วันศุกร์, พฤษภาคม 03, 2562

คสช. เล่นแร่ แปลงคำสั่ง ๖๒ ฉบับตามอำนาจเบ็ดเสร็จ ม.๔๔ เป็นกฎหมายปกติ


เมื่อวันก่อน (เมย์เดย์) ที่ ตู่ไปเกาะโพเดี้ยม ฝอยเรื่อง “ทุกอย่างที่ทำวันนี้ ที่ทำมา ๕ ปีจะสืบสานต่อในรัฐบาลใหม่” แถมอ้างด้านๆ ว่า “อันนี้คือความต้องการของประชาชน” นั้น มันมีความนัยแห่งกระบวนการสืบทอดอำนาจแฝงอยู่หลายอย่าง

อย่างหนึ่งก็คือที่บอกว่า “ช่วงนี้เราก็จะเตรียมการเอากฎหมายที่ยังทำไม่เสร็จหรือทำเสร็จแล้ว ก็จะออกกฎหมายลูกเพื่อให้ดำเนินการได้โดยเร็ว” ปรากฏรูปธรรมให้เห็นด้วยความแยบยล นั่นคือกระบวนการเปลี่ยนคำสั่ง คสช. ตามอำนาจเบ็ดเสร็จมาตรา ๔๔ ไปเป็นกฎหมายปกติ

ข่าวไทยรัฐออนไลน์เผยว่า “ในการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ ๓๐ เม.ย. มีการหารือถึงคำสั่งมาตรา ๔๔ ที่จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นกฎหมายปกติ จำนวน ๖๒ คำสั่ง” ที่นายวิษณุ เครืองาม แจ้งว่า “จะให้เจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ” ต่อไป


มีการยกตัวอย่าง “เรื่องการแก้ปัญหาประมงที่ผิดกฎหมาย (ไอยูยู) และกรณีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ)” ให้ดูดี แต่อีก ๖๐ คำสั่งใครรู้บ้างว่าจะเป็นผลร้ายต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และ/หรือความอยู่ดีของชาติมากน้อยแค่ไหน

มิหนำซ้ำคำสั่ง คสช. ตามมาตรา ๔๔ เหล่านั้นเป็นการใช้อำนาจนอกเหนือกระบวนการนิติธรรมทางกฎหมาย ที่โดยธรรมชาติและความถูกต้องเหมาะ เป็นการใช้อำนาจชั่วคราวอย่างเผด็จการ ซึ่ง คสช.อ้างอยู่เสมอว่าจะนำไปสู่ภาวะปกติและประชาธิปไตย

การรวบรัดเร่งรีบเปลี่ยนสภาพคำสั่ง ม.๔๔ เป็นกฎหมายปกติถาวรเช่นนี้ ย่อมชี้ชัดในเจตนาของคณะรัฐประหารซึ่งแปลงตัวเป็นรัฐบาลครองอำนาจมา ๕ ปี ที่จะครอบงำการปกครองประเทศต่อไปอีกระยะยาว ทั้งๆ ที่ผ่านมาชาติประสบปัญหา ไม่โต ประชากรพบกับความอดอยากมากกว่ายุคก่อน คสช.ยึดอำนาจ

การกระทำทั้งหลายของ คสช.ในช่วงนี้แสดงชัดแจ้งว่ากำลังจัดวางฐานการครองอำนาจระยะยาวที่ว่านั้น ผ่านทางองคาพยพองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือแม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเอง ก็ยังมิได้เป็นหลักประกันแก่ความไม่ลำเอียง (impartiality) ได้

ดังกรณีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองต่างๆ ที่ กกต.ประกาศความตั้งใจแล้วว่าจะนำคะแนนเสียงส่วนที่พรรคการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งจำนวนมากเกินกว่าที่นั่ง ส.ส.พึงมี ไปเฉลี่ยเป็นที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแจกให้พรรคเล็กพรรคน้อยที่ได้คะแนนเพียงสองสามหมื่น

เอาเข้าจริงตัวเลขอาจจะมากกว่า ๑๒ ที่นั่งซึ่งได้มีการคำนวณคาดหมายกันไว้แล้ว อาจมากถึง ๒๗ พรรคที่ กกต.รับรองผลเลือกตั้งก็ได้

พรรคที่จะได้พาร์ตี้ลิสต์ ๑ ที่นั่งเหล่านี้ ไม่ยากแก่การชักนำให้เข้าร่วมรัฐบาลของฝ่าย คสช. เพื่อหวังผลในทางนิติบัญญัติ หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เป็นนายกรัฐมนตรีผ่านการทุ่มเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ คสช.ตั้งเองกับมือ

การแต่งตั้ง สว. จำนวน ๑๙๔ คนที่จะมีการประกาศหลังจาก กกต.แถลงรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ ๗-๘ พฤษภาคม ก็ปรากฏข่าวออกมาแล้วว่าจะเต็มไปด้วยคนในกลุ่มการเมืองที่ก่อความวุ่นวายเพื่อชักนำให้คณะทหารเข้ามายึดอำนาจเป็นปฐม
 
สำนักข่าว ไอลอว์เปิดเผยบางรายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือกของกรรมการที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ๔๐๐ คน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้คัดเลือกให้เหลือ ๑๙๔ คน นั้น “มีอย่างน้อย ๑๗ คนที่มาจากเครือข่าย คสช.

เช่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หรือ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น” ซึ่งไอลอว์ระบุว่า “หลายคนมีตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. มากกว่าหนึ่งตำแหน่ง”


คำนูณ สิทธิสมาน ครองแช้มป์ คสช.แต่งตั้งมากครั้งที่สุด ๔ ตำแหน่ง ตามด้วยพวก สนช. สปท. กมธ. และนักปฏิรูป เช่น พรเพชร วิชิตชลชัย ชาญวิทย์ ผลชีวิน คุณหญิงพรทิพย์ โรจน์สุนันท์ กล้าณรงค์ จันทิก เป็นอาทิ

อีกกลุ่มอยู่ในสภาตรายาง สนช. ที่มีไว้ประทับรับลูก คอยออกกฎหมายให้ คสช. ล้วนแล้วแต่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการคัดสรรในทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ตัวแทนประชาชน ได้แก่ สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมชาย แสวงการ เป็นต้น

แน่นอนว่าถ้าคนเหล่านี้ได้รับแต่งตั้งเป็น สว.ก็จะสนองคุณนาย คอยเสริมอำนาจของ คสช.ต่อไปในรัฐบาลใหม่ถึงสองชุด เช่นเดียวกับที่เป็นมาตลอด ๕ ปี เพราะอายุตำแหน่ง ๕ ปี คาบเกี่ยวสองรัฐบาลที่อายุสมัย ๔ ปี

ข้อควรคำนึงอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รอเวลาและตั้งหน้าหวังผลแห่งการได้เลือกตั้ง แล้วกลับได้พบกับการสืบทอดอำนาจ คสช.อีกครั้ง โดยเฉพาะคราวนี้ภายใต้การฟอกขาว อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วเสียด้วย อาการ เสียของจะเกิดกับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง

จะทนกันอีกไหวไหม จะทำอย่างไรได้บ้าง คิดดู คิดดู