อีกคืบของ คสช.
ที่จะทำให้สถานการณ์หลังเลือกตั้งปั่นป่วนจนต้องยื้อเวลาครองเมืองของรัฐบาลรัฐประหารต่อไปเรื่อยๆ
เมื่อตำรวจออกหมายเรียกทั้งหัวหน้าและเลขาฯ พรรคอนาคตใหม่ จากการแจ้งความของ
พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ กำลังพลแผนกแจ้งความของ คสช.
โดยเฉพาะ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
โดนข้อหาหนัก ม.๑๑๖ ยุยงปลุกปั่นก่อกวนความสงบ และ ม.๑๘๙
ให้ความช่วยเหลือผู้กระทำผิด สองข้อหานี่ระวางโทษรวมกัน ๙ ปี ส่วน ปิยบุตร
แสงกนกกุล ถูกหมายเรียกเพราะเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ของพรรคอนาคตใหม่กรณีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ
ข้อหา ยุยงปลุกปั่น นั้น ‘ไอลอว์’ ระบุว่า “หลังการรปห.
ข้อหานี้ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับคสช.
จนเข้าลักษณะเป็นการตั้งข้อหาเพื่อหวังผลทางการเมือง” (ดูเพิ่มเติมที่ http://freedom.ilaw.or.th/blog/116NCPO)
สำหรับหมายของ อจ.ปิยบุตรมีลักษณะวิเศษเล็กน้อย
โดยที่ อจ.บอกว่า “ผมเพิ่งได้รับหมายเรียกพยานก่อนเที่ยงวันนี้เอง
ให้ผมไปพบพนักงานสอบสวนตอนบ่ายโมงวันนี้” แต่หมายน่าจะเขียนลงวันที่ย้อนหลังไป ๒๗
มีนาคม ดูเป็นเจตนา ‘หาเรื่อง’ ค่อนข้างชัดอยู่
มิฉะนั้นกระบวนการออกหมายในยุค คสช. นี่ก็คง
‘ค่อยเป็นค่อยไป’ เหมือนการคำนวณคะแนนเลือกตั้งของ
กกต. ซึ่งถึงจุดนี้มีการบิดต่อไปว่าจะต้องทำการปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญและ สนช.
ว่าจะใช้วิธีไหนดี จนเป็นที่มึนงงของทั่วโลกว่า กกต.ประเทศนี้ห่วยแตกขนาดจัดเลือกตั้งเสร็จแล้วยังไม่รู้วิธีนับคะแนนเลยเชียวหรือ
กลับไปที่ความวิเศษของการทำคดีความกับผู้ถูกกล่าวหาฝ่ายประชาธิปไตย
มีชั้นเชิงบิดเบี้ยวพลิกพริ้วมากมายระดับ ๑๘ มงกุฏเลยก็ว่าได้ ดังที่ สงวน
คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส นำมาเล่าแชร์ประสบการณ์ของตนเองว่า
“ไร้สาระไหม ๔-๕
เดือนที่แล้ว สน.ปทุมวันออกหมายเรียกข้าพเจ้าไปพบ ถามว่า ‘ทำไมถึงสนิทกับธนาธร’
แล้วจับเราไปพิมพ์นิ้วดำ” ไร้สาระพอกันก็คดี ม.๑๘๙ ของธนาธรนั่นละ
เหตุจากเมื่อครั้งที่ รังสิมันต์ โรม เป็นหนึ่งในหัวหอกกลุ่มนักศึกษาต้านรัฐประหาร
ธนาธรเล่าเหตุการณ์ที่ครั้งนั้นยังไม่ได้สนิทสนมกับรังสิมันต์
นั่งรถตู้ของตนผ่านเห็นเดินอยู่ข้างทางก็แวะทัก
และรับขึ้นรถไปส่งยังสถานที่พวกพ้องของรังสิมันต์รวมตัวกันอยู่
ปรากฏว่ามีรถของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตามไป
แต่ไม่มีการสอบถามหรือแจ้งความอะไรจนกระทั่งครั้งนี้เกือบ ๕ ปีให้หลัง
สันนิษฐานว่า พ.อ.บุรินทร์
คงมีหน้าที่คอยเปิดดูบันทึกรายงานของหน่วยงานความมั่นคงว่ามีกรณีไหนใช้ฟ้องร้อง
เอาชนักปักหลังพวกกระบวนการประชาธิปไตยได้บ้าง พอเจอของธนาธรกรณีนี้ก็เลยป๊งเช้ง
ธนาธรจึงได้บอกกับ จอมขวัญ
หลาวเพชร ว่า “ผมอยากจะบอกสังคมทั้งสังคมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผมคนเดียว
มีคนที่โดนกระทำจากความไม่ยุติธรรมแบบนี้มาก่อนผมเป็นร้อยๆ คน
ในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา
