วันอาทิตย์, เมษายน 14, 2562

“ประชาธิปัตย์” ส่อพรรคแตกอีกคำรบ ว่าที่สุดจะเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือไปเป็น “นั่งร้านทอปบูต”




“ประชาธิปัตย์” ส่อพรรคแตกอีกคำรบ มนต์ “นายหัว” เสื่อมเข็น “อู๊ดด้า” ไม่ไหว ราศีจับ “เสี่ยกรณ์” ผู้นำภาวะวิกฤต ระวัง “นอมินีกำนัน” ชิงยึดพรรคเบ็ดเสร็จ

ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ยังไร้ข้อยุติ สำหรับทางเดินของ “ค่ายสะตอ” พรรคประชาธิปัตย์ สถาบันการเมืองเก่าแก่ ที่ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ย่อยยับที่สุด ในศึกเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา

ว่าที่สุดจะเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หรือไปเป็น “นั่งร้านทอปบูต” ร่วมลงเรือกับ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล

แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น พรรคประชาธิปัตย์ต้องเร่งทำคือ ดับไฟในบ้านตัวเองเสียก่อน

ลิ่มความขัดแย้งภายในพรรคก่อตัวขึ้นตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง ผ่านศึกชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่าง “พี่มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เจ้าของตำแหน่ง กับ “พี่หมอ” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ที่มีแรงหนุนจาก “ผู้มากบารมีนอกพรรค” โดยมี ถาวร เสนเนียม เป็นผู้ซัพพอร์ตหลัก

การขยับขึ้นท้าชิงเก้าอี้ของ “หมอวรงค์” เป็นการขยี้ประเด็นว่ามีสมาชิกหลายคนในพรรคเริ่มไม่พอใจการทำงานของ “อภิสิทธิ์” หลังให้โอกาสพิสูจน์ฝีมือมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่สามารถชนะ “ขั้วทักษิณ” ตั้งแต่ พรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทย ได้เลย

การที่ “ถาวร” ซึ่งมีร่างเงาของ “กำนันเทือก” สุเทพ เทือกสุบรรณ เจ้าของพรรครวมพลังประชาชาติไทย ทาบทับอยู่ ออกหน้าประกาศสนับสนุน “หมอวรงค์” เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า กระแสข่าวลือในแผนการโค่น “พี่มาร์ค” ออกจากหัวหน้าพรรคก่อนหน้านี้เป็นเรื่องจริง

และยืนยันว่ามีการเดินเกมเผด็จศึกยึดพรรค โดยมี “สุเทพ” อดีตเลขาธิการพรรคคู่บุญ “อภิสิทธิ์” อยู่เบื้องหลังปฏิบัติการดังกล่าว เป็นเรื่องจริงเช่นกัน

ย้อนไปในการต่อสู้หาเสียงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค “หมอวรงค์” ไม่ได้ลงแข่งขันเป็นพิธีอย่างที่เคยถูกค่อนขอด หากแต่ “สู้เต็มที่” หวังให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ดังจะเห็นว่า กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงกติกาในการเลือกหัวหน้าพรรค ตลอดจนโจมตี “อภิสิทธิ์” แบบไม่เกรงใจ

อะไรที่ดูเป็นการเอาเปรียบ กลุ่มเพื่อหมอวรงค์ จะร้องแรกแหกกระเชอแบบไม่ยอม ผิดกับอดีตที่แม้ลงแข่ง แต่เหมือนเป็นการเตี๊ยมกัน

กระทั่งผลการนับคะแนนเสร็จสิ้น ที่ปรากฏว่า “อภิสิทธิ์” ชนะไปอย่างหืดจับ กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ ก็ตีปี๊บว่า การแข่งขันครั้งนี้ไม่แฟร์ เพราะกติกาทุกอย่างดูจะเอื้อให้เจ้าของเก้าอี้เดิมมากกว่า โดยไม่สนใจภาพลักษณ์ของต้นสังกัดแม้แต่น้อย

“เกมจบ คนไม่จบ” ในการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อดีต ส.ส.ที่เป็นกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ และสายสุเทพ ไม่ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งสำคัญใดๆเลย ในขณะที่มีแต่คนของ “อภิสิทธิ์” แทบทั้งสิ้น ถือเป็นการเอาคืนจากอดีตนายกฯ 1 สมัยเช่นกัน

