วันเสาร์, เมษายน 06, 2562

ดูวิธีเคาะตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน เข้าสภาฯ


ป๊งเช้งจนได้ในที่สุด กกต. เคาะจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน เข้าสภาผู้แทนฯ ไว้ไปเถียงกับพวกประชาธิปไตยดีกว่าให้นั่งจุดธูปไล่ยุงในวุฒิสภา

เดอะโมเม็นตั้มบอกว่าในที่สุด กกต.ก็เลือกวิธีคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ สุดโต่งแจกที่นั่งแก่พรรคปลาซิวปลาสร้อยถ้วนหน้า ขนาดพรรคกสิกรไทยได้คะแนนเลือกตั้งแค่ ๑๘๓ เสียง ยังได้ปาร์ตี้ลิสต์ ๑ คน

เราว่าครั้งหน้า อีกสี่ปีที่ คสช. ยังอยู่ ใครอยากเข้าสภาก็ลงสมัครเลย แค่เลือกตัวเองจะได้ที่นั่งแล้ว หากใจจริงรักจริงหนุนลุงตู่แบบ ไพบูลย์ นิติตะวัน พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งถ้า กกต.ใช้วิธีคำนวณอื่นใดที่ สมเหตุสมผลตรงตามกฎหมายเลือกตั้ง ม.๑๒๘ มากที่สุด ไม่มีทางได้เข้าสภาแม้แต่ครึ่งตัว

(ขออนุญาตวิจารณ์โดยเอาลุงไพบูลย์เป็นตัวตั้ง เพราะแกเป็นคนเถียงแทน คสช. และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แข็งขันที่สุด ชนิดแถกแถอย่างไรก้ยังดูน่ารัก เหมือนเด็กรั้นแต่ไม่เฮี้ยวเหมือนลุงตู่ บางคนว่าน่ารักออก)

มาดูทางเป็นไปได้ในการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สองสามอย่าง อันทำให้ กกต.บังเกิดอาการงงงัน ไม่สามารถบอกจำนวนบัญชีรายชื่อได้อยู่หลายวัน เนื่องเพราะพวกนักนิติศาสตร์ ศรีธนญชัยคนของ คสช.ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องการเลือกตั้งเป็นสูตรคณิตศาสตร์

เดอะโมเม็นตั้ม ชี้ว่าหลังจากตีความมาตรา ๑๒๘ อย่างถี่ถ้วนจากหลายแนวทางแล้ว คัดที่ใกล้ความจริงตามตัวบทกฎหมายคณิตศาสตร์มาตรานี้มากที่สุด ๓ แนวทาง โดยแรกคือ ถ้ายึดกฎเหล็กว่า “พรรคการเมืองจะได้ ส.ส.ไป ๑ ที่นั่งก็ต่อเมื่อมีคะแนนดิบรวมเกินจำนวนเฉลี่ยประชากรต่อ ส.ส. ๑ คน”

นั่นคือ “เอาคะแนนบัตรดีทั้งประเทศหารจำนวน ส.ส.ทั้งสภา ๕๐๐ ที่นั่ง ซึ่งตอนนี้คิดเป็น ๗๑,๐๖๕.๒๙๔๐ เสียงขึ้นไป” (อย่าแปลกใจทำไมตัวเลขหลังจุดหลายหน่วย เนื่องจาก ก.ม. คณิตศาสตร์ บอกให้ใช้ทศนิยมสี่หน่วย)

แบบนี้ไม่มีทางที่ไพบูลย์จะได้ที่นั่ง พรรคที่ได้รับการปัดเศษให้หนึ่งที่นั่งมีเพียง ๓ พรรค คือ รักษ์ผืนป่าประเทศไทย พลังปวงชนไทย และพลังชาติไทย (ตาราง ๑)
 
ถ้างั้นไปดูวิธีคำนวณอีกแนว ซึ่งเดอะโมเม็นตั้มรู้สึกว่าสมเหตุสมผลมากที่สุด “ค่าความคลาดเคลื่อนก็จะไม่มากนัก แต่กฎหมายก็ไม่ได้เขียนชัดว่าให้ทำวิธีนี้ หรือหากจะอ่านเฉพาะมาตรา ๑๒๘() โดยไม่สนใจพื้นฐานวิธีคิดที่เขียนในวรรคก่อนหน้า ก็อาจตีความเป็นเช่นนี้ได้”

วิธีนี้ “เริ่มนับจำนวนปาร์ตี้ลิสต์รวมโดยไม่ปัดเศษ ได้ที่ประมาณ ๑๖๐.๖๓๔๕ ที่นั่ง แล้วจึงเทียบบัญญัติไตรยางค์ให้เหลือ ๑๕๐ ที่นั่ง จากนั้นจึงนับเฉพาะจำนวนเต็ม ซึ่งรวมได้ ๑๔๒ ที่นั่ง ยังขาดอีก ๘ ที่นั่งจึงใช้ค่อยจัดสรรให้พรรคที่มีเศษทศนิยมสูงสุดตามลำดับ”

แบบนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่สำหรับพวก คสช. เพราะลดจำนวน ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ได้แค่สาม จาก ๘๗ เหลือ ๘๔ ขณะที่พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ก็ยังไม่ติดฝุ่น เพราะพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง ๗ หมื่น ๑ พัน หลุดหมด (ตาราง ๒)
 
ยังเหลือวิธีคำนวณที่พอดูได้อีกอย่าง ซึ่งออกจะ ตะแบงมาร ไปหน่อย กกต.บอก ชั่งแม่งมันก็คือการเอาคะแนนของทุกพรรคที่ได้รับคะแนนดิบมาร่วมคำนวณจัดสรร ส.ส.ให้ ดังเช่น ๑๘๓ เสียงของพรรคกสิการไทยดังกล่าวข้างต้น

“ผลลัพธ์ก็คือ จะมีพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์ ‘ส.ส. ๑ คนต่อประชาชน ๗๑,๐๖๕.๒๙๔๐ เสียง’ แต่กลับได้ที่นั่งไปโดยปริยาย ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๔ พรรค” โดยพรรคของไพบูลย์ได้แน่ๆ ส่วนพรรคอื่นๆ นับสิบติดร่างแหไปด้วยไม่เป็นไร ถือว่าใจบุญสุนทาน

ประการสำคัญเมื่อคำนวณแบบนี้ตัดเสียงของพรรคอนาคตใหม่ไปได้อีก ๔ เสียง เหลือเพียง ๘๐ ที่นั่ง ดีกว่าดั้งเดิม ๘๗ เป็นไหนๆ (ตาราง ๓)
 
นี่ละท่านผู้ชม ‘futuristas’ ทั้งหลาย ถึง อี๊อุ๊จะกระหน่ำซัดปิยบุตร-ธนาธรหนักหนาสากัณฑ์เพียงใด ไม่กระทบกระเทือนได้เท่า กกต. เคาะเลขชั้วเดียว หักออกเจ็ดที่นั่งสบายๆ

หมายเหตุ ขอบคุณ ‘The Momemtum’ https://themomentum.co/party-list-mp-calculation/ ให้ข้อมูลสร้างความกระจ่างในชั้นเชิงของ กกต. จนชาวเราได้ 'ตาสว่าง' กันมากขึ้นไปอีกเยอะเลย