ผมคิดว่าในสิ่งที่มีคดีความ
แล้วก็มีข่าวลวงที่ตั้งใจจะมาทำลายพรรคอนาคตใหม่เที่ยวนี้ ผมคิดว่ามันเป็นเพราะสถานการณ์ทางการเมืองมันเดินมาถึงทางตันเต็มที
ในความหมายว่าต่อให้พรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจจะไม่ได้เสียงข้างมาก
อาจจะต้องใช้ สว. ซึ่งถ้าใช้ สว. (ก็อาจจะมีความจำเป็น)
คนในสังคมก็อาจจะไม่ยอมรับ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา สังคมก็ไม่ได้ให้การยอมรับ
นักศึกษามากกว่า ๒๐ สถาบันได้ร่วมรณรงค์กันล่ารายชื่อเพื่อถอดถอน กกต.ชุดนี้
ดังนั้นจะเห็นได้เลยว่ามันมีการเคลื่อนไหวในหลายภาคส่วนของสังคมที่ให้ผมเดา
คสช.รู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ ดังนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่อาจจะต้องดำเนินการ ‘อะไรบางอย่าง’
เพื่อทำให้กลับมาควบคุมสังคมได้เบ็ดเสร็จอีกครั้ง”
(https://twitter.com/Thairath_News/status/1113442151021420544
และ https://www.prachachat.net/politics/news-310779)
ไม่แน่ใจว่า “อะไรบางอย่าง” ที่ธนาธรอ้าง
จะหมายถึงเฉพาะความพยายามแบบ ‘สู้ไม่ได้ก็ลอบทำร้าย’ หรือไม่ หรือจะไปไกลถึงขั้น ‘ล้มกระดาน’ เลือกตั้งครั้งนี้เพื่อที่ คสช.
ยังคงเป็นรัฐบาลต่อจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ถวายสัตย์เข้าปฏิบัติหน้าที่
ช่วงสองวันที่ผ่านมามีนักวิชาการรัฐศาสตร์หลายรายที่
‘คมชัดลึก’ ไปขอความเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองเวลานี้
ส่วนใหญ่เห็นคล้อยกันว่าจากการที่พรรคพลังประชารัฐไม่สามารถชนะได้ และ กกต.
พยายามอย่างยิ่งยวดให้เกิดการพลิกผัน เลยจะนำไปสู่ทางตัน
ไชยันต์ ไชยพร จากจุฬาฯ บอกว่า “อาจถึงขั้นการแสดงออกของจำนวนพลังประชาชนบนท้องถนน”
ขณะที่ ยุทธพร อิสรชัย จากสุโขทัยธรรมาธิราชชี้ว่า “มีความเป็นไปได้ที่ประเด็นเหล่านี้จะขยายเป็นวงกว้าง
แล้วพลิกสถานการณ์ให้ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง”
ด้าน ธเนศวร์ เจริญเมือง แห่ง มช. พูดถึง “เสียงค้านของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาจากความตั้งใจที่เห็นได้ชัดเจน”
แต่ว่า “การคัดค้านจะดำเนินไปอีกนานเพียงใด” แล้ว ‘การเมืองบนความยุ่งยาก’ ก็จะดำเนินต่อไปอีกยาวนาน
มีอยู่คนเดียวในชุดนี้ที่มองสถานการณ์ขณะนี้ ‘โลกสวย’ มากๆ
พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สะเด็ดถ้อยออกมาว่า “ความขัดแย้งไม่น่าจะขยายตัวสู่การชุมนุมบนท้องถนนอีก”
เพียงแต่ว่า ประชาชนต้อง “ทำตัวเป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี ไม่ออกความเห็นด้วยอารมณ์ที่รุนแรง”
เสร็จแล้วคณะบดีพัฒนาสังคมฯ นิด้า แนะว่า “เราควรปล่อยให้ผู้กุมอำนาจดำเนินและติดตามกัน
หากการเมืองเดินต่อไปไม่ไหวก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก จากการเลือกตั้งในครั้งต่อไป”
ไม่ทราบว่าทั่นคณบดีก่อนพูดนี่คิดไว้ก่อนหรือคิดตามไปด้วยไหมว่า
เลือกตั้งคราวหน้าก็ยังมี สว.๒๕๐ เสียงที่พรรคการเมืองจัดตั้งของ คสช. กำลังเจอทางตันขณะนี้จะเอามาใช้แก้
แต่แม้เปิดทางแล้วก็ยังไปต่อไม่ได้ ต้องเจอกับสภาพเดิม