วันอาทิตย์, ธันวาคม 09, 2561

ลิเกการเมือง : อย่าจริงจังมาก ส่ายหน้าบ้าง หัวเราะบ้าง ดูขำๆ ไปเรื่อยๆ แล้วค่อยจริงจังตอนเข้าคูหา - หนุ่มเมืองจันท์





หนุ่มเมืองจันท์ l ลิเกการเมือง


มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 30 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม 2561


การเมืองไทยตอนนี้กำลังเข้มข้นมากครับ
เดินเกมกันสลับซับซ้อนยิ่งกว่า “เลือดข้นคนจาง”
แต่เป็น “เลือดข้นคนจาง” ฉบับ “ลิเก”
ซีรี่ส์ “เลือดข้นคนจาง” ฉบับละครโทรทัศน์นั้นคนเขียนบทผูกเงื่อนปมเอาไว้อย่างดี
เราทายล่วงหน้าแทบไม่ได้เลย
“ใครฆ่าประเสริฐ” จึงเป็น “คำถาม” ที่อยู่ในโซเชียลมีเดียยาวนาน
เพราะคนเขียนบทหลอกซ้ายหลอกขวา สลับหน้าสลับหลังทุกตอน
ทายไม่ถูก
แต่ “เลือดข้นคนจาง” การเมืองไทยฉบับ “ลิเก”
ผูกปมไว้เหมือนกัน
แต่พอเริ่มตอนแรกได้ไม่กี่นาที
เขาทายตอนจบได้เลยครับ
ตอนแรกที่ร่างรัฐธรรมนูญ เขาก็ทายออกแล้วว่าต้องการทำลาย “พรรคใหญ่”
พอเริ่มตั้งพรรคพลังประชารัฐ
เขาก็มองย้อนกลับไปได้ว่า ที่รัฐบาลพยายามประชาสัมพันธ์โครงการประชารัฐมาหลายปี
ใช้งบประมาณไปไม่รู้กี่พันกี่หมื่นล้านบาท
ก็เพื่อสร้างแบรนด์คำว่า “ประชารัฐ” ให้ติดตลาด
พอตั้งพรรคก็ใช้ชื่อที่อิงกับคำว่า “ประชารัฐ” จะได้โยงให้รู้ว่าเป็นพรรคการเมืองเดียวกับรัฐบาลชุดนี้
เป็นกลยุทธ์การสร้างแบรนด์พรรคการเมืองโดยไม่ใช้เงินตัวเอง
ที่สำคัญ พอรู้ว่าจะมีการตั้งพรรคการเมือง
ไม่ต้องรู้ชื่อพรรค
เขาก็ทายออกแล้วว่าคนที่พรรคนี้จะเสนอชื่อเป็น “นายกรัฐมนตรี” ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
คนดูทายล่วงหน้ามานานเป็นปีแล้วครับ
เหมือน “ลิเก” ที่พอเปิดตัว “จันทโครพ”
คนดูก็รู้แล้วว่า เดี๋ยว “จันทโครพ” จะเปิดผะอบเจอ “นางโมรา”
แล้วมี “โจรป่า” มาแย่งชิง
เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้น
“ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
อ้าว…คนละเรื่อง
ขอโทษครับ
ดูการเมืองไทยต้องอย่าจริงจังมาก
ส่ายหน้าบ้าง หัวเราะบ้าง
เพื่อนผมเห็นสภาพการเมืองไทยตอนนี้แล้วถามว่านี่คือแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือเปล่า
ผมบอกว่า “ใช่”
แต่เป็นยุทธศาสตร์ 20 ปีก่อน
คือ ย้อนยุคไปก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540
ย้อนไกลไปถึงการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจหลังการรัฐประหาร
จำได้ไหมครับว่า หลังการรัฐประหารปี 2534 รสช.จัดตั้งพรรคสามัคคีธรรม
ดูดอดีต ส.ส.มาเข้าพรรค
ครั้งนี้หลังการรัฐประหารของ คสช.
พรรคพลังประชารัฐกำเนิดขึ้นมา
ดูดอดีต ส.ส.มาเข้าพรรคเหมือนกัน
เพียงแต่แต่งหน้าใหม่แบบ 4.0
“สามัคคีธรรม” ให้ “นักการเมือง” อย่าง “ณรงค์ วงศ์วรรณ” เป็นหัวหน้าพรรค
แต่ “พลังประชารัฐ” ให้ “เทคโนแครต” แบบ “อุตตม สาวนายน” เป็นหัวหน้าพรรค
“หัว” แตกต่างกัน
แต่ “เนื้อใน” เหมือนเดิม
“กลิ่น” คล้ายกัน
“ลิเก” 2 เรื่องนี้แตกต่างกันเพียงแค่ “ยุคก่อน” เขาตั้งใจให้ “ณรงค์” เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่มีปัญหา พล.อ.สุจินดา คราประยูร จึงขึ้นมาเป็นนายกฯ เอง
ครั้งนี้แก้บทใหม่ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เลย
ไม่แอบ
ไม่มีบังเงา


