วันจันทร์, พฤษภาคม 13, 2562

คสช.ไม่หยุดปักชนักฝ่ายประชาธิปไตย แก้เกม กกต.ผิดกฎหมาย จ่อโดนฟ้อง ม.๑๕๗

คสช.ให้บุรินทร์ไปแจ้งความธนาธรในตอนนี้อีกข้อหานี่เข้าทางพอดี ปล่อยก่อนสอยทีหลัง โดยตั้งใจ ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือทำให้พรรคอนาคตใหม่เจอศึกท่วมหัว หาโอกาสรบในเชิงรุกได้ยาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยื่นฟ้อง กกต.กระทำความผิดคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและ พรป.เลือกตั้ง ที่พรรคอนาคตใหม่เป็นผู้เสียหายโดยตรง จำนวน ส.ส.หายไป ๗ ที่นั่ง แม้แต่ว่าถ้าชนะเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่เขต ๘ ท่วมท้น ได้พาร์ตี้ลิสต์มาอีก ๒ ที่นั่งก็ยังไม่พอ

วันนี้ (๑๓ พ.ค.) ๑๑ พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.พรรคละ ๑ คนจากการที่ กกต.ใช้วิชามารแจกให้ทั้งๆ ที่คะแนนไม่เข้าเกณฑ์ผ่าน ตั้งโต๊ะแถลงพร้อมใจกันเข้าไปเป็นเสียงสมทบพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล เพื่อที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะได้เป็นนายกฯ อย่างสบายๆ
 
การกระทำของ กกต.ครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าลำเอียง เอื้อประโยชน์แก่หัวหน้า คสช. โดยตรง ไม่ต้องตามระเบียบกฎหมาย (ที่ร่างในกำกับของ คสช.) ดังที่คนอย่างไพบูลย์ นิติตะวัน หนึ่งในผู้ได้รับบริจาคที่นั่งเอื้ออาทรบิดเบือนแต่อย่างใด

กล่าวได้ว่าเสียงสาธารณะขณะนี้กระหึ่มในความผิดของ กกต. เกือบท่วมท้นเห็นว่าเป็นความตั้งใจของ กกต.ด้วยซ้ำไป ไม่ว่าจะเป็น โคทม อารียา อดีตกรรมการการเลือกตั้งที่ตำหนิอย่างนุ่มนิ่มว่า “ผมหมดแรงที่จะให้กำลังใจ” ทั้งเสียใจที่ กกต.เลือกที่จะแจกที่นั่งแก่พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง ๗๑,๐๕๗

“กกต. ใช้วิธีคำนวณที่น่าจะผิดพลาด โดยใช้บัญญัติไตรยางค์ที่ทำให้จำนวนพรรคที่มี ส.ส. กระโดดจาก ๑๖ เป็น ๒๖ พรรค” และ “สูตร ๒๖ พรรค ขัดกับมาตรา ๑๒๘ () ที่บัญญัติว่าจะจัดสรร ส.ส. ให้แก่พรรคที่ได้รับคะแนนต่ำกว่าโควต้า หรือต่ำกว่า ๗๑,๐๕๗ คะแนน ไม่ได้”

ประโยคสรุปท้ายที่สุดของโคทมเหมือนจะชี้หน้าประณามความลำเอียงของ กกต. ว่าการ “ทำให้ว่าที่ ส.ส. ในบัญชีรายชื่อของบางพรรคใน ๑๖ พรรคที่ต่างก็สมนัยกับคะแนน ๗๑,๐๕๗ คะแนน กลายเป็นสอบตกไป แล้วจะกล่าวถึงความเที่ยงธรรมอย่างไร”

ยิ่งอดีต กกต.คนดังที่เคยอื้อฉาวอย่าง สมชัย ศรีสุทธิยากร ถึงกับให้คำแนะนำวิธีการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อความผิดที่ กกต.ก่อนี้ แถมชักชวนพรรคการเมืองที่ได้รับความเสียหายจากการนั้น หากใคร “เขียนคำร้องไม่เป็นหรือไม่สะดวกจะเขียนเอง ตนบริการเขียนให้ฟรี ติดต่อมาได้ด่วนเลย”

นอกเหนือจากที่เขาแจงว่า “ผู้ยื่นต้องเป็นผู้ที่มีผลกระทบ ว่าถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพจากการกระทำที่เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ” อันได้แก่พรรคการเมืองต่างๆ ๗ พรรคแล้ว (แม้แต่พลังประชารัฐ และรวมพลังประชาชาติไทย ซึ่งสมประโยชน์อยู่แล้ว ย่อมไม่ต้องการร้องเรียนแน่นอน)