ความคับแค้นในใจถูกบ่มเพาะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการวางผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ที่ปรากฏว่า กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ และสายนายสุเทพ ถูกจัดอยู่ในลำดับที่แทบไม่มีลุ้นเลย กระทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขตบางราย ก็ถูกเขี่ยทิ้งแม้จะเป็นผู้แทนมาหลายต่อหลายสมัยก็ตาม

เสมือนเป็นการสกัดไม่ให้เข้าสู่อำนาจ หลังลุกขึ้นมาสู้รบตบมือกับสายผู้อาวุโสในพรรคที่หนุนหลัง “อภิสิทธิ์” อยู่

ความขัดแย้งระหว่างคนในแจ่มชัดขึ้นตามลำดับ กระทั่งจุดที่กลุ่ม ส.ส.ซีกนายสุเทพ เริ่มเก็บอาการไม่อยู่ ในวันที่ “อภิสิทธิ์” ปล่อยคลิปแคมเปญโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้ง จะไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สืบทอดอำนาจ อย่างชัดถ้อยชัดคำ

อดีต ส.ส.ซีกนายสุเทพ แสดงออกชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยที่ “อภิสิทธิ์” เดินเกมเช่นนั้น และพยายามออกมาแก้ต่างตลอดว่า เป็นจุดยืนของหัวหน้าพรรคคนเดียว ไม่ใช่มติของพรรค

จวบจนถึงการเลือกตั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องพบกับ “ความอัปยศ” ทั้งตัวเลขรวมทั่งประเทศที่ไม่เหลือเค้าพรรคเก่าแก่ หนักข้อกว่านั้นคือ “สูญพันธุ์” ไม่ได้รับเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ฐานที่มั่นสำคัญของพรรคแม้แต่เก้าอี้เดียว ทั้งที่ผูกขาดมานานนมหลายปี

กระทั่งแดนด้ามขวานพื้นที่ภาคใต้ ที่เคยถูกมองว่า เอา “เสาไฟฟ้า” ไปลง พรรคประชาธิปัตย์ก็กวาดเรียบไม่เหลือซาก แต่ครั้งนี้พรรคเก่าแก่ถูกเจาะพรุน เสาไฟฟ้าหักโค่นไปหลายต้น โดยมีพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ลงมือปฏิบัติการล้มเสาไฟฟ้าในครั้งนี้ ฐานที่มั่นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น จ.นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง สตูล ระนอง กระบี่ รวมถึง จ.ตรัง บ้านเกิด ชวน หลีกภัย ก็ยังถูกโค่น

จากเป้าหมาย 100 กว่าที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์กลับได้ ส.ส.รวมกันเพียง 50 ที่นั่งต้นๆ อีสานที่ยังพอเจาะได้ มี ส.ส.มา 2 เก้าอี้ที่ จ.อุบลราชธานี ในพื้นที่อื่นๆ อดีต ส.ส.ตัวใหญ่ ขาเก๋า เจ้าของพื้นที่ สอบตกกันระเนระนาด กระทั่ง “เสี่ยไก่” จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ก็ยังเอาตัวไม่รอดที่เขตบ้านเกิด จ.พิษณุโลก

บางแห่งแพ้ขาด บางแห่งตกไปอยู่ที่ 3 เรียกว่า ยิ่งกว่าเละตุ้มเปะ อันเป็นภาพหายากในทางการเมือง

อดีต ส.ส.ซีกนายสุเทพ ต่างโพนทะนา เป็นน้ำมือของ “อภิสิทธิ์” ที่เดินหมากผิดไปประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” จนทำให้พรรคตกต่ำแทบจะมุดรูหนี แม้ “พี่มาร์ค” จะประกาศลาออกไปแล้วก็ตาม โดยเฉพาะ “หมอวรงค์” ที่เจอโนเนมจากพรรคอนาคตใหม่โค่น ดูจะโหวกเหวกโวยวายไม่เลิก

ขณะเดียวกัน นอกจากโทษนายอภิสิทธิ์แล้ว พวกเขายังได้จังหวะหาข้ออ้างในการนำพรรคไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยใช้ผลการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนมาเป็นอันดับ 1 และพรรคประชาธิปัตย์ดิ่งเหว มาเป็นเหตุผลในการไปเข้าร่วม

