วันพุธ, เมษายน 03, 2562

เคยรู้ไม๊ ระบบเลือกตั้งที่ไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบใหม่ของไทย แต่เป็นของเก่าของเกาหลี ที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญและถูกยกเลิกไปนานแล้ว





ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีเคยชี้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. แบบ “รัฐธรรมนูญ 2560” ขัดรัฐธรรมนูญ

ระบบเลือกตั้งที่ไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบบใหม่ของไทย แต่เป็นของเก่าของเกาหลี ที่ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญและถูกยกเลิกไปนานแล้ว

ระบบนี้ในทางวิชาการเรียกว่า “Mix Member Apportionment System : MMA” ในเมืองไทยเรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” พยายามอธิบายง่าย ๆ ว่า สมมติมี ส.ส. ทั้งหมด 500 คน จะแบ่ง ส.ส. เป็น 2 ประเภท คือ ส.ส. แบบแบ่งเขต และ ส.ส. แบบสัดส่วน แต่ให้มีบัตรเลือกตั้งแค่ 1 ใบ ให้ประชาชนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต แล้วเอาคะแนนที่กาเพื่อเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต ของทั้งประเทศมาคำนวณ ส.ส. แบบสัดส่วน

เหมือนที่ กกต. ไทย พยายามโฆษณาว่าระบบนี้ กาบัตรใบเดียวได้ผล 3 อย่าง คือ 1. ได้ ส.ส. เขต 2. ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ 3. ได้นายกรัฐมนตรี

แต่เมื่อย้อนไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว เกาหลีใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้มาได้สัก 4 ปี จนถึงปี 2000 ประชาชนจำนวนหนึ่งเห็นว่ากฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เกาหลี ใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่ถูกต้อง จึงยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีพิจารณาแล้วตัดสินในปี 2001 สรุปแบบง่าย ๆ ว่า ระบบเลือกตั้งแบบนี้กำหนดให้ประชาชนกาบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตได้เพียงเสียงเดียว ถ้าใครชอบคนแต่ไม่ชอบพรรค หรือชอบพรรคแต่ไม่ชอบคน เป็นระบบเลือกตั้งที่ไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน (accurate reflection) และทำให้คุณค่าของคะแนนเสียงหรือน้ำหนักของคะแนนเสียงหายไปครึ่งหนึ่ง

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีลงมติเอกฉันท์ว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลสำคัญว่าขัดต่อหลักพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย 2 ข้อ คือ

ข้อแรก หลักการเลือกตั้งโดยตรง ในทางวิชาการอธิบายว่าการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ต้องไม่มีอะไรมาแทรกกลางระหว่างการลงคะแนนของประชาชนกับผลการนับคะแนน ตุลาการเกาหลีเห็นว่าระบบเลือกตั้งแบบนี้ให้กาได้ใบเดียวเฉพาะ ส.ส. แบบแบ่งเขต ประชาชนจึงไม่สามารถใช้อำนาจในการเลือก ส.ส. แบบสัดส่วนจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองได้โดยตรง ทั้ง ๆ ที่ประชาชนต้องมีสิทธิกาได้ 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก อีกใบเลือกพรรคที่ใช่ จึงขัดหลักการเลือกตั้งโดยตรง

ข้อสอง หลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค ที่รับรองให้ประชาชนทุกคนต้องมีสิทธิลงคะแนนได้จำนวนที่เท่ากัน รวมทั้งรับรองให้น้ำหนักของคะแนนเสียงของทุกคนต้องเท่ากันด้วย (ไม่ใช่ผู้บริหารองค์กรกา 1 เสียง นับเป็น 100 แต้ม แต่พนักงานกา 1 เสียง นับแค่แต้มเดียว) ซึ่งพอดีที่เกาหลีไม่ได้บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองแบบประเทศไทย ในการเลือกตั้ง ส.ส. เกาหลีจึงมีผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองได้ ตุลาการเกาหลีเห็นว่ากรณีใครเลือกผู้สมัครอิสระย่อมทำให้น้ำหนักคะแนนมีค่าเพียงครึ่งเดียว เมื่อเทียบกับคนที่เลือกผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมือง จึงขัดหลักการเลือกตั้งโดยเสมอภาค (ข้อนี้อาจไม่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่าไหร่)

แค่นี้ยังไม่พอ ตุลาการท่านหนึ่งได้ให้เหตุผลพิเศษเพิ่มอีก 1 ข้อ ว่า กรณีที่ประชาชนชอบพรรคไม่ชอบคน หรือชอบคนไม่ชอบพรรค แต่ถูกกฎหมายบังคับให้ต้องโหวต เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่าจะกาให้คนที่รัก หรือกาให้พรรคที่ชอบ และอาจไม่เลือกทั้งพรรคทั้งคนเลยก็ได้ เป็นการจำกัดเสรีภาพในทางความคิดหรือการเลือกโดยเสรี จึงเป็นระบบเลือกตั้งที่ขัดต่อหลักการเลือกตั้งโดยเสรี

เมื่อย้อนมาดูปรัชญาของกฎหมายเลือกตั้ง เห็นว่า ระบบเลือกตั้งที่ดีต้องสะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนและทำให้ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น เมื่อดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีแล้ว ระบบเลือกตั้งแบบนี้ทำให้การกาบัตรใบเดียวไม่ได้ผล 3 อย่าง คือ 1. ไม่สะท้อนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชน 2. ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และ 3. ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

CaseNo. : 2000Hun-Ma91, 13-2 KCCR 77

#ศาลรัฐธรรมนูญของเรา #ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลี

ที่มาเรื่อง FB