (เสีย) จริงๆ
ที่จัดงบฯ ก้อนนี้ในช่วงเลือกตั้งเลยพอดี ฉะนั้นอาจจะเข้าข่าย
ครม.ให้ทรัพย์สินแก่บุคคลเพื่อจูงใจในการเลือกตั้ง” ยังมีกรณีความผิดชัดๆ อย่างนี้อีกหลายต่อหลายกรณี
ที่ฝ่ายไม่เอาสืบทอดอำนาจรัฐทหารถ้าร่วมด้วยช่วยกันประจานถี่ๆ
รัวๆ คสช.แสร้งทำหูอื้อถือหลัก “ความผิดผู้อื่นเท่าภูผา ความผิดตัวข้าเท่าเส้นผม” อย่างไร
ก็จะไม่อาจทัดทานได้