โลกยุคใหม่ต้องชัดเจนครับ

“ลิเกการเมือง” ดีกว่า “เลือดข้นคนจาง” ก็ตรงนี้
ไม่ต้องมาสงสัยว่า “ใครฆ่าประเสริฐ”
รัฐประหารเพื่ออะไร
เพื่อใคร
ชัดๆ กันไปเลย
อีกเรื่องหนึ่งที่สนุกก็คือ ตอนที่ กปปส.ประท้วงเรื่อง กม.นิรโทษกรรม
“ม็อบ” ขยายวงขึ้นเรื่อยๆ
รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตัดสินใจยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน
กปปส.ไม่ยอม
ประกาศว่าต้อง “ปฏิรูปการเมือง” ก่อน “เลือกตั้ง”
นำคนไปปิดคูหาเลือกตั้ง
สุดท้ายจบลงด้วยการรัฐประหาร
ผ่านไปเกือบ 5 ปี กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่
“สุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้นำของ กปปส.ที่ชูเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
ยอมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อลงเลือกตั้ง
ถ้าครั้งก่อนไม่ยอมเลือกตั้ง เพราะการเมืองยังไม่ได้ปฏิรูป
แต่วันนี้ยอมลงเลือกตั้ง
แสดงว่าเขายอมรับแล้วว่าการเมืองวันนี้ได้รับการปฏิรูปแล้ว
ใช่ไหมครับ?
คำถามก็คือ นี่หรือคือการปฏิรูปการเมืองที่เขาต้องการ
เมืองไทยเสียเวลาไปเกือบ 5 ปีเพื่อที่จะได้การเมืองแบบนี้
เป็นเรื่องขำทั้งน้ำตา
ผมนึกถึงตอนที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นำประชาชนคัดค้านการขึ้นสู่อำนาจของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535
ประเด็นที่ชูขึ้นมาในวันนั้นคือ “เราต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง”
พล.อ.สุจินดา ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แต่พอ “บิ๊กสุ” ลาออก
ตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกฯ
คนเฮ…
ทั้งที่นายอานันท์ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
แสดงว่าจริงๆ แล้ว พล.ต.จำลองต้องการล้ม พล.อ.สุจินดา
ไม่ได้ต้องการ “นายกฯ” จากการเลือกตั้งจริงๆ
เรื่องนี้ก็เช่นกัน





“สุเทพ” ต้องการแค่ล้มรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ด้วยวิธีการใดก็ได้
ไม่ได้ต้องการ “ปฏิรูปการเมือง” จริง
“นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง” และ “ปฏิรูปการเมืองก่อนเลือกตั้ง” จึงไม่ใช่ “เรื่องจริง”
เป็น “ลิเก” ครับ
เห็นไหมครับ การเมืองไทยสนุกจะตายไปถ้าเราดูแบบ “ลิเก”


อย่าเครียด อย่าจริงจังมาก
ดูขำๆ ไปเรื่อยๆ
แล้วค่อยจริงจังตอนเข้าคูหา