แต่ดูเหมือนว่า ผู้อาวุโสในพรรคจะไม่เห็นด้วยกับการนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยอยู่ในบทบาทผู้นำไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ไปเป็นดอกไม้ประดับในแจกันของพรรคพลังประชารัฐ

“เบอร์ใหญ่ค่ายสะตอ” ไม่โทษนายอภิสิทธิ์ และยังยืนยันในจุดเดิม ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ของพรรคสีฟ้าว่า พรรคสำคัญที่สุดมากกว่าการมีอำนาจใดๆ จึงทำให้ข้อเสนอของว่าที่ ส.ส.สายนายสุเทพ ติดหล่ม

ว่าที่ ส.ส.สายนายสุเทพ ไม่พอใจที่พรรคยังคงเล่นตัว ยึดประเพณีเก่าๆ ที่ล้าสมัยจนทำให้แพ้เลือกตั้งแบบผูกปี ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่บรรดาผู้อาวุโสในพรรค เหน็บแนมสมาชิกพรรคอีกซีกว่า กระสันอยากมีอำนาจ โดยไม่มองอุดมการณ์ของพรรค

ความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์แตกเป็นสองขั้วและออกมาให้สาธารณชนได้เห็น โดยเฉพาะคำพูดของ “นายหัวชวน” และ “ถาวร” ที่แทบจะเปิดสงครามจิตวิทยา กรีดกันไปมาเรื่องอนาคตพรรค

ที่ผ่านมา เรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้น ทุกครั้งที่ “นายหัวชวน” พูดคำไหน ทุกอย่างจะจบและเป็นไปตามนั้น ทว่าหนนี้ว่าที่ ส.ส.อีกซีกกลับไม่ยอม และกรีดกลับแบบแรงๆ หลายครั้งหลายครา ชนิดว่า ไม่ต้องเห็นหัวกันแล้ว
“นายหัวชวน” แทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพรรค เสมือนถูกหยิบขึ้นหิ้งห้ามแตะต้อง แต่ครั้งนี้ลูกพรรคทั้งหลายกลับตอบโต้โดยไม่สนว่า จะมีผลกระทบอะไรต่อตัวเองหรือไม่

เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เดินมาในจุดที่ “แตกหัก” แล้ว เป็นสงครามระหว่าง “กลุ่มหัวโบราณ” ที่อยากจะรักษาความเป็นพรรคเอาไว้ให้เหมือนเดิมทั้งหมด กับ “กลุ่มต้องการความเปลี่ยนแปลง” ที่อยากจะรื้อพรรคใหม่เสียที หลังผูกปีแพ้มาตลอด

ไม่มีใครทนใคร สถานการณ์เดินไปสู่จุดที่ว่า ถ้าใครชนะอีกฝ่ายก็ควรสยบยอม ไม่มีเส้นแบ่งว่าใครเป็นคนเก่าแก่ ใครเป็นอดีตผู้นำอีกต่อไป มีแต่ เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเท่านั้น

“นายหัวชวน” ออกมาพูดรายวัน ซึ่งตีความได้ว่า ต้องการพาพรรคไปสู่จุดที่สามารถเป็นฝ่ายค้านอิสระได้ ซึ่งตรงกับแนวทางของ “อภิสิทธิ์” ขณะที่ว่าที่ ส.ส.สายนายสุเทพ พูดรายวันเช่นกันว่า พร้อมจะร่วมกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อชาติ

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “นายหัวชวน” ปรามๆ ไว้แล้วว่า อย่าเพิ่งแสดงท่าทีอะไรออกไปตอนนี้จนกว่าจะมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทว่าว่าที่ ส.ส.อีกซีกหาได้นำพา

ฝ่ายหนึ่งพยายามจะรั้งความเป็นพรรคประชาธิปัตย์ไว้ กับอีกฝั่งพยายามจะเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้พรรคประชาธิปัตย์สู่ยุคใหม่ อันแสดงให้เห็นว่า ต่อให้วันหนึ่งมติกรรมการบริหารพรรคออกมาอย่างไรต่อจุดยืนในการร่วมรัฐบาล ก็พร้อมจะมีอีกซีกกล้าที่จะไม่เดินตามนั้น

