วันพุธ, พฤษภาคม 15, 2562

กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้รวบรวมข้อมูลในการ "เลือกข้าง" ของเหล่าผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติบ้างไม่ทรงเกียรติบ้าง





นายอนุทิน ชาญวีรกูล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยได้ออกมาให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า พรรคภูมิใจไทยกำลังฟังเสียงของพี่น้องประชาชนเพื่อตัดสินใจในการสนับสนุนพรรคใดก็ตามในการจัดตั้งรัฐบาล และโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

แล้วเสียงของประชาชนกำลังส่งออกมาว่าอย่างไร #เอาประชาธิปไตย หรือต้องการที่จะ #สืบทอดอำนาจเผด็จการคสช . วันนี้กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้รวบรวมข้อมูลในการ "เลือกข้าง" ของเหล่าผู้แทนราษฎรที่ทรงเกียรติ (และได้มาเป็นผู้แทนราษฎรแบบไร้เกียรติเพราะคะแนนไม่ถึง) ว่าสะท้อนเสียงประชาชนอย่างไรบ้าง

1. #ฝ่ายประชาธิปไตย เป็นการผนึกรวมกำลังกันของพรรคการเมืองที่ประกาศก่อนหน้าการเลือกตั้ง แสดงความชัดเจนว่าไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ คสช. และต้องการสร้างความเป็นประชาธิปไตย
.
พรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งโดยชนะ ส.ส. เขตถึง 136 ที่นั่งจากการส่งลเพียง 250 เขต จาก 350 เขต แม้ได้คะแนนมหาชนมาเป็นลำดับสองรองจากพรรคพลังประชารัฐแต่ก็อธิบายได้เพราะห่างกันเพียงหลักแสน แต่การส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งห่างกันถึง 100 เขต
.
ตามมาด้วยพรรคหน้าใหม่อย่างอนาคตใหม่ที่แม้จะก่อตั้งพรรคได้เพียงปีเศษ แต่ก็กวาด ส.ส. เขตไปได้ถึง 30 ที่ รวม ส.ส. บัญชีรายชื่อแล้วมีที่นั่งกว่า 80 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (จริงๆโดนเทคนิค กกต. ตัดจำนวน ส.ส. ไปเกือบ 10 คนด้วยสูตรเลือกตั้งอันแสนพิศดาร)
.
ส่วนพรรคที่เหลือได้แก่ เสรีรวมไทย, ประชาชาติ, เศรษฐกิจใหม่, เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทยก็กวาด ส.ส. มาสมทบได้อีกจำนวนมากจนทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยรวม ส.ส. ได้มากถึง 245 คน ถือเป็นฝ่ายที่ได้จำนวนมากที่สุด และรวมคะแนนมหาชนที่ต้องการต่อต้านการสืบทอดอำนาจ คสช. ไปได้กว่า 16 ล้านเสียง ซึ่งมากกว่าฝั่งสืบทอดอำนาจ คสช. เกือบเท่าตัว