“๓.การยื่นคำร้อง ต้องยื่นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินภายใน ๙๐ วันนับจากเกิดเหตุ ๔. ผู้ตรวจฯ ต้องพิจารณาส่งศาลฯ ภายใน ๖๐ วัน หากไม่ส่ง ผู้ยื่นคำร้องสามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้”
 
แม้แต่ดุสิตโพลก็ยังคล้อยตามความรู้สึกของคนทั่วไปส่วนใหญ่ จากผลสำรวจระหว่างวันที่ ๗-๑๑ พ.ค. โดยการสุ่มตัวอย่างผู้ตอบคำถามทั้งสิ้น ๑,๑๘๗ คน เกี่ยวกับผลการทำงานของ กกต. ทั้งในการรับรองรายชื่อ ส.ส.เขต ๓๔๙ คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ๑๔๙ คน และการที่มีรัฐมนตรีลาออกจำนวนมากเตรียมตัวไปเป็น สว. กัน

สำหรับการประกาศรับรอง สส. แบบบัญชีรายชื่อนั้นพบว่า ประชาชน ร้อยละ ๗๕.๔๐ ไม่เห็นด้วย เพราะมีหลายฝ่ายที่ออกมาทักท้วง การคำนวณของ กกต. ไม่เป็นธรรม”


พรรคเพื่อไทย ถึงจะไม่ได้เป็นผู้เสียหายโดยตรงตามที่นายสมชัยระบุ ก็แสดงเจตจำนงค์ที่จะนำเรื่องนี้ไปฟ้องร้องเอาผิด กกต. อีกโสตหนึ่ง นอกเหนือจากพฤติกรรมลำเอียงและเป็นสุนัขรับใช้ คสช. ที่เป็นมาตลอดกระบวนการเลือกตั้ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเปิดเผยว่า “ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างยกร่างคำร้อง” ในความผิดตามมาตรา ๑๕๗ “โดยเราจะดำเนินการเอาผิด กกต.ทุกช่องทาง” รวมทั้งการยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง และสนับสนุนพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้รับความเสียหายโดยตรงยื่นฟ้องด้วย
 
อย่างไรก็ดีเลขาฯ เพื่อไทยยอมรับถึงกระแสข่าว ‘game changes’ ที่กำลังอึกทึกในขณะนี้ว่า “พรรค พท.ยอมกลืนเลือดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยตำแหน่งนายกฯ และประธานสภาฯ จะไม่ใช่เงื่อนไขของพรรค พท.อีกต่อไป ถือเป็นการลดเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลกับขั้วที่ ๓”

แต่กระนั้น “ในส่วนของพรรคขนาดเล็กได้มีการประสานขอเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค พท. แทบจะทุกพรรค แต่ทางพรรค พท.สงวนท่าที เพราะมองว่าวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.ของพรรคเล็กไม่ถูกต้อง”


ณ ที่นี้ ดูไปแล้วในระยะยาวการเปลี่ยนยุทธวิธีเพื่อที่จะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่คำนึงว่าจะต้องยอมให้ใครมาคุมเกมส์ (ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานสภาฯ) ไม่น่าจะนำประเทศไปสู่วิถีทางประชาธิปไตยที่สะท้อนสิทธิเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ได้ดีนัก

การเมืองระบบรัฐสภาจะกลับไปสู่วังวนเดิมของการต่อรองและช่วงชิงประโยชน์ ทั้งในด้านการสร้างคะแนนนิยม และถุงเงินของพรรค หนทางไปสู่การปฏิรูประบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ทั้งในการลบล้างผลพวงแห่งอำนาจของคณะรัฐประหาร และการสร้างเสริมอำนาจที่ชาญฉลาดของมวลชน

การยืนหยัดเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งแม้แต่เพียงแค่ ๒๔๕ เสียง (เกือบครึ่งในสภาผู้แทนฯ) ยังเป็นพลังที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาล ๒๐ กว่าพรรคไม่สามารถหักหาญอะไรได้อย่างใจ

เพราะการมีพรรคร่วมที่แนวคิดแตกต่างอย่างร้อยพ่อพันแม่นั้น จะสิ้นเปลืองเวลาและสมองไปกับการบริหารจัดการภายในมากกว่าประเทศชาติและประชาชน

สู้มัดหวายยึดมั่นกันอย่างเหนียวแน่นในหมู่สัตยาบัน ๗ พรรค (หรืออาจลดน้อยไปกว่านี้สัก ๑ หรือ ๒ พรรค) จะสามารถดำเนินการเมืองตามแนวนโยบายที่ตั้งใจไว้ได้มั่นคงกว่า