ทั้งที่อดีตมติกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ เปรียบดังประกาศิตที่ ส.ส. และสมาชิกพรรคทุกคนต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ซึ่งที่ผ่านมาแถวตรงเปะ ไม่มีใครแหกคอกเลย แต่ครั้งนี้ย่อมมีให้เห็นแน่ถ้าถึงวันตัดสินใจยังคงคิดต่าง หาจุดร่วมตรงกลางกันไม่ได้

ลิ่มความขัดแย้งไม่มีทีท่าจะเบาบางลง แม้วันนี้จะผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายวัน แต่ไลน์กลุ่ม ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีผู้อาวุโสและแกนนำอยู่กันครบครัน ยังจมอยู่กับเรื่องนี้ ด่ากันแบบเอาล่อเอาเถิดไม่สนหัวหงอกหัวดำในพรรคเหมือนแต่ก่อน

มาถึงวันนี้ “อภิสิทธิ์” ยังโดนล่อเป้าเรื่องพาพรรคแพ้ ไม่ว่าจะแสดงความเห็นใดๆ จะถูกอีกฟากด่ากลับ เสมือนที่ระบายอารมณ์ของคนในพรรคไปแล้ว

การด่าทอ ตอบโต้ โต้เถียง รุนแรงบางครั้งถึงขั้นมีคำหยาบ และหลายครั้งถึงขนาดต้องมีการเตะออกจากกลุ่มไลน์ของพรรคกันเลยทีเดียว

เป็นความขัดแย้งที่คนเก่าแก่ยอมรับว่า ตั้งแต่อยู่พรรคประชาธิปัตย์มายังไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน ดังนั้น ถ้าที่สุดผู้อาวุโสของพรรคยืนยันจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ อีกกลุ่มก็พร้อมยกมือสนับสนุน “บิ๊กตู่” โดยไม่สนอะไรเหมือนกัน

ตามรายงานข่าวว่า การยกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งพรรคมาร่วมอยู่กับพรรคพลังประชารัฐคงเป็นเรื่องยากไปแล้ว เพราะกลุ่มของ “นายหัวชวน” ยืนยันแน่นอนแล้วว่า จะไม่มา ซึ่งปริมาณซีกนี้มีประมาณ 10 กว่าคน
ขณะที่กลุ่มที่พร้อมจะยกมือหนุน “บิ๊กตู่” มี 30 กว่าคน ซึ่งมาแน่นอนไม่ว่ามติพรรคเป็นอย่างไร จึงจะได้เห็นความเห็นต่างครั้งแรกในสภาของพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่า มีรากเหง้าและวัฒนธรรมที่เคร่งครัดที่สุดในประเทศ

แม้จะมีอีกสูตรคือ นายกรัฐมนตรีต้องไม่ใช่ “บิ๊กตู่” แต่ต้องเป็นคนกลางคนอื่น ซึ่งจะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยอมหันมาร่วมแบบยกพวงนั้น เป็นเพียงแค่ข้อต่อรองเท่านั้น หลังปรากฏชื่อ “ดร.ซุป” ศุภชัย พานิชภักดิ์ มารอเสียบ “นายกฯก๊อกสอง”

ชื่อนี้เป็นชื่อเก่าที่พรรคประชาธิปัตย์ เคยปล่อยข่าวออกมาแล้วหลายหน ซึ่งจับทางได้ว่า ออกมาจากสายผู้อาวุโส ที่ยื่นข้อแม้ในการเข้าร่วมรัฐบาล หากแต่มันเป็นข้อเสนอที่ยากในทางปฏิบัติ และมันไม่มีทางเป็นไปได้ที่ท็อปบูตจะให้ใครมาชุบมือเปิบ

พรรคพลังประชารัฐเองไม่ได้หวังจะยกพรรคประชาธิปัตย์มาเข้าร่วมแล้ว ตอนนี้พวกเขาพึงพอใจกับตัวเลขว่าที่ ส.ส.ประชาธิปัตย์ สายนายสุเทพที่จะยกกันมายกมือหนุน “บิ๊กตู่” ประมาณ 30 กว่าคนแล้ว ไม่จำเป็นต้องยกพวงเหมือนตอนแรกที่หวังเอาไว้

อีกสิบกว่าคนที่เหลือ พวกเขาสามารถหาเอาได้จากพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพวกงูเห่าที่ตอนนี้กวาดต้อนมาได้จนอยู่ในจุดที่เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว แม้จะปริ่มน้ำก็ตาม