2. #ฝ่ายสืบทอดอำนาจคสช . พลังประชารัฐเป็นพรรคที่ชัดเจนแต่ต้นด้วยการส่งรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มานั่งตำแหน่งบริหารระดับสูงในพรรค แม้ว่าตั้งแต่ก่อนกาลงคะแนนจะสร้างความกังขาให้กับประชาชนอย่างมากเกี่ยวกับการทุจริตการโกงเลือกตั้ง แต่ กกต. ก็อำนวยความสะดวกให้จนผ่านมาจนถึงวันเลือกตั้ง และพรรคพลังประชารัฐก็คงความเสมอต้นเสมอปลายด้วยการสร้างความกังขาแม้หลังการเลือกตั้งที่คะแนนในหลายๆเขตพลิกกลับมาชนะผู้สมัครจากพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างรวดเร็วแม้ช่วงแรกคะแนนจะตามอยู่ก็ตาม แต่ถึงยังไงพรรคพลังประชารัฐก็กวาด ส.ส. มาได้ถึง 116 คน เลขสวยอย่างกับมาตราที่ คสช. ชอบใช้เอาผิดกับประชาชนที่กังขาในอำนาจของพวกเขา
.
พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคที่มีชื่อยาวที่สุดที่ได้โอกาสเข้ามาในสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ มีกำนันสุเทพเป็นผู้อุปถัมภ์หลักอย่างเป็นทางการ สามารถรวบรวมเสียงของมวลมหาประชาชนที่อุทิศแรงกายแรงใจผลักดัน ส.ส. เข้าสภามาได้มากถึง 5 คน สร้างความแปลกใจให้กับประชาชนทั้งประเทศ และได้คะแนน(มวล)มหา(ประชา)ชนมากถึง 4 แสนกว่าคะแนน
.
ส่วนพรรคประชาชนปฏิรูปของลุงไพบูลย์ ได้รับความอนุเคราะห์จาก กกต. จนสามารถผลักดันให้ลุงไพบูลย์เข้าสภามาได้คนหนึ่ง แม้คะแนนมหาชนของผู้ที่น้อนนำคำสอนตามแบบฉบับของลุงไพบูลย์จะไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่จะได้รับ ส.ส. พึงมีก็ตาม
.
นอกจากนี้ยังมีพรรคเล็กที่คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ แต่กลับได้ ส.ส. มาคนละเล็กละน้อย รวมๆกันแล้วมากกว่า 10 คนก็ตอบแทนบุญคุณด้วยการประกาศสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ให้นั่งเก้าอี้นายกต่ออีกสมัย โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะก่นด่าสาปแช่งอย่างไร ซึ่งพรรคเหล่านี้ได้แก่ พลังชาติไทย,ประชาภิวัฒน์,พลังไทยรักไทย,ไทยศรีวิไลย์,ครูไทยเพื่อประชาชน,ประชานิยม​,ประชาธรรมไทย,พลเมืองไทย​,ประชาธิปไตยใหม่​,พลังธรรมใหม่​ และไทรักธรรม​ รวมจำนวน ส.ส. ฝ่ายสืบทอดอำนาจ คสช. ได้ 134 คน ด้วยคะแนนตามหลังอย่างทิ้งห่างฝ่ายประชาธิปไตยที่ 9,474,161 คะแนน

3. #ฝ่ายยังไม่เลือกฝ่าย ก็ยังคงไม่เลือกฝ่ายต่อไปจนประชาชนสงสัยว่าจะรออะไร รอตำแหน่ง ? รอผลประโยชน์ ? หรือข้อตกลงยังไม่ลงตัว ?
.
พรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นพรรคที่เจ็บช้ำที่สุด หลายคนสงสาร แต่หลายคนสมน้ำหน้า เพราะเลือกตั้งรอบนี้กลับได้ ส.ส. ไปเพียง 52 คน และ ส.ส. กรุงเทพฯของประชาธิปัตย์ถึงกับสูญพันธุ์ เพราะเสียที่นั่งทุกเขตให้กับพรรคอื่นๆ ซึ่งในขณะนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกสนับสนุนฝ่ายไหน เพราะทีมคนรุ่นใหม่ New Dem ก็สนับสนุนให้ประชาธิปัตย์วางตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระอย่างมีเกียรติ แต่ทางคนรุ่นเก่าแบบ Old Dem ต้องการสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. ต่อไป
.
พรรคภูมิใจไทยรอบนี้อาจจะกล่าวว่าประสบความสำเร็จขึ้นมาขั้นหนึ่งก็ได้เพราะได้จำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 51 คน แต่ก็ยังแทงกั๊กขอฟังเสียงประชาชนอยู่ จนประชาชนถึงกับกุมคอเพราะส่งเสียงไปจนคอแหบคอแห้งแล้ว
.
ส่วนพรรคพลังท้องถิ่นไทที่นำโดยชัช เตาปูน ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทยนำโดยนายดำรงค์ พิเดช ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน ยังคงเงียบและเฝ้าดู สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้ประชาชนว่าทำไม่ให้ความชัดเจนไม่ได้สักที
.
ทุกเสียงที่ลงคะแนนให้ทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยทั้งสิ้น แต่การเคารพเสียงส่วนใหญ่ก็เป็นหลักการที่สำคัญเพื่อผลักดันประชาธิปไตยในประเทศให้เดินหน้าต่อไป เพราะฉะนั้นแล้วในการจัดตั้งรัฐบาล และเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงจำเป็นอย่างมากในการเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาให้เห็นแล้วในการเลือกตั้งที่ผ่านมา
.
.
ปล. คะแนนทุกฝ่ายเป็นคะแนนรวมเฉพาะพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. ตามที่ กกต. ประกาศเดือนมีนาคม
.
https://www.ect.go.th/ewt/ewt/ect_th/download/article/article_20190328165029.pdf



กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย Democracy Restoration Group - DRG