วันเสาร์, พฤษภาคม 04, 2562

เมื่อโกงไม่ชนะก็โมฆะอย่างเดียว - เลือกตั้ง 62: ความเป็นไปได้ เมื่อสูตรปาร์ตี้ลิสต์และ "เลือกตั้งโมฆะ" อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ .




...




เลือกตั้ง 62: ความเป็นไปได้ เมื่อสูตรปาร์ตี้ลิสต์และ "เลือกตั้งโมฆะ" อยู่ในมือศาลรัฐธรรมนูญ
.
ใกล้วันประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อพิจารณาว่า กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา128 เรื่องสูตรคำนวนที่นั่ง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? ผลคำวินิจฉัยครั้งนี้อาจส่งผลต่อความเป็นไปทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง และอาจส่งผลต่อ "กรอบเวลา" อันจะสร้างปมปัญหาทางกฎหมายต่อไปในอนาคตด้วย
.
2 พฤษภาคม 2562 เป็นเวลาอีก 7 วันจะถึงกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ กฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งมาตรา 128 เป็นมาตราที่ว่าด้วยวิธีการคำนวนหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองอย่างละเอียด เนื้อหาหลักคัดลอกมาจากรัฐธรรมนูญโดยตรง แต่ก็มีการเพิ่มเติมข้อความเข้ามาด้วยบางส่วนเพื่อลงรายละเอียดมากขึ้น
.
ปัญหาที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งให้วินิจฉัย คือ การที่มาตรา 128 ได้เพิ่มข้อความเข้ามามากกว่าถ้อยคำที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐธรรมนูญกำหนดให้คำนวณหาจำนวน "ส.ส. พึงมี" แต่มาตรา 128 ไปเพิ่มเป็น "ส.ส. พึงมีเบื้องต้น" ทำให้ กกต. อาศัยข้อความนี้นำเสนอสูตรคำนวนแตกต่างไปจากที่นักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าใจกัน ซึ่งจะมีผลให้พรรคการเมืองที่สนับสนุน คสช. ได้รับเก้าอี้เพิ่มขึ้น และพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน คสช. ได้รับเก้าอี้น้อยลง และเกิดปัญหาข้อถกเถียงเรื่องวิธีการคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อกันขึ้นมา
.
ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไปพิจารณา ก็ยังมีเงื่อนเวลาตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นห่วงอยู่สองเงื่อนเวลาด้วยกัน ดังนี้
.
1) รัฐธรรมนูญ มาตรา 268 กำหนดให้ต้องดําเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จ ภายใน 150 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ หมายความว่า ต้องจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562
.
2) รัฐธรรมนูญ มาตรา 85 กำหนดให้ กกต. ต้องประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ภายใน 60 วันนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง หมายความว่า ต้องประกาศผลภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2562
.
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า คำวินิจฉัยจะออกมาได้เป็นหลายประการ และเมื่อพิจารณาร่วมกับเงื่อนเวลาที่ใกล้เข้ามาอาจจะสร้างผลกระทบต่อความเป็นไปทางการเมืองได้หลายกรณี
.
ประการที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายเลือกตั้งไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
.
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 128 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หากคำวินิจฉัยออกมาหลังวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ก็ยังเป็นปัญหาว่า ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น กกต. จะยังไม่สามารถประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้ เพราะไม่มั่นใจการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ
.
แต่หากคำวินิจฉัยออกมาก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ก็จะไม่สร้างผลกระทบต่อเงื่อนเวลา และไม่กระทบต่อการประกาศผลการเลือกตั้ง แต่จะมีผลต่อให้ กกต. นำมาตรา 128 ตามที่เขียนไว้ในปัจจุบันไปใช้เป็นสูตรเพื่อคำนวณหาจำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้เลย แต่มาตรา 128 จะตีความอย่างไร จะตีความเหมือนกับที่นักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าใจ หรือจะใช้ไปตามข้อเสนอก่อนหน้านี้ของ กกต. ก็ยังเป็นเพียงอำนาจหน้าที่ของ กกต. อยู่ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้อธิบายรายละเอียดไปถึงสูตรการคิดคำนวณด้วย
.
หาก กกต. เลือกใช้วิธีการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อที่ผิดไปจากสูตรที่กฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เพื่อให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ก็ยังเป็นความรับผิดชอบของ กกต. เองอยู่เช่นเดิม