แต่ความขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์จะบานปลายไปยิ่งกว่านี้ ในช่วงการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ และมติกรรมการบริหารพรรคว่าจะเอาอย่างไรต่อการจัดตั้งรัฐบาล

ภายในพรรคจะแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าเหมือนกับพรรคอื่นๆ ไม่เอกภาพอีกต่อไปนับจากนี้

ทิศทางพรรคเก่าแก่จะไปอย่างไรต่อ ก็คงต้องดูแนวโน้มการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่จะขึ้นมาแทนที่ “อภิสิทธิ์” กับภารกิจกู้ซากเรือประชาธิปัตย์ให้พ้นจากวิกฤต

ซึ่ง “ตัวเลือกเฉพาะกิจ” อย่าง “นายหัวชวน” ก็ปฏิเสธไปชัดเจนแล้วว่าไม่หวนคืนบัลลังก์อย่างแน่นอน

ชื่อที่ถูกโยนออกมาในขณะนี้ ก็มีอยู่ 2-3 ราย หนึ่งคือ "อู๊ดด้า" จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน สอง กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคคนสำคัญ และสาม นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกฯสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำประเทศ ซึ่งรายหลังก็ได้ส่งสัญญาณว่าไม่ขอรับเกียรติที่มีผู้หวังดีหยิบยื่นให้ไปเป็นที่เรียบร้อย

ส่งผลให้เหลือแค่ 2 แคนดิเดต ระหว่าง “จุรินทร์ - กรณ์” โดยมี “ถาวร” หัวหอกสายกำนันสุเทพรอจังหวะอยู่ เพราะ “หมอวรงค์” แคนดิเดตคนเก่าดันสอบตกเสียราคาไปเรียบร้อยแล้ว

ชั่งน้ำหนักแล้ว หากเสียงส่วนใหญ่ในพรรคยึดแนว “อนุรักษ์นิยมจ๋า” ก็คงไม่พ้น “อู๊ดด้า” คนใกล้ชิด และเด็กปั้นนายหัวชวน ที่เข้าแถวต่อคิวขึ้นนำพรรคมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็ติดตรงที่ “จุรินทร์” ไม่สามารถขายได้ในภาพกว้าง อย่าลืมว่า ระดับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จำต้องเสนอตัวเป็นนายกฯในทุกการเลือกตั้ง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ประกาศิต “นายหัวชวน” ก็ไม่ได้เข้มขลังเหมือนเก่าก่อน ทำให้โอกาส “อู๊ดด้า” ดูจะไม่เปล่งปลั่งอย่างที่คิด

หรือหากต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และนำพรรคไปสู่ยุคใหม่อย่างแท้จริง ตัวเลือกอย่าง “เสี่ยกรณ์” ก็น่าสนใจกว่า ด้วยความที่พื้นเพมาจากภาคธุรกิจ และยังมีจุดขายกับคนในสังคมเมือง-คนรุ่นใหม่ ตลอดจนมีความยืดหยุ่น ที่อาจจะสามารถเกลี้ยกล่อม “สายกำนัน” มากกว่า อาจจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับภารกิจสร้างความเป็นเอกภาพ ประคองไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องแตกอีกครั้งก็เป็นได้

แต่หาก “สายกำนัน” รุกฆาต เดินเกมยึดพรรคเบ็ดเสร็จ ส่ง “ถาวร” หรือ “นอมินี” คนอื่นเข้าช่วงชิงด้วย ก็น่ากลัวไม่น้อย เพราะการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่หนนี้ ไม่ได้เปิดให้สมาชิกพรรคร่วมโหวตเหมือนครั้ง “อภิสิทธิ์ - วรงค์” มีเพียงการแสดงวิสัยทัศน์ และให้กรรมการบริหาร ส.ส. อดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ตลอดจนผู้แทนสาขาพรรคบางส่วน ร่วมลงมติเท่านั้น เป็นกติกาที่ “กำนันเทือก” ช่ำชองกว่าใคร ดูได้จากการ “ล็อบบี้” จนคะแนน “หมอวรงค์” ไล่บี้ “พี่มาร์ค” ได้อย่างสูสี ทั้งที่ดีกรีเทียบกันไม่ได้แม้แต่น้อย


ผู้จัดการ สุดสัปดาห์.

ooo