.
ประการที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมายเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญ
.
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 128 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลให้ส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันเสียไป แต่จะกระทบต่อการเลือกตั้งเพียงใดขึ้นอยู่กับในรายละเอียดว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อใดและวินิจฉัยไปถึงเนื้อหาส่วนใดบ้างที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
.
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นข้อความส่วนเล็กๆ ที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงหรือกระทบต่อสูตรคำนวน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ เช่น คำว่า "ส.ส.พึงมีเบื้องต้น" เป็นส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเพิ่มคำว่า "เบื้องต้น" ขึ้นมาหนึ่งคำ เช่นนี้ก็จะมีผลให้คำว่า "เบื้องต้น" นั้นหายไปจากมาตรา 128 แต่เนื้อหาส่วนหลักๆ ที่อธิบายสูตรคำนวณยังคงอยู่เช่นเดิม และ กกต. สามารถนำไปใช้คำนวณหาที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองต่อได้ทันที กรณีเช่นนี้หากศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยมาก่อนวันที่9 พฤษภาคม 2562 กกต. ก็สามารถทำงานต่อได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งแต่อย่างใด
.
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส่วนที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งเมื่อข้อความส่วนนั้นไม่มีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้หาสูตรคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อไม่ได้ หรือหากเห็นว่า มาตรา 128 ทั้งมาตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ กกต. ไม่เหลือหลักการใดที่จะนำมาใช้คำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อได้อีก กรณีเช่นนี้ อาจจะต้องมีการร่างเนื้อหาในส่วนนี้ในกฎหมายเลือกตั้งขึ้นใหม่ และส่งให้องค์กรที่มีอำนาจออกกฎหมายซึ่งก็คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รีบพิจารณาและประกาศใช้โดยเร็วที่สุด และจะทำให้การประกาศผลการเลือกตั้งยังทำไม่ได้ตามกำหนดเดิม
.
หากข้อความส่วนที่เป็นสาระสำคัญของสูตรคำนวณตามมาตรา 128 ถูกวินิจฉัยว่า ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็แทบจะคาดหมายได้แล้วว่า การเลือกตั้งจะไม่สามารถดำเนินการ "ให้แล้วเสร็จ" ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ และหากดำเนินการช้าไปกว่านั้นก็อาจจะกระทบต่อกรอบเวลา 60 วันที่ต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ด้วย
.
เลื่อนการประกาศผล เสี่ยงเลือกตั้งเป็นโมฆะ
.
ศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งแล้วว่า จะนัดประชุมเพื่อทำคำวินิจฉัยในวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ซึ่งหากออกคำวินิจฉัยได้ภายในวันนั้นเลยและเห็นว่า กฎหมายเลือกตั้งมาตรา 128 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญในบางข้อความที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งมากนัก กระบวนการทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปตามกรอบเวลาเดิม เพื่อให้มีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งได้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญทำคำวินิจฉัยไม่เสร็จภายในวันเดียวและเลื่อนไปสั่งในวันอื่น ก็ย่อมจะกระทบกับเงื่อนเวลาการจัดการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
.
เมื่อการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเดิม ก็เป็นเหตุให้ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งได้ และส่งผลให้ คสช. ยังมีอำนาจเต็มในการปกครองประเทศต่อเนื่องยาวต่อไปอีก
.
ส่วนผลของการจัดการเลือกตั้งที่ไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาตามรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดไว้ว่า จะต้องตีความอย่างไร? จะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่? และเมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญอีกเช่นกันที่จะตีความวินิจฉัยในประเด็นนี้ต่อไป ดังนั้น สำหรับคำถามที่ว่า "การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะหรือไม่?" ถึงวันนี้คำตอบจึงอยู่ในมือของศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว


iLaw